ART EYE VIEW—การที่เด็กๆ และคนในสังคมไทยได้อ่านนิทานดีๆ จนเกิดความประทับใจ ในไม่ช้าเมล็ดแห่งความดีในใจของพวกเขาย่อมจะถูกเพาะพันธุ์และเติบโต จนเกิดแรงบันดาลใจในการทำความดีเพื่อสังคม
ด้วยความเชื่อดังกล่าว จึงทำให้ มูลนิธิเด็ก จัดพิมพ์ สมุดบันทึกนิทาน เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2532เป็นต้นมา
โดยสมุดบันทึกนิทาน มีจุดเด่นคือ การรวมกัน ระหว่าง สมุดบันทึกนัดหมาย (Diary) และนิทานสร้างสรรค์ส่งเสริมจินตนาการ สำหรับเด็กและครอบครัว
และตลอดระยะเวลา 27 ปี มีสมุดบันทึกนิทานหลายเล่มของมูลนิธิเด็กที่ได้แรงบันดาลใจจากชีวประวัติและคุณงามความดีของคนดีในสังคม แล้วนำมาแต่งเป็นนิทาน อาทิเช่น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ( ปู่ดื้อ สมุดบันทึกนิทาน ปี 34) ,ปรีดี พนมยงค์ ( เรือกับรั้ว สมุดบันทึกนิทาน ปี 43) ,พุทธทาสภิกขุ ( ธรรมะฤดูกาล สมุดบันทึกนิทาน ปี 50), พระพรหมคุณาภรณ์ (เด็กชายนกกับคางคกตัวดำ สมุดบันทึกนิทาน ปี 54) และ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว (เมล็ดพันธุ์ในสายลม สมุดบันทึกนิทาน ปี 55)
ในปี พ.ศ.2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งเป็นวาระพิเศษ 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ร่วมขบวนการเสรีไทย, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์มากมายให้กับประเทศชาติ อันควรได้รับการยกย่องเชิดชู
(ล่าสุด ในระหว่างการประชุมสมัยสามัญยูเนสโก ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 3 – 18 พฤศจิกายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ยูเนสโกมีมติประกาศยกย่อง อ.ป๋วย ให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก และคนไทยอีกท่าน ที่ยูเนสโกมีมติประกาศยกย่องในโอกาสเดียวกันคือ หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)
มูลนิธิเด็กจึงจัดพิมพ์สมุดบันทึกนิทานชื่อ ป๋วยร้อยปี ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากศิลปิน เทพศิริ สุขโสภา ทำหน้าที่เป็นผู้ สร้างสรรค์เรื่องและภาพ
“ผมเคารพอาจารย์ป๋วยและศรัทธาในสิ่งที่ท่านทำ ผมรู้จักอาจารย์ป๋วยมาตั้งแต่ผมเป็นหนุ่มน้อย จนตอนนี้ผมก็อายุมากแล้ว ผมได้แรงดลใจจากอาจารย์ป๋วยหลายอย่าง ส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่อาจารย์ป๋วยทำรับใช้ชุมชน ทำงานในชนบท ผมศรัทธาอาจารย์ป๋วยตรงนี้และรู้จักท่านเป็นการส่วนตัว”
ศิลปินอาวุโส ซึ่งเป็นที่รู้จักทั้งในฐานะ นักวาดภาพ นักเขียน นักเล่านิทานฯลฯ ให้คำตอบในเบื้องต้น เมื่อถูกถามว่าเหตุใดจึงถูกเชิญให้มาเป็นผู้ที่รับหน้าที่สร้างสรรค์ทั้งเรื่องและภาพให้กับสมุดบันทึกนิทานเล่มล่าสุดของมูลนิธิเด็ก ก่อนจะเล่าต่อว่า
“ปกติคนที่เขียนเรื่องกับคนที่วาดรูปประกอบให้กับสมุดบันทึกนิทานหลายๆเล่มที่ผ่านมา จะเป็นคนละคนกัน แต่เล่มนี้ผมทำคนเดียวได้ เพราะผมเป็นคนที่ชอบทั้งการเล่าเรื่อง และวาดรูป”
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 43 เทพศิริก็คือผู้ที่รับหน้าที่ สร้างสรรค์เรื่องและภาพให้กับสมุดบันทึกนิทาน “เรือกับรั้ว” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากชีวประวัติและคุณงามความดีของ รัฐบุรุษอาวุโส ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์
และเวลานี้ภาพวาดต้นฉบับทั้งชุด ของสมุดบันทึกนิทาน “เรือกับรั้ว” ติดแสดงอยู่ที่ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เทพศิริยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของ อ.ป๋วย หรือ ศาสตราจารย์ พันตรี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผ่านเนื้อหาของนิทานเพียงไม่กี่บรรทัดและภาพประกอบเพียงไม่กี่ภาพ
“ยากทีเดียวเลย เพราะชีวิตอาจารย์ป๋วยต้องทำเล่มใหญ่ๆ จึงจะสะใจ พอเป็นสมุดบันทึกนิทาน เนื้อหาก็น้อย ภาพก็น้อย ทำให้ยาก แต่ก่อนเขียนและวาดภาพ ผมอ่านหนังสือมากกว่า 50 เล่ม
การเขียนเนื้อหานิทาน ผมพยายามใช้คำที่มันคล้องจอง มีสัมผัสหน่อยๆ ในแนวที่ผมถนัด และคนเขาอยากให้ผมทำ”
ขณะที่ภาพประกอบ เทพศิริเลือกใช้เทคนิควาดด้วยสีชอล์ค “ร่างด้วยดินสอก่อน แล้วค่อยเอาสีตบๆลงไป”
ภายใต้เนื้อหาและภาพที่จำกัด ฉากชีวิตของ อ.ป๋วย ในช่วงเวลาที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย คือสิ่งที่เทพศิริเลือกนำมาถ่ายทอด ให้เด่นชัดที่สุดผ่านสมุดบันทึกนิทาน “ป๋วยร้อยปี”
“อาจารย์ป๋วยก็เหมือนกับเราๆนี่แหล่ะ ไม่เคยโดดร่ม ไม่เคยอยู่ในสงคราม แต่ต้องไปฝึกเป็นทหาร อาจารย์ป๋วยใช้คำเรียกตัวเองว่าเป็นทหารจำเป็น จำเป็นต้องเป็นทหาร เพราะว่าบ้านเราจะถูกระเบิดถ้าเกิดญี่ปุ่นแพ้สงคราม เราจะถูกยึดประเทศนี่ เพราะเราเปิดทางให้ญี่ปุ่นผ่านเพื่อเข้าไปรบที่พม่า หลายคนคงจะพอนึกออก ตอนเสรีไทย ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่นี้อาจารย์ป๋วยโดดร่มเข้าเมืองไทย การโดดร่มมันไม่ใช่ของง่าย โดดร่มระหว่างสงคราม จะไปเจออะไรบ้างก็ไม่รู้ อาจารย์ป๋วยโดดผิดที่นะ ผิดจังหวัด ชาวบ้านเขารุมซ้อม ตบตี คนชักปืนจะยิงอยู่แล้ว เพราะช่วงสงคราม เขาคิดว่าคนแปลกหน้า เป็นสายลับ เมื่อก่อนคนไทยเราเรียกพวกสายลับว่าแนวที่ห้า ถ้าญี่ปุ่นจับได้มันจะเอาน้ำมันกรอกปากและตอกเล็บ
อาจารย์ป๋วยถูกรุมซ้อม และเคยเล่าว่า พวกมันฉวยโอกาสด่าบุพการีผม ซึ่งผมก็เคยถามอาจารย์ป๋วยว่า…ด่าอย่างไร อาจารย์ป๋วยตอบว่า… ก็คำที่หยาบที่สุดของภาษานั่นแหล่ะ
สรุปแล้วเรื่องราวที่นำมาเล่าผ่านนิทาน เป็นเรื่องที่ผมเคยฟังมาทั้งจากอาจารย์ป๋วยเล่าเอง และจากที่คนอื่นเขียนเล่า
ตอนนั้นอาจารย์ป๋วยก็เกือบตายเลยแหล่ะ แต่มีคนห้ามไว้ ชาวบ้านเขาก็ถือว่าเขาจับจารชนได้ จับมัด นั่งเกวียน เข้ามาส่งในเมือง ระหว่างทางก็พักตามวัดตามอะไรมั่ง คนที่ด่าที่เกลียดก็มี คนที่ชื่นชมก็มี
แต่ที่ผมขำก็คือว่า คนที่ชื่นชมเพราะอาจารย์ป๋วยกระโดดจากเรือบิน ลงมายืนบนแผ่นดินโดยไม่ตาย ชาวบ้านทึ่งมากเลย คิดว่าคงมีของดี เป็นผู้วิเศษ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งด่า หาว่าเป็นคนขายชาติ ผมก็เอาฉากเหล่านี้มาเล่า
ต่อมาเมื่อสงครามผ่านไปแล้ว อาจารย์ป๋วยก็ไปเจรจา เพราะรัฐบาลอังกฤษเขาโกรธไทยที่บังอาจเข้าข้างญี่ปุ่น ทางสัมพันธมิตรเขาก็สมควรจะโกรธนั่นแหล่ะ เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศเข้าข้างญี่ปุ่นนี่ แต่ขณะเดียวกันเขาก็รู้ว่ามีหน่วยงานใต้ดินอย่างเสรีไทย ที่มีอาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำ เวลาไปเจรจากับรัฐสภาอังกฤษ อาจารย์ป๋วยเขาเป็นนักเรียนอังกฤษนี่ เขาก็เป็นคนเจรจาว่า เราไม่ได้ก่อนะสงครามเนี่ย เราไม่ได้เป็นผู้ก่อ แล้วเราก็อยู่ในภาวะจำยอม และเราคนไทยก็มีฝ่ายที่ต่อต้านญี่ปุ่นด้วย ไม่ใช่ไม่ต่อต้าน อังกฤษก็รู้ดี”
ขณะที่เทพศิริถ่ายทอดให้เห็นว่า ภาพของ อ.ป๋วยในช่วงที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย มีทั้งคนรักและคนชัง
ส่วนหนึ่งยังพยายามถ่ายทอดให้เห็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งซึ่งเทพศิริมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สวยงาม
“ตำรวจเขาเอาอาจารย์ป๋วยไปขังกรงบนศาลาวัด แล้วทุกคนก็อยากมาดูหน้า เข้ามาล้อมใกล้ๆ ตำรวจก็เข้ามาไล่คนที่มาล้อม ในบรรดาคนที่เข้ามาใกล้ๆ มียายแก่คนหนึ่ง จ้องหน้าอาจารย์ป๋วย นานมาก ภาษาชาวบ้านคือกระเถิบ หรือเขยิบเข้ามาใกล้กรงขัง
มีตอนหนึ่งยายบอกว่า หน้าเอ็งเหมือนลูกข้า อาจารย์ป๋วยก็เลยถามว่า ลูกยายไปไหน ยายตอบว่า เขาเกณฑ์ไปสงครามเนี่ย หลายปีแล้วไม่กลับ
เวลานั้นความรักของแม่ที่มีต่อลูก มันแผ่คลุมศาลา สะเทือนใจอาจารย์ป๋วยมาก
โอกาส 100 ปี ชาตกาล ของ อ.ป๋วย เป็นโอกาสที่เราต้องขอบคุณท่าน เรื่องราวที่ผมเล่าไปวาดไป แค่เล่าสั้นๆ และวาดภาพเล็กๆ ให้พอสะเทือนใจคนอ่านคนดูเท่านั้นแหล่ะ ใครที่สนใจลึกไปมากกว่านั้น ต้องไปหาอ่านเพิ่มเติมเอาเอง”
อาจเป็นเรื่องยากที่เด็กจะสามารถเข้าใจในเนื้อหาและภาพที่ถ่ายทอดผ่านสมุดบันทึกนิทานเล่มนี้ได้ด้วยตัวเองทั้งหมด อย่างไรก็ตามเทพศิริมองว่า เป็นคู่มือที่ดีสำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวของ อ.ป๋วยให้เด็กๆได้รับรู้
“ถ้าใครมีเล่มนี้เวลาเล่าให้เด็กฟังก็จะง่ายขึ้น ว่าคนๆนี้มีความสำคัญกับสังคมไทยอย่างไร
อาจารย์ป๋วยเป็นคนดี เป็นคนสัตย์ซื่อ เป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินคนหนึ่ง เป็นคำชมที่ทุกคนต่างก็ชมอาจารย์ป๋วย”
แม้จะรู้สึกภูมิใจอยู่ไม่น้อยที่ได้มีโอกาสสร้างสรรค์เรื่องและภาพให้กับสมุดบันทึกนิทานเล่ม “ป๋วยร้อยปี” แต่ศิลปินอาวุโสท่านนี้บอกว่า หากเป็นไปได้ยังอยากจะเขียนภาพขึ้นใหม่มาอีกสักชุดเพื่อจัดแสดงเป็นนิทรรศการในโอกาส 100 ปี ชาตกาลของ อ.ป๋วย
“รูปต้นฉบับที่ทำให้สมุดบันทึกนิทานครั้งนี้มันเล็ก ใจผมยังอยากจะอยากเขียนภาพขนาดเท่าหน้าหนังสือพิมพ์สองหน้ากาง ใส่สี มีคำบรรยาย แล้วจัดเป็นนิทรรศการสัญจรไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆและตามหัวเมืองได้ ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในใจและยังกระหายอยากจะทำอยู่”
ให้สมเกียรติกับที่ อ.ป๋วย ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินอาวุโสผู้นี้ และผู้คนในสังคมอีกเป็นจำนวนมาก ดังที่กล่าวมาข้างต้น
“อาจารย์ป๋วยทำงานเพื่อคนจน ช่วยชาวบ้าน ความคิดเรื่องการพัฒนาชนบทของอาจารย์ป๋วย เป็นเรื่องที่สวยงาม และผมเห็นด้วยว่าชนบทเสียเปรียบจริงๆ ชาวไร่ชาวนาเหนื่อยยาก แล้วก็โดนกดราคาผลผลิต เป็นเรื่องจริง
อาจารย์ป๋วยแม้จะขึ้นไปอยู่ข้างบนแล้ว แต่ท่านหันลงมาสนใจชาวไร่ชาวนา สอนนักศึกษาให้ไปเรียนรู้จากคนยากคนจนให้มาก ผมว่าอันนี้สวยงามมาก และในด้านความเป็นคนที่สัตย์ซื่อ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ผมประทับใจมาก”
“ป๋วยร้อยปี” สมุดบันทึกนิทานมูลนิธิเด็ก ประจำปี 2559 นอกจากภาพและนิทานชีวประวัติย่อของ อ.ป๋วย ภายในเล่มยังจัดพิมพ์ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ผลงานเขียนสำคัญของ อ.ป๋วย
จำหน่ายในราคาเล่มละ 60 บาท เพื่อนำรายได้สมทบทุนมูลนิธิเด็ก และราคาพิเศษเล่มละ 50 บาท สำหรับท่านที่ต้องการสนับสนุนเพื่อบริจาคสมุดบันทึกนิทานมอบให้เด็กด้อยโอกาส
สั่งซื้อได้ที่ มูลนิธิเด็ก โทร.0-2814-1481-7, 0- 2881-1734 หรือ สั่งซื้อออนไลน์ www.shareforchild.com
นอกจากนี้ยังมีวางจำหน่ายที่ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ร้าน ASTV SHOP บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews