อะไรบ้างคือตัวอย่างของ รากเหง้า วิถีชีวิต จิตวิญญาณ ความเป็นไทยที่ควรภาคภูมิ ในสายตาของ 2 สาว นก – นิสา คงศรี และ ป๊อบ – อารียา สิริโสดา
คำตอบคงอยู่ใน รากเรา(Our Roots) ภาพยนตร์สารคดี ความยาว 84 นาที ผลผลิตจากการเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนไทยในภูมิภาคต่างๆ ของ เด็กบ้านนอก จากแม่กลอง และ เด็กเมืองนอก จากอเมริกา ผู้มีโอกาสพบเห็นความงดงามที่เรียบง่ายหลายสิ่งจนอยากบอกต่อ
ไม่ต่างจากครั้งที่ทั้งคู่เคยทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เด็กโต๋ และ ปักษ์ใต้บ้านเรา มาเสิร์ฟสายตาเรา
ทว่า รากเรา เป็นการหยิบประเด็นที่ใหญ่ขึ้นมานำเสนอ เพราะมันคือสิ่งที่พวกเธอเชื่อว่า ทำให้ก่อเกิดความเป็น เรา เช่นทุกวันนี้ หาก ไร้ราก ย่อมต้อง ไร้เรา
นก – นิสา เล่าว่า ความคิดที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกจุดประกายขึ้นระหว่างการเดินทาง ที่ จ.เชียงใหม่ หลังจากที่รับฟังเรื่องราวของ ฟ้อนเมือง จากการบอกเล่าของ ครูเอื้อง -วิบูลย์ลักษณ์ คุณยศยิ่ง ผู้ชำนาญการนาฏศิลป์ไทยพื้นเมือง ว่ามันคือศิลปะการแสดงเพื่อเป็นพุทธบูชาและลักษณะการเยื้องย่างของผู้ฟ้อนก็เปรียบเหมือนการเดินจงกรม ทำให้เธอจินตนาการเป็นภาพของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีศิลปะการแสดงของทั้ง 4 ภาค มารวมกัน
จนในที่สุด ศิลปะการแสดง ได้แก่ ซอล่องน่าน จ.น่าน,ฟ้อนเมือง จ.เชียงใหม่,โปงลาง จ.กาฬสินธุ์,เจรียงเบริน จ.สุรินทร์,หนังตะลุง จ.นครศรีธรรมราช,หนังใหญ่ วัดขนอน จ.ราชบุรี,และโขน กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร ถูกนำมาถ่ายทอดไว้ใน รากเรา เพื่อสะท้อนให้ผู้ชมได้สัมผัสกับ รากเหง้า วิถีชีวิต จิตวิญญาณ ของคนไทยในแต่ละภูมิภาค
ได้สัมผัสว่า… ภาคเหนือ ยังคงเป็น ดินแดนแห่งพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม ผ่านการแสดง ฟ้อนเมือง การฟ้อนของสาวชาวเหนือเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและ ซอล่องน่าน การร้องที่เล่าขานถึงนครแห่งวัฒนธรรม
ได้สัมผัสว่า… ภาคอีสาน ยังคงเป็น ดินแดนแห่งความสนุกสนาน รื่นเริง ท่ามกลางความแห้งแล้งของแผ่นดิน ผ่านการแสดง โปงลาง เสียงดนตรีธรรมชาติที่เกิดจากจินตนาการของมนุษย์และ เจรียงเบริน ศิลปะการร้องที่สอดแทรกคุณธรรม
ได้สัมผัสว่า… ภาคใต้ ยังคงเป็น ดินแดนอันลุ่มลึกด้วยมุมมองการใช้ชีวิตและภูมิปัญญา ผ่าน หนังตะลุง การแสดงที่สะท้อนแนวคิดและวิถีชีวิตชาวใต้
ได้สัมผัสว่า… ภาคกลาง ยังคงเป็น ดินแดนแห่งการหลอมรวมศิลปะและผู้คนให้กลายเป็นหนึ่งเดียว ผ่านการแสดงของ หนังใหญ่ รากแห่งศิลปะการแสดงไทยอันสืบเนื่องมาแต่โบราณ และ โขน ศิลปะประจำชาติที่หลอมรวมงานช่างสิบหมู่และศิลปะไทยทุกแขนงเข้าไว้ด้วยกัน
ป๊อบ – อารียา อดีตนางสาวไทยที่ผลันตัวเองมาเป็นผู้กำกับ กล่าวว่า การได้ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ตลอดจนการได้มีโอกาสเดินทางไปพบบรมครูทางศิลปะทั้งหลาย ทำให้ได้รับคำตอบในสิ่งที่ถูกถามมาตลอดว่าอะไรคือสิ่งที่บ่งบอกว่า นี่คือคนไทย
“ไปอยู่อเมริกา ไปอยู่ต่างประเทศ คนก็มักจะถามว่า What is thai people ? thai people คืออะไร … กีฬาสีเหรอ(หัวเราะ) ประเทศไทยมีอะไรบ้าง
รากของเรา มันเป็นอะไรที่สวยงามมาก อ่อนช้อย น่ารักมากๆ และวิธีการใช้ชีวิตของศิลปินที่อยู่ร่วมกับศิลปะเนี่ย มันคือแก่นมากๆ คนที่เป็นศิลปินแห่งชาติ เขาเป็นศิลปินกันจริงๆ แม้มีคนไปชมการแสดงแค่ 10 คน ก็ยินดีเล่นให้ชม”
และเมื่อถูกถามเป็นประจำว่า ทำหนังแบบนี้ไปทำไม ทำไมไม่ทำหนังเอาใจตลาดแบบที่ทำเงินได้เยอะๆเป็นร้อยล้าน เธอตอบว่า
“ต้องเปรียบว่าเราเป็นแม่ค้าสองคน ที่ชอบแกงแบบนี้ จะให้เราแข่งขันกับแบบฟาสต์ฟู้ด(หัวเราะ) ที่มี 800 สาขา เราทำไม่ได้”
fan mail(จดหมายจากผู้ที่คลั่งไคล้หรือนิยมชมชอบ) ของเรา ตั้งแต่ที่เราทำงานออกมาตั้งแต่ปี 2005 จนถึงตอนนี้ รวมถึง fan mail จาก facebook และคนที่อยากทำหนัง บางคนเขาจะเห็นพวกเราเป็นพวกอินดี้ๆ เซอร์ๆ ทำอะไรเพื่อจิตใจ
เราอยากบอกว่า เราไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นศิลปิน หรือผู้กำกับ เราสองคนเป็นนักเดินทาง แล้วในชีวิตก็ได้เจออะไรที่สวยๆงามๆ และอยากจะแชร์ต่อไป มันก็เหมือนเดิม”
โดยกำลังใจที่ทำให้ทั้งสองสาวสามารถทำภาพยนตร์เรื่องนี้จนสำเร็จลุล่วง พร้อมที่จะเข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์ลิโด วันที่ 16 มิถุนายน เป็นต้นไป ก่อนจะสัญจรไปตามวิทยานาฏศิลป์ ทั่วประเทศ นก – นิสา กล่าวว่า คือบรรดาครูอาจารย์และศิลปินแห่งชาติในแต่ละภูมิภาคที่พวกเธอผ่านเป็นไปพบและได้นำเรื่องราวและการแสดงของพวกท่านเหล่านั้นมานำเสนอผ่านภาพยนตร์
“หน้าของครูบาอาจารย์ทั้งหลายแหล่จะลอยอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ่ายเสร็จแล้วเราจะเก็บไว้ได้อย่างไร เราต้องเอาออกมาให้คนได้ดู ป๊อบพูดได้ดีว่า นิสา บ้านเรามันขาดรอยต่อ คนยุคนี้จะไม่อยู่แล้ว แล้วคนข้างหลังจะทำอย่างไร เราต้องบันทึกไว้เพื่อเป็นอะไรตรงกลาง เป็นเหมือนลูกโซ่ที่เชื่อมระหว่างลูกโซ่
และคนพวกนี้เขาคือศิลปินอย่างแท้จริง ไม่ใช่ศิลปินอย่างที่เราเห็นในทีวี เพราะทั้งชีวิตเขาคือศิลปิน ทำสิ่งเหล่านั้นโดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนก็ทำ แล้วก็รักศิลปะเหล่านั้นจริงๆ หมดแล้วหมดเลยนะ ถ้าเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้”
นกย้ำว่าศิลปะการแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเพียงกระจกสะท้อน แต่สิ่งซ่อนอยู่ในนั้นคือ ความเป็นรากของเรานั่นต่างหาก
“รากเราประกอบด้วยอะไร ก็ประกอบด้วย รากเหง้า วิถีชีวิต จิตวิญญาณ ซึ่ง รากเหง้า แน่นอนคือวัฒนธรรมของชาตินั่นเอง วิถีชีวิต คือ เราอยู่กับธรรมชาติ อยู่อย่างพอเพียงเพราะแผ่นดินเราอุดมสมบูรณ์ ไม่มีภัยพิบัติใดๆ และจิตวิญญาณ ที่ส่วนใหญ่เราเป็นพุทธะ ซึ่งถ้าจิตวิญญาณของเรามันยังเป็นพุทธะอยู่ประเทศเราจะงดงามมาก”
ก่อนที่เธอจะทิ้งท้ายเพื่อเรียกสติให้เราหันมาช่วยกันดูแลรากของเราว่า
“ทุกวันนี้รากเราเน่ามากแล้ว ถ้าเราปล่อยให้รากเน่าต่อไป รับรองว่าวันหนึ่งเราอาจจะถูกโค่นโดยไม่รู้ตัว”
Text by ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com