Celeb Online

8 เกร็ดความรู้ฟื้นฟูบ้านหลังน้ำท่วม

By Lady Manager

มหาอุทกภัยในปีนี้สร้างความเดือดร้อนครอบคลุมทุกมิติของชีวิตก็ว่าได้ แต่ไม่ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นขณะน้ำท่วมจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน กระนั้นก็อาจต้องยอมแพ้ให้กับสารพัดปัญหาที่ผุดโผล่มาให้เห็นในวันที่ ‘น้ำลด’ เพราะเมื่อน้ำลด อะไรต่อมิอะไรที่ถูกหมักหมมสั่งสมมานานหลายเดือนก็ย่อมจะเผยให้เห็นกันอย่างชัดแจ้งในคราวนี้แหละ

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนควรจะต้องเตรียมทำใจรับมือกับสิ่งที่ ‘น้องน้ำ’ ทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า เพราะมันอาจหนักหนาสาหัสจนใครที่ตั้งสติได้ไม่ดีพอ อาจใจฝ่อท้อแท้กับชีวิต จับต้นชนปลายไม่ถูก ว่าจะเริ่มแก้ไขปรับปรุงตรงส่วนไหนของบ้านเราเป็นอันดับแรก

และด้วยความตั้งใจอันดีที่ต้องการนำความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมและโครงสร้างของบ้านมาแก้ไขปัญหาให้เหล่าผู้ประสบภัย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ วุฒิสถาปนิกไทยจีงยินดีเปิดวงเสวนา ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ เพื่อให้ความรู้เรื่องการซ่อมบ้านหลังน้ำลดได้อย่างน่าสนใจ พร้อมแจกแจงเป็นหัวข้อหลักๆ ที่เข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งเราได้นำมาเผยแพร่แก่คุณผู้อ่านโดยคร่าว ดังข้อมูลต่อไปนี้

เกร็ดข้อแรก : หลังน้ำลดเห็นสภาพบ้าน แทนที่จะโวยวาย ควรมีสติสำรวจ

สำหรับบัญญัติข้อแรกที่อ.ยอดเยี่ยมแนะนำไว้ นับเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุด นั่นก็คือ พิจารณาสภาพบ้านด้วยจิตใจที่หนักแน่น มั่นคง มองปัญหาและสภาพของบ้านตามความเป็นจริง จากนั้นลองคำนวณเงินออมเงินเก็บที่เรามีอยู่ โดยเทียบกับความเสียหหายที่เกิดขึ้นกับบ้านของเรา ว่าส่วนใดจำเป็นต้องซ่อมแซมโดยด่วน ส่วนใดที่สามารถแก้ไขแบบประคับประคองไปก่อนได้ โดยอย่าเพิ่งเสียเวลามานั่งบ่นนั่งด่าชะตาชีวิต หรือจมอยู่กับความทุกข์ และเสียเวลาไปกับการหาสาเหตุของน้ำท่วมอันแสนวิปริตพิสดาร แต่ให้ทุ่มความสำคัญไปที่การสำรวจตรวจตราจุดชำรุดของบ้านก่อน เป็นดีที่สุด

เกร็ดข้อสอง : รีบเคลียร์ท่อน้ำอุดตัน

ปัญหาหลักๆ ที่มักพบบ่อยหลังน้ำลดคือ ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันจากเศษดิน โคลน ขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ลอยเข้ามาอุดตันอยู่ในท่อ วิธีแก้ไขแยกได้หลายกรณี สำหรับท่อแบบมีฝาเปิด ให้เปิดฝา แล้วตักเศษดินเศษโคลนที่ติดขังอยู่ภายในออกมา แต่ถ้าเป็นท่อระบายน้ำไม่มีฝาเปิด ให้เอาไม้ยาวๆ ค่อยๆ ควานหาเศษขยะต่างๆ แต่ถ้าเกินกำลังความสามารถ แนะนำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เทศบาล ไม่ควรทำเอง หรือไม่ควรมุดเข้าไปในท่อโดยเด็ดขาด เพราะอันตรายแก่ชีวิตอย่างยิ่ง

เกร็ดข้อสาม : อย่าวิตกจริตเมื่อพบรั้วบ้านเอียง

“ไม่ว่าสิ่งก่อสร้างหรือเทคโนโลยีใดๆ ก็ไม่สามารถฝืนธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่และทรงพลังที่สุด” และเพราะเหตุนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หากน้ำลดแล้ว จะสังเกตได้ว่ารั้วบ้านของคุณเอียงกว่าปรกติ ในกรณีที่คุณเป็นคนพอมีสตางค์อยู่บ้าง ก็ให้ตามช่างมาซ่อมเพื่อความปลอดภัย แต่หากยังต้องรอเงินออมสักระยะ อ.ยอดเยี่ยมแนะนำให้ทำการค้ำยังไว้อย่างแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการประคับประคองไปชั่วคราว
เกร็ดข้อสี่ : ดูแลอาการต้นไม้ด้วยวิถีธรรมชาติ

นอกจากสภาพชำรุดทรุดโทรมของบ้านแล้ว ความสูญเสียอีกประเภที่สร้างความทุกข์ให้แก่คนรักต้นไม้เป็นพิเศษก็คือ การที่ต้นไม้หลายชนิดที่ปลูกเอาไว้ ต่างล้มตายไปตามๆ กัน เพราะถูกน้ำท่วมจนรากเน่า ซึ่งในประเด็นนี้ อ.ยอดเยี่ยมมีข้อคิดที่น่าสนใจว่า

“ถ้าต้นไม้โดนน้ำท่วม สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะต้นไม้ในกรุงเทพฯ หรือต้นไม้สำหรับบ้านสร้างใหม่ที่มักไปล้อมเอาต้นไม้ที่อื่นมาปลูก ปัญหาที่พบก็คือ ต้นไม้ไม่มีรากแก้ว เมื่อน้ำท่วม ดินก็นิ่ม รากก็เน่า ต้นไม้ก็จะล้ม ผมเชื่อว่ามีต้นไม้หลายๆ ต้นที่จากเราไป สำหรับต้นที่ยังอยู่ เมื่อน้ำลด ห้ามอัดดินเด็ดขาดเพราะรากเขายังเน่า ยังอ่อนแออยู่ ห้ามอัดดินห้ามให้ปุ๋ยด้วย

มันก็ไม่ต่างกับคนป่วยอยู่ในห้องไอซียูแล้วเราให้กินสเต๊ก เขาก็ตาย ถ้าอาการต้นไม้เขาดูแย่ ให้ขุดหลุมเล็กๆ แล้วค่อยๆ ตักน้ำรอบๆ ออกไป หรือจะใช้ไดรโว่สูบออกไปก็ได้ นอกจากนั้นยังมีปัญหาอีกอย่างที่เราพบ นั่นคือ ถ้ามีดอกไม้หรือต้นไม้อะไรที่เขาออกดอกออกผลในเวลานี้ทั้งที่ไม่ใช่ฤดูกาลของเขา นั่นหมายความว่าเขากำลังจะตาย มันเป็นธรรมชาติครับ เพราะธรรมชาติของเรามีความสมดุลมาก เมื่อเขากำลังจะตาย เขาก็จะรีบออกดอกออกผลให้มากที่สุด”

เกร็ดข้อห้า : ปาเกต์บวมปูด ผนังเน่าเปื่อย สีหลุดลอก

บ้านสร้างใหม่ในปัจจุบันมักนิยมปูพื้นไม้ปาเกต์ ซึ่งในยามปกติก็แลดูสวยเงางาม แต่เมื่อถูกพิษน้ำท่วมเข้าไป ปาเกต์ที่เคยสวยก็ทั้งบวม ทั้งปูด ทั้งส่งกลิ่นเหม็นอีกต่างหาก สำหรับปัญหานี้ อ.ยอดเยี่ยมแนะว่าไม่ต้องตกใจ เพราะอาการดังกล่าวเป็นอาการปกติของไม้ปาเกต์

วิธีแก้ไขก็คือ ให้ค่อยๆ เลาะแผ่นไม้ในส่วนที่บวม ปูด หรือส่งกลิ่นเหม็นออกมาตากลม ผึ่งไว้กระทั่งไม้เริ่มหดตัว แห้ง และไม่มีกลิ่นแล้วจึงค่อยนำไปติดไว้ดังเดิม แต่ต้องรอให้พิ้นคอนกรีตแห้งเสียก่อน กาวที่ใช้สำหรับเชื่อมไม้ปาเกต์จึงจะสามารถติดได้แน่นสนิทดังเดิม

ข้อที่ต้องควรระวังเป็นพิเศษก็คือ อย่าทาแลคเกอร์หรือทาน้ำมันเคลือบขณะที่พื้นไม้ยังชื้นอยู่เพราะสารเหล่านั้นจะขังความชื้นเอาไว้ภายใน ไม่ให้ระเหยออกมา

เกร็ดข้อหก : ปลั๊กไฟไม่น่าไว้ใจ เครื่องใช้ไฟฟ้าอาการน่าเป็นห่วง

อ.ยอดเยี่ยมย้ำนักย้ำหนาว่า “อย่าทำเท่ห์ อย่าอวดเก่ง อย่าคิดว่าแน่” เพราะการที่คุณเข้าใจว่าเรื่องของไฟฟ้า สายไฟ หรือปลั๊กไฟเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำเองได้ อาจเป็นภัยถึงแก่ชีวิตในกรณีที่เกิดไฟรั่วไฟดูดโดยที่คุณทันรู้ตัว คำแนะนำที่ดีที่สุดของปัญหานี้จึงเน้นให้ตามช่างซ่อมไฟฟ้าหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบให้จะดีที่สุด โดยเฉพาะการตรวจตราตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายที่ถูกน้ำท่วม ว่ายังใช้การได้ดีหรือไม่

ส่วนปัญหาเรื่องปลั๊กไฟในบ้านจะใช้การได้หรือไม่หรือมีไฟรั่วหรือเปล่า อ.ยอดเยี่ยมแนะนำให้เปิดคัทเอาต์เพื่อทดสอบกระแสไฟฟ้าว่ามีไฟเข้าหรือไม่ เมื่อปลั๊กใดมีความชื้น คัทเอาต์ก็จะตัดไฟ แต่เมื่อเปลี่ยนฟิวส์แล้ว คัทเอาต์ก็ยังตัดไฟอยู่ แนะนำให้ตามช่างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบโดยเร็วที่สุด อย่าลืมว่า เรื่องฟืนไฟนั้น “อย่าทำเท่ห์ อย่าทำกล้า” เด็ดขาด
เกร็ดข้อเจ็ด : ปัญหาส้วมราดไม่ลงเป็นเรื่องปกติ

ปัญหาส้วมราดไม่ลงคงเป็นปัญหาหลักของผู้ประสบภัยในช่วงหลังน้ำลด สำหรับประเด็นนี้ อ.ยอดเยี่ยมแจกแจงให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น คือ

7.1 หากส้วมเป็นบ่อเกรอะ บ่อซึม ปัญหาส้วมราดไม่ลงถือเป็นเรื่องปรกติ ลองรอสักพักให้ดินรอบๆ ถังบ่อเกรอะบ่อซึมแห้งสนิท ก็จะราดน้ำได้คล่องสะดวกดังเดิม หรือในกรณีที่โถส้วมของคุณอยู่ในระดับต่ำกว่าบ่อเกรอะหรือถังส้วมสำเร็จรูป โอกาสที่สิ่งปฏิกูลจะลอยฟ่องหรือกระฉอกออกมาในยามน้ำท่วมก็เป็นเรื่องปรกติเช่นกัน

7.2 นอกจากอาการ 'ราดไม่ลง' ที่เกิดจากปัจจัยปรกติของส้วมแล้ว อาการดังกล่าวก็อาจมีมูลเหตุมาจากตัวแปรอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ราดไม่ลงเพราะส้วมแตก ราดไม่ลงเพราะไม่มีช่องหรือท่อให้ส้วมได้ระบายอากาศ บ้างก็อาจมีเศษขยะติดค้างอุดตันทางระบายอากาศ ทำให้น้ำที่ราดลงไปก็ไม่สามารถระบายลงไปได้ หรืออาจเป็นเพราะมีใครในครอบครัวเผลอทิ้งผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย และเศษขยะต่างๆ ลงไป ทำให้ท่ออุดตัน

7.3 สำหรับการแก้ปัญหานั้นขึ้นอยู่กับประเภทของถังบำบัดที่คุณใช้ โดยส่วนใหญ่หากเป็นถังบำบัดสำเร็จรูป หลายยี่ห้อมักต้องมีท่อให้น้ำไหลออกจากถังบำบัดไปสู่ท่อระบายน้ำของบ้านเราและของสาธารณะ ดังนั้น จึงต้องสังเกตว่าท่อจากถังบำบัดนั้นสูงกว่าท่อระบายน้ำหรือไม่ เพราะหากอยู่ต่ำกว่า โอกาสที่น้ำจะไหลย้อนกลับเมื่อเกิดน้ำท่วมก็มีสูง

เกร็ดข้อสุดท้าย: เผชิญปัญหาด้วยวิธีคิดบวก

ยกตัวอย่างวิธีแก้ไขเยียวยาบ้านหลังน้ำลดมาหลายต่อหลายข้อ แต่ท้ายที่สุด อ.ยอดเยี่ยมเน้นย้ำว่าสิ่งที่จะทำให้เผชิญกับทุกสภาพปัญหาได้อย่างเข้มแข็งและแข็งแกร่งกว่าเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือใดๆ ก็คือ 'สติ' และ 'ปัญญา'

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาในข้อที่ว่า “อิทัปปัจยตา เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด ผมเชื่อในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในข้อนี้ ผมอยากขอให้เราทุกคนตั้งสติและมองทุกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจในสภาพความเป็นจริง มองให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว หมายความว่ามันย่อมมีเหตุและปัจจัย ดังนั้นอย่าฟูมฟาย ต้องตั้งสติและตั้งรับกับมัน เผชิญหน้ากับมันให้ได้” 
 
 
        


 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net