>>หน้าหนาวแบบนี้ ใครๆ ก็อยากไปสัมผัสความหนาวเย็นของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีทั้งความเจริญของเมือง และความสวยงามของธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งที่มีโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอยู่มากมาย ดังนั้นปลายปีนี้ใครที่กำลังวางแผนจะขึ้นเหนือและมองหาที่เที่ยว ที่พักผ่อนแบบสงบๆ สไตล์ธรรมชาติ และอยากสัมผัสถึงการทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ ลองแวะเวียนไปท่องเที่ยวตามรอยที่โครงการหลวงเหล่านี้ได้
1.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
สถานที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก บ้านปางผึ้ง หมู่ 8 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 50130
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-5331-8316
หมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมรายได้น้อยความเป็นอยู่ยากลำบาก จวบจนกระทั่ง พ.ศ. 2524 สายพระเนตรที่ทรงห่วงใยราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดและกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง การรับรู้รับฟังตลอดจนสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก มีพื้นที่รับผิดชอบ 34.65 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 21,656 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป๊อก แม่ลาย บ้านแม่กำปอง และบ้านธารทอง ประชากรเป็นคนเมืองทั้งสิ้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ มีที่ราบเชิงเขาบางส่วน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์
กิจกรรมการท่องเที่ยว
เป็นแหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีของโครงการหลวง ล้อมรอบด้วยธรรมชาติป่าไม้ และลำน้ำจากน้ำตก มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการหลวงแห่งแรก และชุมชนคนเมืองมีชื่อเสียงในด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน “บ้านแม่กำปอง” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากว่าบริการที่พักแบบ Home Stay ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
– มีมุมนั่งเล่นพักผ่อนริมสายธารน้ำ กิจกรรมให้อาหารปลา
– ชมสวนกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ ช่วงเดือนธันวาคม จะเห็นเมล็ดกาแฟสุกสีแดงสด พร้อมเก็บเกี่ยวส่งไปยังโรงงานแปรรูปในศูนย์ ผ่านขั้นตอนกะเทาะเปลือก ตากแห้ง และคั่ว ให้เป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ
– โรงเรือนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสหลากสีให้ชื่นชม
– นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมธรรมชาติตามเส้นทางลัดเลาะไปตามแนวเขา
2.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ
สถานที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ บ้านขุนแปะ หมู่ 2 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-5321-4417 หรือ 08-1026-2071
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2527 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อช่วยเหลือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง ให้ได้รับการดูแลในด้านสาธารณูปโภคที่เพียงพอ ลดปัญหาการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย และขจัดปัญหาการปลูกฝิ่นโดยสร้างอาชีพหลักทดแทน พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้มูลนิธิโครงการหลวงโดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เสด็จสำรวจพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านจำนวน 14 หมู่บ้าน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน
กิจกรรมการท่องเที่ยว
– ชมแปลงส่งเสริมผลผลิต เช่น พลับ อะโวคาโด ดอกไฮเดรนเยีย สมุนไพร และพืชไร่
– ชมนาขั้นบันไดของชาวกะเหรี่ยง เป็นที่กว้างลดหลั่นตามความสูง
– การนวดสมุนไพรของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง
– น้ำตกขุนแปะ เป็นที่พักผ่อนเล่นน้ำ มีธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จึงได้รับฉายาว่า น้ำตกแห่งแสงสว่าง
– น้ำตกห้วยขี้เหล็ก อยู่ในป่าลึก เป็นแหล่งอาศัยของตัวซาลามานเดอร์ และเขียดแลวที่หายาก
– ถ้ำป่ากล้วย ตั้งอยู่เหนือน้ำตกขุนแปะ บริเวณรอบๆ เป็นป่าโปร่ง มีทิวทัศน์สวยงาม
– เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เส้นทางโครงการหลวงขุนแปะ – ผาขาว และเส้นทางโครงการหลวงขุนแปะ – ดอยอมติง นำเที่ยวชมโดยไกด์ท้องถิ่นเป็นชาวบ้านที่มีความชำนาญเส้นทาง
– ผาขาว ผาแตก เป็นผาจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม
3. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง
สถานที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางบ้านขุนวาง เลขที่ 112 หมู่ที่ 12 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-5331-8333 หรือ 08-8413-7243
เมื่อปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวางเป็นครั้งแรก ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณนี้ยังคงมีการปลูกพืชเสพติดเช่นฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีรายได้ทัดเทียมหรือดีกว่าปลูกฝิ่น รับสั่งให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันพิจารณาปรับปรุงและพัฒนา ในครั้งนั้นเอกอัครราชทูตอเมริกาได้รับสนองนโยบายโดยให้การสนับสนุนงบประมาณสมทบ สภาพพื้นที่ของโครงการส่วนใหญ่ล้อมด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน มีแอ่งที่ราบระหว่างภูเขาเพียงเล็กน้อย โดยมีแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านคือ แม่น้ำขุนวาง ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง รวมทั้งสิ้น 7 หมู่บ้าน ขึ้นอยู่กับตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมการท่องเที่ยว
ชมและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง 2 ชนเผ่าม้งและปกาเกอะญอ รวมทั้งอุดหนุนสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ชม ชิม และเลือกซื้อผลผลิตสดๆ จากแปลงของเกษตรกร
– เส้นทางเดินชมธรรมชาติดอยผาแง่ม น้ำตกตะเลโพ๊ะ ศึกษาพรรณไม้ป่า และมีจุดชมวิวภูเขาที่สวยงาม เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ มีดอกกุหลาบพันปีบานที่ยอดดอยผาแง่ม
– นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมภายในศูนย์และรอบๆ ชุมชนได้
ชมโรงเรือนปลูกดอกเบญจมาศหลากสีสัน ทั้งแบบดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกลิเซียทัส คาร์เนชั่น ลิลลี่
– ชมแปลงปลูกชาจีนเบอร์ 12 พันธุ์หยวนจืออู่หลง ดูขั้นตอนการผลิตชาพร้อมชิมชา (ขั้นตอนการผลิตชาอยู่ในโรงผลิตชาซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนแม่วาก)
– ชมแปลงไม้ผล เช่น องุ่นไร้เมล็ด กีวีฟรูต พีช พลับ เครปกูสเบอร์รี เสาวรสหวาน สตรอเบอร์รี และบ๊วย
– ชมแปลงปลูกผักเมืองหนาว เช่น มะเขือเทศดอยคำ บร็อกโคโลนี ถั่วหวาน ผักกาดหวาน บร็อกโคลี หอมญี่ปุ่น ฯลฯ
– ชมโรงเรือนสาธิตการปลูกวานิลลา ออกฝักพร้อมเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม โรงเรือนเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดโพโตเบลโล เห็ดแชมปิญอง
4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่
สถานที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ บ้านแม่สาใหม่ หมู่ 6 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-5331-3300 หรือ 08-9851-9922
ปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเสด็จไร่ฝิ่นที่กำลังออกดอกบาน และเสด็จพระราชดำเนินถึงหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งแม่สาใหม่ จากนั้นปี พ.ศ. 2517 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ได้เริ่มต้นดำเนินงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) ดำเนินการทดลองวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเมืองหนาวขึ้นในปี พ.ศ. 2525 จึงก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ มีจุดประสงค์หลักเพื่อนำความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาสู่ชุมชนชาวเขา สร้างอาชีพและรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ลดการบุกรุกทำลายป่าและการปลูกฝิ่น
กิจกรรมการท่องเที่ยว
– ชมแปลงสาธิตการปลูกผลผลิตในโรงเรือนตามฤดูกาล เช่น พริกหวานสีแดง สีเหลือง มะเขือเทศโครงการหลวง มะเดื่อฝรั่ง และองุ่นไร้เมล็ด
– พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชนเผ่าม้งที่บ้านแม่สาใหม่
– เส้นทางเดินชมธรรมชาติป่าดงเซ้ง วันที่ 25 ธันวาคม ทุกปีจะมีพิธีไหว้ป่าดงเซ้ง บริเวณป่าดงเซ้งมีต้นไม้ สมุนไพรหายากหลายชนิด สามารถเรียนรู้พรรณไม้จากไกด์ชุมชนได้
– ประเพณีปีใหม่ม้ง ประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ชาวบ้านจะหยุดทำงานทุกอย่าง แต่ละคนจะแต่งตัวชุดประจำเผ่าและสวมเครื่องประดับสวยงาม มีกิจกรรมการละเล่น เช่น โยนลูกช่วง เล่นลูกข่าง ล้อเลื่อนไม้ เป็นงานรื่นเริงสนุกสนาน
– เส้นทางเดินชมธรรมชาติดอยผากลอง ระยะทาง 3 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวและศึกษาพรรณไม้ป่า เช่น กล้วยไม้ป่า ดอกลิลลี่ป่า (เด็งช้างเผือก) พืชสมุนไพร การดูนก นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางเชื่อมไปยังบ้านม้งดอยปุย
5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก
สถานที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก บ้านแม่สะป๊อก หมู่ 5 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ 50360
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-5331-8322
บ้านแม่สะป๊อกเป็นชุมชนของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง แต่เดิมชาวเขาเหล่านี้ทำไร่เลื่อนลอย มีการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนหาของป่าเพื่อยังชีพ ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก มูลนิธิโครงการหลวงจึงเข้าไปดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจของชาวไทยภูเขาด้านการเกษตรในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดตั้งเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก”
กิจกรรมการท่องเที่ยว
– น้ำตกแม่สะป๊อกตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์เดินเท้าระยะทาง 200 เมตร ก็จะเจอน้ำตกจากหน้าผาสูง มีลานหิน ธารน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้ และยังเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติพรรณไม้ป่า ดูนก
– เดินชมแปลงผลผลิตตามฤดูกาล เช่น เสาวรสหวาน ซูกินี่ ผักกาดหวาน โอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง มะระหยก
– เส้นทางเดินชมธรรมชาติป่าเขา พรรณไม้บริเวณน้ำตกแม่สะป๊อกและน้ำตกใกล้เคียง เช่น น้ำตกแม่วาง น้ำตกผาหม่นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ 3 ชั้นสูง 30 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี สามารถลงเล่นน้ำได้
6. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว
สถานที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว บ้านใหม่สามัคคี หมู่ 10 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-5304-5600 หรือ 08-6181-6675
ปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรชาวเขาในพื้นที่ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและยากจนของชาวเขา พระองค์ทรงช่วยเหลือและรับหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ในโครงการหลวง ต่อมามูลนิธิโครงการหลวงจึงจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวขึ้น ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวมีหมู่บ้านในความรับผิดชอบคือ หมู่บ้านหนองเขียว หมู่บ้านหนองวัวแดง และหมู่บ้านใหม่สามัคคี ในท้องที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมการท่องเที่ยว
– ชมแปลงสาธิตภายในศูนย์ฯ เช่น อะโวคาโดพันธุ์ต่างๆ มะม่วง น้อยหน่า ฯลฯ แปลงผัก และงานส่งเสริมพืชไร่ เช่น งาดำ ข้าวไร่ ข้าวฟ่างกระเจี๊ยบ ฟักทองญี่ปุ่น ฯลฯ
– ชมวิถีชีวิตของชาวเขา 6 เผ่า คือ ลั๊วะ มูเซอ คะฉิ่น (บ้านหนองเขียว) ลีซอ (บ้านรินหลวง) อาข่า (บ้านใหม่สามัคคี) จีนยูนนาน (บ้านอรุโณทัย)
– ศูนย์วัฒนธรรมบ้านตัวอย่างของชาวคะฉิ่น เป็นแหล่งรวมกิจกรรม ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าประจำเผ่า
– น้ำตกศรีสังวาลย์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง เป็นน้ำตกหินปูน อยู่ระหว่างถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณ กม.2 4
โป่งน้ำร้อน โป่งอ่าง เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติอยู่ระหว่างถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณหลัก กม.22
7.สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานที่ตั้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านคุ้ม หมู่ที่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อยู่บนดอยอ่างขาง
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-5396-9476-78 ต่อ 114
สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศได้ จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชัน จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”
กิจกรรมท่องเที่ยว
– ขี่ฬ่อชมธรรมชาติ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีการจัดกลุ่มชาวบ้านนำฬ่อมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ขี่ชมสถานที่บริเวณแปลงต่างๆ ผู้สนใจสามารถติดต่อเช่าขี่ฬ่อได้ที่สถานีฯ อ่างขาง (ใช้เวลา 45 นาที ต่อ 1 รอบ)
– เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นเส้นทางเดินในแปลงปลูกป่าของสถานีฯ อ่างขางซึ่งเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน นักท่องเที่ยวสนใจเดินในเส้นทางของสถานีฯ อ่างขาง สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อมูลได้ (ระยะทางโดยเฉลี่ย 45 นาที – 1.30 ชม.)
– ขี่จักรยานชมธรรมชาติ ินักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นภายในสถานีฯ หรือเช่าจักรยานที่สโมสรอ่างขางปั่นชมจุดต่างๆ ภายในสถานีฯ อ่างขาง ช่วยเพิ่มความสนุกสนานในการเที่ยวชม
– ดูนก ดอยอ่างขางเป็นสถานที่ดูนกที่มีนกหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่จะมีนกอพยพหาดูยากมายังบริเวณสถานีฯ อ่างขาง รวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง :: Text by FLASH