Celeb Online

HARDCOVER พื้นที่ของ “หนังสือศิลปะ” จากทั่วทุกมุมโลก


ART EYE VIEW—อย่างที่ทราบกันดีว่า ก่อนที่ เชน สุวิกะปกรณ์กุล จะเปิด สำนักพิมพ์เซรินเดีย และ เซรินเดีย แกลเลอรี่ ขึ้นที่ โอ.พี.การ์เด้นท์ ถ.เจริญกรุง 36

ก่อนหน้านี้เขาเคยมีประสบการณ์ทำงานให้กับร้านหนังสือที่ชิคาโก มานานหลายปี โดยเฉพาะหนังสือเฉพาะทางที่เกี่ยวกับศิลปะของเอเชีย

และเมื่อปีที่ผ่านมา แกลเลอรี่ของเขาเคยนึกสนุกด้วยการ นำหนังสือศิลปะเล่มขนาดเหมาะมือ ไปจนถึงเล่มใหญ่ยักษ์ จากสำนักพิมพ์ชื่อดังของเยอรมัน อย่าง Taschen มาจัดแสดงให้ชมในฐานะงานศิลปะชิ้นหนึ่ง

มาปีนี้ เชนชิมลางด้วยการเปิดร้านหนังสือศิลปะขึ้นบน ชั้น 3 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกปทุมวัน

พอดีทางหอศิลป์เขามีการปรับปรุงสถานที่ใหม่ มีการจัดสรรพื้นที่ๆ แน่นอน และตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมาบริหารอย่างเป็นกิจลักษณะ เขาก็เลยให้ลองส่ง proposal มาเสนอ

ผมเห็นว่าด้วยพื้นที่แล้ว เหมาะที่จะมีร้านหนังสือศิลปะ เพราะว่าเป็นหอศิลป์ และอีกอย่าง อะไรที่เกี่ยวกับหนังสือศิลปะ เราถนัดอยู่แล้ว

ด้วยความที่อยู่ในวงการนี้มานาน สำนักพิมพ์เมืองนอกก็รู้จักเราเกือบหมด สามารถที่พูดคุยกันได้ง่าย และพอที่จะบริหารเรื่อง logistics ได้

ถ้าเกิดเริ่มจากศูนย์คงทำไม่ได้…ยาก เพราะเราคงไม่รู้ว่าใครเป็นตัวแทนจำหน่าย จะต้องไปสั่งหนังสือที่ไหน ส่งอย่างไร ตายกันพอดี และที่สำคัญการที่ต้องสต๊อกหนังสือเยอะขนาดนี้ 10 ล้านก็เอาไม่อยู่”

เชนกล่าวว่า ในโลกที่เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ แต่ตลาดของหนังสือศิลปะยังคงขับเคลื่อนไปได้และยังเป็นตลาดที่ใหญ่

“หนังสือประเภทนวนิยาย หรือประเภทอื่นๆ เทรนด์ตอนนี้อาจมีแนวโน้มไปทำเป็น E- Book หรือลง ใน I Pad ส่วนหนังสือศิลปะยังทำอย่างนั้นไม่ได้ และเคยมีคนลองทำแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ด้วยพฤติกรรมของคนเสพหนังสือพวกนี้ด้วย เพราะฉนั้นตลาดหนังสือศิลปะก็ยังมีอยู่”

และอีกอย่างเขามองว่า เมืองไทยยังไม่มีร้านที่จำหน่ายหนังสือศิลปะโดยตรง

“ผมอยากเอาหนังสือศิลปะที่ดีๆสวยๆ ที่คนไม่รู้จัก มาให้คนไทยได้เห็น เพราะหนังสือศิลปะมีความสำคัญต่อการให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะ

ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ อย่าง เอเชียบุ๊คส์ หรือ คิโนะคุนิยะ ถ้าเกิดเราไม่เดินเข้าไปหาในชั้นโดยตรง เราก็จะไม่ได้เห็นหนังสือพวกนี้

อยากให้คนได้เห็นความหลากหลายของหนังสือศิลปะจากสำนักพิมพ์ต่างๆของเมืองนอกว่า เขาทำหนังสืออะไรกันบ้าง มีหน้าตาแบบไหนบ้าง แบบไหนที่ทำออกมาแล้วเวิร์ค ไม่เวิร์ค”

สำหรับ HARDCOVER (ฮาร์ดคัฟเวอร์) ชื่อของร้าน เชนกล่าวว่ามีที่มาจากลักษณะของหนังสือศิลปะส่วนใหญ่ ที่มักเป็นหนังสือเล่มใหญ่และมีปกแข็ง

“เพราะที่นี่เป็นเอเชีย ถ้าไปตั้งชื่ออื่น หรือใช้ศัพท์ที่เกี่ยวกับหนังสือโดยตรง คนก็จะไม่ get ว่าเป็นร้านอะไร

แต่คำว่า HARD COVER ทุกคนรู้จัก แม้จะเป็นคนที่รู้ภาษาอังกฤษน้อย ก็สามารถเข้าใจได้ทันที แล้วมันก็สื่อถึงความเป็นหนังสือศิลปะด้วยว่า เป็นหนังสือปกแข็งเล่มใหญ่

เพราะฉนั้นผมอยากตั้งชื่อที่สื่อให้คนเข้าใจง่าย ดูสะดุดตา ไม่ใช่ดูไม่กล้าเข้า หรือรู้สึกเป็นร้านที่ความรู้จ๋า

แล้วการแต่งร้าน เราก็ไม่ได้ทำชั้นทำอะไร เราอยากให้คนดูหนังสืออย่างเป็นธรรมชาติ”

นอกจากนี้บนผนังของร้านยังถูกตกแต่งด้วยภาพวาดหนังสือ และศัพท์เฉพาะทาง ที่เกี่ยวกับส่วนต่างๆของหนังสือ

“หนังสือเขาก็มีอนาโตมีของเขา ศัพท์พวกนี้(ชี้ไปที่ผนัง) เป็นศัพท์ที่คนในวงการหนังสือเก่า ต้องใช้ ต้องรู้ และใช้มาก่อนยุคจะมีอินเตอร์เนท

เมื่อไม่สามารถใช้วิธีถ่ายรูปส่งอีเมลไปให้ลูกค้าดูได้ ก็จะต้องเขียนอธิบายเกี่ยวกับส่วนต่างๆของหนังสือไปบอกลูกค้า หรือเวลาที่ลูกค้าต้องการสอบถามว่าหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ยังมีอยู่หรือเปล่า สภาพยังดีอยู่ไหม ผมจึงเอาไอเดียตรงนี้มาแต่งร้าน”

เจ้าของร้าน กล่าวเชิญชวนคนที่ยังไม่โอกาสแวะไปชมร้านใหม่ของเขาว่า นอกจากหนังสือศิลปะเล่มสวยที่เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก ร้านยังเปิดพื้นที่เพื่อเป็น Display ให้กับหนังสือศิลปะของศิลปินไทย และบรรดาสูจิบัตรจากแกลเลอรี่ต่างๆด้วย

“เพราะว่าตั้งแต่เปิดร้านมา มีคนมาถามหาหนังสือที่เกี่ยวศิลปินไทยอยู่ตลอด ตอนนี้ก็เริ่มมีมาวางหลายเล่มแล้ว”

>>ร้านหนังสือศิลปะ HARDCOVER ห้อง 305 ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิด อังคาร – อาทิตย์ เวลา 11.00 – 20.00 น. โทร.0-2214-3155



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com