ชาวอเมริกันมีชื่อเล่นที่ใช้เรียก ‘รถประจำตำแหน่งประธานาธิบดี’ ของพวกเขาว่า ‘เดอะ บีสต์’ ‘คาดิแลค วัน’ ‘สเตจโค้ช’ หรือ ‘รถยนต์หมายเลขหนึ่ง’ ซึ่งปัจจุบันเป็นรถยนต์ยี่ห้อคาดิแลค ที่ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับการเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีโดยเฉพาะ
‘เดอะ บีสต์’ เข้ามาอยู่ในฐานะรถประจำตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2009 ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นรถซีดานที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อมาเป็น ‘รถยนต์หมายเลขหนึ่ง’ เจ็นเนอรัล มอเตอร์ส บอกว่าได้นำเทคโนโลยีการผลิตรถกระบะมาใช้กับโครงสร้างรถยนต์รุ่นนี้
แน่นอนว่า ‘เดอะ บีสต์’ กันกระสุนและขีปนาวุธ รวมทั้งกันน้ำ ควัน ฝุ่น สารพิษ ตามมาตรฐานรถประธานาธิบดี เป็นรถที่ทั้งหนาและหนักถึง 9,100 กิโลกรัม ด้วยกระจกสองชั้น และตัวถังหนาพิเศษ ว่ากันว่า แค่ประตูก็หนักพอๆ กับประตูเครื่องโบอิ้ง 757 เลยทีเดียว
ภายในรถมีทุกอย่างเพื่อความปลอดภัยของประธานาธิบดี นอกจากอุปกรณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์แล้ว ยังมีเลือดสำรองสำหรับผู้นำสหรัฐโดยเฉพาะ รวมไปถึง ช่องเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์หลากรูปแบบ ทั้งที่ทำจากอะลูมิเนียม เซรามิค และเหล็ก เพื่อการใช้งานได้ทุกสถานการณ์
ประธานาธิบดีสหรัฐมีรถประจำตำแหน่งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยคันแรกคือรถยนต์ทาฟต์ M40 ของประธานาธิบดีวิลเลียม ฮาวเวิร์ด ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งสมัยนั้นนับเป็นความหรูหราสุดๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านจากรถเทียมม้า มาสู่รถยนต์อย่างเต็มตัว
แรกเริ่มเดิมที รถประจำตำแหน่งประธานาธิบดี ซื้อมาจากโรงงานผู้ผลิตแบบไหนก็แบบนั้น ไม่ได้มีการสั่งทำเป็นรุ่นพิเศษ จนกระทั่งสมัยประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ที่สั่งทำรถยนต์ฟอร์ด V8 Coupe ของเขาให้บังคับได้ด้วยมือทั้งหมด นอกจากนี้ ยังสั่งทำ ‘เดอะ ซันไชน์’ จากฟอร์ด มอเตอร์ส รุ่นพิเศษ ลินคอล์น เค-ซีรีส์ ที่บรรจุผู้โดยสารได้ 10 ที่นั่ง
ความพิเศษของ ‘เดอะ ซันไชน์’ นอกจากหลังคาเปิดได้แบบซันรูฟแล้ว ยังออกแบบมาให้รองรับน้ำหนักแบบสมบุกสมบัน และมีพื้นที่รอบคันรถสำหรับให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคง สามารถยืนรักษาความปลอดภัยได้
สำหรับรถประจำตำแหน่งประธานาธิบดีในตำนานอีกคัน ต้องพูดถึง ลินคอล์น คอนติเนนทัล X-100 สีน้ำเงินเข้มของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นรถประจำตำแหน่งประธานาธิบดีที่สง่างามที่สุด แม้จะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม และทำให้มาถึงจุดเปลี่ยนของรถยนต์หมายเลขหนึ่งในกาลต่อมา
เจเอฟเค สั่งทำ ลินคอล์น คอนติเนนทัล X-100 มาในราคา 2 แสนเหรียญสหรัฐ (เทียบได้มูลค่าประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกสุดหรูมากมายสำหรับสมัยนั้น มีทั้งแอร์และฮีตเตอร์ วิทยุสื่อสาร 2 เครื่อง ที่ดับเพลิง ไซเรน
นอกจากนี้ ที่ยืนสำหรับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ยังพัฒนาให้มีมือจับ หลังคาเปิดประทุนสามารถถอดเปลี่ยนได้หลายแบบ ทั้งเหล็ก และพลาสติกใส ที่ใช้ระบบไฮโดรลิคในการปิดเปิด ดีไซน์นี้ช่วยให้คนสามารถเห็นประธานาธิบดีได้ชัดเจน จนกลายเป็นดาบสองคมให้จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ถูกลอบสังหาร
หลังจากนั้น รถยนต์หมายเลขหนึ่ง จึงถูกออกแบบใหม่ ให้มีกระจกกันกระสุนหนาไม่ต่ำกว่า 5 นิ้ว บรรดาเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ต้องมายืนรอบคันแล้ว แต่ให้มาในรถ และรถติดตามขบวนที่อาจจะมีได้ถึง 24-45 คันเลยทีเดียว เพราะมีทั้งทีมงาน บอดี้การ์ด ทีมแพทย์ นักข่าว ฯลฯ
หลังจากที่ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด และโรนัลด์ เรแกน ต่างถูกลอบสังหาร แม้ว่าจะมีการออกแบบรถประธานาธิบดีให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม ทำให้สหรัฐเปลี่ยนจากบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ส มาใช้บริการจีเอ็ม มอเตอร์ส และรถยนต์คาดิแลคก็กลายมาเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ
คาดิแลค ฟลีตหวูด ของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่ตอนนี้จัดแสดงอยู่ในศูนย์เรียนรู้เรื่องประธานาธิบดีคลินตันในลิตเติลร็อก รัฐอาคันซอส์ เป็นรถยนต์ที่ ‘โค-ตะ-ระ’ ปลอดภัย ไม่เพียงกันกระสุนและขีปนาวุธต่างๆ เท่านั้น แม้แต่ฝุ่นสักกระเบียดนิ้ก็ไม่อาจจะเล็ดรอดเข้าไปภายในได้หากไม่เปิดประตู-หน้าต่าง เมื่อประธานาธิบดีเข้าไปนั่งภายใน จะเหมือนถูกตัดออกจากโลกภายนอกไปเลย โดย ฯพณฯ ท่านบิล คลินตัน สามารถสื่อสารจากรถยนต์หมายเลขหนึ่งของเขาได้ทางโทรศัพท์ ดาวเทียม รวมทั้งอินเทอร์เน็ต