คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม
เราเริ่มเดินทางเข้ากรุงเทพกันบ่อยขึ้น..บ่อยขึ้น
รถยนตร์คันน้อยที่มีถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า ไม่ว่ากระโปรงหลัง และเบาะด้านหลังของรถถูกบรรจุเต็มไปด้วยงานปั้นที่ปั้นเสร็จแล้ว อีกทั้งยังดินเหนียวและเครื่องมือปั้นขนาดเล็กใหญ่ที่เราใช้งาน และเครื่องมือปั้นทั้งหมดที่เรามี ได้ถูกขนใส่รถเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปทำการสอนคนให้ปั้นดิน ตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งเสถียรธรรมสถานในนามของการเป็นอาสาสมัคร
ในการเดินทางเพื่อนใจของฉันมักจะเป็นมือหลักในการขับรถ ส่วนฉันนั้นเป็นมือรอง ฉันมักจะนั่งอุ้มลูกสุนัขสีดำตัวหนึ่ง ที่เกิดมาอยู่ภายใต้ชายคาบ้านของเรา ไว้ในอ้อมแขนเสมอ….สุนัขตัวนั้นมีชื่อว่า “สำลี”
เราจะผลัดเปลี่ยนกับขับรถ เมื่อเพื่อนใจของฉันง่วงนอนเท่านั้นฉันจึงจะได้ขับรถเปลี่ยนมือกับเขา
เมื่อแรกๆ ที่เราเป็นแฟนกันใหม่ๆ นั้น เรายังพูดคุยกันมากมาย แต่ครั้นเมื่อได้มาอยู่ร่วมเรียงเคียงหมอน ด้วยกันไปนานวันแล้ว ฉันก็ค่อยๆ เห็นนิสัยของเขา ซึ่งเป็นคนพูดน้อย โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ใกล้ๆ หรือแวดล้อมกับเขา…เขาเป็นเช่นนั้นเสมอทั้งกับฉันและกับคนอื่นๆ
ความอาทรที่ฉันได้เห็นก็คือ เขาจะไม่ปล่อยให้ฉันทำงานหนักๆ หรือยกของหนักๆ การทำงานดินเผาของเรานั้นประกอบด้วยกิจกรรมที่ต้องใช้แรงในหลายต่อหลายขั้นตอน เช่น การยกดิน นวดดิน การขนฟืน เผางาน หรือแม้แต่ยกงานขึ้นใส่รถ หน้าที่ต่างๆ ที่ต้องใช้แรงและพลกำลังมากๆ นั้น จะตกเป็นของเขาทั้งสิ้น นั่นนับเป็นความอาทรที่ฉันรู้สึกได้รับจากเขา
เวลาที่เราไปทำการสอนคนให้ปั้นดินนั้น ฉันชอบที่จะเป็นเพียงผู้ช่วยของเขาเท่านั้น เพราะการพบปะผู้คนในแต่ละครั้งแต่ละงานสำหรับฉันนั้น ดูช่างต้องใช้พลังใจอย่างมากมาย การทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเขาในเรื่องนี้นั้น จึงนับเป็นการตอบแทนต่อเขาด้วยความรักที่ฉันมีต่อเขานั่นเอง
ไม่ว่าการสอนคนปั้นดินในแต่ละครั้งจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อมันได้สิ้นสุดลง และเมื่อผู้คนที่ได้ลองหัดปั้นดินเหล่านั้น ได้เห็นผลงานของตนเองแล้ว ก็ดูพวกเขาจะพอใจกับมันเสมอ
มันไม่ใช่เพียงการสอนให้พวกเขาหัดปั้นดินเพียงเท่านั้น แต่มันยังเป็นการดึงหัวจิตหัวใจและความทุกข์สุข ที่มีของบุคคลเหล่านั้นออกมาลงใส่ในเนื้อดิน
บางคนที่มีความทุกข์และสิ้นไร้หนทางที่จะไปในที่ใด การได้ปั้นดินอย่างต่อเนื่อง เป็นการบำบัดจิตใจของเขาได้ในระดับหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่ฉันได้รับรู้จากผู้คนที่เราได้พบเจอ จากการมาหัดปั้นดิน ซึ่งส่วนมากนั้นเป็นผู้หญิง และเด็กๆ
พวกเขามักเรียกเพื่อนใจของฉันว่า “ลุงดี” หรือ “นายดี” และสำหรับฉันแล้วพวกเขามักเรียกฉันติดปากว่า “แม่องุ่น” ซึ่งเป็นคำที่ถูกเรียกตามพวกเด็กๆ นั่นเอง
เสถียรธรรมสถาน จึงค่อยๆ กลายเป็นบ้านหลังที่สองของเราในที่สุด เมื่อเราเข้ากรุงเทพฯ เนื่องจากห้องพักเล็กๆ ในคอนโดมิเนียมย่านตลิ่งชันของฉันนั้น ค่อนข้างไกล จากย่านบางเขน วัชรพล พอสมควร การได้พักนอนและอาศัยอยู่ที่นั่นยามมีงานที่ต้องทำ จึงนับเป็นความเหมาะสม อีกทั้งอาหารการกินที่เราได้ฝากปากท้องไว้กับข้าวก้นบาตรของเหล่าแม่ชีที่นั่นเสมอ
ส่วนสำลีสุนัขแสนรักของฉัน ก็ยังได้รับอนุญาตให้วิ่งเล่นอยู่ในสถานที่แห่งการปฏิบัติธรรม แห่งนั้นได้อย่างมีอิสระ ฉันจึงรู้สึกอบอุ่นใจ
เมื่อเสร็จงานในกรุงเทพฯ ซึ่งบ้างก็เป็นการแสดงงาน บ้างเป็นการสอนคนปั้นดิน และบ้างก็เป็นการนำงานมาฝากขาย เราสองคนและสุนัขอีกหนึ่งชีวิต ก็จะพากันปุเลงๆ ขับรถกลับเชียงใหม่
สภาพภายในรถของเรายามขากลับนั้น รกรุงรังไปด้วยเสื้อผ้าและเหล่าสัมภาระนานาของคนปั้นดิน ที่มีวิถีชีวิตราวกับคนพเนจร เพราะในช่วงขณะนั้นเราเดินทางไปๆ มาๆ กันบ่อยมาก
ฉันยังจำความรู้สึกของตัวเองได้อย่างแจ่มชัดเหลือเกินว่า ในยามที่ฉันรู้สึกคิดถึงบ้าน ฉันกลับนึกไม่ออกว่า “บ้านของฉัน” นั้นอยู่ที่ไหน
มีบางคราวในระหว่างทางของการขับรถอยู่บนถนน ในช่วงถนนสาย ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ขณะที่เรากำลังมุ่งหน้าจะขึ้นเหนือกันนั้น ปรากฏว่ามีรถเก๋งคันงามที่ได้ขับมาข้างหลังเรา และค่อยๆ ขับตีคู่ขึ้นมาขนานกับรถของเรา เมื่อได้มองหน้ากัน และรถคันดังกล่าวได้ไปจอดดักหน้ารถของเราที่ข้างทางนั้น
เพื่อนผู้เคยสนิทสนมกับฉันในสมัยที่ฉันยังเป็นพนักงานธนาคาร และเราได้เดินลงจากรถมาหากัน เพราะเธอจำรถและทะเบียนรถของฉันได้
เธอได้ร้องไห้โฮ..และกอดฉัน เพราะได้เห็นสภาพอันกระมอมกระแมมของฉัน ผู้ซึ่งลาออกมาแล้วไม่เคยได้หวนกลับไปที่นั่นอีกเลย
บางขณะเวลาของการเดินทางนั้นก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้น เมื่อเพื่อนใจของฉันเหนื่อยล้าและหลับไป ฉันได้ทำการขับรถแทน
ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งในยามดึกสงัดราวตีสามกว่าๆ ฉันได้ขับรถหลงเข้าไปในป่าช้า ของวัดหลวงแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ด้วยฉันหลงคิดว่าประตูอันใหญ่โตสวยงามนั้น คือประตูของวัด ซึ่งฉันจะไปจอดรอ ตลาดยามเช้าที่หน้าวัดแห่งนั้น แต่มันกลับเป็นประตูทางเข้าสู่สุสาน
บรรยากาศเจดีย์เก็บกระดูกยอดแหลมๆ ที่เรียงรายมากมาย ในความสลัวรางของหมอกสีขาวนั้น ช่างแสนวังเวงและเยียบเย็น…
ฉันได้รู้จักที่จะดำรงจิตใจให้อยู่ในความนิ่ง และตั้งมั่น ควบคุมพวงมาลัยเพื่อไปให้พ้นจากสถานที่แห่งนั้นให้เร็วที่สุด ในขณะที่สุนัขแสนรักและเพื่อนใจของฉันนั้นต่างกำลังหลับสนิท
และบางขณะเวลาของการเดินทางในยามที่ฝนตกหนัก เม็ดฝนโปรยปรายกระหน่ำเปียกปอนไปทั่วทั้งถนนที่เรากำลังแล่นผ่าน ในขณะที่เราประคองรถซึ่งอยู่ในความเฉอะแฉะและเปียกปอนอย่างน่าสงสารนั้น ฉันจะมีมโนภาพของที่นอนสีขาวสะอาดอันแห้งและหอมไปด้วยกลิ่นของแสงแดด ผุดขึ้นมาในห้วงนึกเสมอ
เมื่อกลับถึงบ้านบนดอย ฉันก็ใช้ชีวิตเช่นเดิม ทำงาน ไปตลาด อ่านหนังสือธรรมะ และเข้ากรุงเทพฯ
ฉันได้หลักคิดจากหนังสือธรรมะจากหลวงพ่อชาว่า “ฉันกำลังเป็นผู้ฝึกฝนตนเอง”
และแล้วในวันหนึ่ง ท่านแม่ชีศันสนีย์ได้เดินทางไปร่วมงานบุญที่เชียงใหม่ เมื่อเสร็จงานบุญแล้ว ท่านจึงได้เดินทางมาหาเราที่บ้านบนดอย การที่ท่านแม่ชีมาเยี่ยมเยียนหาเราถึงที่บ้านนั้น ยังความดีใจแก่เรายิ่งนัก ที่ในความรู้สึกอันเคว้งคว้างลึกๆ ที่มีนั้น เมื่อได้พบความเมตตาจากท่านฉันรู้สึกอบอุ่นใจราวกับได้พบที่พึ่ง
เราพาท่านเดินดูไปทั่วบ้านของเรา ซึ่งในขณะนั้นเป็นฤดูฝน ต้นไม้ใบไม้เขียวชะอุ่มไปหมด แต่ก็เลอะเทอะเฉอะแฉะ โดยเฉพาะตรงถนนดินที่จะเลี้ยวเข้าบ้านนั้นเล่าก็มีน้้ำฝนลงมาขังในดินจนเป็นเลนเปียกเละเทะ รถก็ติดหล่มแทบเข้าออกไม่ได้ ฉันลุ้นแทบแย่ในการพยายามดูเส้นทางที่รถจะเข้ามาอย่างลำบาก แต่กระนั้น ท่านแม่ชีก็สู้อุตส่าห์มีเมตตา มาเยี่ยมเยือนเรือนของเรา
เมื่อท่านได้เดินชมและพูดคุยกับเราแล้ว ท่านแม่ชีจึงได้เอ่ยปากชวนฉันให้เดินทางไปเที่ยวชมในสถานที่ของท่านด้วยกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งอยู่ในอำเภอแม่แตง ห่างออกไปจากสถานที่ที่เราอยู่ในอำเภอแม่ริมออกไปอีกราว หกสิบกิโล ฉันจึงรับปากท่านด้วยความดีใจ
วันต่อมาฉันและเพื่อนใจพร้อมสุนัขแสนรักคือสำลี จึงได้ติดตามท่านแม่ชีไปยังสถานที่อันเป็นป่าสักอันกว้างใหญ่ของท่าน ท่านพาเดินดูในสวนป่าสักแห่งนั้น บางทีก็เป็นเนินเขา บางที่ก็เป็นหลุมแอ่ง และเป็นที่ราบ มีต้นสักใหญ่น้อยปกคลุมอยู่ทั่วไป รวมทั้งต้นแก้วเจ้าจอม ที่ถูกปลูกเป็นแนวในระหว่างทางเดิน โดยมีคนเฝ้าสวนสองผัวเมียผู้อารีอารอบ คอยเดินอยู่ใกล้ๆ
ที่นั่นมีกอหน่อไม้ไผ่ตงมากมาย มีต้นรักโบราณต้นใหญ่ และมีต้นโพธิ์เก่าแก่
“ที่นี่มีน้ำประปา ที่นี่มีไฟฟ้า และที่นี่มีเพื่อนบ้าน คือครอบครัวของสามีภรรยาที่เป็นผู้เฝ้าสวนแห่งนี้” ท่านแม่ชีกล่าว
และสุดท้าย ท่านได้เอ่ยปากถามกับฉันว่า “องุ่น อยากมาอยู่ที่นี่ไหมลูก… ถ้าอยากมาอยู่ แม่อนุญาตให้เข้ามาอยู่ได้เลย พอใจจะปลูกเรือนอยู่ตรงไหนก็เลือกเอา”
ขณะนั้นช่างเป็นช่วงที่พอดีกับที่ฉันได้นำงานของตนเองไปแสดงเดี่ยวครั้งแรก ในชื่องานชุด “น้องนาง” ที่ห้างสรรพสินค้า เกษรพลาซ่า โดยมีท่านแม่ชีที่ให้เกียรติไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานให้แก่ฉัน และมีผลงานขายได้พอสมควร
ฉันจึงมีความหวังว่าหากเมื่อฉันได้เงินมา ฉันน่าจะสามารถนำมาปลูกที่อยู่อาศัยอย่างง่ายๆ ในราคาถูกๆ ได้ไม่ยากนัก
ฉันจึงเก็บเรื่องนี้ไปคิดและปรึกษาหารือกันกับเพื่อนใจของฉัน..
ถ่ายภาพโดย : มนตรี ศิริธรรมปิติ และ มณีดิน
รู้จัก… องุ่น เกณิกา สุขเกษม
จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยสยาม เคยทำงานเป็นสาวแบงค์ นาน 7 ปี
ปี 2540 เป็นต้นมา หันมาจับเศษดินปั้นเป็นหญิงสาวมากจริต จนได้รับการยอมรับ และรู้จักในฐานะประติมากรหญิงผู้ไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะจากรั้วสถาบันใด
ขณะนี้องุ่นใช้ชีวิตและทำงานประติมากรรม อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นของบ้านริมแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี
เป็นชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สบายๆ แม้ไม่ได้สบายด้วยวัตถุ ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ ART EYE VIEW เมื่อหลายปีก่อนว่า
“สบายด้วยอากาศ ด้วยต้นไม้ และมีอิสระ ทุกวันนี้ทำงานปั้นดิน และเผาเองทุกชิ้น ส่วนชิ้นไหนที่เห็นเหมาะเห็นชอบ ก็จะนำไปหล่อที่โรงหล่อ
รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากเลย เวลาที่ทำงาน เพราะอะไรที่มันเป็นชีวิตเรา เป็นความรู้สึกนึกคิดของเรา พอได้ทำเป็นงานออกมาแล้วมีความสุข
ถ้าช่วงไหนไม่ได้ทำงานปั้น มันเหมือนชีวิตเราหมดคุณค่า และอัดอั้น เพราะเรามีความรู้สึกที่ต้องระบายออกมา”
ติดตาม คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews