ART EYE VIEW—ประเทศพม่ายอมรับว่ามีชนชาติพันธุ์ 135 กลุ่มที่ถือว่าเป็นพลเมืองในพรมแดนของตน แล้วกลุ่มคนที่จัดว่าเป็นกลุ่มที่ 136 ล่ะ? พวกเขาถือว่าไม่มีตัวตน เป็นคนที่ไม่อาจระบุชื่อเรียกได้
Counter Foto, Equal Rights Trust และ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ จัดแสดงนิทรรศการ “ชาติพันธุ์ที่ 136” นิทรรศการภาพถ่ายชาวโรฮิงญา ผลงานของนักถ่ายภาพมือรางวัล Mr. Saiful Huq Omi ผู้อำนวยการ Counter Foto ซึ่งสะท้อนให้เห็นความยากลำบากที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องหลบหนีไปยังบังคลาเทศและมาเลเซีย ต้องเดินทางเสี่ยงอันตรายทางทะเล และสะท้อนให้เห็นชีวิตของชาวโรฮิงญาซึ่งอาศัยอยู่ทั้งในและนอกค่ายผู้ลี้ภัยภายใต้การจัดการขององค์การสหประชาชาติในบังคลาเทศ
ภาพถ่ายที่ใกล้ชิดและหาดูได้ยากจากค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ นอกจากเน้นให้เห็นความยากลำบากของชาวโรฮิงญา และอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็กชาวโรฮิงญาที่มีต่อที่พักพิงชั่วคราวของพวกเขาในบังคลาเทศ ยังสะท้อนให้เห็นการเอารัดเอาเปรียบและสภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตรายซึ่งชาวโรฮิงญาต้องเผชิญ อันเป็นผลมาจากการไร้สัญชาติของพวกเขา รวมถึงภาพของครอบครัวชาวโรฮิงญาซึ่งได้รับสิทธิไปพำนักอาศัยที่เมืองแบรดฟอร์ด สหราชอาณาจักร บ่งบอกเรื่องราวที่แตกต่างไป การที่เข้าไปอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เป็นเหตุให้ลูกหลานชาวโรฮิงญาที่เกิดในสหราชอาณาจักร ได้รับสิทธิและสัญชาติ และกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม แต่ถึงอย่างนั้นก็มีปมที่ค้างในใจและอารมณ์ความรู้สึกที่ผสมผสานกัน
“ชาติพันธุ์ที่ 136” นิทรรศการภาพถ่ายชาวโรฮิงญา จัดแสดงระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน- 6 ธันวาคม พ.ศ.2559 ณ ณ Hof Art Space @W District ถนนสุขุมวิท พระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ (เดิน 5 นาทีจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพระโขนง) สอบถามโทร.06-2814-1130
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews