Celeb Online

นางงามหลายชาติโดนดรามา จากคอสตูมเจ้าปัญหาบนเวทีมิสยูฯ


หลังมีเสียงเล่าลือว่า มิสนิการากัว “เชย์นิส ปาลาซิโอส” ผู้ครอบครองมงกุฎยูนิเวิร์สคนล่าสุด โดนรัฐบาลสั่งห้ามเข้าประเทศตัวเอง เนื่องจากเห็นว่าเธอเป็นฝ่ายต่อต้านการปกครองของผู้นำคนปัจจุบัน โดยมีภาพเธอร่วมขบวนประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2018 แถมตอนประกวดชุดราตรีเธอเลือกใช้ชุดขาวกับผ้าคลุมสีฟ้า ซึ่งคือสีที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และเป็นสีที่ผู้ประท้วงใช้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นธงสีแดง-ดำ และยังไปละหม้ายคล้ายกับภาพของพระแม่ ซึ่งเป็นนักบุญในศาสนาคริสต์ คาทอลิก ที่รัฐบาลพยายามห้ามให้ผู้คนนับถือ ก็ยิ่งทำเอาเหล่าผู้ประท้วงและผู้ลี้ภัยชาวนิการากัวทั้งหลาย ได้นำเอา ปาลาซิโอส เป็นสัญญาณของความหวังในการเคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาล จนกระทั่ง มีข่าวว่าเธออาจจะกลับไปเหยียบประเทศตัวเองไม่ได้ เพราะถ้ากลับไปอาจถูกจับขังคุกกันเลยทีเดียว

เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ที่มิสยูนิเวิร์สพม่า และมิสแกรนด์พม่าของปีก่อนๆ ที่เคยแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลทหาร ได้ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศมาแล้ว แสดงออกถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนเวทีการประกวด เป็นอะไรที่อยู่คู่กันมาอย่างยาวนาน และในปีล่าสุด ก็ยังมีการแสดงจุดยืนทางการเมืองและประเด็นสังคม ผ่านทางชุดประจำชาติของนางงามหลายราย ที่ทำเอาเป็นเอฟเฟกต์ต่อเนื่องหลังการประกวด ทั้งถูกนำเอาไปดรามา ถูกผู้เห็นต่างฝ่ายตรงข้ามโจมตีเป็นการใหญ่


อย่างที่ร้อนแรงที่สุดต้องยกให้กับ นางงามจากประเทศกรีซ ที่เลือกแต่งชุดประจำชาติเป็นชุดเทพีของเสาวิหารพาร์เธนอน พร้อมถือป้าย TAKE OUR HISTORY BACK สะท้อนถึงการที่รัฐบาลกรีซ พยายามขอเรียกคืนวัตถุโบราณชิ้นนี้ จากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอังกฤษมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว ซึ่งความแสบก็คือว่า นางงามประเทศกรีซได้เดินขึ้นเวทีตามหลังนางงามของอังกฤษ จากการเรียงตามตัวอักษร เรียกได้ว่าเดินตามทวงกันบนเวทีเลยทีเดียว


ฟากนางงามจากเนเธอร์แลนด์ ที่เลือกชุดประจำชาติเป็นชุดดอกทิวลิปเบ่งบานโดยกลีบดอกเป็นสีรุ้ง เป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ดอกไม้ประจำประเทศ และยังใช้สีรุ้งสื่อความหลากหลายทางเพศที่เปิดกว้างบนเวทีการประกวด เพราะเธอเองก็ถือเป็นหญิงข้ามเพศคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของเวทีนี้ แม้ว่าการเคลื่อนไหวนี้จะถูกใจเหล่านักเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทั่วโลก แต่บรรดาเหล่าอนุรักษ์นิยมในประเทศ ที่ไม่พอใจเรื่องที่เธอเป็นหญิงข้ามเพศ และได้ไปเป็นตัวแทนนางงามของประเทศก็ยิ่งทวีความไม่ชอบใจกันใหญ่


ปิดท้ายกันที่นางงามจากประเทศกูราเซา หมู่เกาะในทะเลคาริบเบียน ที่เคยตกอยู่ในการปกครองของประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มาในชุดของสัญลักษณ์โอลิมปิก เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กับเหล่านักกีฬาเพื่อนร่วมชาติของเธอ ซึ่งทางสมาพันธ์โอลิมปิกไม่รองรับประเทศของเธอ ทำให้ไม่สามารถเข้าแข่งขันในนามประเทศกูราเซาได้ ต้องเข้าแข่งขันร่วมในนามประเทศอดีตปกครองของเนเธอร์แลนด์ร่วมกับประเทศอื่นๆ ทำให้ไม่มีโอกาสได้เห็นธงชาติของเธอโบกสะบัดในฐานะผู้ชนะเหรียญทองโอลิมปิก