Celeb Online

“ยามเฝ้าประตูนรก” ใน “เชคสเปียร์ต้องตาย” โอ๋ – ปิยะทัต เหมทัต


ART EYE VIEW—ได้ศิลปินและคนทำงานศิลปะหลายแขนงมาร่วมเป็นนักแสดง สำหรับ ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย(Shakespeare Must Die) ที่เขียนบทและกำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ อิ๋ง เค (ดัดแปลงจากบทละครโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ ของวิลเลียม เชคสเปียร์ โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาภาพยนตร์ และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย)

หนึ่งในนักแสดงเหล่านั้น คือ โอ๋ – ปิยะทัต เหมทัต ศิลปินภาพถ่ายและเจ้าของ RMA (อาม่า) Institute พื้นที่แสดงงานศิลปะใน ซ.สายน้ำทิพย์ 2 และเป็นบุตรชายของ ศุภลักษณ์ ตัณฑาภิชาติ แห่งบริษัทประชาสัมพันธ์ “คิธ แอนด์ คิน”

“ส่วนตัวผมรู้จักพี่อิ๋ง ซึ่งเป็นผู้กำกับ และพี่มานิต (ศรีวานิชภูมิ) โปรดิวเซอร์  อยู่แล้ว ซึ่งพี่มานิตเราก็รู้จักกันดี ว่าเป็นหนึ่งในช่างภาพที่ทำงานศิลปะภาพถ่ายมาหลายปี เป็นคนที่หลายคนทั้งในไทยและต่างประเทศต่างรู้จัก พี่อิ๋ง (ภรรยาของมานิต)ขอให้ผมไปลองอ่านบท พอไปลองแล้ว เค้าคงรู้สึกว่ามีบทที่เข้ากับเรา จึงให้ไปทดลองเล่น และนักแสดงส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนศิลปินด้วยกันทั้งนั้น”

>>ยามเฝ้าประตูนรก

วางกล้องถ่ายภาพ ไปแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกในชีวิต บทบาทที่ช่างภาพหนุ่มได้รับ มี 3 บทบาทด้วยกัน

“บทแรก เล่นเป็นทหารที่เลือดท่วมตัว บทที่ 2 เล่นเป็นยามเฝ้าประตูนรก และบทที่ 3 เล่นเป็นมือขวาของแม็คเบ็ธ ( หรือ เมฆเด็ด (Mekhdeth) ในเรื่อง ขุนนางที่ล้มอำนาจกษัตริย์ และสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่) เป็นคนที่คอยบริหารความชั่วร้ายให้กับแม็คเบ็ธ”

โอ๋ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีความรู้เกี่ยวกับนักประพันธ์ชื่อดังชาวอังกฤษอย่าง วิลเลียม เชคสเปียร์ ไม่มากนัก แต่ไม่ถึงขนาดไม่คุ้นเคย

“เคยรู้เรื่องของเชคสเปียร์มาบ้างนิดหน่อยครับ ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ(โอ๋เรียนจบปริญญาตรี จาก city and guilds london art school และปริญญาโท ทางด้านศิลปะ มหาวิทยาลัยเชลซี) เชคสเปียร์เป็นหนึ่งในหลักสูตรของการเรียน ซึ่งบทประพันธ์เรื่อง แม็คเบ็ธก็เคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง

และอย่างที่รู้กันว่าอังกฤษเป็นประเทศของเชคสเปียร์อยู่แล้ว ไปไหนก็มีเชคสเปียร์เต็มไปหมด เชคสเปียร์เป็นนักประพันธ์ที่เจ๋งมากอยู่แล้ว ไม่มีใครปฏิเสธได้”

แต่เมื่อต้องมาสวมบทบาทนักแสดงในภาพยนตร์ซึ่งดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของนักประพันธ์ดังระดับโลก จะให้รู้จักเชคสเปียร์บ้างนิดหน่อย และแค่ผ่านหูผ่านตา “แม็คเบ็ธ” บทประพันธ์เรื่องดัง อยู่เหมือนเดิม คงไม่พอ

“ต้องศึกษาเยอะเหมือนกันฮะ เพราะว่าบทที่ได้มา เป็นบทที่ท้าทายมาก การเป็นยามเฝ้าประตูนรก มันเป็นกึ่งอสูรกับสัตว์ประหลาด มันไม่ใช่คนปกติ

นอกจากอ่านบทประพันธ์ที่พี่อิ๋งแปลมา ยังต้องกลับไปอ่านในสิ่งที่เชคสเปียร์เขียนไว้ แต่มันแทบไม่ต่างกันเลยฮะ เพราะสิ่งพี่อิ๋งแปลจากภาษาอังกฤษแปลมาเป็นภาษาไทย ค่อนข้างตรงตัว”

>>กองถ่าย แหล่งรวม ศาสตร์และศิลป์หลายแขนง

ปกติต้องทำงานศิลปะด้านภาพถ่ายและบริหารจัดการผลงานศิลปะของศิลปินที่จะเข้ามาจัดแสดงในแกลเลอรี่ พอมาชิมลางเล่นภาพยนตร์ โอ๋บอกว่า ได้เรียนรู้ว่ากระบวนการสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์หลายแขนง

“ได้เรียนรู้เยอะมากเลยครับ แค่ไปเซ็ทฉากและทำงานกับคนทั้งทีมกับผู้กำกับ กับ DOP หรือว่านักแสดงคนอื่น รวมไปถึง ช่างไฟ ช่างกล้อง เราได้เรียนรู้กระบวนการทำหนัง ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย มันเหมือนการใช้ศาสตร์ทุกศาสตร์

อย่างผมเป็นช่างภาพเนี่ย ผมจะรู้แค่ศาสตร์ที่เกี่ยวกับภาพถ่าย การ EDIT งานนิดหน่อย และการนำเสนอผลงานภาพถ่ายของตัวเองออกไป แต่ว่าการทำหนังเนี่ย มันมีเรื่องของ Sound ,Lighting,บท ,การตัดต่อ และอีกหลายเรื่องเยอะแยะเต็มไปหมด มันละเอียดอ่อน และมีรายละเอียดเยอะมาก

ผม ได้เรียนรู้จากตรงนั้นเยอะเหมือนกัน และเราเองก็ต้องทำความเข้ากับระบบการทำงานในกองถ่าย ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของบทที่เราต้องรับผิดชอบด้วยว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้หนังเขาเสีย หรือว่าไม่ให้ตัวเองขายหน้า คือเรารับบทมาแล้ว เราก็ต้องศึกษาและทำให้ดีที่สุด รับผิดชอบมันให้ได้

และในฐานะนักแสดงเรื่องนี้ผมก็เชื่อในบทฮะ และเชื่อในตัวผู้กำกับก็เลยไปร่วมด้วย แต่ว่าส่วนหนึ่งตัวผมเองกับการที่รับงานนี้เนี่ย เพราะผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ท้าทาย เหมือนผมต้องเรียนรู้หลายๆอย่าง และสิ่งใหม่ๆเยอะมากเพื่อจะพาตัวเองก้าวไปอีก Step หนึ่ง เพื่อจะรองรับบทบาท และความรับผิดชอบตรงนี้

เพราะปกติแล้วการเป็นช่างภาพที่ผมทำอยู่ ก็ไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรตรงนี้ใช่ไม๊ฮะ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าการแสดง การอยู่ในกองถ่าย มันอะไร อย่างไร พอมาเจออย่างนี้แล้วเนี่ย บทมันท้าทายมาก ยามเฝ้าประตูนรกหน่ะครับ มันต้องถอดเสื้อ ต้องใส่โสร่ง แล้วมือก็ถือไม้เท้า มันท้าทาย”

>> แบน “เชคสเปียร์ต้องตาย” ปิดโอกาสคนไทย ทำความรู้จัก “วิลเลียม เชคสเปียร์”

อย่างที่ทราบกันโดยถ้วนหน้าว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มีมติไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die)โดยให้เหตุผลว่าภาพยนตร์ มีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ

และทางผู้สร้างภาพยนตร์ได้ทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งในวันที่ 25 เมษายนที่จะถึงนี้ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ จะมีการประชุม เพื่อพิจารณาคำอุทธรณ์และลงมติ ว่า จะยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทยหรือไม่ (ล่าสุดเลื่อนไปเป็น วันที่ 11 พ.ค.55)

หากผลไม่เป็นไปตามที่ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ปรารถนา สิ่งที่หนึ่งในแสดงของเรื่องคนนี้รู้สึกก็คือ

“ถ้าถูกแบน ก็รู้สึกเศร้าใจฮะ มันกระทบเราโดยตรงด้วย เพราะว่าในฐานะศิลปินเราก็เชื่อในเรื่องการที่เรามีเสียง การที่เรามีตัวตน การที่เราทำงานเพื่อเป็นตัวแทนของเรา เรามีเรื่องอะไรที่อยากจะนำเสนอ ที่เราแคร์ เราก็ทำเกี่ยวกับมัน กลับกลายเป็นว่า สำหรับศิลปินบางคน กลับทำตรงนี้ไม่ได้

เราก็รู้สึกเสียใจกับผู้กำกับ แล้วก็กับคนในประเทศด้วย ที่เหมือนไม่ได้มีโอกาสได้ใช้วิจารณญาณของตัวเองในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานศิลปะ และเกี่ยวกับอะไรก็ได้ กลับกลายเป็นถูกยึดโอกาสตรงนั้นไป ด้วยคนไม่กี่คน

ผมก็ไม่ทราบนะครับว่า ทางผู้กำกับเค้าจะทำอย่างไรต่อ แต่เท่าที่รู้ก็คือ ข่าวที่ถูกแบนมันกระจายไปทั่วโลก แล้วเค้าก็ได้รับความสนใจ เพราะมีสื่อจากทั่วโลกมาสัมภาษณ์เค้า

ผมว่าการทำงานศิลปะ มันเหมือนเราคลอดลูกออกมาคนหนึ่ง เราไม่ค่อยมีอิทธิพลไปลิขิตชีวิตมันเท่าไหร่ มันก็จะไปของมันเอง ผมว่าผู้กำกับก็กำหนดไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้”

นอกจากรู้สึกเศร้าใจ ยังรู้สึกเสียดายด้วยว่า คนไทยอีกจำนวนไม่น้อย จะถูกตัดโอกาสที่จะได้ทำความรู้จัก วิลเลียม เชคสเปียร์

“เรื่องราวของเชคสเปียร์ ไม่ค่อยได้ถูกเผยแพร่ในประเทศไทยเท่าไหร่ แล้วนักประพันธ์คนนี้ เค้าก็มีสาระมากมายที่เราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้

ผมอยากให้หนัง สามารถได้ฉายในประเทศไทย เพื่อคนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทประพันธ์ของเชคสเปียร์ และมากไปกว่านั้น ผู้กำกับและทีมงานที่ทำหนังเรื่องนี้ เค้าทำด้วยใจ เพราะเค้าแคร์ เค้าถึงทำมันออกมา”

>> “แม็คเบ็ธ” สะท้อนความโลภของมนุษย์

และที่สำคัญประเด็นหลักที่ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการสื่อสารกับผู้ชม ช่างภาพหนุ่ม ผู้กำลังจะมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวภาพถ่ายของตัวเองครั้งแรกบนพื้นที่แกลเลอรี่ที่ตัวเองก่อตั้ง ในรอบ 2 ปี แต่ผลันตัวเองมาเป็น “ยามเฝ้าประตูนรก” ชั่วคราว บอกว่า

“เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เรื่อง แม็คเบ็ธ ของเชคสเปียร์ เกี่ยวข้องกับสันดานมนุษย์ที่มีแต่ความโลภ และบางทีก็มีความทะเยอทะยานมากเกินไป

จนในที่สุดไม่สามารถควบคุมมันได้ จนกลายว่าการที่เราจะโลภเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็ไม่พอซะที แม็คเบ็ธเป็นเรื่องที่เตือนสติ ให้คนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับความตะกละ ความโลภมากของคน เพื่อเราจะได้ไม่ไปทำตาม”

Text by  ฮักก้า

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net