ART EYE VIEW—บางคนเล่าถึงเขาว่า “เป็นหนึ่งในศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ท่านเห็นแล้วกล่าวว่า เห็นลูกศิษย์เก่งอย่างนี้ ฉันก็ตายตาหลับ”
หลายคนเล่าถึงเขาว่า “เป็นเพื่อน เป็นรุ่นพี่ที่มีความสุภาพมากๆ และเป็นแรงบันดาลใจระดับตำนาน ในฐานะผู้ที่มีความสามารถสูงในงานศิลปะเทคนิควาดเส้น”
ศิษย์เก่าช่างศิลป์ รุ่น 6 เพื่อนร่วมรุ่น “ชวน หลีกภัย”
เขาเป็นคนๆเดียวกับ…
นักศึกษาคนแรกในสถิติของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ต้องรีไทร์หลังใช้โควต้าการเรียนซ้ำชั้นในปีสุดท้ายครบไป 3 ปี จึงทำให้ไม่ได้รับปริญญาบัตรเหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน
หรือแม้แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้าเรียนที่ Accademia di belle arti di Roma ประเทศอิตาลี ก็ยังเรียนไม่จบอีกเช่นกัน ทั้งที่ความสามารถของเขามีสูงถึงขนาดที่เมื่อผ่านการทดสอบฝีมือเพื่อเข้าเรียนที่นี่ ก็ได้รับการเลื่อนชั้นให้เริ่มเรียนชั้นปีที่ 3 ไปเลย แถมโปรเฟสเซอร์ยังหยอกล้อทำนองชื่นชมเขาว่า ควรจะมาสอนมากกว่ามาเรียน
เขาเป็นคนๆเดียวกับ…
นักศึกษาโรงเรียนศิลปศึกษา รุ่นที่ 6 (รุ่นเดียวกับ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และนิพนธ์ ขำวิไล ) และ นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 16
ผู้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดประติมากรรม ของ คริสเตียน เซ็นเตอร์ แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2505 จากผลงานชื่อ “ฝน” ซึ่งเป็นงานปั้นรูปผู้หญิงสองคนกำลังยืนหลับตาพริ้ม หน้าหงายขึ้นบนท้องฟ้า ยกมือแบบเหมือนกำลังสัมผัสกับสายฝนและมีเสื้อผ้าแนบตัวด้วยเพราะเปียกปอน
ผู้เคยได้รับรางวัล ชนะเลิศการประกวดงานจิตรกรรมของนักศึกษาศิลปะนานาชาติ ที่ มิลาน ประเทศอิตาลี จากผลงานภาพเขียนสีน้ำมัน ซึ่งเป็นรูปผู้หญิงเปลือยนั่งหันหลัง ด้วยเจตนาไม่ต้องการใช้ทรวดทรงของสตรีแสดงออกในเรื่องทางเพศ ลักษณะไม่เชิงเหมือนจริงหรือสมัยใหม่ที่เสแสร้ง แต่มีการไล่น้ำหนักด้วยชั้นเชิงของคนที่มีพื้นฐานของดรออิ้งชั้นยอด ทำให้ภาพนั้นเกิดมีหลายมิติในบรรยากาศที่เวิ้งว้างและหดหู่ สร้างอารมณ์ความลึกซึ้งแอบแฝงผ่านรูปฟอร์มของสตรีผู้เป็นแบบอย่างมีนัยยะ
รางวัลแรกที่ได้มานั้นเขาไม่ได้ตั้งใจส่งประกวด แต่เพื่อนเป็นคนแอบลงชื่อสมัครให้เขา
ขณะที่อีกรางวัลในต่างแดนเขาคือนักศึกษาศิลปะไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้
“น้าแพ็ท” แห่ง “ลลนา” ความรักครั้งสุดท้าย “สุวรรณี สุคนธา”
เขาคือ… ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด บรรณาธิการฝ่ายศิลป์และผู้ร่วมก่อตั้งฯ นิตยสารชื่อดังในสมัยก่อนอย่าง “ลลนา”
เขาคือ … คู่ชีวิต และความรักครั้งสุดท้ายของ สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดัง ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง และบรรณาธิการของนิตยสารฯ
เขาคือ… “น้าแพ็ท” ชื่อเล่นที่ทุกคนเรียกติดปากจนแทบจะลืมชื่อเล่นเดิมของเขา มีที่มาจาก Pat Boon ชื่อของนักร้องดนตรีผู้ที่เขาชอบนำเพลงชื่อ Bernadine ของนักร้องนักดนตรีคนนี้มาร้องคนให้เพื่อนๆฟัง
วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา !?
ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เขาไม่เคยจัดแสดงผลงานศิลปะมาก่อน และไม่เคยมีความคิดที่จะจัดแสดง
แต่เมื่อคนที่รักและนับถือในตัวเขาทราบว่าเขาล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย และอยากให้เขามีกำลังใจ เมื่อหายป่วยจะได้กลับมาทำงานศิลปะ
แต่ในที่สุดเขาในวัย 76 ปี ก็ได้จากทุกคนไปในช่วงย่ำรุ่งของวันเดียวกันกับวันที่เป็นวันเปิดนิทรรศการ
จึงทำให้ช่วงเย็นของวันนั้น กลายเป็นวันที่ทุกคนต่างมาร่วมแสดงความยินดีและอาลัยกับการจากไปของเขาไปพร้อมๆกัน
จดหมายจากโรม
ในนิทรรศการ “จดหมายจากโรม” (วันที่ 3 – 23 มีนาคม พ.ศ.2558) ณ HOF ART Residency ใกล้สถานีรถไฟฟ้าพระโขนง นิทรรศการศิลปะที่อาจกล่าวได้ว่ามีผู้มาร่วมงานมากที่สุดงานหนึ่ง
ซึ่งชื่อนิทรรศการมีที่มาจาก ชื่องานเขียนของ สุวรรณี สุคนธา ที่เขียนส่งให้กับนิตยสารที่เมืองไทย ในระหว่างที่เขาและสุวรรณี อยู่ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปในหลายๆเมืองของประเทศอิตาลี ก่อนที่จะอำลาโรมแล้วกลับมาเมืองไทย และร่วมกันก่อตั้งนิตยสารลลนา
ขณะที่ผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ นอกจากจะประกอบไปด้วย ผลงานภาพลายเส้นของเขาที่หอบหิ้วมาจากโรม เมื่อครั้งยังศึกษาที่ Academia di belle Art di Rome ประเทศอิตาลี โดยเฉพาะภาพลายเส้นนู้ด ยังมีผลงานต้นฉบับภาพประกอบที่เขาเขียนให้กับลลนา
ซึ่งผลงานบางส่วนหยิบยืมมาจากบรรดาศิลปินที่เคยได้ผลงานไป เนื่องจากมเคยมอบให้กันไปฟรีๆ ด้วยความรักใคร่,บางส่วนหยิบยืมมาจาก ชมพัชร์ มิฟสุด คู่ชีวิตคนสุดท้ายของเขา ซึ่งผลงานในส่วนนี้เคยติดแสดงในร้านอาหาร “เรือธง” ที่ทั้งคู่สร้างทำมาด้วยกัน
และบางส่วนศิลปินที่ชื่นชมและเก็บรักษาผลงานของเขาไว้ คืนกลับมาให้เพื่อจัดแสดง ประมูล และจำหน่าย ไปพร้อมๆกับของที่ระลึกอื่นๆ ซึ่งทำขึ้นเพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ อาทิ เสื้อยืด “ลลนา” ออกแบบโดย ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี และเมนาท นันทขว้าง ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์แห่งแบรนด์ SODA (โซดา)ผู้เป็นทายาทของสุวรรณี รวมถึงโปสเตอร์ สูจิบัตร และอื่นๆอีกมากมายจากสมาคมศิษย์เก่า คณะจิตรกรรมฯ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะถูกนำเข้า กองทุน “ศิริสวัสดิ์” เพื่อนำไปส่งเสริมนักศึกษาศิลปะที่มีความสามารถในด้านการวาดเส้นแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ดังนั้นในวันแรกที่ “จดหมายจากโรม” ถูกเปิดอ่าน นอกจากกุหลาบหลายดอกจะถูกนำมาวางหน้าภาพถ่ายและประวัติของเจ้าของจดหมายด้วยความอาลัย
ผลงานศิลปะจำนวนไม่น้อยจึงถูกแปะสติกเกอร์เพื่อจับจองไปในเวลาอันรวดเร็ว
ร่วมหลายชั่วโมง ผู้คนจำนวนมากยังรวมตัวกันอยู่เพื่อพูดคุยถึงคนๆเดียว อาหารส่งกลิ่นหอมไปทั่ว เสียงดนตรีดังต่อเนื่อง
ขาดก็แต่เสียงเพลงจาก แพ็ท (บูน) ของพวกเขา
งานสวดพระอภิธรรมศพ น้าแพ็ท ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด
วันนี้ – 9 มีนาคม พ.ศ.2558 เวลา 19.00 น.
ณ ศาลา 6 วัดธาตุทอง
ฌาปนกิจ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2558 เวลา 17.00 น.
สุภาพบุรุษ ตำนานวาดเส้นของคณะจิตรกรรมฯ
“ผมกับแพ็ทเรียนห้องเดียวกัน ก็ได้รู้จักถึงความเป็นคนดี เป็นคนน่ารัก เป็นคนที่รักเพื่อน เป็นคนมีความสามารถ แม่นทั้งเขียนและปั้น 3 ชั่วโมงเขียนดรออิ้ง 3 ชั่วโมงปั้น และแม่นกว่าคนอื่น
วันนี้เราก็ไม่ได้ตั้งตัวว่าจะจัดเพื่อระลึกถึงเขาในวันที่เขาจากไป แต่จัดเพื่อให้เขามีกำลังใจหายป่วย และลุกขึ้นมาทำงานต่อ แต่สุดท้าย เรื่องของสัจธรรม ความจริง เกิด แก่ เจ็บตาย ก็เวียนมาพบกับเพื่อนของเรา”ชวน หลีกภัย
“นอกจากความรัก ความเมตตา ไม่ถือตัวกับรุ่นน้องแล้วน้าแพ็ทยังเป็นผู้ที่มีฝีมือฉกาจในการวาดเส้นหรืองานดรออิ้งชนิดหาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง กระนั้นน้าแพ็ทก็ดำรงตนด้วยความถ่อมตัว ไม่เคยโอ้อวดว่าเป็นคนเก่ง ด้วยความคิดเช่นนี้เอง ชีวิตที่ผ่านมาของน้าแพ็ทจึงไม่เคยจัดแสดงผลงานขอตัวเองเลยสักครั้ง ยกเว้นแต่ผลงานภาพประกอบหนังสือลลนา อันเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้น้าแพ็ทอย่างมาก
กระนั้นเพชรก็คือเพชร ความสามารถของน้าแพ็ทเป็นสิ่งที่น้าจ๋อง – จัตวา กลิ่นสุนทร รุ่นพี่ที่เคารพของเราอีกคนหนึ่งเห็นว่าน่าเสียดายอยากจะให้คนรุ่นใหม่ซึ่งยังไม่เคยเห็นผลงานได้เห็น จึงนำเรื่องนี้มาปรึกษากัน สรุปความว่าต้องมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของน้าแพ็ทขึ้นสักครั้ง
ผลงานของน้าแพ็ทส่วนใหญ่มีผู้ครอบครองแล้วและกระจัดกระจายในหลายๆพื้นที่ ต้องใช้วิธีการไปขอหยิบขอยืมจากผู้ครอบครองเหล่านั้นมาแสดง ตลอดจนนำภาพประกอบฝีมือน้าแพ็ทจากหนังสือลลนา มาขยายให้สวยงามและนำมาจัดแสดง” มนัส คงรอด นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ
“ก่อนไปโรมพี่แพ็ทได้แค่อนุปริญญา เรียนอยู่ 9 ปี ที่คณะฯ จนตันโควต้าแล้ว คือ ถ้าเขาเรียนจริงๆ เขาจบ แต่เขาไม่อยากเรียน มันหมดแล้วสำหรับเขา
เขาได้คะแนนเต็มร้อยทุกอย่างนะ อาจารย์ศิลป์ ให้เขาเต็มร้อยทุกอย่าง
เราเข้าใจแกนะ คนไม่อยากทำแล้ว เรื่องฝีมือไม่ต้องถาม มหาศาลนะ พี่แพ็ท เรื่องดรออิ้ง เขาไม่เคยยกเกรยองเลย หายาก ขณะที่ผมไม่ได้เก่งอะไรนักหนา เวลาผมติดอะไร เฮ้ย…พี่แพ็ทอะไรธิบายให้ผมฟังหน่อย เขาก็จะ มึงทำแบบนี้นะไอ้ออด มึงต้องอย่างนี้นะ ทำตรงนี้ให้ได้แล้วมึงจบเลย มึงไม่ต้องคิดอะไรมาก เขาจะเป็นมนุษย์ที่อธิบายและสอน ผมว่าเขาเก่งมาก และคุยแต่เรื่องสนุก”สุจินตน์ ตรีณรงค์
“ผมเป็นรุ่นน้อง เรียนไม่ทันหรอก แต่คลุกคลีกับแก เพราะผมและเพื่อนอีก 3 คน เป็นนักเรียนทุนของอาจารย์สุวรรณี และผมเป็นเพื่อนของกบ (เมนาท นันทขว้าง)
ตอนนั้นน้าแพทกับอาจารย์สุวรรณีก็อยู่ด้วยกันแล้ว อาจารย์สุวรรณีเคยกระเตงพวกเราไปโน่นไปนี่บ่อยๆ
โดยส่วนตัวเรื่องงานดรออิ้งนู้ด จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังไม่เชื่อว่าจะมีใครทำได้ดีเท่าแก เวลาเรียนผมเปิดรูปแกดูบ่อยๆ เพราะอยากรู้ว่าทำไมเราเขียนไม่ได้ซักที
ไปเเห็นงานที่บ้าน แกม้วนๆ ไว้ แล้วพวกเราก็ไปรื้อดู งานดรออิ้งเขียนทีเดียวหยุด โดยเฉพาะดรออิ้งนู้ดแล้ว ไม่เคยเจอใครที่จะทำได้อร่อยเท่านี้”ชาญชัย พินทุเสน
“น้าแพ็ท เป็นรุ่นพี่ที่สุภาพและเป็นแรงบันดาลใจ เป็นตำนานของคณะจิตรกรรมฯ ในเรื่องการวาดเส้น
ทุกคนจะพูดถึงเสมอว่าน้าแพ็ทเก่ง และสมัยเรียนผมก็เดินผ่านร้านมิ่งหลี ซึ่งน้าแพ็ทกับอาจารย์สุวรรณีจะนั่งอยู่ รวมทั้งพวกที่ทำหนังสือลลนา
เราใฝ่ฝันกันว่าอยากเป็นอย่างรุ่นพี่พวกนี้ที่เขาเก่ง แต่งตัวสะอาดสะอ้าน ดูดี และน้าแพ็ทก็เป็นคนสุภาพมาก ใช้คำแทนตัวเองว่าเรา เราอย่างโน้นเราอย่างนี้ ซึ่งเป็นคนอื่นก็จะเรียกมึง กดรุ่นน้องแบบเอ็นดูบ้าง หมั่นไส้บ้างก็ตาม
แต่น้าแพ็ท แกจะไม่เคยพูดหยาบ แกจะพูดเพราะ ชอบเล่าเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน เล่าเรื่องอาจารย์ศิลป์บ้าง เล่าเรื่องเก่าๆบ้าง
และผมฝันอยากทำงานกับน้าแพ็ท กับหนังสือลลนา จนจบออกมาก็ได้ทำจริงๆ แต่เป็นรุ่นหลัง รุ่นที่อาจารย์สุวรรณีไม่อยู่แล้ว
สมัยเป็นนักเรียน มันมีการแสดงภาพเขียนทะเล เราเชิญน้าแพทมาเป็นประธาน น้าแพทซื้องานไปสองชิ้น หนึ่งในนั้นมีงานของผมด้วย มันก็เลยเป็นความดีใจมากๆ บังเอิญมากที่ฮี่โร่ของเรามาซื้องานเรา ทำให้เรามีไฟที่จะเขียนรูป
งานของน้าแพ็ท แสดงถึงความมีพื้นฐานของความสามารถในการวาดเส้นสูงมาก ผมอยากจะเชิญชวนให้มาดู
ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทุกคนรักมาก บางคนไม่เคยออกงานก็ยังมางานนี้ เพราะเป็นการให้เกียรติศิลปินในวันสุดท้ายของชีวิตเขา และเป็นวันแรกของการแสดงผลงานศิลปะของเขา”ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี
ขายผลงาน หาทุนช่วยเด็กศิลปะยากจน เก่งวาดเส้น
นอกจากนี้ผลงานที่นำแสดง ยังมีภาพวาดเส้นซึ่งเป็นงานภาพประกอบในนิตยสารลลนา ผลงานของศิริสวัสดิ์ ที่ศักดิ์วุฒิเก็บรักษาไว้หลายปีมาจัดแสดงด้วย
“หลังจากที่ผมได้ทำงานเขียนภาพประกอบให้กับลลนา ต่อมามันมีการโละงานที่ค้างออกมาทิ้งไว้ ซึ่งมีทั้งงานของผม ของจิตสิงห์(สมบุญ) มีของน้าแพ็ท และมีของหลายคนกองรวมกัน
ต้องขอบคุณรุ่นน้องคนหนึ่งที่บอกว่ามีงานพวกพี่ทิ้งอยู่นะ หนูไม่กล้าทิ้ง พี่มาเอาดีกว่า ซึ่งในจำนวนนั้น เป็นงานน้าแพ็ทประมาณ 60 ชิ้น ผมก็เลยเก็บไว้ส่วนหนึ่ง บอกเขาว่า น้า..ผมเก็บไว้ส่วนหนึ่งนะ แกก็บอก เออ…เก็บไว้เถอะ และคืนแกไปส่วนหนึ่ง ประมาณ 30 -40 ชิ้น แต่ผมคิดผิดครับ เพราะพอเอาไปคืนแก คนก็มาขอไปหมด ซึ่งรูปเหล่านั้นก็หายหมดจนทุกวันนี้ ไม่มีสักรูปเลย คือคนไทย อะไรที่มันได้ง่ายๆ เขาก็จะทิ้ง ขอไปอย่างนั้น คือไม่ได้มีความชื่นชม
แต่งานของน้าแพ็ทในส่วนที่ผมเก็บไว้ประมาณ 25 ปี เวลาย้ายบ้านงานก็ย้ายตามไปด้วย เก็บอย่างดี ห่อไว้ เพิ่งมาเปิดเมื่อ จะแสดงงานครั้งนี้
ส่วนหนึ่งเป็นงานภาพประกอบที่น้าแพ็ทวาดให้คอลัมน์ฮิวเมอร์ริสม์ ตั้งแต่ยุคที่งานมีลักษณะเป็นการ์ตูน ไล่มาเกือบเหมือนจริง ซึ่งมันบอกถึงที่มาของภาพประกอบชุดนี้ หรือการทำอาร์ตเวิร์คสมัยก่อน ซึ่งยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ผมชอบนะ ผมว่าสวย และงานชุดนี้ ผมเอามามอบให้แสดง และขาย เพื่อนำเอาเงินทุกบาททุกสตางค์เข้ามูลนิธิน้าแพ็ท จะได้ทำประโยชน์ให้กับเด็กรุ่นหลังได้
เพื่อให้ทุนเด็กศิลปะที่วาดเส้นเก่ง แต่ยากจน เพราะว่าเด็กสมัยใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่แล้ว มันเป็นเรื่องของไอเดีย เป็นเรื่องสมัยใหม่มากกว่า
ขณะที่หนึ่งภาพคืนให้คุณกบไป เพราะเป็นภาพที่น้าแพ็ทวาดคุณแม่ของคุณกบ คือคุณสุวรรณี อีกสองภาพผมเก็บเอาไว้เอง หนึ่งภาพเป็นภาพผู้หญิงสมัยก่อนที่สวยงามโดยไม่มีอะไรต้องเติมแต่ง และแสดงให้เห็นถึงฝีมือในการวาดเส้นของน้าแพ็ท และอีกหนึ่งภาพเป็นภาพที่น้าแพ็ทกับคุณสุวรรณีกำลังยืนดูงานศิลปะที่โรม”
ซึ่งเป็นภาพเดียวกันกับภาพที่ถูกนำมาทำเป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ “จดหมายจากโรม” ในครั้งนี้
+
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews