Celeb Online

สำรวจแฟชั่น แวะเสพศิลปะ ที่ Antwerp


>>แอนต์เวิร์ป (Antwerp) เมืองเล็กๆ ในเบลเยียม ที่เปรี้ยวแก่นและเก๋เท่จนทำเอาใครที่มาเยือนครั้งแรกเป็นอันต้องพร่ำเพ้อพรรณนาไปหลายวัน ถึงความงดงามของสถาปัตยกรรม รวมถึงแฟชั่น โดยเฉพาะแบรนด์ Dries Van Noten ที่ไปสร้างชื่อในเวทีแฟชั่นวีกระดับโลกมากมาย หรือผลงานศิลปะของ “ปีเตอร์ พอล รูเบนส์” จิตรกรอันเลื่องชื่อที่ใครได้สัมผัสผลงานของเขาแล้วเป็นอันต้องเคลิบเคลิ้มราวกับโดนสะกดจิตเช่นนั้น

เมื่อเอ่ยถึงประเทศเบลเยียมแล้ว อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ในการเดินทางไปเยือน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ เมื่อเทียบกับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ที่ห่างกัน 294 กิโลเมตร), กรุงโรม ประเทศอิตาลี, กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ที่ห่างกัน 196 กิโลเมตร) หรือข้ามฟากไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (ที่ห่างกัน 350 กิโลเมตร) เป็นต้น แต่สำหรับนักท่องเที่ยวตัวยงที่ทำการบ้านมาดี ก็จะทราบกันดีว่าประเทศเบลเยียมนี้มีดีไม่ใช่เล่นเลยทีเดียว เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่ควรไปเยือนเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะวางแผนเดินทางไปยังเมืองและประเทศอื่นๆ ในยุโรป

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าประเทศเล็กๆ ในยุโรปอย่างเบลเยียม จะเต็มไปด้วยความน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกว่า 35 แห่ง รวมทั้งเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์กว่า 200 ที่ด้วยกัน หรือมีตัวอาคารสไตล์อาร์ตนูโวในบรัสเซลส์ถึง 300 แห่ง เบียร์หลากสไตล์ที่มีกว่า 650 ยี่ห้อ และร้านช็อกโกแลตที่มีอยู่มากกว่า 2,000 ร้าน



ด้วยความที่เบลเยียมเป็นศูนย์กลางของยุโรป จึงเป็นที่ตั้งสำนักงานองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้งคณะกรรมาธิการยุโป (European Commission) คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) สภาแห่งชาติยุโรป (European Parliament) รวมถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ทำให้บรัสเซลส์สะท้อนภาพลักษณ์แห่งการเจรจาและการประชุมระดับนานาชาติ

สำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจไทย การเดินทางมายังประเทศเบลเยียมไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะสายการบินไทย (Thai Airways) บินตรงสู่เมืองบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียมสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiairways.com) ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 777 ประกอบด้วยที่นั่งชั้นธุรกิจ จำนวน 42 ที่นั่ง และชั้นประหยัดจำนวน 306 ที่นั่ง ซึ่งติดตั้งจอทีวีส่วนตัวพร้อมระบบสาระบันเทิงภายในเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดในทุกที่นั่งทุกชั้นโดยสาร เรียกว่าสิบกว่าชั่วโมงผ่านไปเร็วเหมือนฝันก็เดินทางมาถึงกรุงบรัสเซลส์เมืองหลวงแล้ว

แต่จุดมุ่งหมายแรกในการมาเยือนเบลเยียมครั้งนี้หลังจากที่ลงเครื่องในกรุงบรัสเซลส์อยู่ที่เมืองอันโด่งดังในด้านศิลปะและแฟชั่น อย่าง แอนต์เวิร์ป นั่นเอง แอนต์เวิร์ป (Antwerp) ในภาษาอังกฤษ, อันต์แวร์เปน (Antwerpen) ในภาษาดัตช์ หรือ อองแวร์ส (Anvers) ในภาษาฝรั่งเศส เป็นเมืองในประเทศเบลเยียมและเป็นเมืองหลวงของจังหวัดแอนต์เวิร์ปในฟลานเดอส์ 1 ใน 3 บริเวณของเบลเยียม เป็นเมืองที่มีความสำคัญมานานในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำของทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยเฉพาะก่อนการปล้นเมืองแอนต์เวิร์ป (Sack of Antwerp) จากการลุกฮือของชาวดัตช์ (Dutch Revolt) ระหว่างสงคราม 80 ปี



เมืองแอนต์เวิร์ปตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำสเกลต์ (Scheldt) ที่เชื่อมกับทะเลเหนือที่ปากน้ำเวสเทิร์นสเกลต์ (Western Scheldt) โดยชื่อ “แอนต์เวิร์ป” เพี้ยนมาจากคำว่า “อันต์แวร์เปน” (Antwerpen) ที่มาจากคำว่า “Hand Werpen” ซึ่งแปลว่า “โยนมือลงแม่น้ำ” ที่มาจากปรัมปราพื้นบ้านที่เล่าถึงยักษ์ตนหนึ่งชื่อ “ดรูโอน อันติกูน” (Druon Antigoon) อาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำสเกลต์ คอยเก็บส่วยหรือค่าผ่านทางจากนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านแม่น้ำสเกลต์ หากนักเดินเรือคนใดไม่ยอมจ่ายค่าผ่านทางก็จะถูกจับตัดมือและโยนมือทิ้งแม่น้ำ

ต่อมา “ซิลวิอุส บราโบ” (Silvius Brabo) ทหารโรมันที่ไม่พอใจกับการกระทำของดรูโอน อันติกูน จึงวางแผนฆ่ายักษ์และตัดมือของยักษ์ทิ้งลงในแม่น้ำ เหมือนกับที่เคยทำกับผู้อื่น ปัจจุบันสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับปรัมปราเรื่องนี้ยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั้งช็อกโกแลตรูปมือ หรือประติมากรรม

สำหรับชื่อของ “ปีเตอร์ พอล รูเบนส์” (Peter Paul Rebens) เป็นจิตรกรผู้มีอิทธิพลเป็นอันมากทางตอนเหนือของยุโรปที่ไม่กล่าวถึงเป็นไม่ได้ เพราะเขาเป็นจิตรกรบุคคลสำคัญในยุคบาโร้ค (Baroque ช่วงต้นศตวรรษที่ 17) ของเฟลมมิช (ชนชาติฮอลแลนด์-เบลเยียม ซึ่งในสมัยนั้นทั้งสองชาตินี้ยังรวมเป็นประเทศเดียวกัน) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างลักษณะการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ของยุค และการใช้จักษุศิลป์ในการสื่อความหมายของงานจิตรกรรม



รูเบนส์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะในการเขียนร่างคนที่งดงามและเครื่องตกแต่งร่างกายที่ทำจากผ้าเนื้อดีมีสีสันอันพรายตา และเป็นภาพที่เขียนจากหัวเรื่องที่มาจากทั้งคริสตศาสนาและวัฒนธรรมคลาสสิก การศึกษางานคลาสสิกของกรีกและโรมันเป็นภาษาละตินของรูเบนส์ในระยะแรกมามีอิทธิพลต่ออาชีพการเป็นจิตรกร ที่ทำให้เป็นจิตรกรที่แตกต่างจากจิตรกรผู้อื่นในสมัยเดียวกัน

เมื่อเริ่มอาชีพการเป็นจิตรกรใหม่ๆ รูเบนส์เข้าศึกษากับจิตรกรเฟลมมิช เช่น ออตโต ฟาน เฟน แต่อิทธิพลต่องานของรูเบนส์มาจากช่วงเวลาที่ไปพำนักอยู่อิตาลี เมื่อไปศึกษาประติมากรรมคลาสสิกและงานของไมเคิล แอนเจโล, ราฟาเอล, คาราวัจโจ, ทิเชียน และเพาโลเวโรเนเซ

การสะสมงานศิลปะและอิทธิพลของศิลปินร่วมสมัยผู้ที่บางคนกลายมาเป็นเพื่อนตลอดชีพของรูเบนส์ มี อิทธิพลต่องานเขียนของรูเบนส์จนตลอดชีวิต เมื่อได้รับจ้างให้เขียน “ภาพชุดพระราชินีมารีเดอเมดิชิ” รูเบนส์ก็อาจจะเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญที่สุดทางตอนเหนือของยุโรป และเป็นผู้ที่สร้างความประทับใจในงานเขียนชิ้นใหญ่ๆ ทางด้านศาสนาที่ได้รับการจ้างจากสภาและวัดต่างๆ ในบริเวณนั้น แต่งาน “ภาพชุดพระราชินีมารีเดอเมดิชิ” ก็เป็นงานที่รูเบนส์ต้องการจะทำ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เขียนงานที่ไม่เกี่ยวกับหัวเรื่องทางศาสนา



นอกจากนั้น งานจ้างครั้งนี้ของพระราชินีมารีเดอเมดิชิก็ยังสร้างประโยชน์ให้แก่อาชีพของรูเบนส์จนตลอดชีวิต ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างชื่อเสียงและเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการสร้างลักษณะการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่มามีอิทธิพลต่องานเขียนที่สร้างกันต่อมาทั้งด้านลักษณะการเขียนและหัวเรื่องที่เขียน

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้น เมืองแอนต์เวิร์ปถึงแม้จะไม่ใหญ่โตและมีพลเมืองเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่แอนต์เวิร์ปยังโดดเด่นในเรื่องศิลปะแฟชั่นอีกด้วย และมีมหาวิทยาลัยสอนเรื่องแฟชั่นที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของโลกที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อยู่ที่นี่ นั่นคือ เดอะ รอยัล อคาเดมี ออฟ ไฟน์ อาร์ตส์ (The Royal Academy of Fine Arts)

มหาวิทยาลัยไฟน์อาร์ตแห่งนี้ผลิตดีไซเนอร์ชื่อดังมาแล้วหลายคน โดยเฉพาะกลุ่ม “The Antwerp Six” แฟชั่นดีไซเนอร์เปรี้ยวจี๊ดสุดแนวแถวหน้าของประเทศ 6 คน ที่ประกอบด้วย Ann Demeulemeester, Dries Van Noten, Dirk Bikkembergs, Walter Van Beirendonck, Dirk Van Saene และ Marina Yee ซึ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ระหว่างปี 1980-1981 และไปสร้างปรากฏการณ์เปิดโลกแฟชั่นให้ทั่วโลกรู้จักดีไซเนอร์หัวขบถในงานลอนดอนแฟชั่นวีกราวปี 1986 จนกลายเป็นดีไซเนอร์ดังที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังคงปักหลักอยู่ที่แอนต์เวิร์ปบ้านเกิดเช่นเดิม สไตล์แฟชั่นของพวกเขาโดดเด่นด้วยแบบแต่ล้ำความสร้างสรรค์ด้วยการจับวางผ้า แหกกฎการตัดเสื้อทั่วไป มีความเปรี้ยวโก้และเรียบหรูไม่เหมือนสไตล์ฝรั่งเศส



สำหรับคอแฟชั่นเมื่อเดินทางมาถึงแอนต์เวิร์ป ก็ไม่ควรพลาดมาเดินเฉิดฉายสแนปภาพไปอวดใคร และชอปปิ้งบนถนนแฟชั่น “กลูสเตอร์สตราท” (Kloosterstraat) เพราะที่ถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยร้านรวงแฟชั่นมากมาย ทั้งแฟลกชิปสโตร์ของ Dries Van Noten, Seven Rooms ชอปขนาดใหญ่ โล่ง กว้าง สีสันจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปตามซีซันต่างๆ ภายในตกแต่งราวกับแกลเลอรีงานศิลปะ มีเสื้อผ้าไอเท็มฮอตจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงเครื่องประดับและเฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย

หรือถ้าคลั่งรองเท้า ก็ไม่ควรพลาด Coccodrillo ร้านรองเท้าสุดโปรดของใครหลายคน ที่มีรุ่นสวยๆ จากแบรนด์ดังทั้งจากเบลเยียมเองและประเทศอื่นๆ อาทิ Ann Demeulemeester, Balenciaga, Saint Laurent, Dries Van Noten, Maison Martin Margiela, Prada และ Lanvin เป็นต้น

ถ้ายังไม่จุใจก็แนะนำให้แวะร้าน Atelier D’Anvers ที่คัดไอเท็มเด็ดๆ มาจากแบรนด์เล็กๆ แต่คุณภาพเยี่ยมดีไซน์สวยไม่กี่แบรนด์ เช่น Maliparmi จากอิตาลี, Stella Forest และ Les Petites จากฝรั่งเศส เป็นเสื้อผ้าแนวผู้หญิงที่ดูเรียบโก้ แถมยังมีเครื่องประดับของ Atelier Salence ที่ออกแบบและผลิตโดยช่างทำเครื่องประดับเพชรพลอยชาวเมืองแอนต์เวิร์ปแท้ๆ อีกด้วย


และถ้ายังไม่อิ่มกับแฟชั่นแล้วจะขออินกับผลงานและแรงบันดาลใจแฟชั่นมากๆ จากตัวแม่แห่งวงการ ก็ควรแวะไปพิพิธภัณฑ์แฟชั่นประจำเมือง “ModeMuseum Provincie Antwerpen” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โมมู่” (MoMu) ซึ่งอยู่ในตึกเดียวกับ เดอะ รอยัล อคาเดมี ออฟ ไฟน์ อาร์ตส์ ถนนเนชันแนลสตราท (Nationalestraat) ภายในพิพิธภัณฑ์มีชิ้นงานเก็บอยู่กว่า 25,000 ชิ้น ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ แต่จะไม่ได้ขนทุกชิ้นออกมาโชว์ถาวร จะเลือกหยิบจับผลงานออกมาแสดงให้เข้ากับหัวข้อต่างๆ แต่ละช่วงเวลาเท่านั้น และหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่นจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อให้ผู้มาเยือนได้เสพแฟชั่นศิลป์อย่างไม่รู้เบื่อ

แอนต์เวิร์ป ยังคงเป็นเมืองที่ถูกจับตามองอย่างไม่กะพริบจากเหล่าจิตรกรหน้าใหม่ และดีไซเนอร์สุดมั่น เพราะผลงานแต่ละชิ้นทั้งเก่าและใหม่ได้กระชากความเป็นตัวตนที่ชัดเจนและจิตวิญญาณในแบบเบลเยียมออกมาได้อย่างโดดเด่นไม่ซ้ำใคร ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สัมผัสได้อินอย่างไม่มีขีดจำกัด :: Text by FLASH

Flight File

สายการบินไทยบินตรงไป-กลับ กรุงเทพฯ-บรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ซึ่งจะออกเดินทางจากทั้งกรุงเทพฯ และบรัสเซลส์ โดยเที่ยวไป เที่ยวบินที่ TG 934 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 00.30 น. ถึงบรัสเซลส์ เวลา 07.00 น. และเที่ยวกลับ เที่ยวบินที่ TG 935 ออกจากบรัสเซลส์ เวลา 13.30 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 06.20 น. ของวันรุ่งขึ้น ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER ประกอบด้วยที่นั่งชั้นธุรกิจ จำนวน 30 ที่นั่ง และชั้นประหยัดจำนวน 262 ที่นั่ง ซึ่งติดตั้งจอทีวีส่วนตัวพร้อมระบบสาระบันเทิงภายในเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดในทุกที่นั่งทุกชั้นโดยสาร

การบินไทยถือเป็นสายการบินแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการบินตรงเส้นทางระหว่างประเทศไทย และราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งการเปิดเส้นทางบินไป-กลับเส้นทางใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารในการเดินทางจากกรุงบรัสเซลส์ ของราชอาณาจักรเบลเยียม ไปยังประเทศใกล้เคียง อาทิ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชรัฐลักเซมเบิร์ก และสาธารณรัฐฝรั่งเศส รวมทั้งเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสารจากประเทศเหล่านี้ในการเดินทางมายังประเทศไทย เชื่อมต่อไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ facebook : www.facebook.com/ThaiAirways ; twitter: @ThaiAirways ; http://www.thaiairways.com หรือโทรศัพท์ 0-2356-1111