Celeb Online

ผู้หญิงกับโรคหัวใจ! วัยสาวเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ วัยทองโอกาสหัวใจตีบสูง

By Lady Manager

“อัตราการเสียชีวิตโดยรวมของโรคหัวใจตอนนี้ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม”

นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวถึงสถิติในการตายด้วยโรคหัวใจครองแชมป์ขึ้นแท่น

“โรคหัวใจ แบ่งง่ายๆ คือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจที่เกิดภายหลัง แบ่งตามโรคหัวใจทั่วไป จะแบ่งได้ว่า เป็นโรคของหลอดเลือดหัวใจ และโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ โรคของการนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจ แต่ละอย่างจะมีความผิดปกติในแต่ละแบบ

เช่น โรคจากหลอดเลือดหัวใจ ถ้ามีเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดหัวใจโป่งพอง หรือตีบผิดปกติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจก็มีตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ดี เนื่องจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ตัวกล้ามเนื้อหัวใจเองทำงานผิดปกติ หรือโรคลิ้นหัวใจ ตั้งแต่ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ

โรคจังหวะการเต้นหัวใจ การนำกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ จะมีการเต้นที่ช้าเกินไป เร็วเกินไป หรือเต้นผิดปกติบางอย่าง ก็ไม่อันตรายกับชีวิต ฉะนั้นถ้าโรคหัวใจจะแบ่งรวมๆ แบ่งออกเป็นได้หลายประเภท”

วินิจฉัยโรคหัวใจในผู้หญิงยาก….

คุณหมอวิฑูรย์บอกเราว่า การวินิจฉัยโรคหัวใจสำหรับผู้หญิงยากกว่าผู้ชาย

“เพราะผู้หญิงบางทีมีอาการโน่นนิดนี่หน่อย จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ ใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้ คิดไปเอง ฉะนั้นต้องดูให้ละเอียดว่าจริงๆแล้ว ที่บ่นว่าเป็นไอ้นั่นเป็นไอ้นี่ เป็นจริงๆ ไหม

บางครั้งคนไข้ผู้หญิงมาหาหมอ บอกว่าเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก พอถามว่าเจ็บแบบไหนเป็นอย่างไร แต่ถ้าหมอไปอธิบายให้เขาฟังหมดเลยว่า หากเจ็บหน้าอกแบบโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ต้องเจ็บบริเวณนี้นะ พอมาครั้งต่อไปเจ็บแบบที่บอกเป๊ะเลย ทั้งๆที่บางทีเขาไม่ได้เจ็บแบบนั้นหรอก

แต่ในผู้ชายมักจะอดทน อึดมากกว่า บางทีมีอาการ เขามักจะบอกแม่นยำมากกว่าผู้หญิง และจะบอกน้อยกว่าความเป็นจริง ผู้ชายถ้ามีอาการมักจะเป็นจริงๆ เพราะเขาจะทนไม่ไหวจริงๆถึงมาหาหมอ

ผู้หญิงมักจะบอก over ผู้หญิงเจ็บแค่นี้ จริงๆน้อยกว่านี้ แต่ผู้ชายจะบอก under เจ็บแค่นี้ แต่ความเป็นจริงมากกว่านี้ แถมผู้ชายบางคน บอกว่าไม่มีอาการอะไรเลยในการเป็นโรคหัวใจ แต่หน้าซีดเผือกเลยก็มีนะ”

สาวเสี่ยงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

“ในผู้หญิงที่อายุน้อยส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่พบบ่อยในอายุไม่มาก มักจะมาด้วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นบางครั้ง

ส่วนใหญ่ผิดจังหวะเป็นชั่วคราวเนื่องจากความเครียด ทานยาบางอย่าง หรือเนื่องจากทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะบางครั้งบางคราวซึ่งสามารถหายเองได้ บางครั้งถ้าไม่หายเองก็อาจจะต้องใช้ยาช่วยควบคุม แต่ถ้าผิดปกติมากๆ อันนั้นอาจจะต้องมาจี้ด้วยกระแสไฟฟ้าเพื่อให้เป็นปกติ

นอกจากนี้ สมัยก่อนที่จะพบคือ โรคลิ้นหัวใจ จะมีโรคโดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่พัฒนา

เมื่อเป็นหวัดเจ็บคอ แล้วไม่รักษาให้ดี จะทำให้มีภูมิต้านทานไปจับที่ลิ้นหัวใจ ทำให้เกิดความผิดปกติในหัวใจเกิดขึ้น คออักเสบ จะติดเชื้อตัวหนึ่ง พวกเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococus) จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา จึงไปจับที่ข้อตัวลิ้นหัวใจจึงทำให้เกิดโรคที่เราเรียกว่า ลิ้นหัวใจรูมาติก (Rheumatic) จะทำให้ลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่วได้

พอประเทศพัฒนามากขึ้น คนไข้ที่ไม่สบาย เจ็บคอไปหาแพทย์ แพทย์ให้ยาฆ่าเชื้อ กินยาฆ่าเชื้อ ป้องกันได้ครอบคลุม รักษาโรคเจ็บคอได้หาย ปัจจุบันโรคลิ้นหัวใจรูมาติกก็ลดน้อยลงไปเยอะ”

เมนส์หมดปุ้บ! โรคหลอดเลือดหัวใจตีบถามหา

คุณหมอยังบอกด้วยว่าเมื่อผู้หญิงอายุแตะวัยทอง โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบพุ่งเท่าผู้ชายเลยนะ ไม่น้อยหน้ากันเชียว!

“พออายุมากขึ้น ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เท่ากับผู้ชาย คือโดยรวมผู้หญิงจะมีอัตราส่วนของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยกว่าผู้ชาย 5 ต่อ 1 หรือประมาณ 20-25% แต่พออายุมากขึ้นถึงวัยหมดประจำเดือน โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะเท่ากับผู้ชาย

เพราะบางคนเชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงจะสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ฉะนั้นผู้หญิงในวัยที่ยังมีประจำเดือนอยู่ โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะน้อย แต่พอหมดประจำเดือนโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะเท่ากับผู้ชายเลย

ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเมื่ออายุมากกว่า 40-45 ปี จะอยู่ในวัยที่หมดประจำเดือน

แต่ผู้ชายอาจจะพบเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ตั้งแต่อายุ 30 เศษๆ ในปัจจุบัน สมัยก่อนเราจะพบว่าผู้ชายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบต่อเมื่ออายุเกิน 45 แต่ปัจจุบันอายุน้อยลง 30 เศษๆ ก็พบเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว เนื่องจากความเครียด สูบบุหรี่ ทานอาหารจั้งฟู้ด ไขมันสูง ไม่ได้ออกกำลังกาย เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้

ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จึงพบได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ 30 เศษๆ ก็พบแล้ว แต่ในผู้หญิงส่วนใหญ่ยังพบในอายุที่เกิน 40 ปีขึ้นไป ต่ำกว่านี้ก็มีแต่น้อย

สัญญาณเตือน -> หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก ปวดกราม ปวดแขน

อาการปวดกราม ปวดไหล่ ปวดแขน เป็นอาการร้าย ร่างกายแอบส่งสัญญาณว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาเยือน ต้องรีบรักษาด่วน ก่อนจะสาย!

“จะเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มอิ่ม คนไข้มักจะบอกว่าหายใจเข้าไม่เต็มปอด ไม่เต็มที่ นี่คือสัญญาณอย่างหนึ่งที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเวลาออกกำลังกาย แล้วเหนื่อยง่าย เช่นเราเคยเดินขึ้นสะพานลอยข้ามถนนได้ ทั้งที่อายุเรายังไม่มาก แต่เราเกิดเหนื่อย นี่คือสัญญาณเตือนแล้ว

ถ้าหากออกกำลังกายแล้วเหนื่อย แน่นหน้าอก หรืออยู่ๆ เจ็บหน้าอก หรือหลังทานอาหารมื้อใหญ่ๆ สักพักแน่นหน้าอก นี่คือสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้

ถามว่าทำไม เพราะตอนเราทานอาหารมื้อใหญ่ๆเข้าไป เลือดจะไปเลี้ยงกระเพาะ ลำไส้ มันก็แย่งเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจ เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจจึงน้อยลง ถ้าเราเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว เลือดไปเลี้ยงหัวใจก็จะไม่พอ จะเกิดอาการแน่นหน้าอกขึ้นมา

อาการแน่นหน้าอกที่จะบ่งชี้ชัดเจนว่า เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักจะแน่นหน้าอกบริเวณหน้าอกตรงไหน ชี้ตำแหน่งที่แน่นอนไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะบริเวณหน้าอกค่อนมาทางด้านซ้าย แต่ถ้าชี้ตำแหน่งได้ว่าเจ็บตรงนี้ กดไปตรงนี้แล้วเจ็บ อันนั้นไม่ใช่โรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะต้องแน่นหน้าอกตรงบริเวณโดยรวม ไม่ใช่ว่าชี้จุดได้ ส่วนใหญ่ถ้าชี้จุดได้จะเจ็บจากกล้ามเนื้อมากกว่า

ถ้าชี้จุดไม่ได้ แน่นบริเวณนี้ ไม่รู้ตรงไหน แล้วมีปวดร้าวไปที่กราม หรือปวดร้าวมาที่แขนซ้ายหรือแขนขวา อันนั้นเป็นอาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะจริงๆ แล้ว ไม่มีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกเจ็บของหัวใจ

เส้นประสาทที่รับความรู้สึกของหัวใจ จะมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกถึงการขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งเป็นเส้นประสาทเส้นเดียวกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงผิวหนังตรงบริเวณหน้าอก รวมทั้งกรามแล้วลงไปที่แขน ฉะนั้นเวลาหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง เราจะรู้สึกแน่นหน้าอกอีก ปวดกราม หรือปวดแขน เพราะเป็นเส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวหนังบริเวณนั้น

ฉะนั้นเวลาหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง ปวดกราม บางคนปวดแขน บางคนตื้อๆ ตรงหน้าอกแล้วปวดกราม แม้จะไปทำฟันเพราะคิดว่าฟันผุ ถอนฟันคุด ก็ไม่หาย ผ่าตัดหัวใจ อาการปวดกรามหายเลย”

หมอแนะ ห้ามเครียด ออกกำลังกาย เลี่ยงอาหารทะเล

“ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว คุมไขมันในเส้นเลือดสูง เลิกสูบบุหรี่ คุมเบาหวาน คุมความดันโลหิตไม่ให้สูง พยายามปล่อยวางอย่าให้เครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหลักในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อย่าทานอาหารรสเค็ม

ควรออกกำลังกาย เพราะเวลาเราทานอาหารเข้าไป อาหารที่เป็นไขมันจะถูกเบิร์นไปในระดับหนึ่งทำให้ไขมันไม่สูง และทำให้ไขมันตัวดี ซึ่งทำให้ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

ฉะนั้นอาหารที่เราควรรับประทานถ้าจะเน้นคือผัก ปลา เลี่ยงของทอดของมัน คาร์โบไฮเดรต เนื้อสัตว์เพราะมีไขมันแทรกอยู่ เช่นเนื้อหมู วัว เป็ด ไก่ อย่าทานเนื้อสัตว์ติดหนัง เมื่อเราทานคาร์โบไฮเดรตเยอะๆ แล้วเราทานอาหารอื่นที่มีไขมันด้วย คาร์โบไฮเดรตทีเราทานเข้าไปจะถูกไปใช้เป็นพลังงาน ไขมันที่เราทานเข้าไปจะเก็บสะสม ดังนั้นเราควรทานคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง เพื่อให้อาหารที่เราทานเข้าไปถูกนำไปใช้เป็นพลังงานด้วย แคลอรี่ที่ได้รับจะได้ลดน้อยลงด้วย เพราะถูกนำไปใช้เป็นพลังงาน

ผัก ผลไม้จะมีพวกวิตามินมีเกลือแร่ ถ้าไม่ใช่ผลไม้รสหวาน ส่วนใหญ่แคลอรี่ไม่เยอะ แต่มีเกลือแร่เยอะ ฉะนั้นเราทานเข้าไปน้ำหนักตัวเราจะไม่ขึ้น และไขมันจะไม่เกิด การสะสมของไขมันจะน้อย

อาหารทะเล ควรหลีกเลี่ยงเลย เช่น หอยนางรม ปลาหมึก พวกไข่ปู มันปู ไข่กุ้ง ไข่ปลา พวกสีแดงๆเหลืองๆ ไขมันจะเยอะ หากทานกุ้งก็หลีกเลี่ยงการทานหัวกุ้ง ทานเฉพาะเนื้อกุ้ง ถ้าทานปูก็หลีกเลี่ยงการทานไข่ปู หรือมันปู ให้ทานแต่เฉพาะเนื้อปู ให้ดีที่สุด..อาหารที่ไขมันน้อยคือ ปลา

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าในปลามีไขมันดี ซึ่งจะช่วยทำให้หัวใจทำงานดี ป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และคนผอมไม่ได้หมายความว่าไขมันไม่สูงนะ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดควรหมั่นออกกำลังกายเข้าไว้จะป้องกันโรคหัวใจได้ดี” นพ.วิฑูรย์ แนะนำการป้องกันโรคหัวใจปิดท้าย

 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net