Celeb Online

รู้ทัน…มะเร็งของลำไส้ใหญ่


“มะเร็งของลำไส้ใหญ่” จัดเป็นมะเร็งที่มีความสำคัญ พบมากในอันดับต้น ๆ (อันดับ 1-3)
ในหมู่ประชากรทั่วไป มีแนวโน้มพบมากขึ้นเรื่อย ๆ และพบมากขึ้นในคนที่อายุน้อยลง

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีความสำคัญที่มักไม่มีอาการในระยะแรก ๆ เลย จนกว่าก้อนจะอุดตันมากกว่า 80%
ของลำไส้ จึงจะเริ่มมีอาการ ทำให้ยากต่อการรักษามากขึ้นเพราะโรคมักลุกลามรุนแรง ซึ่งเป็นระยะท้าย ๆ
ของโรคแล้ว

:: ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

1. อาหาร ได้แก่ อาหารจำพวกโปรตีนจากสัตว์, ไขมันจากสัตว์, ของทอดหรือปิ้งย่างที่มีรอยไหม้
สมมุติฐานเรื่องอาหารอธิบายได้ว่าเมื่อเรากินอาหารที่เป็น โปรตีน, ไขมันจากสัตว์
จะทำให้มีการเพิ่มของแบคทีเรียชนิดก่อโรคมากขึ้นในลำไส้ ซึ่งสามารถเปลี่ยนน้ำดีเป็นสารก่อมะเร็งได้

2. โรคทางกรรมพันธุ์ ชนิดที่มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ พบมี 25%
ที่มีประวัติครอบครัวเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

3. โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ชนิด Ulcerative Colitis ซึ่งพบอุบัติการณ์การเป็นมะเร็งมากกว่า
ชนิดCrohn’s Disease

4. การสูบบุหรี่ มีผลสัมพันธ์กับการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โดยพบมากขึ้นในคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 35
ปีขึ้นไป

:: อาการและอาการแสดง

อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกจะบอกยากมาก มักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ
และขึ้นกับตำแหน่งของมะเร็งด้วย โดยมะเร็งที่อยู่ทางซ้ายของลำไส้ใหญ่มักมีอาการและมาพบแพทย์เร็วกว่ามะเร็งทางด้านขวาของมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการที่อาจพบได้มี

– ถ้ามะเร็งที่อยู่ทางด้านขวา มักมีอาการที่ก้อนมีขนาดค่อนข้างใหญ่พอควร
จึงจะเริ่มมีอาการแบบลำไส้อุดตัน คือมี ปวดท้อง ท้องอืด ถ่ายลำบาก อุจจาระก้อนเล็กลงต้องเบ่งมาก
และโดยมากมักพบภาวะซีดร่วมด้วย เนื่องจากการเสียเลือดเรื้อรังจากก้อนมะเร็งที่เป็นแผลอยู่ที่ผิวในของก้อน แต่ผู้ป่วยจะไม่สามารถสังเกตเห็นเลือดด้วยตาเปล่าได้ ยกเว้นระยะหลัง ๆ

– ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น เวียนศีรษะ จากโลหิตจางได้

– ถ้าเป็นมะเร็งที่อยู่ทางด้านซ้าย จะมาพบแพทย์เร็วกว่าเพราะจะสังเกตเห็นอุจจาระผิดปกติ เช่น
มีมูกเลือดปนได้เร็วกว่า และถ้ายิ่งก้อนมะเร็งอยู่ทางด้านล่าง ๆ ของลำไส้ใหญ่ ก็จะทำให้มีอาการปวดเบ่งอยากถ่ายอยู่ตลอดได้ แต่เหมือนถ่ายไม่สุด 

เพราะฉะนั้นใครที่มีการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไป อุจจาระก้อนเล็กลงอุจจาระ มีมูกเลือดปนร่วมกับมีน้ำหนักลด ปวดท้องแบบผิดปกติ ท้องอืดบ่อย ๆ และอาจคลำก้อนได้บริเวณท้อง
ควรรีบมาปรึกษาแพทย์

:: การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ

1. ตรวจอุจจาระ และตรวจเลือดในอุจจาระ ซึ่งตรวจได้ในโรงพยาบาลทั่วไป ถ้าตรวจพบเลือดในอุจจาระ โดยไม่มีริดสีดวงทวาร และพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุต่อ

2. การตรวจเลือดเพื่อหาค่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ CEA, CA19-9 ถ้าการตรวจพบค่าที่ปกติ ก็ไม่ได้แสดงว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง เพราะอาจตรวจไม่พบแม้จะเป็นมะเร็งได้ถึง 20 – 30% แต่ถ้าค่านี้สูงผิดปกติไปมาก ๆ มักเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งจริง ๆ

3. เอกซเรย์สวนแป้งดูลำไส้ใหญ่ ถ้ามีมะเร็งจะพบรอยตีบ ยิ่งบริเวณดังกล่าวขรุขระจะเห็นรอยตีบชัดเจน

4. Virtual Colonoscope เป็นวิธีใหม่ที่ตรวจลำไส้ใหญ่โดยประมวลภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ วิธีทำคือมีเครื่องนำ Gas เข้าไปในลำไส้ใหญ่ แล้วเข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะประมวลภาพออกมาเป็นภาพ 3 มิติคล้ายการทำ Colonoscope (หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่) 
ข้อดี คือ ลดความเสี่ยงของการทำหัตถการส่องกล้อง 
ข้อด้อย คือ ภาพที่ออกมาเป็น 3 มิติ แต่ยังดูไม่ธรรมชาติเท่าใดนัก 
ไม่สามารถบอกความผิดปกติของพื้นผิวเยื่อบุ หรือรอยโรคเล็ก ๆ ได้

5. Colonoscope หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ถือเป็น Gold Standard ของการวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยก่อนทำหัตถการผู้ป่วยต้องรับประทานยาระบาย และถ่ายอุจจาระ 5 – 8 ครั้ง แล้วจึงตรวจด้วยวิธี Colonoscope หลังเตรียมลำไส้ประมาณ 5 – 6 ชม.

:: การรักษา

1. การผ่าตัดบริเวณที่มีเนื้องอก เพื่อแก้ไขภาวะอุดตันของลำไส้ ซึ่งอาจหายขาดได้ ถ้าวินิจฉัยโรคได้เร็ว มะเร็งยังไม่มีการลุกลามออกไปนอกลำไส้ หรือแม้แต่ระยะสุดท้ายก็ยังต้องทำผ่าตัด เพราะคนไข้จะมีปัญหาลำไส้อุดตันร่วมด้วยเสมอ ในกรณีที่ก้อนมะเร็งอยู่บริเวณลำไส้ส่วนปลายมากๆ ซึ่งไม่สามารถนำลำไส้ส่วนปลายมาต่อได้ ก็จำเป็นต้องเปิดปลายลำไส้แล้วถ่ายอุจจาระทางถุงหน้าท้องแทน

2. การให้เคมีบำบัด มักเริ่มให้ หลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน ในรายที่เริ่มมีการกระจายออกนอกตัวลำไส้ และเริ่มไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงแล้ว โดยมักให้เดือนละครั้ง เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน แล้วดูการตอบสนองของโรค

3. การฉายแสง จะใช้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งอยู่บริเวณลำไส้ส่วนปลายมาก ๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะกระจายไปบริเวณปากทวารหนัก และต่อมน้ำเหลืองบริเวณผิวหนังด้านนอกปากทวารหนัก โดยมักให้ก่อนผ่าตัด หรือให้หลังผ่าตัดร่วมกับยาเคมีบำบัดด้วย

:: การเฝ้าติดตามโรค

หลังการรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอ โดยตรวจระดับ CEA ทุก 3 เดือน และตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องดูว่ามีการกลับมาเป็นอีกหรือมีการกระจายของโรคหรือไม่? และตรวจด้วยการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่เป็นระยะ ๆ
:: ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

– ตรวจส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร, ทางเดินของท่อน้ำดี

– รักษาด้วยการผ่าตัดใช้เทคนิคที่ทันสมัยผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) ครอบคลุมถึงการดูแล และฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัด

– บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหา และความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร, โรคตับ และทางเดินน้ำดี, โรคของตับอ่อน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

โทร .02-434-1111 www.chaophya.com  
113/44 ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700

 

>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net