ชีวิตในช่วงรีไทร์ของ อมเรศ ศิลาอ่อน คงมีเวลาเหลือพอที่จะย้อนรำลึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต แล้วร้อยเรียงถ่ายทอดเป็นบันทึกในชื่อเรื่องว่า “ทำดีแล้ว…อย่าหวั่นไหว” ชีวิตของคนที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 4 สมัย ทั้งๆ ที่ไม่เคยเล่นการเมือง รวมถึงเป็นผู้บริหารระดับสูงของปูนซิเมนต์ไทยมาแล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นมากกว่าบันทึกที่จะเก็บเอาไว้อ่านคนเดียว
สำนักพิมพ์นิตยสารแพรว ในเครือ อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง รับหน้าที่พิมพ์และจัดจำหน่ายให้แก่หนังสือเล่มนี้ โดยในวันเปิดตัว “ทำดีแล้ว…อย่าหวั่นไหว” ณ เอสแอนด์พี ฮอลล์ สุขุมวิท26 โดยมีเหล่าเพื่อนฝูงและคนรู้จักมาให้กำลังใจ อาทิ ดร. จุรี วิจิตรวาทการ, สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ,ม.ล. สมพงษ์วดี วิกิตเศรษฐ์ และ ภัทรา ศิลาอ่อน ร่วมเสวนา นอกจากนี้ ยังมี อานันท์ ปันยารชุน, นพ. อุรพล-วันเพ็ญ บุญประกอบ
อมเรศ เล่าถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า เดิมเขียนบันทึกไว้ให้บุคคลในครอบครัวและคนใกล้ชิดไว้อ่านเท่านั้น แต่มาเปลี่ยนใจอยากให้คนในสังคมได้รับรู้บ้าง อย่างน้อยก็เป็นการบันทึกถึงประวัติศาสตร์บ้านเมืองไทยในแง่มุมบางอย่างไว้ โดยเป็นการบอกเล่าในสไตล์ของ “คุณปู่” ที่เล่าเรื่องเก่าๆ ให้หลานๆ ฟัง ด้วยความเอ็นดู จริงใจ และตรงไปตรงมา
งานนี้เหล่าคนรู้จักที่มาพูดคุยนานาทัศนะถึงอมเรศเอาไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีต รมต.คลัง และเคยเป็นผู้ร่วมงานสมัยที่ บริษัท สยามคราฟท์และที่ ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) กล่าวว่า “จากการที่ได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ท่านเป็นคนมีความรอบคอบ สุขุม มีความสามารถ ตั้งใจ มีความซื่อสัตย์สุจริต และตรงไปตรงมา”
ฟุ้ง ลักษณโกเศศ ผู้เคยร่วมงานที่บริษัทค้าวัสดุก่อสร้าง เล่าว่า “ผมรู้จักคุณอมเรศตั้งแต่สมัยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ผมเป็นลูกน้องได้ร่วมงานกับคุณอมเรศเกือบ 20 ปี คุณอมเรศตอนหนุ่มๆใจร้อนมาก แต่ท่านเป็นคนเปิดเผย รักลูกน้อง เป็นเจ้านายที่น่ารักมาก ไม่ถือตัว บอกตรงๆ ผมยังไม่เชื่อว่าท่านไปศึกษาธรรมะ…. ผมมีเจ้านายหลายคน แต่ไม่ประทับใจเท่าคุณอมเรศ ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนคนรุ่นหลัง”
อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ ผู้เคยร่วมงานที่บริษัทสยามคราฟท์ เผยว่า “ผมมีโอกาสร่วมงานกับท่านครั้งแรกในปี พ.ศ. 2520 ท่านเป็นนักอ่าน นักคิด จึงทำให้มีแนวคิดในการมองประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวางและกว้างไกล ทำให้คนที่ทำงานอยู่ค่อนข้างยากลำบากในการ ‘ตามให้ทัน’ ซึ่งผมจะไม่พยายามเลียนแบบการทำงานของท่าน แต่จะเรียนรู้แล้วนำมาคิดปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเรา… ผมโชคดีมากที่ได้เรียนรู้หลายสิ่งจากท่าน และยังสามารถใช้ประโยชน์ได้จนทุกวันนี้”
บทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ คงเป็นเรื่องที่อมเรศต้องการบอกทุกคนเอาไว้ว่า “ สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของปู่คือ การได้เรียนธรรมะขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อหลานๆ ได้อ่านบันทึกฉบับนี้จบแล้ว ปู่หวังว่าเรื่องราวของปู่ จะเป็นบทเรียนในการใช้ชีวิตแก่หลานๆ ต่อไปในภายภาคหน้า”