กระทรวงวัฒนธรรมโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามราชสุริยวงศ์ ถือเป็นของขวัญเพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชน ในโอกาสสำคัญต่างๆ และการมีเวทีระดับประเทศ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศที่มีความสามารถทางการแสดงแขนงต่างๆ ได้แสดงความสามารถ กำหนดจัดแสดงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 – สิงหาคม 2564 จำนวน 14 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร โดยการแถลงข่าวได้รับเกียรติจาก ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมศิษย์เก่าอย่าง ตั๊ก-นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ และ ร็อค-ขวัญลดา รุ่งโรจน์อำภา มิสทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส 2020 เข้าร่วมงาน ณ บริเวณหน้าพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
โขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามราชสุริยวงศ์ มีความยาว 1 ชั่วโมง 50 นาที กล่าวถึง พระอิศวรเมื่อทราบว่าทศกัณฐ์พระยายักษ์แห่งกรุงลงกาได้กระทำการเบียดเบียนเทวดา มนุษย์ในโลกให้เกิดความวุ่นวาย จึงดำริให้พระนารายณ์และพระลักษมี อวตารลงไปเกิดในโลกมนุษย์เพื่อปราบปรามยุคเข็ญ เทวดาทั้งหลายรับอาสาลงไปเกิดเป็นทหารพระนารายณ์อวตาร พระอาทิตย์ให้กำเนิดสุครีพ พระอินทร์ให้กำเนิดพาลี พระอิศวรให้พระพายไปสร้างหนุมาน เป็นต้น เมื่อพระรามอวตารลงมาเกิดสังหารทศกัณฐ์เจ้าแห่งลงกาลงแล้ว ชาวกรุงศรีอยุธยาได้เชิญพระรามกลับครองบ้านเมืองอย่างมีความสุขร่มเย็น
ฉากสำคัญมี 3 ฉากใหญ่ ฉากเทวสภา ฉากสนามรบ ฉากกรุงศรีอยุธยา (การแสดงโขนการแปลง เพื่อเล่นให้ประชาชนทั่วไปรับชมอย่างใกล้ชิด ไม่ได้มีการจัดฉากอย่างในโรงละคร)
“โขน” เป็นการแสดงนาฏกรรมชั้นสูงของประเทศไทย ประกอบด้วยศิลปะอันเป็นมรดกสำคัญของชาติหลากหลายแขนง เป็นการรวมลักษณะเอกลักษณ์แห่งศิลปะการแสดง 3 อย่างเข้าด้วยกัน คือ
1. ชักนาคดึกดำบรรพ์ ด้านการแต่งกาย แต่งหน้า
2. หนังใหญ่ ด้านของเรื่องที่ใช้แสดง บทพากย์เจรจา ท่าเต้น ท่าเชิด ดนตรี และ
3. กระบี่กระบอง ด้านรูปแบบวิธีการรำใช้อาวุธ ท่าต่อสู้ กระบวนลีลา ท่ารบต่าง ๆ
จำแนกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ โขนกลางแปลง โขนโรงนอกหรือโขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอ และโขนฉาก โดยในปี พ.ศ. 2561 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นบัญชี “Khon, masked dance drama in Thailand” หรือการแสดงโขนในประเทศไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประเภทรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
ในพันธกิจหลักของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ด้านการอนุรักษ์ พัฒนา สืบสาน และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมสู่ประชาคมอาเซียนและนานาชาติ และด้านจัดการแสดงด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ และทัศนศิลป์ เพื่อเทิดทูนสถาบันหลักของชาติและส่งเสริมความเป็นไทยในระดับชาติและนานาชาติ และเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนาการแสดงโขนในทุกมิติ อันเป็นพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงได้จัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมสู่ถิ่นไทย เพื่อสนองพระราชดำริให้ศิลปะการแสดงโขนคงอยู่สืบไป และปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สืบสาน ทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการแสดงโขน ตามที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ – ยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนให้โขนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย อีกทั้งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในระดับชาติ ซึ่งการแสดงครั้งแรกจะจัดขึ้นวันที่ 5 ธันวาคม 2563 นี้ ณ เวทีหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ทำการแสดงโดยวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา