Text by ฮักก้า
ภาพทิวทัศน์อันสงบเงียบงดงามของ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เป็นความทรงจำของผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ จิ๊บ – สุพมิตรา วรพงศ์พิเชษฐ เมื่อหลายปีก่อน ครั้งเมื่ออาจารย์ได้นำเธอและเพื่อนนักศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ลงพื้นที่เพื่อทัศนศึกษาและวาดรูป
ณ วันนี้ได้กลายมาเป็นฉากของภาพยนตร์แนวทดลองและลึกลับ เรื่อง ปลาสนาการ (Disappear) ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงภาพความทรงจำที่เชื่อมต่อระหว่างความฝันและความรู้สึกสูญเสียคนรัก
เจ้าของผลงาน ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาด้านภาพยนตร์ ในระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เล่าย้อนถึงแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์ ขนาดความยาว 60 นาที เรื่องนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 โครงการสร้างภาพยนตร์ดีเด่น ของ โครงการสร้างภาพยนตร์(Film Pitching Project) ของ สำนักศิลปกรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ว่า
“เกาะสีชัง มันมีอะไรบางอย่างที่เราผูกพัน สมัยเรียนคณะศิลปกรรมฯ พวกเราชาวคณะจะไปที่นั่นกันทุกปี และ เป็นการไปที่มันไม่ใช่หน้าที่ จะเลือกวาดรูปมุมไหน หรือไม่วาดเลยก็ได้
จึงรู้สึกว่า มันเป็นที่ๆเราต้องใช้ความคิด และทำให้เราโตขึ้น เดิมทีเราวาดไม่เป็นหรอก รูปหินบางก้อน แต่พอขึ้นเรือกลับมา เราเริ่มใช้สีเป็น เพราะว่าเราได้ไปฝึกฝน ได้รู้จักเพื่อน และมีความทรงจำในเรื่องที่ดีๆเกิดขึ้นที่นั่น”
เล่าจบเธอก็ชี้ให้ดูภาพ เขาขาด สถานที่แห่งหนึ่งบนเกาะสีชัง ที่ถูกใช้เป็นฉากหลักของภาพยนตร์
“ความทรงจำหรืออะไรในเรื่องมันจะอยู่ตรงนี้ และ มันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ส่วนตัวของเรา ด้วยความที่มันเป็นหนังทดลอง ก็เลยทดลองแต่งเติมว่า มันมีพระเอก นางเอก แต่ก็ไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องของความรักปกติทั่วไป แม้ว่าโดยรูปลักษณ์ มันจะเป็นหนังรัก คนดูก็จะไม่รู้ และดูไม่ออก ว่าเขารักกันหรือว่าอย่างไร เพราะว่าเรื่องราวในหนังมันเป็นเรื่องซ้อนเรื่องอะไรอย่างนี้ค่ะ”
เรื่องย่อของภาพยนตร์ พระเอกมีชื่อว่า ทิม อาร์ตติสต์ วัย 30 กว่าๆ ที่รู้สึกว่าชีวิตกำลังตกอยู่ในภาวะที่สับสนวุ่นวาย ผืนผ้าใบที่เคยเต็มไปด้วยสีสันที่สาดใส่ ก็พลันว่างเปล่าไปด้วย เพราะเหมือนมีอะไรบางอย่างมาทำให้ไม่สามารถวาดรูป และเหมือนมีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไป
อยู่มาวันหนึ่งเมื่อทราบข่าวว่าคนรักเก่าชื่อ นก หายตัวไปที่เกาะสีชัง ข่าวคราวนี้ได้กลายเป็นคลื่นที่กระเพื่อมถึงจิตใจของอาร์ตติสต์หนุ่ม ให้รู้สึกว่า มีอะไรบางอย่างในใจของตัวเองที่หายไปด้วยเช่นกัน ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจออกตามหาเธอบนเกาะดังกล่าว
ปั๊บ – จิตตนาถ ลิ้มทองกุล CEO ในเครือบริษัท ASTVผู้จัดการ คือผู้ที่รับบทเป็นพระเอกของเรื่อง ดังนั้นพนักงานบางส่วนของ ASTVผู้จัดการ จึงคลายความสงสัยไปได้ว่า เหตุใดช่วงเวลาหนึ่ง CEO ของพวกเขาจึงดูผมเผ้ารุงรัง ที่แท้ก็เตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อบทบาทของอาร์ตติสต์ นั่นเอง
ส่วนผู้รับบทนางเอก คือ ปิยะมาศ หมื่นประเสริฐดี ขณะที่หญิงสาวอีกคนที่ปรากฏตัวในเรื่อง และมีชีวิตเข้ามาพัวพันกับเรื่องราวระหว่างพระเอกและนางเอก ผู้รับบทคือ อ่อน- สุกานดา ศรีประทุม บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Campus ด้วยเหตุที่ทั้งสามคนมีบุคลิกที่ดูลึกลับและดูแปลก ตรงตามจินตนาการของสาวจิ๊บมากที่สุด
“ภาพและเสียง มันจะเป็นตัวบอกว่า หนังเรื่องนี้มันดูลึกลับ และคนดูอาจรู้สึกว่าตัวละครทั้ง 3 ตัวในเรื่อง ไม่มีอยู่จริงก็ได้ เพราะมันอาจเป็นงานทดลองที่จิ๊บแค่เล่าเรื่องให้ฟังก็ได้”
เช่นนั้นในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งสำคัญที่จะตรึงคนดู ให้ดูไปจนจบ อาจไม่ใช่เรื่องราวที่จะดำเนินไปอย่างไร แต่อาจเป็นภาพและเสียงที่นำเสนอ ที่อยากทดลองว่า จะสร้างอารมณ์แบบไหนให้กับคนดู
“อย่างหนังเรื่องก่อน (Last Dream) เวลามีคนถามว่าอยากให้คนดูได้อะไร ถ้าคนดู ดูแล้วอยากดื่มกาแฟ หรืออยากจะสูบบุหรี่ตามพระเอก ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะหนังของจิ๊บไม่ได้เป็นหนังในแนวที่ว่า หนังเรื่องนี้สอนให้….. ไม่ใช่ทางนั้นค่ะ แต่ว่าคนดูจะจับอารมณ์บางอย่างในหนังได้
หนังเรื่องที่แล้วคนดูบางคน อาจจะดูแล้วรู้สึกเหงา สงสัยว่าพระเอกจะฆ่าตัวตายหรือเปล่า มาถึงหนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน แค่มีคนรู้สึกว่า ภาพมันสวย และดูแล้วรู้สึกพิศวงในใจ ว่าสถานที่ลึกลับหรือว่าภาพที่เห็นในหนัง มันคือที่ไหน จิ๊บก็รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขแล้ว
หลายภาพไม่มีใครเคยเห็นแน่นอน เพราะมันอยู่กลางเกาะ จิ๊บพยายามจะสรรหาที่ลึกลับ หรือที่สวยๆที่จิ๊บเคยไป แต่บางคนอาจไม่เคยไป มันเหมือนเป็นที่ในฝันของเรา แล้วเราก็อยากจะนำเสนอภาพอย่างนั้นออกมา”
นั่นคือ ภาพนิ่งๆของวิวสวยๆ ที่ถูกจำกัดอยู่เพียงสองสี
“มันเป็นหนังทดลอง จึงอยากจะทดลองอะไรบางอย่างในรูปแบบใหม่ เช่น ทดลองเล่าเรื่องด้วยภาพแบบนี้ บางทีอาจจะใช้ภาพนิ่งๆในการเล่า โอเค.. เป็นภาพวิวสวยๆแหล่ะ แต่เราจะถ่ายขาวดำ ขณะที่คนอื่นเขาอาจจะถ่ายสี ให้เห็นเป็นภาพน้ำทะเลสีสวยๆ
จิ๊บรู้สึกว่า ความงามที่เรารู้สึก มันคือขาวดำ แค่สองสีเราก็มองเห็นความสวยของมันแล้ว ขาวดำมันเน้นเรื่องแสงเงา ก็เหมือนรูปปั้น และเหมือนเวลาที่เรียนปั้น หรือเรียนดรออิ้ง อาจารย์จะให้หรี่ตาดูแสง เงา เข้ม กลาง อ่อน ในภาพถ่ายก็เหมือนกัน เราก็เลยรู้สึกว่า อยากจะหยิบอะไรในสิ่งที่เราเคยเรียนมา เช่นเรื่องของ องค์ประกอบศิลป์ มาเล่น มาทดลองกับหนัง”
ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเสร็จสมบูรณ์ จิ๊บและทีมงานต้องลงพื้นที่เกาะสีชังอีกหลายๆครั้ง และใช้งบประมาณส่วนตัวไปเกือบแสน โดยไม่ต้องรอให้โครงการไหนของหน่วยงานใดมาสนับสนุนเรื่องบประมาณ
แต่เพราะอยากทดลองนำเสนอบางอย่างในแบบที่ตัวเองชอบ และอยากชวนให้คนดูตั้งคำถามว่า ..แค่เพียงคนรักเก่าของพระเอกหายตัวไป หรือว่าเป็นความสุขของพระเอกที่หายไปกันแน่
เจ้าของผลงานภาพยนตร์หลายๆเรื่องที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคนดู และบางเรื่องเคยได้รับการการันตีจากบางสถาบันมาแล้ว จึงเดินหน้าสร้างภาพยนตร์มานำเสนอสู่สายตาคนดูอีกเรื่อง
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญยังคือ ความทรงจำเก่าเก็บส่วนตัว ที่เธอไม่อยากให้ ปลาสนาการ หรือ หายไป ดังชื่อภาพยนตร์
“ถ้าไม่ทำตอนนี้อีกหน่อยคนก็จะลืมสีชัง และอีกหน่อยพอจิ๊บเรียนจบ แล้วทำงาน ที่ลึกลับสวยๆในเกาะแบบนั้น และภาพที่เคยเห็นตอนเรียนปีหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมา 7 – 8 ปีแล้ว มันก็อาจจะหายไป
พอกลับไปอีกที จะถ่ายภาพอีกด้านหนึ่งของเขาขาด มันก็อาจกลายเป็นก่อสร้าง ไม่สวยงามเหมือนในอดีตอีกแล้ว ก็เหมือนความทรงจำ ถ้าเราไม่รักษาไว้ตอนนี้ สักวันหนึ่งมันก็ ปลาสนาการ”
**ภาพยนตร์เรื่อง ปลาสนาการ((Disappear) ฉายให้ชมครั้งแรก วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2554 เวลา 19.00 – 20.00 น. ณ Whitespace Gallery ชั้น 2 ลิโด้ สยามสแควร์
**และในวันเดียวกันเวลา 18.30 น. ชม นิทรรศการภาพถ่าย ภายใต้แนวคิด Disappear ของ 4 ศิลปินรับเชิญ ได้แก่ ธมน ศรีขาว,บุษรา บรรณเกียรติกุล,ฉัตรชัย แสงเพชร และพาณุวัฒน์ เงินพจน์ สอบถาม โทร.087 – 512 – 4575 และ 086 – 998 – 6590