Celeb Online

“รู้สึกตัว” ผ่านภาพวาดพู่กันจีน “เขมานันทะ”


ART EYE VIEW—“ภาพส่วนใหญ่วาดที่เฟรนลี่ฮิลล์ ประเทศสิงคโปร์ และที่โพธิฟาร์ม ประเทศออสเตรเลีย เพื่อน ๆ ชาวสิงคโปร์โดยเฉพาะ วองชงเหล็ง ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก เดวิดลอย กับ ลินดา ให้ใช้บ้านหลังใหญ่ริมถนนเพรสตันสายตัดขึ้นสู่ไหล่เขา ความสงบเงียบและความมีเมตตาของเพื่อน ๆ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้มีสมาธิอันต่อเนื่องในการวาดรูปชุดนี้ ส่วนโพธิฟาร์มก็เป็นอาศรมในป่า และอยู่ริมหุบเหวใหญ่ทันเทเบิล จึงเป็นสภาพแวดล้อมที่ดียิ่ง ภาพต่าง ๆ ทั้งที่เขียนที่สิงคโปร์และออสเตรเลียถือเป็นเพียงบันทึกเล่นประจำวัน แต่เมื่อให้เพื่อนๆ ดูทุกคนก็ให้กำลังใจและสนับสนุนให้พิมพ์ออกเผยแพร่…”

คือคำบอกเล่าของ รุ่งอรุณ ณ สนธยา เมื่อครั้งที่ผลงานภาพวาดพู่กันจีนชุดหนึ่งของเขา ถูกตีพิมพ์ผ่านหนังสือ เริงรำฉ่ำเดือนฉาย (Friendly Hill) ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

และล่าสุดภาพวาดด้วยพู่กันจีนชุดเดียวกันนี้(พิมพ์จากต้นฉบับหนังสือ)ได้ถูกนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการให้ผู้สนใจได้ชม ระหว่างวันนี้ – 29 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โถงชั้นล่าง หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ)


รุ่งอรุณ ณ สนธยา คืออีกนามปากกา ของ เขมานันทะ หรือ โกวิท เอนกชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2550 และนักเขียนอมตะ (เชิดชูเกียรติ โดย มูลนิธิอมตะ) ผู้จะมีอายุครบ 78 ปี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559

เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานของเขมานันทะให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก ด้วยเหตุนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บรรดาลูกศิษย์ที่เคารพนับถือ จึงร่วมกันจัดงาน ครุอภิวาท ‘รู้สึกตัว’ ผ่านงานอาจารย์ ‘เขมานันทะ’ ประกอบไปด้วย การกล่าวเปิดงานโดย นิคม เจตน์เจริญรักษ์ กรรมการหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯและตัวแทนคณะลูกศิษย์เขมานันทะ,อ่านบทกวีประกอบการเป่าขลุ่ย โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์,ขับร้องประสานเสียง โดย สานใจ คอรัส,สุนทรียเสวนา ระหว่างคนยุคแสวงหา กับ ยุคดิจิตอล โดยมีหนังสือ ปาฐกถาธรรมชุด “พระธรรมกับชีวิต” ของ “เขมานันทะ” เป็นสื่อ โดย มานิต ประภานนท์ ตัวแทนคนยุคแสวงหา,ชวิศ ผิวเงิน ตัวแทนคนยุคดิจิตอลและวิทยากร โสวัตร (ดำเนินรายการ)

รวมถึง เสวนาเปิดนิทรรศการภาพวาดพู่กันจีน ของ เขมานันทะ โดย พระอาจารย์สุชาติ ปัญญาทีโป เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล/สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี,พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกูร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ จ.ชุมพร และนิคม เจตน์เจริญรักษ์(ดำเนินรายการ)

เพราะที่ผ่านมา นอกจากชื่อของเขมานันทะ จะเป็นที่รู้จักในฐานะ นักเขียนและกวี ที่มีผลงานตีพิมพ์มากกว่า 60 เล่ม หลายเล่มมีอิทธิพลกับผู้อ่านเป็นจำนวนมากและได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง นักเขียนและกวี ชาว จ.สงขลา ศิษย์เก่า คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านนี้ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิปัสสนา ประติมากร และจิตรกร

ทว่าผลงานส่วนใหญ่สร้างสรรค์เพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ และเป็นผลของการปฏิบัติภาวนา

ตัวอย่างเช่น หลังลาออกจากการเป็นอาจารย์สอนวิชาความซาบซึ้งในศิลปะ ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ทุ่งมหาเมฆ เพื่อไปบวช

ระหว่างศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านพุทธทาสภิกขุ ณ สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับมอบหมายให้ทำงานศิลปะหลายชิ้นเพื่อประดับตกแต่งโรงมหรสพทางวิญญาณ รวมถึงช่วยฝึกฝนด้านการวาดภาพให้กับพระรูปอื่นๆ

พระอาจารย์สุชาติ ปัญญาทีโป ผู้ที่เคยมีโอกาสช่วยงานเขียนภาพภายในโรงมหรสพทางวิญญาณและปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล/สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

บอกเล่าว่า ปัจจุบันผลงานของเขมานันทะที่ฝากไว้ ณ โรงมหรสพทางวิญญาณ มีทั้งงานภาพวาดและงานปั้น ได้แก่ ภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนานิกายเซ็น ภาพนิทานเวตาล ภาพนิทานหิโตปเทศ ภาพคำพังเพยของไทย 300 กว่าเรื่อง ภาพปริศนาธรรม ‘หนวดเต่า เขากระต่าย นอกบ’ รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และรูปปั้นพระเยซูบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง

นอกจากนี้พระอาจารย์สุชาติ ยังบอกเล่าด้วยว่า เมื่อท่านพุทธทาสเคยกล่าวถึงเขมานันทะ ให้ได้ยินบ่อยๆว่า “คุณโกวิทเขาเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์”

ขณะที่บทความ “ฉากชีวิตศิลปินแห่งชาติ” โดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า

อาจารย์ทำงานทั้งเขียนหนังสือและวาดภาพอยู่อย่างต่อเนื่องและเงียบเชียบ ไม่ได้ใส่ใจนักว่าจะมีใครนำไปตีพิมพ์หรือสนใจนำไปเผยแพร่ และอาจารย์เองก็เคยกล่าวถึงการสร้างสรรค์งานของตนเพียงว่า

“งานเขียน งานศิลปะ ของผม เป็นผลจากการปฏิบัติภาวนา แกนหลักของชีวิตผมคือการภาวนา ผมไม่เคยตั้งใจทำงานศิลปะเพื่อเป็นศิลปิน”

นิคม เจตน์เจริญรักษ์ นักกฎหมาย ผู้ได้พบกับเขมานันทะครั้งแรกที่สวนโมกขพลาราม เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งได้มีโอกาสติดตามไปช่วยงานทั้งในและต่างประเทศ แสดงทัศนะว่า

“ท่านอาจารย์โกวิท ท่านทำงานโดยที่ไม่ได้หวังจะได้รางวัลอะไรหรอก แต่ต้องการทำงานที่ช่วยให้คนตื่นรู้ สามารถนำธรรมะไปแก้ไขปัญหาต่างๆได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับท่านพุทธทาส และตอนหลังท่านมาพบกับ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่วัดสนามใน ( อ.บางกรวย จ. นนทบุรี) ผู้พยายามสอนเรื่อง ความรู้สึกตัว

บั้นปลายท่านพูดถึงในขนาดที่ว่า ท่านไม่ได้เป็นศิลปิน ไม่ได้เป็นนักเขียน นักพูด ไม่ได้เป็นนักปรัชญา ไม่ได้เป็นนักทำสมาธิ ท่านไม่เป็นอะไรทั้งนั้น แต่ลูกศิษย์ลูกหา อยากเผยแพร่ผลงานของท่านให้คนได้ทราบว่า ยังมีผลงานอีกหลายด้านที่คนไม่รู้ รวมถึงภาพวาดพู่กันจีน

ซึ่งวาดขึ้นด้วยความฉับพลัน ทำด้วยสติ เพราะตลอดชีวิตของท่าน ท่านภาวนาอยู่ตลอดนะ และท่านก็พูดเรื่อง ชีวิตของคุณมีอยู่เพียงขณะเดียว ขณะแห่งลมหายใจเข้าและออก ขอให้มีสติ”

ภาพถ่ายโดย : สมคิด ชัยกิจวนิช และ ART EYE VIEW












ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews