Celeb Online

รู้ทันโรคแพกคู่ “อาหารไม่ย่อย+กรดไหลย้อน”


>>ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยระบบทางเดินอาหารที่มี “อาการอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อน” มีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง จากการศึกษาวิจัยพบว่า 20% ของผู้ป่วยจะมีอาการ 2 อย่างพร้อมกัน โดยผู้ป่วยมักแยกความแตกต่างอาการของโรคไม่ออก เราจึงขอนำเคล็ดลับดีๆ จากกูรูของกาวิสคอน ดูอัล แอคชั่นมาฝากกัน

แพทย์หญิงวิภากร เพิ่มพูล อายุรแพทย์ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงอาการอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อนว่า “ทั้งอาการอาหารไม่ย่อยและโรคกรดไหลย้อนกลายเป็นโรคยอดฮิตในคนยุคปัจจุบัน และเข้ามาใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เพราะสถานการณ์การใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และไม่ตรงเวลา รวมไปถึงการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น

โดยความรุนแรงของโรคแบ่งเป็น 3 ระดับ คือกลุ่มที่มีอาการไม่มากเป็นแล้วหาย กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เป็นแล้วเป็นซ้ำแต่ไม่รุนแรง กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นแผลในหลอดอาหาร แม้จะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคในระดับที่รุนแรงในจำนวนไม่สูงนัก แต่กลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของโรคเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ และอาจลุกลามไปเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ การรักษาเบื้องต้นจึงมีความสำคัญมากที่จะบรรเทาอาการในระยะแรก โดยผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นที่ต่างกันได้

สำหรับอาการอาหารไม่ย่อยนั้นเกิดจากการมีกรดเกินในกระเพาะอาหารจึงทำให้มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด อิ่มเร็ว เรอมากเป็นอาการเด่น ส่วนกรดไหลย้อน ผู้ป่วยจะมีอาการจุกแน่นอยู่ที่หน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย แต่จะมีอาการแสบร้อนกลางอก เรอบ่อย จุกคอ ไอมาก เจ็บคอเรื้อรัง เพราะเกิดจากหูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเสื่อมหรือปิดไม่สนิท ทำให้กรดที่อยู่ในกระเพาะอาหารซึ่งอาจรวมไปถึงเอนไซม์เปบซินและน้ำดีมีการไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ก่อให้เกิดการระคายเคืองหลอดอาหารและทำให้เกิดการเจ็บปวดแบบแสบร้อนในอก สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน คือ ปัจจัยเรื่องโรคอ้วน การตั้งครรภ์ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่นิยมอาหารรสจัด อาหารขยะหรือมันเกินไป การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ นอนทันทีหลังมื้ออาหาร รวมถึงความเครียดที่เป็นตัวกระตุ้นให้อาการของโรคทวีความรุนแรงมาก”

อย่างไรก็ตาม สามารถกล่าวได้ว่าอาการอาหารไม่ย่อยนี่เองที่มีความเกี่ยวเนื่องกับกรดไหลย้อน เนื่องจากกรดที่เกินจะเป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร หากปล่อยทิ้งไว้จึงมีโอกาสทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปสู่ทางเดินอาหารและหลอดอาหารจนทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ ส่วนในแง่ของปัจจัยเสี่ยง สาเหตุ และอาการของทั้งสองโรคนี้แทบจะไม่แตกต่างกันเลย จึงนับได้ว่าเป็นเหมือนโรคฝาแฝด

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นก็ควรป้องกันตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีความสำคัญที่สุด เช่น ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมันเยอะ เพราะทำให้การย่อยช้าลง เลี่ยงอาหารรสจัด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เพราะอาหารเหล่านี้จะสร้างลมในทางเดินอาหาร ซึ่งจะดันกรดและอาหารที่ยังย่อยไม่หมดขึ้นไปสู่กระเพาะและหลอดอาหารได้ แบ่งย่อยอาหารมื้อหลัก จากวันละ 3 มื้อ เป็น 5-6 มื้อต่อวัน และเข้านอนหลังจากมื้ออาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที จะช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น ส่วนในกรณีของผู้ที่มีอาการบ่อยควรยกหัวเตียงนอนให้สูงขึ้น 6 – 10 นิ้ว จะสามารถช่วยลดอาการได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วยก็ขอให้คำนึงถึงการใช้ยาที่ถูกกับโรคและอาการ รวมทั้งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามที่แนะนำข้างต้นจะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ :: Text by FLASH

>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net และ ติดตาม CelebStagram ได้ที่ http://www.manager.co.th/celebonline/celebstagram/