เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองราชบุรีนั้นกำลังอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน
บางพื้นที่เคยปล่อยว่าง
บางพื้นที่เคยเป็นตลาดที่คึกคัก
บางพื้นที่เคยมีอาคารไม้เก่า
บางพื้นที่เคยมีต้นไม้
บางพื้นที่เคยเป็นจุดศูนย์กลางในกิจกรรมการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ
บางพื้นที่เคยเป็นบางอย่างที่สำคัญแต่บางอย่างนั้นกำลังหายไปหรือกำลังเปลี่ยนรูปไป
ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นสิ่งที่ร่วมสังเกตหรือสะท้อนมิติต่างๆในประเด็นร่วมของเมือง
เพื่อบอกเล่าถึงรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้นสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้นคล้ายกับการ ‘ทอย’ ของลูกเต๋าเปรียบเหมือนการร่วมกันบันทึกช่วงเวลาที่มันกำลังพลิกด้านใดด้านหนึ่งออกมา ซึ่งลูกเต๋าชิ้นนี้ก็เป็น 'ของเล่น (toy)' ชิ้นหนึ่งที่เป็นสื่อกลางให้เกิดการเชื่อมโยงของ ‘ศิลปะ – ชุมชน – ผู้ชม – สถานที่’ เป็นบทสนทนาของการปฏิสัมพันธ์กันในอีกรูปแบบหนึ่งของเมือง
คือที่มาของ เทศกาลปกติศิลป์ งานศิลปะเพื่อชุมชน ของจังหวัดราชบุรี ครั้งล่าสุดที่ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวความคิด ทอยบุรี (toyburi)
หลังจากที่เคยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 4 ปีก่อน โดยการริเริ่มของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของ “เถ้าฮงไถ่” โรงงานเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ของเมืองราชบุรี และศิลปินรางวัลศิลปาธร (สาขาการออกแบบ) ประจำปีพ.ศ.2553 โดย สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อเปลี่ยนให้ 'ทุกบ้าน คือเเกลเลอรี่ ทุกที่ คือหอศิลป์'
เทศกาลปกติศิลป์ (Art Normol) ครั้งที่ 2 ตอน ทอยบุรี (toyburi) ซึ่งมี ศุภกานต์ วงษ์แก้ว ภัณฑารักษ์ คนราชบุรี มาออกเเบบรูปเเบบงานในเทศกาลครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มกราคม – 24 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ณ 19 พื้นที่ทั่วตัวเมืองราชบุรี
นอกจากจะแสดงผลงานศิลปิหลากหลายคน ยังได้มีการเชื้อเชิญ นักออกเเบบ เเละ สถาปนิก มาออกเเบบพื้นที่หอศิลป์ในบ้าน ในพื้นที่ส่วนตัว ที่คนในชุมชน เสียสละมอบให้ เพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่เเสดงงานถาวร เเละ สามารถใช้ในการจัดกิจกรรมทางด้านศิลปะได้ยั่งยืนตลอดไป
งานเปิดเทศกาลจะมีขึ้นในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2559 เวลา17.00น ณ หอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai : d Kunst ( ติดกับพิพิธภัณฑสถานเเห่งชาติ ราชบุรี)
แต่ก่อนเปิดงาน เชิญผู้สนใจพบกัน เวลา 14.00น . เพื่อร่วมออกสำรวจพื้นที่ ศิลปะชุมชน 13 แห่ง ได้แก่
1.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
2. ถนนวรเดช
3. รถประจำทาง (ราชบุรี โป่งกระทิง)
4. ร้านหม่อง
5. ตรอกกำแพงอิฐ
6. ร้านทวีผล
7. บ้านน้าอ๊อด
8. ตรอกทางเข้าตลาดสด
9. ศาลาไม้ริมน้ำ
10. โบกี้รถไฟ
11. ร้านอาภรภัณฑ์
12. โรงแรมกวงฮั้ว
13. หอศิลป์ร่วมสมัย เถ้า ฮง ไถ่ – ดีคุ้น
เเละชมกิจกรรมเต้นแอโรบิก บริเวณตลาดเทศบาล โดยศิลปิน สาครินทร์ เครืออ่อน
“ผมไม่รู้ผลมันจะเป็นอย่างไร จะโดนด่าอีกมากแค่ไหน 55 แต่เราก็ต้องพยายามสร้างฐานของความเข้าใจต่อไป เท่าที่เราไปไหวครับ เพราะฉะนั้น ในวันเปิด 23 มกราคมนี้ เวลา 18.00 น. มาเป็นกำลังใจให้กับพวกเรา กันด้วยนะครับ มาร่วม กิน ฟรี ดื่ม ฟรี ฟังดนตรี ฟรี มีทั้งหมูหันหนังกรอบ ไก่บางตาล และของดีของอร่อยเมืองราชบุรี อีกมากมาย ( อันเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคที่1งาน this is not art space หรือ “ที่นี่ไม่ใช่หอศิลป์” ของทีมงาน)
น้องๆ ทุกคนเหนื่อยและเครียดกันมากแต่มีความตั้งใจสูงสุดๆ และพวกเราทุกคนพยายามทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ เพื่อชุมชนเล็กๆแห่งนี้เลย มันยากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเร็ววัน และ ไม่ง่ายที่จะทำงานกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ของเมือง ขอบคุณน้องทุกๆ คน โดยเฉพาะ ภัณฑรักษ์ของเรา เด็กราชบุรี เกรซ Grace Supphakarn Wongkaew” วศินบุรี กล่าวเชิญชวน
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews