ART EYE VIEW–“ดนตรีและศิลปะ” คือ 2 สิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตในทุกวันนี้ของ ลุลา – กันยารัตน์ ติยะพรไชย เจ้าหญิงบอสโนว่าแห่งวงการเพลงไทย
“สมมุติชีวิตในช่วงนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดนตรี ก็จะเกี่ยวข้องกับศิลปะ และลุลาเรียนจบทางด้านดีไซน์มาด้วย เป็นคนที่วาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว ชอบงานออกแบบ ชอบงานศิลปะ
โตขึ้นมา ด้วยศิลปะแทบจะทุกแขนงเลย ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลง เต้นบัลเล่ต์ เล่นเปียโน และเคยรียนศิลปะด้วย ทุกอย่างมันมาพร้อมกันหมด
แล้วที่ผ่านมา ดนตรีและศิลปะ มันเกื้อกัน มันทำให้เรารู้สึกว่า เราสามารถนำมันมาปรับใช้กับทุกๆอย่างในชีวิตที่เราทำ ชีวิตจึงไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เลย”
และ 2 ศิลปินระดับโลกที่ ลุลาชื่นชอบในชีวิตและผลงาน คือ วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh )และ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
“อย่าง แวนโก๊ะเป็นศิลปินที่น่าสงสาร ตอนมีชีวิตอยู่ มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกือบจะต้องเป็นบ้า ต้องตัดหูตัวเอง และเป็นชีวิตที่ จน ไม่มีเงิน ขายรูปไม่ได้ เพราะว่าภาพในแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ที่เขาวาด มันยังใหม่สำหรับคนในยุคนั้น แต่เวลาผ่านไป หลังจากที่เขาตายไปแล้ว ภาพของเขากับมีมูลค่าสูงมาก
ชีวิตของเขาทำให้เรารู้สึกว่า บางครั้งกับการที่ใครหลายๆคน พยายามที่จะคิดทำอะไรใหม่ๆ ถ้ามันยังไม่ใช่ช่วงเวลาของเขา ผลงานของเขาก็จะเป็นเพียงแค่ Canvasผืนนึงที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลย แต่พอมาถึงช่วงเวลาที่สังคมเปลี่ยนไป คนกลับมองเห็นคุณค่าในผลงานของเขามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่พอถึงเวลานั้น ตัวเขาได้ตายไปจากโลกนี้ไปแล้ว
ส่วน เลโอนาร์โด ดา วินชี คนที่วาดภาพโมนาลิซ่า ผลงานของเขาทำให้ลุลาเกิดความรู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้น ในเวลาที่เราได้ชมผลงานของเขาในแต่ละครั้ง ไม่เหมือนกันเลย ครั้งแรกเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร เวลาผ่านไป ไปดูอีกครั้งความรู้สึกเดิมมันเปลี่ยนไปแล้ว ภาพเขียนบางภาพ บอกอะไรได้เป็นหมื่นๆคำ ลุลาเลยรู้สึกว่าศิลปะมันพิเศษตรงนี้แหล่ะ ไม่มีอะไรตายตัว”
เพราะเป็นนักร้องขวัญใจวัยรุ่นและมีใจให้ศิลปะอยู่เป็นทุนเดิม เธอจึงคู่ควรแก่การถูกเชื้อเชิญให้มานั่งอยู่ท่ามกลางนิทรรศการ “You Are Not Alone: เพราะอยู่บนโลกเดียวกัน” นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ และการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้ติดเชื้อ ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติทั้งหมด 16 คน/กลุ่ม จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิ ARTAIDS
และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวงสนทนาหัวข้อ AIDS ไม่เคย Out ร่วมกับ โอม พันธุ์ไพโรจน์ ช่างภาพซึ่งมีผลงานภาพถ่ายเด็กที่ติดเชื่อ HIV จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการและ วาสนา เสถียรธรรมวิทย์ พยาบาลวิชาชีพคลินิคสุขภาพชายและโรคติดต่อทางเพศ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย
ซึ่งผลงานศิลปะในนิทรรศการที่ลุลาชื่นชอบก็คือผลงานของผู้ร่วมวงสนทนาเดียวกันนั่นเอง
“ภาพถ่ายผลงานของพี่โอม ซึ่งเป็นภาพของน้องๆที่ติดเชื้อ HIV มันบอกอะไรได้เยอะ ที่สำคัญพี่โอมสามารถจับสีหน้าของเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนมาก ยิ่งเราเห็นสีหน้าที่หดหู่ดูไม่ค่อยเป็นเด็กเท่าไหร่ ไม่มีความสดใสเหมือนกับเด็กที่เราเคยเห็นเคยสัมผัสทั่วไป ยิ่งทำให้เรามองเห็นอะไรได้หลายอย่างๆ
แต่ว่าในความหดหู่นั้น ก็มีความแข็งแกร่งปนอยู่ด้วย พวกขาดูเปราะบาง เพราะว่าพวกเขาเศร้า และเกิดมาพร้อมเชื้อ HIV แต่ว่ามันมีความแข็งแกร่งในจิตใจตรงที่ ณ ปัจจุบัน เด็กๆเหล่านี้ยอมรับกับความเป็นผู้ที่ติดเชื้อ HIV และอยู่ร่วมกับมันได้แล้ว ตรงข้ามกับเราซึ่งเป็นคนปกติ แต่เรายังยอมรับในอะไรที่แย่ๆของตัวเองไม่ได้เลย”
ลุลาเห็นว่าคนที่ In trend อย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อHIV ด้วย
“ลุลาได้รับความรู้จากพี่เป้า (วาสนา เสถียรธรรมวิทย์) ซึ่งดูแลน้องๆที่ติดเชื้อ HIV ทำให้ได้เข้าใจว่า การที่น้องๆเขาเกิดมาพร้อมเชื้อ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องกลายเป็นคนป่วยกระเสาะกระแสะ แล้วต้องตายเสมอไป
แต่ HIV มันคือเชื้อไวรัสอีกตัวหนึ่งที่มันอยู่ในร่างกายเรา แล้วมันอาจทำให้ร่างกายเราอ่อนแอ ซึ่งเราต้องดูแลตัวเองด้วยการกินยาไปเรื่อยๆ เหมือนกับโรคอื่นๆโรคหนึ่ง ที่เกิดมาพร้อมเรา
นิทรรศการนี้มันกระตุ้นให้คนได้คิดถึง HIV ที่มันหายไปจากความสนใจของผู้คนนานมากแล้ว เหมือนเช่นที่ครั้งหนึ่ง ดร.มีชัย วีระไวทยะ เคยพูดกระตุ้นให้คนได้ใส่ใจถึงเรื่องของการคุมกำเนิด แต่แล้วความสนใจที่คนมีต่อเรื่องเหล่านี้ ก็หายไปเหมือนลมพัด เราจะกลับมาสนใจมันเป็นพักๆแล้วลมก็พัดไปอีก วนอยู่อย่างนี้ เหมือนอีกหลายๆข่าวในสังคมบ้านเรา ตัวอย่างเช่น วันนี้ เราสนใจข่าวพี่เสกเสพยา สักพักเราก็ลืมไป
การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ HIV มันควรเรื่องต้องกระตุ้นให้ต่อเนื่อง เพื่อให้น้องๆและทุกๆคน ได้เข้าใจว่า หนึ่ง เราอย่าเลี่ยงที่จะติดมันนะ HIV และสองคือ ถ้าเราติด หรือเพื่อนเราติด ครอบครัวเราติด เราจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง แล้วเราจะมีวิธีป้องกัน ให้ตัวเราเองไม่ติดต่อจากพวกเขาได้อย่างไรบ้าง คือทั้งกระตุ้นให้เข้าใจว่า อย่าเสี่ยงที่จะติดมัน และหากถ้าคุณติดมันแล้ว มันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตคุณเลวร้าย
อย่างที่น้องๆที่มาร่วมฟังสนทนาบอกว่า ในโรงเรียนไม่มีใครพูดถึงเรื่องเหล่านี้ นอกจากพูดกันอยู่แค่ว่า เฮ้ย มีแฟนยัง ถ้ามีแฟนแล้วแปลว่าเรา In เราเข้าสังคมของเพื่อนได้ แต่ไม่มีใครพูดว่า ถ้านายติดเอดส์ นาย Out นะ ทั้งที่เรียนกันมาทุกปี
พอลุลามาตั้งคำถามกับน้องๆที่มานั่งฟังแล้วยิ่งมั่นใจ ว่ามันไม่ใช่หัวข้อที่เด็กวัยรุ่นเขาคุยกัน เขาก็จะคุยกันแค่ว่า มีแฟนกันยัง ได้กันยัง ซื้อไอโฟนยัง เล่นเฟสบุ๊คยัง เพราะฉนั้นวันนี้ที่ลุลามาพูด เป็นการมากระตุ้นนะคะว่า เรื่อง HIV เรื่อง เอดส์ มันไม่ Out นะคะ มัน In ทุกวัน แค่เราไม่พูดถึงมัน”
ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นคน Out trend ในสายตาของนักร้องเสียงสวยคนนี้ เราก็ไม่พึงสนใจแต่เรื่องของเทคโนโลยี จนหลงลืมเรื่องใกล้ตัว ที่ไม่ควรถูกมองข้าม
เริ่มต้นใหม่ด้วยการไปชมนิทรรศการ “You Are Not Alone: เพราะอยู่บนโลกเดียวกัน” เลยก็ได้ มีให้ชมตั้งแต่ วันนี้ – 20 พฤษภาคม พ.ศ.2555 ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน โทร. 0-2214-6630 – 8
Text by ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net