ART EYE VIEW—แม้จะไม่มีโอกาสถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท แต่การได้ศึกษาพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็สามารถทำให้ชีวิตของใครหลายคนเปลี่ยนแปลงมาแล้วจำนวนไม่น้อย
รวมถึงชีวิตของคนทำงานศิลปะอย่าง กิตติ พลศักดิ์ขวา ที่ไม่เพียงทุกวันนี้เขาจะยึดพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ท่านเป็นหลักในการดำเนินชีวิตในหลายๆด้าน
เขายังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนเขียนภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราวหลากหลาย มามุ่งมั่นเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านเป็นหลัก
หลังจากที่ช่วงเวลาหนึ่งมีเหตุให้ต้องศึกษาพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส เพื่อเป็นข้อมูลและแรงบันดาลใจในการเขียนภาพส่งประกวด
“ผมเรียนจบศิลปะจากเพาะช่าง พอเรียนจบก็ทำงานเขียนภาพ ก่อนหน้านี้ประมาณปี 2538-2539 เคยทำงานเขียนภาพอยู่ที่มาบุญครอง
หลังจากนั้นหยุดเขียนภาพไปหลายปี เพราะตกงานและรู้สึกเบื่อด้วย ต่อมาพอได้ทราบข่าวว่า วุฒิสภา จัดประกวดเขียนภาพ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ของพระองค์ท่าน เพื่อนำภาพที่ชนะการประกวดไปติดตั้งที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ช่วงเวลานั้นมีโครงการจะทำรัฐสภาแห่งใหม่แถวพระราม 5 จึงตัดสินใจเขียนภาพส่งเข้าประกวด”
ปรากฏว่าภาพเขียนที่กิตติส่งเข้าประกวดเวทีดังกล่าว ซึ่งจัดประกวดในหัวข้อ “84 พรรษา ธรรมราชา ประชาธิปไตย” เพื่อสะท้อนความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 เป็นภาพเขียนที่ต้องการจะสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างหนักตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และสื่อถึงความเป็นชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไว้ในภาพเดียว
แม้ว่าการประกวดจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ด้วยความที่ยังประทับใจในพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ส่งผลให้กิตติยังคงมุ่งมั่นที่จะเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านต่อไปและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
“เพราะยิ่งศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกประทับใจ และอยากให้ผลงานศิลปะของเราเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ด้วย”
พ.ศ.2558 กิตติได้รับการสนับสนุนจาก จิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวกับงานช่างเป็นหลัก ให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ ชุด “วิชางานช่าง” จำนวน 12 ภาพ ที่สะท้อนพระอิริยาบถของพระองค์ท่านขณะทรงงานช่าง เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา ในปี 2559 และในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”
นอกจากผลงานชิ้นออริจนอล พระบรมสาทิสลักษณ์ชุดนี้ยังถูกทำเป็นสำเนาจำนวนหลายชุด ด้วยเทคนิคพิมพ์ลงบนผ้าใบ เพื่อนำไปติดแสดงตามหน่วยงานราชการและองค์กรสำคัญภาคเอกชนอีกหลายแห่ง ได้แก่ มูลนิธิพระดาษส, กระทรวงแรงงาน,สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ,กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีการจัดพิมพ์เป็นปฏิทินประจำปี พ.ศ.2559 จำนวน 50,000 ชุด
“ปฏิทินชุดนี้ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้พระองค์ท่านทอดพระเนตร และทรงให้สำนักราชเลขาธิการมีจดหมายตอบกลับมาว่า ทรงขอบใจ ดังนั้นการได้มีโอกาสเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ชุดนี้จึงเป็นอะไรที่สูงสุดในชีวิตของผม”
ในปีเดียวกัน กิตติยังได้มีโอกาสเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ชุด “คู่พระบารมี จักรีเกริกฟ้า” เพื่อจัดทำเป็นปฏิทินแขวนของธนาคารออมสิน และถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้พระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์ทอดพระเนตร ด้วยเช่นกัน ซึ่งภาพต้นแบบที่กิตติใช้ในการเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ชุดนี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์เดียวกันกับที่ถูกอัญเชิญไปตีพิมพ์เป็นปกนิตยสาร Point De Vue ของฝรั่งเศส ฉบับพิเศษ วันที่ 19 – 25 ตุลาคม เพื่อร่วมน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย การเสด็จสวรรคตของพระองค์ท่าน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา
และหากย้อนเวลากลับไปราว 3 เดือน ก่อนการเสด็จสวรรตของพระองค์ท่าน กิตติยังได้จัดทำหน้าเพจ facebook ผมรักในหลวง กิตติ พลศักดิ์ขวา นอกจากเพื่อเป็นการเผยแพร่พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านที่เขาเคยเขียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นการสะท้อนความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาของเขาในฐานะพสกนิกรชาวไทยคนหนึ่งที่มีต่อพระองค์ท่านดังชื่อเพจ ยังเพื่อร่วมเป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน
“ผมเป็นคนบ้านนอกครับ รู้สึกอย่างไรกับพระองค์ท่านก็พูดตรงๆ ก็เลยตั้งชื่อเพจว่า ผมรักในหลวง กิตติ พลศักดิ์ขวา
ผมยังมีโครงการที่จะทำหนังสือรวมพระบรมสาทิสลักษณ์,พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส เพื่อเทิดเพระเกียรติพระองค์ท่านด้วย เป็นโครงการที่คิดจะทำมาก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคต และอยากจะเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ชุด “วิชางานช่าง” ขึ้นมาอีกชุด เพื่อหารายได้มอบให้มูลนิธิพระดาบส แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ผมไม่ล้มเลิกความตั้งใจ จะยังคงเดินหน้าต่อ”
ด้วยเหตุที่พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อชีวิตของคนทำงานศิลปะเช่นเขามาโดยตลอด หลังได้น้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสไปปฏิบัติและเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ จึงอยากให้คนทั่วไป หรืออย่างน้อยๆสมาชิกในครอบครัวของตัวเองได้น้อมนำไปปฏิบัติด้วย
“ถ้าเราแค่อ่านแค่ฟังพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส เราอาจจะแค่ประทับใจ ไม่เห็นผลชัดเจนเท่าไหร่ แต่ถ้าเราน้อมนำมาปฏิบัติ มันจะเห็นผลชัด
ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลของการปฏิบัติ ผมจึงอยากเผยแพร่ต่อ อย่างน้อยก็ให้คนในครอบครัวและลูกหลานผม ได้ปฏิบัติตาม
แค่พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเรื่องศรษฐกิจพอเพียงเรื่องเดียวก็ช่วยชีวิตเราได้เยอะแล้ว เพราะทำให้เรารู้จักตัวเอง เดินทางสายกลางตามหลักศาสนาพุทธ ทำให้ทุกอย่างในชีวิตดำเนินไปโดยปกติสุข มีความพอดี ไม่มากไม่น้อย สมเหตุ สมผล
พอพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต หลายคนอาจรู้สึกเหมือนขาดที่พึ่ง ไม่มีพระองค์ท่านอยู่กับพวกเราแล้ว แต่คำสอนของพระองค์ท่านยังอยู่ และถ้าเราน้อมนำไปปฏิบัติ ก็เหมือนกับพระองค์ท่านยังอยู่กับพวกเราตลอดไป ไม่ได้ไปไหน”
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews