Celeb Online

QA: เมาค้าง! ป้องกันและเยียวยาอย่างไร

By Lady Manager

Question ช่วงคริสต์มาสปีใหม่ ปาร์ตี้บ่อยค่ะ ดื่มหนักด้วย ตื่นเช้ามามึนตึ้บปวดหัวมาก ต้องนอนทั้งวันเลย ขอวิธีป้องกันและเยียวยารักษาอาการเมาค้างค่ะ

Answer โดย นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์อายุรกรรมสมอง คลินิกเครือรพ.กล้วยน้ำไท

“อาการเมาค้างเป็นอาการที่คล้ายกับเพิ่งฟื้นไข้ เพราะร่างกายขาดน้ำทำให้เซลล์สมองเหี่ยวลง แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการขับของเสียในร่างกายในรูปของปัสสาวะ พร้อมกันนั้นยังขับสารอาหารสำคัญของร่างกายออกมาด้วยทั้งแมกนีเซียม โปตัสเซียม และวิตามินบี 1, 6 ฯลฯ

เกิดการคั่งของสารแอลดีไฮด์ (Aldehyde) ซึ่งทำให้ทำลายสมอง และระบบประสาท เกิดพิษในร่างกายจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินที่ร่างกายจะสามารถรับได้ และทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ รบกวนการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ทำให้ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว อาจะเป็นได้ทั้งปวดหนึบๆ หนักๆ ปวดแบบจี๊ด หรือปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ และยิ่งปวดมากขึ้นถ้ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย

มีอาการคลื่นไส้ มึน อ่อนเพลีย งุนงงสับสน นอนไม่หลับ คอแห้ง ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็ง หรืออาจเป็นตะคริวร่วมด้วย ปวดท้อง เบื่ออาหารลิ้นไม่รับรส นอนไม่ได้ ลืมตาไม่ขึ้น หมดแรง ลุกไม่ขึ้น แม้กระทั่งการเดินก็ไม่ได้คล่องแคล่วตามปกติ ผะอืดผะอม แต่ไม่อาเจียน แล้วอาจเป็นต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

บางรายอาจมีท้องเสีย ความดันเลือดตัวบนสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกมากขึ้น หรือมีอาการบ้านหมุนร่วมด้วย ยิ่งในคนที่เป็นโรคหัวใจจะเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตง่ายกว่าคนปกติ”

“ไม่อยากมีอาการเมาค้าง แนะนำว่าก่อนไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรไปขณะกำลังหิว และไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมก่อนไป เพราะจะทำให้ยิ่งดื่มมากขึ้น พยายามรับประทานผักที่มีกรดโฟลิก (Folic acid) ทำหน้าที่ฟื้นฟูเซลล์ที่จะถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์ และไฟเบอร์สูงเช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ ฯลฯ หรือทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีนที่มีไขมันดีรองท้องไว้ก่อน เพื่อช่วยชะลอการดูดซึมของแอลกอฮอล์

ขณะดื่มควรทำให้ร่างกายลดการดูดซึมของแอลกอฮอล์ และขับออกทางปัสสาวะด้วยการดื่มน้ำมากๆ และระวังไม่ให้ท้องว่างโดยการรับประทานกับแกล้ม เลือกผสมน้ำแทนการผสมโซดาเพราะโซดาจะทำให้การดูดซึมไปสู่สมองเร็วขึ้น

ควรรับประทานวิตามินบี 6 เพิ่มระหว่างดื่มช่วยลดอาการเมาค้างลงได้ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้การทำงานของวิตามินบี 6 ลดลงทำให้ร่างกายขาดพลังงาน เลือกเหล้าที่มีดีกรีน้อย หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หลายชนิดสลับกันไปมาแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การคอยเตือนตัวเองไม่ให้ดื่มมากเกินไป

หลังปาร์ตี้ก่อนจะเข้านอนควรดื่มน้ำ น้ำส้ม หรือน้ำมะนาวจำนวนมาก เพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายและป้องกันสมองเกิดการหดตัวจากการที่ร่างกายดึงน้ำจากสมอง เพราะวิตามินซีจะช่วยเร่งการเผาผลาญแอลกอฮอล์ในตับ หรือดื่มน้ำวุ้นจากใบว่านหางจระเข้เพราะช่วยสลายพิษในตับ” 

“อาหารเช้าวันรุ่งขึ้นควรเลือกอาหารประเภทโปรตีน และดื่มน้ำหวาน น้ำผึ้งผสมมะนาว เพราะแอลกอฮอล์ทำให้สมองขาดน้ำตาล และควรดื่มเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูงเพื่อช่วยลดปริมาณสารตกค้างที่มีอยู่ในตับ จิบน้ำอุ่นๆ ผสมมะนาว ไม่ควรดื่มกาแฟ เพราะกาแฟจะทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น ถึงไม่หิวก็ควรรับประทานอาหารประเภทย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม, โจ๊ก, น้ำซุปใส ฯลฯ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทมันๆ เพราะอาจะทำให้รู้สึกอยากอาเจียน

พยายามเดินช้าๆ หรือนั่งใต้ต้นไม้เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจน หรือใช้สูตรนำใบรางจืดประมาณ 4-5 ใบมาตำหรือปั่นและคั้นเอาน้ำออกมาจะช่วยถอนพิษและลดอาการเมาค้างได้เป็นอย่างดี ถ้ายังรู้สึกคลื่นไส้อาจะใช้ยาดม ยาหอมฯลฯ

ควรช่วยให้ผู้ที่เมาค้างรู้สึกสดชื่น และช่วยลดอาการปวดศีรษะด้วยการเช็ดตัว เช็ดหน้าด้วยน้ำเย็น และควรใช้ผ้าประคบบริเวณใบหน้า และศีรษะ และถ้าปวดศีรษะมากควรเลือกทานแอสไพรินหลีกเลี่ยงพาราเซตามอล เนื่องจากส่งผลต่อตับอาจเกิดอันตรายได้

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น และพบว่ามีการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนมาก ตัวเย็น ความดันโลหิตต่ำ ท้องเสียไม่หยุด ใจสั่น อ่อนเพลียนานเกิน 1 วัน ควรรีบเข้าพบแพทย์เพราะอาจเกิดอาการขาดน้ำได้

ฝากสักหน่อยครับว่า คนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละมากๆ และต่อเนื่อง จะส่งผลต่อสมอง ความจำ สมาธิ ตับ หัวใจ แต่ก็มีหลายคนคิดว่าไม่ค่อยได้มีปาร์ตี้ดื่มหนักบ่อย นานๆ ครั้งฉลองส่งท้ายปีเก่าทั้งทีขอเต็มที่สุดเหวี่ยงคงไม่เป็นไร เป็นความเชื่อที่ผิดและอันตราย เพราะถึงแม้ว่าจะมีหลายวิธีที่ช่วยลดอาการแฮงค์ได้ก็จริง แต่เมื่อมีการดื่มสติและการตัดสินใจจะช้าลงทันที ทำให้มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงครับ ดังนั้นปาร์ตี้แต่ไม่ดื่มย่อมดีที่สุดครับ”

 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net