Celeb Online

“แพรว ธนวิสุทธิ์” สาวติสต์ที่หลงใหลในความ “น้อยแต่มาก” ของญี่ปุ่น


โควิด-19 อาจเป็นอุปสรรคทำให้แผนชีวิตของใครหลายคนไม่เป็นไปตามที่วางไว้ แต่ลองถ้ามีเป้าหมายชีวิตที่แน่วแน่ ต่อให้เส้นทางไปสู่จุดหมายจะต้องปรับแผนหรือยืดเวลาออกไปบ้าง ก็ไม่ใช่ปัญหา เช่นเดียวกับ “แพรว ธนวิสุทธิ์” ลูกสาวคนโตของ “หมู-พัฒพงษ์ กับ หญิง-ปรียามล ธนวิสุทธิ์” สองผู้บริหารแห่ง HiSoParty แม้แผนที่วางไว้ว่าจะไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ต่างประเทศหลังจบไฮสกูล มีอันต้องเจอโรคเลื่อน เพราะสถานการณ์โรคระบาด แต่เธอก็ยังมองโลกในแง่บวก เตรียมตัวให้พร้อม เพื่อที่เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ จะได้ออกโบยบินตามความฝัน


แพรวบอกว่า หลังจากเรียนจบไฮสกูลจาก โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ (International School Bangkok) หรือ ISB เธอมีจุดหมายในใจว่าจะไปเรียนต่อด้านกราฟิกดีไซน์ที่ต่างประเทศอยู่แล้ว ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เตรียมพอร์ตโฟลิโอและไปสมัครเรียนเรียบร้อย ถึงขั้นมหาวิทยาลัยตอบกลับมา พร้อมยื่นข้อเสนอให้ทุนเรียนฟรี 1 ปีถึง 3 แห่ง ได้แก่ School of the Art Institute of Chicago, California College of the Arts และ Otis College of Art and Design แต่เพราะคำพูดของคุณแม่ไม่กี่คำ กลับทำให้สาวแพรวเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย

“จริงๆ แพรวคิดว่า คงไปเรียนต่อที่อเมริกา เลยสมัครไปหลายที่ แต่พอวันหนึ่งคุณแม่เปิดทางว่า ในเมื่อแพรวชอบญี่ปุ่นมาก และผลงานของแพรวส่วนใหญ่ก็ได้อิทธิพลจากฝั่งญี่ปุ่น ทำไมไม่ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ญี่ปุ่นซะเลย พอได้ยินแบบนี้ แพรวตัดสินใจเปลี่ยนแผนชีวิตกะทันหันเลยค่ะ” แพรวเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นก่อนเสริมว่า


“เพราะที่ผ่านมา แพรวไม่กล้าคิดจะขอไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เพราะเวลานึกถึงญี่ปุ่น ก็จะนึกถึงการไปเที่ยวมากกว่า จนคุณแม่เปิดทาง แพรวเลยเททุกอย่าง มานับหนึ่งใหม่แบบไม่ลังเล ต่อให้จะมีอุปสรรคเรื่องภาษา เพราะแพรวไม่ได้มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นมาก่อน ก็ไม่ลังเล เพราะถ้าจะเรียนต่อด้าน Visual Communication Design ที่ Kyoto University of the Arts ซึ่งแพรวเล็งไว้ว่าอยากไปเรียนต่อที่นี่ เขาไม่มีหลักสูตรอินเตอร์ ต้องเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น แพรวเลยใช้เวลาช่วงนี้ ลงเรียนภาษาที่ Kyoto Institute of Culture and Language ซึ่งเป็นสถาบันสอนภาษาที่ญี่ปุ่นไปก่อน ซึ่งจริงๆ ถ้าไม่ติดโควิด-19 ก็จะได้บินไปเรียนที่โน่น แต่พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ต้องเรียนออนไลน์แทน ซึ่งระยะเวลาในการเรียนคือ 1 ปี ตอนนี้ก็เรียนมาได้ครึ่งทางแล้ว เริ่มเขียน Essay เป็นภาษาญี่ปุ่นได้ ดูการ์ตูนภาษาญี่ปุ่นพอรู้เรื่อง แพรวก็ดีใจมากๆ ถึงตารางเรียนออนไลน์ของเราอาจจะค่อนข้างเช้า ต้องตื่นมาเรียนตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพราะ​เรียนตามเวลาของญี่ปุ่น แต่ข้อดีคือ โรงเรียนนี้นอกจากจะสอนภาษาแล้วยังสอนศิลปะด้วย เลยเข้าทางแพรวพอดี ได้เรียนแบบทูอินวัน” แพรวอัปเดตชีวิตนักศึกษาในยุคโควิด-19 อย่างออกรส

อย่างไรก็ตาม ก่อนชีวิตจะเริ่มลงล็อก แพรวบอกว่าช่วงที่จบไฮสกูลแล้วมีเวลาว่าง เธอไม่ปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ขอคุณแม่ไปฝึกงานที่แผนก Media Innovation ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) เพื่อเรียนรู้ว่าโลกแห่งการทำงานจริงของผู้หญิงเป็นอย่างไร


“แพรวไปฝึกงานแค่ 4 เดือนก็จริง แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เป็นประสบการณ์ที่ดี สนุกมากๆ เหมือนได้ลองออกจาก Comfort Zone ไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกจากงานกราฟิกที่ได้ไปช่วยพี่ๆ ออกแบบ เวลา NIA มีงานก็ได้ไปช่วยพี่ๆ ทำงาน”

ถามว่าทำไมถึงหลงรักในโลกของศิลปะ แพรวตอบชัดว่า ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็มีบางช่วงที่ลังเลว่าจะเบนเข็มมาเรียนสายธุรกิจดีหรือไม่

“แพรวเคยไปลองลงคอร์สบิสซิเนสของที่โรงเรียนแล้ว รู้สึกว่าไม่อิน เลยบอกตัวเองว่า ถ้าต้องเรียนในสายที่ไม่ชอบในในรั้วมหาวิทยาลัย 4 ปีคงไม่ไหว สู้เรียนในสิ่งที่ชอบดีกว่า เลยตั้งใจแน่วแน่มาตลอดว่าจะเรียนต่อสายกราฟิกดีไซน์ เพราะแพรวรู้สึกว่า ศิลปะหรืองานออกแบบเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และมีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของคนเราเยอะมาก ที่สำคัญ ยังเป็นศาสตร์ที่สามารถนำไปต่อยอดหรือประยุกต์กับงานอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานนิตยสาร ป้ายโฆษณา หรือแม้แต่การออกแบบสัญลักษณ์หน้าห้องน้ำ เพราะศิลปะหรืองานออกแบบเป็นอีกภาษาที่ช่วยในการสื่อสาร ถึงไม่รู้ว่าศิลปะคืออะไร แต่เห็นภาพก็เข้าใจว่าต้องการสื่ออะไร

เพราะฉะนั้น เวลาไปไหนมาไหน แพรวจะสังเกตงานออกแบบที่อยู่รอบตัว ดูตั้งแต่การดีไซน์ ไปจนถึงการเลือกใช้สี เพราะสีแต่ละสีก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง อย่างเช่น ร้านแมคโดนัลด์ หรือ พิซซ่า ฮัท เหตุผลที่เขาใช้สีแดง ก็เพราะเป็นสีที่กระตุ้นความอยากอาหาร เป็นต้น”


ส่วนเหตุผลที่อินกับงานที่มีความเป็นญี่ปุ่นเป็นพิเศษ นอกจากจะเพราะหลงรักประเทศนี้ไม่ต่างกับใครหลายคนแล้ว แพรวยังชอบในความมินิมอล กราฟิกที่โชว์ความน้อยแต่มาก มีความลุ่มลึกในความคิด แต่ถ้าถามว่าศิลปะของญี่ปุ่นยุคไหนที่แพรวชอบมากที่สุด กลับเป็นงานในยุค 80-90 ซึ่งมีความฉูดฉาดในการใช้สีสัน ซึ่งความชอบนี้สะท้อนผ่านของสะสม อย่าง แผ่นเสียงเก่าของญี่ปุ่น ที่เป็นแนว ซิตี้ ป็อบ (ยุค 80-90)

“อาจจะดูย้อนแย้งนิดๆ (หัวเราะ) แต่แพรวชอบในความเยอะแบบญี่ปุ่น ช่วงนี้ไปญี่ปุ่นไม่ได้ เวลาจะหาซื้อแผ่นเสียงเก่าๆ ก็อาจจะยากหน่อย ยังมีอีกหลายปกที่อยากได้ ทุกวันนี้เวลาซื้อแพรวจะเลือกจากปกก่อน ชอบปกไหนก็ไปตามหา แล้วค่อยมาฟังเพลง เวลานั่งทำงาน แพรวว่าการฟังจากแผ่นเสียงให้ความรู้สึกคนละแบบกับเวลาเปิดฟังจากยูทูบ ซึ่งแพรวโชคดีที่คุณพ่อเป็นสายสะสมเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่แล้ว เลยไม่ต้องลำบากหาเครื่องเล่นเอง

ถามว่าชอบแผ่นเสียงเก่าๆ ที่ไม่ได้หาได้ง่ายแบบนี้ ต้องเป็นสายสู้ราคาแค่ไหน เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ แพรวตอบชัดว่า “ค่อนข้างสู้นะคะ ราคาเกือบหมื่นก็เคยสู้มาแล้ว ส่วนใหญ่เวลาแพรวซื้อแผ่นเสียงไม่ค่อยคิดเยอะ ไม่เหมือนเวลาซื้อกระเป๋า รองเท้า อาจจะคิดเยอะกว่า (หัวเราะ) แต่ซื้อมาแล้ว แพรวจะดูแลรักษาอย่างดี เช็ดทุกครั้งหลังฟังเสร็จ เวลาหยิบก็ต้องระวังไม่ให้เล็บไปโดน”


อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเป็นสายติสต์ ชอบฟังเพลง ศึกษาผลงานออกแบบต่างๆ ในช่วงที่มีเวลาอยู่บ้านค่อนข้างมากแบบนี้ แพรวกำลังขะมักเขม้นกับการออกแบบคาแรกเตอร์ที่เป็นไลเซนส์ของตัวเอง ตั้งใจว่าปีหน้าต้องสำเร็จออกมาให้เห็น โดยใครที่สนใจก็สามารถไปติดต่อผลงานของเธอได้ เพราะอีกหนึ่งกิจกรรมของเธอตอนนี้คือ อัดคลิปตอนทำงานศิลปะไปลง Tiktok และ IG ให้คนที่ชอบผลงานสไตล์แพรว ติดตามผ่านแอคเคาท์ killertrueblue ซึ่งเป็นนามปากกาที่แพรวบอกว่ามีแรงบันดาลใจมาจากความชอบสีฟ้ามากๆ นั่นเอง

“วิธีหาแรงบันดาลใจของแพรวเวลาทำงาน ก็มาจากสิ่งรอบตัว อย่าง เวลาแพรวศึกษางานศิลปะ ก็จะลงลึกไปถึงประวัติของศิลปินด้วย ดูว่าประวัติของศิลปินแต่ละคนมาอย่างไร ทำไมมาทำงานสไตล์นี้​ กว่าจะได้ชิ้นงานหนึ่งต้องทำอะไร แล้วค่อยๆ เก็บเกี่ยวมาปรับใช้กับงานของตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็เริ่มฝึกทำอาหาร เตรียมพร้อมถ้าต้องไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นคนเดียว แต่ก็ยังทำได้ไม่เก่งเท่าไหร่ค่ะ” แพรวเล่าอย่างอารมณ์ดี ก่อนทิ้งท้ายถึงแรงบันดาลใจที่มาจากคุณแม่

“สำหรับแพรว คุณแม่เป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในชีวิตเลยทีเดียว ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จก็มาจากความพยายามขวนขวายที่จะเรียนรู้ ซึ่งแพรวว่าเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในโลกยุคดิจิทัล ทุกอย่างเกิดเร็ว การที่เราเป็นคนเปิดกว้าง ยืดหยุ่นไปตามยุค รับฟัง มุมมองหลายอย่าง จะช่วยพัฒนาตัวเองได้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น อีกคำสอนที่คุณแม่สอนแพรวเสมอคือ คนเราต้องกล้าที่จะเรียนรู้ความล้มเหลวของตัวเองและคนอื่น เพื่อที่จะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำอีก ซึ่งแพรวคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ และนำมาปรับใช้เสมอค่ะ”