Celeb Online

น้ำเปื้อนพิษ น้ำดื่มมีวันหมดอายุด้วยหรือ ?


>>โดย พญ.อัจจิมา สวรรณจินดา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลเซอร์ผิวพรรณ ผ่าตัดมะเร็งผิวหนัง อาจารย์พิเศษ รพ.รามาธิบดี

น้ำดื่มมีวันหมดอายุด้วยหรือ ? คุณเคยสังเกต วันหมดอายุที่ติดอยู่ข้างขวดน้ำดื่มหรือไม่

น้ำไม่ได้หมดอายุ…ภาชนะที่บรรจุน้ำต่างหากที่หมดอายุ หลายคนอาจไม่เคยสังเกตมาก่อนเลยว่า น้ำดื่มที่มีขายตามท้องตลาดนั้น จะต้องระบุวันหมดอายุเอาไว้ตาม พ.ร.บ.อาหารและยา (อย.) แม้น้ำจะยังคงบรรจุอยู่ในขวดที่ปิดฝาสนิทและยังคงความใส แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งขวดพลาสติกที่บรรจุ จะปล่อยสารพิษชนิดที่ละลายออกมาปะปนกับน้ำดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น

จากรายงานข่าว คนเสียชีวิตจากการดื่มน้ำจากการใช้ขวดพลาสติกดังกล่าวผิดวิธี เช่น การนำมาใช้ซ้ำโดยนำไปบรรจุน้ำดื่มครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะขวดดังกล่าวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ครั้งเดียว มีอายุการใช้งานสั้น จึงไม่ควรนำมาบรรจุน้ำดื่มอีก การเก็บภาชนะเหล่านั้นถูกเก็บไว้ไม่เหมาะสม ทั้งนี้สารเคมีเช่น ทินเนอร์ (thinner) น้ำมันสารทำความสะอาดชนิดแห้ง แก๊สหลายชนิด สามารถผ่านพลาสติกเข้าไปได้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของน้ำดื่มที่อยู่ในขวด การเก็บขวดน้ำไว้ในช่องแช่แข็งที่เย็นจัด หรือเก็บขวดนั้นไว้ที่ร้อนๆ เช่นในรถยนต์การสัมผัสกับความร้อน หรือแสงแดด เนื่องจากความร้อนจัด หรือเย็นจัด จะไปทำลายโรงสร้างของพลาสติก ทำให้พลาสติกเสื่อมคุณภาพและยิ่งปล่อยสารพิษปนเปื้อนในปริมาณที่สูงยิ่งขึ้น รวมไปถึงขวดน้ำที่เปิดใช้แล้ว ไม่ควรใช้นานเกินกว่า 1 อาทิตย์ เนื่องจากมีการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรค

น้ำดื่มในขวดสะอาด จะเปื้อนพิษได้อย่างไร?

ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดของคณะนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษ และรายงานการวิจัยจาก Harvard School of Public Health (HSPH) พบว่า บิสฟินอล เอ (bisphenol A ; BPA) ซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมีที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน บ่งชี้ว่าการได้รับสารชนิดนี้อาจส่งผลร้ายต่อร่างกาย โดยมีผลต่อการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคตับได้ 

บีพีเอ หรือ bisphenol A เป็นสารที่ใช้ในการทำให้พลาสติกแข็งตัว  มักพบในผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ทั้งแผ่นซีดี  อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยในการเล่นกีฬา ชิ้นส่วนงานทันตกรรม กาว ทั้งยังพบในแผ่นพลาสติกที่ใช้กับภาชนะบรรจุอาหารบางประเภท เช่น ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม (ขวดโพลีคาร์บอเนต) ขวดโซดา และขวดนมทารก อะลูมิเนียมที่ใช้ใส่อาหาร และเครื่องดื่มกระป๋อง

แม้นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานอาหารและยา บอกว่า บีพีเอเป็นสารที่ปลอดภัยแต่เราก็ไม่ควรมองข้ามผลการศึกษาในสัตว์ ทั้งนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา คาริน บี มิเชล จาก HSPH และ Harvard Medical School กล่าวว่า การดื่มน้ำเย็นจากขวดโพลีคาร์บอเนตแค่เพียงอาทิตย์เดียว สามารถเพิ่มระดับบีพีเอในปัสสาวะได้ถึงสองในสามส่วน และในกรณีของขวดนมทารกซึ่งบรรจุของร้อน ยิ่งพบระดับของสารบีพีเอในปัสสาวะได้มากขึ้น รายงานวิจัยหลายฉบับพบว่าสารบีพีเอนี้ ขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อในสัตว์ ตั้งแต่ขัดขวางการเจริญของระบบสืบพันธุ์ การพัฒนาและการจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่อบริเวณต่อมน้ำนม ลดการผลิตสเปิร์มในรุ่นลูกรุ่นหลาน และอาจอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการแรกเริ่ม จึงต้องยิ่งระวังในทารกเนื่องจากสารบีพีเอจะขัดขวางการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อในทารกได้มากกว่า

การวิจัยศึกษาข้อมูล ถูกนำลงตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน พบว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและหญิงชาวอเมริกันร้อยละ 93 มีสารบีพีเอสะสมอยู่ในร่างกาย การวิเคราะห์ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ สำรวจประชากรวัยผู้ใหญ่เป็นจำนวนกว่า 1,400 คน พบว่า ร้อยละ 25 ของผู้ที่มีสารบีพีเออยู่ในระดับสูงสุดนั้น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือเบาหวานมากกว่าคนอื่นกว่า 2 เท่า และยิ่งมีสารบีพีเออยู่ในร่างกายมากเท่าใด ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหล่านี้ก็มากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการทดลองในอาสาสมัคร โดยการตรวจสารบีพีเอจากปัสสาวะ หลังจากการรับประทานน้ำจากขวดโพลีคาร์บอเนต ซึ่งเป็นขวดที่นิยมใช้ทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวและเด็กนักเรียน เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ พบว่าปริมาณสารบีพีเอในปัสสาวะของอาสาสมัครเพิ่มขึ้นถึง 69% แสดงให้เห็นว่าสารบีพีเอจากขวดบรรจุน้ำดื่มสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ของเหลวในขวด

ศาสตราจารย์ทามารา กัลโลเวย์ จากมหาวิทยาลัยเอกเซตเตอร์ในอังกฤษ กล่าวว่า มีข้อบ่งชี้ว่าสารบีพีเอจะทำงานคล้ายเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ที่ขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนอื่นๆ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน และอาจส่งผลบางอย่างต่อการต้านทานอินซูลิน รวมไปถึงการกระจายของไขมันไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

หลายประเทศกำลังตัดสินใจออกมาตรการห้ามใช้บีพีเอในขวดนมเด็ก โดยแคนาดานับเป็นประเทศแรกๆ ที่กำหนดมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับสารบีพีเอทั้งการใช้และการปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2553 ทั้งยังจัดสรรงบประมาณกว่า 1.07 ล้านยูโร สำหรับดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับสารบีพีเอ ขณะที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เห็นชอบให้ออกมาตรการห้ามขายขวดนมและถ้วยหัดดื่มสำหรับเด็กที่ทำจากวัสดุผสมสารบีพีเอ

แท้จริงแล้ว จากการศึกษายังพบสารที่แพร่ออกมาจากขวดน้ำพลาสติกอีกหลายชนิด มิใช่เพียงสารบีพีเอ ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการวิจัยศึกษาอันตรายที่อาจเกิดสารเหล่านี้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งจากสารเคมีที่ใช้ในการผลิตขวด สารที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต เป็นต้น แต่สารดังกล่าวที่แพร่ออกมาพบว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ชนิดและปริมาณของสารที่แพร่ออกมาจะขึ้นกับระยะเวลาการใช้งาน สภาวะในการเก็บ และการใช้ภาชนะที่ถูกต้องเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน

แม้องค์การอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกาจะออกมาระบุว่า สารบีพีเอและสารอื่นๆ ที่แพร่ออกมา พบว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแต่อย่าลืมว่า วันหนึ่งเราดื่มน้ำจากขวดพลาสติกและใช้ภาชนะพลาสติกกันหลายรอบทีเดียว อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้คงเป็นการดีกว่า หากไม่จำเป็นจริงๆ ควรลดการดื่มน้ำจากขวดพลาสติก เปลี่ยนมาใช้ภาชนะจานชามกระเบื้อง หม้อกระเบื้องเคลือบหรือใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก จึงเป็นการดีต่อสุขภาพมากกว่า ส่วนคุณพ่อคุณแม่หากจะเลือกซื้อขวดนมที่ผลิตจากพลาสติก ก็ควรเลือกที่ใช้โพลีพรอพพีลีน หรือ PP โดยสังเกตข้างขวดจะมีเขียนไว้ว่า PP หรือให้สังเกตว่าไม่ได้มี BPA เป็นส่วนประกอบ BPA Free หรือหากเลือกได้ ก็ควรเลือกใช้ขวดนมแบบขวดแก้วก็จะเป็นการปลอดภัยต่อลูกน้อยค่ะ

>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net และ ติดตาม CelebStagram ได้ที่ http://www.manager.co.th/celebonline/celebstagram/