ART EYE VIEW—ภาพที่เห็นอยู่นี้ ผู้ชมงานศิลปะกำลังมุงดูภาพ หญิงสาวกับต่างหูมุก (Girl with a Pearl Earring) ซึ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 1665 โดย Johannes Vermeer ในนิทรรศการแสดงผลงานชิ้นมาสเตอร์พีชของศิลปินชาวดัชท์ ได้แก่ Johannes Vermeer ,Rembrandt Harmenszoon และ Frans Hals เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ Frick Collection ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
จะเห็นว่ามีผู้ชมหลายคนที่ยกกล้อง และมือถือของตนเองขึ้นมาบันทึกภาพผลงานชิ้นมาสเตอร์พีชชิ้นนี้ของ Vermeer
บรรยากาศเช่นนี้เราพบเห็นได้เสมอในเวลาที่เข้าไปชมผลงานศิลปะที่ถูกจัดแสดงในห้องนิทรรศการ ของแกลเลอรี่, หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง
ล่าสุดงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้เปิดเผยว่า ผู้ที่ใช้กล้องหรือมือถือขึ้นมาบันทึกภาพผลงานศิลปะในระหว่างที่ชม จะมีผลทำให้จดจำรายละเอียดของงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ได้น้อยกว่าผู้ที่ใช้สายตาชื่นชมชิ้นงานอย่างใส่ใจ
ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีในการถ่ายภาพจะรุดหน้าไปเพียงใด ก็ยังไม่มีอะไรมาทดแทนประสิทธิภาพสมองของคนเรา
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกเปิดเผย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่พบว่าคนเหล่านี้ จะมีประสิทธิภาพในการจดจำข้อมูลคร่าวๆของงานศิลปะแต่ละชิ้น ได้น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และจดจำรายละเอียดของชิ้นงานศิลปะแต่ละชิ้น ได้น้อยกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้กล้องและมือถือขึ้นมาถ่ายภาพขณะชมงานศิลปะไปด้วย แทนที่จะชมผ่านสายตาตามปกติ
“ขณะที่กดปุ่มเพื่อทำการถ่ายภาพ จะมีสัญญาณถูกส่งไปยังสมองของเรา เพื่อบอกว่า กล้องได้ส่งสิ่งหนึ่งออกไปเพื่อจดจำสิ่งที่ถูกถ่ายแทนสมองของเรา”
Linda Henkel ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา แห่ง Fairfield University รัฐคอนเนตทิคัต (Connecticut) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นเจ้าของงานวิจัย กล่าว
และบอกด้วยว่า “บางเวลาภาพถ่ายคือสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ที่เจ้าของภาพอยากจะแสดงให้ผู้อื่นทราบว่า เขากำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน มากกว่าต้องการจะจดจำหรือสื่อสารสิ่งที่ถูกถ่ายกับผู้อื่น”
ในการวิจัยของ Henkel ได้ศึกษาจากการที่มหาวิทยาลัยนำผู้ชมทั้งหมด ไปชมผลงาน 30 ชิ้น ณ Bellarmine Museum of Art ภายในมหาวิทยาลัย และให้เวลา 30 วินาที ในการชมงานศิลปะแต่ละชิ้น พบว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ชมทั้งหมด ยกกล้องและมือถือขึ้นมาถ่ายภาพ
วันต่อมาได้มีการแจกสอบถามเพื่อทอดสอบความจำ เพื่อให้ทุกคนบอกถึงสิ่งที่ตัวเองได้เห็นจากชิ้นงานและลองดูว่าจะมีอะไรใหม่ที่ผู้ชมได้เพิ่มเข้าไปบ้าง เมื่อนำมาทำเป็นกราฟหรือแผนภูมิ Henkel เรียกแผนภูมินี้ว่า “แผนภูมิแสดงปฏิกิริยาที่การถ่ายภาพมีผลทำเกิดการเสื่อมของความจำ”
และมีสิ่งสนับสนุนได้ดีขึ้นไปขึ้นอีก เมื่อเธอทดลองให้แต่ละคนชมภาพงานศิลปะเหล่านั้นผ่านภาพที่แต่ละคนบันทึกไว้ ปรากฏว่าพวกเขาไม่สามารถเขียนบรรยายสั้นๆเกี่ยวกับชิ้นงานเหล่านั้นได้
ขั้นต่อมาของการศึกษา Henkel ลองให้แต่ละคนถ่ายภาพงานศิลปะในระยะใกล้ ปรากฏว่าพวกเขาสามารถจกจำงานศิลปะแต่ละชิ้นได้ดีขึ้น เท่ากับผู้ชมงานที่ชมผ่านสายตาเพียงอย่างเดียว
“ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่าการขยายอาณาเขตของเส้นแบ่ง” Henkel กล่าว
“สมองของเราสร้างการแสดงออกของความคิดที่มีต่อชิ้นงานศิลปะ อะไรที่กล้องบันทึกคือภาพถ่ายส่วนหนึ่ง แต่สมองของเราจดจำทั้งหมดของงานศิลปะ”
การวิจัยอันนี้มีผลทำให้พิพิธภัณฑ์หลายแห่งให้ความใส่ใจกับการที่ผู้ชม ใช้กล้องหรือมือถือบันทึกถ่ายภาพในห้องนิทรรศการขณะชมงานศิลปะไปด้วย
The Museum of Modern Art in New York (MoMA) ได้แนะนำ MoMA Audio+ ซึ่งเป็นโปรแกรมเครื่องเสียงนำชมงานศิลปะภายในพิพิธภัณฑ์ซึ่งถูกส่งผ่าน iPod Touch(เครื่องเล่นดนตรีแบบพกพา) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถชมงานศิลปะภายในพิพิธภัณฑ์ได้ที่บ้าน และเข้าถึงข้อมูลของงานศิลปะที่มีจำนวนมากที่พวกเขาเคยถ่ายภาพผ่านหน้าปัด
และในปีหน้า MoMA ยังวางแผนที่จำทำแอพพลิเคชั่นที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดได้ในที่สาธารณะ และอนุญาตให้ผู้ชมสามารถแบ่งปันภาพถ่ายผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่ตนเองกำลังอยู่ในห้องนิทรรศการ
ในขณะที่หลายพิพิธภัณฑ์อนุญาตให้ผู้ชมสามารถถ่ายภาพได้เฉพาะนิทรรศการแสดงผลงานถาวรของพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่อนุญาตสำหรับนิทรรศการชั่วคราวหรือที่ถูกจัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ
นอกจากนี้หลายปีที่ผ่านมา The Dallas Museum of Art ได้ผลักดันให้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด แม้ผู้ชมที่ต้องการจะถ่ายในนิทรรศการชั่วคราวก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการก่อน
“เรายินดีที่จะให้เปิดโอกาสให้ผู้ชมงานศิลปะ ได้ใช้เวลาอย่างอ้อยอิ่งกับการชมงาน” Maxwell L. Anderson ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าว และบอกอีกว่า
“ณ จุดที่ดีที่สุดของการชมงานศิลปะ คือการที่สายตาของเราได้สื่อสารผ่านรูปฟอร์มที่ทรงพลังของมัน โดยไม่มีการถ่ายภาพมาลดทอนพลังของมันลง”
เรียบเรียงจาก : The Wall Street Journal
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews