>> ปีที่ผ่านมา “ซิซซ์เลอร์” (Sizzler) พาผู้โชคดีจากการกินอาหารในร้านซิซซ์เลอร์ไปเที่ยวเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย จนผู้โชคดีติดอกติดใจกันไปตามๆ กัน แต่ปีนี้ต้องยอมรับว่าสนุกยิ่งกว่า เพราะซิซซ์เลอร์พาผู้โชคดีไปไกลถึง “กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส” เลยทีเดียว แถมยังได้งบประมาณเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน เพราะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าร้านอาหารซิซซ์เลอร์อย่างล้นหลาม
ผมเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ได้มีโอกาสติดสอยห้อยตาม “คุณนายเอมมี-รพีพร วงศ์ทองคำ” ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของซิซซ์เลอร์ ประเทศไทย รวมถึงตัวแทนสปอนเซอร์จากเมืองไทยประกันชีวิต “คุณนายบี-ปิติภัทร สารสิน” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความสัมพันธ์ลูกค้าเดินทางไปด้วย โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง “คุณพี่จุ๊บ-นงชนก สถานานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซิซซ์เลอร์ ประเทศไทย คอยควบคุมการเดินทางในการพาผู้โชคดีไปปารีสตลอดทริปนี้
“ปารีส พาราไดส์” (Paris Paradise) คือชื่อแคมเปญของซิซซ์เลอร์ในปีนี้ ซึ่งต้องการสื่อให้เห็นถึงความหลากหลาย เพื่อแสดงถึงศักยภาพการเป็นร้านอาหารสไตล์ตะวันตกในดวงใจของทุกคน พร้อมทั้งให้ความความสำคัญกับรสชาติของอาหารและการบริการที่เป็นเลิศ เรียกว่าเที่ยวอย่างสนุกพร้อมสุขกับการกิน
การเดินทางมาปารีสครั้งนี้เรามีจุดมุ่งหมายอยู่หลายแห่ง แต่วันนี้ผมขอพาคุณผู้อ่านไปเพลินใจกับการล่องเรือ ชมเมืองปารีสยามบ่ายที่แสงอาทิตย์ทอแสงแผดจ้าใน”แม่น้ำเซน” (Saine) ที่ได้ขึ้นชื่อว่าโรแมนติกที่สุดสายหนึ่งของโลก เพราะนอกจากจะมีสะพานสวยๆ อันเก่าลอยพาดข้ามแม่น้ำแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมอันเลื่องชื่ออีกมากมาย
เราลงเรือบริเวณจตุรัสแห่งความปรองดอง หรือ Place de la Concorde ก่อนที่จะค่อยๆ วิ่งลัดเลาะไปตามแม่น้ำเซนเพื่อขึ้นไปทางทิศเหนือของกรุงปารีส จตุรัสแห่งความปรองดองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศฝรั่งเศส รองจากลานแกงกงซ์ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่15 เทศบาลกรุงปารีสได้สร้างพระบรมรูปพระองค์ทรงม้าถวายในปี ค.ศ.1748 โดยนักประติมากรรมชื่อ เอ็ดเม บูชาร์ดง พระเจ้าหลุยส์ที่15 จึงโปรดให้ “ชัก ออง กาบริเอล” สถาปนิกออกแบบสร้างลานกว้างใหญ่สำหรับประดิษฐานพระบรมรูปทรงม้าดังกล่าวแล้วตั้งชื่อว่าลานพระเจ้าหลุยส์ที่15
ต่อมาในปี ค.ศ.1795 มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ลานกงกอร์ด” ทั้งนี้ ก็ด้วยหวังให้เกิดความปรองดองกันไม่เข่นฆ่ากันเอง แต่พอถึงสมัยพระเจ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งองค์นี้เป็นน้องของพระเจ้าหลุยส์ที่16 ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้าหลุยส์ที่15 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นลานพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ดังเดิมในปี ค.ศ.1814
ต่อจากนั้นในปี ค.ศ.1823 ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นลานพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และเมื่อถึงสมัยของพระเจ้าชารล์ที่10 ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Place de la Charte ในปี ค.ศ.1830 และในปีเดียวกันนี้ กษัตริย์หลุยส์ ฟิลิปที่ 1 เข้าสู่อำนาจ จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นลานกงกอร์ด และเรียกชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ในปี ค.ศ.1789 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พวกปฏิวัติได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ลานแห่งการปฏิวัติ” (Place de la Révolution) ในปี ค.ศ.1789 มีการลื้อถอนพระบรมรูปทรงม้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ลง แล้วนำเครื่องประหารชีวิตที่เรียกว่า “กิโยตีน” มีบันทึกว่ามีผู้ถูกประหารชีวิตที่ลานแห่งนี้ถึง 1,119 คน ในจำนวนนี้รวมถึง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16, พระนางมารีอ็องตัวแนตต์, ชอร์ช ชัก ดองตง และมักซิมิเลียง เดอ โรเบสปิแอร์ ด้วย
ลักษณะของลานนี้เป็นรูปแปดเหลี่ยม จุดเด่นคือเสาหินสูงตรงกลางที่ถูกขนาบข้างทั้งสองฝั่งด้วยน้ำพุ เสาหินนี้เป็นแบบเดียวกับที่หน้าวิหารเซนต์ปีเตอร์ ในนครรัฐวาติกัน กลางกรุงโรม ประเทศอิตาลี เรียกเสานี้ว่า “เสาโอเบลิสก์”(L’Obélisque) ทำด้วยหินแกรนิตสีชมพู มีอักษรภาษาอียิปต์โบราณที่เรียกว่าอิเอโรกลิฟ เล่าเรื่องราวสมัยรามเสสที่ 2 และเรื่องราวสมัยรามเสสที่ 3 มีอายุประมาณ 3,300ปี
เสาต้นนี้เดิมตั้งอยู่ที่ทางเข้าวิหารอามอน เมืองลุกซอร์ ประเทศอียิปต์ ฝรั่งเศสได้มาจากอุปราชของอียิปต์ ชื่อ เมเฮเหม็ด อาลี ได้มอบเป็นของขวัญ ในสมัยพระเจ้าชารล์ที่ 10 ในปี ค.ศ.1829 พระเจ้าหลุยส์ฟิลิปจึงให้สถาปนิก ชัก อิตตอรฟ์ สร้างน้ำพุ 2 อัน บริเวณกลางลาน แล้วจึงนำเสาโอเบลิสก์ มายังบริเวณ ตรงกลางระหว่างน้ำพุอีกที เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ปี ค.ศ.1836 โดยวิศวะกรที่ชื่อ “อาโปลิแนร์ เลอบา”
เสานี้มีน้ำหนัก 227 ตัน เมื่อติดตั้งแล้วมีความสูง 22.83เมตร บริเวณโคนเสามีลายเส้นเขียนภาพฉาบด้วยสีทอง แสดงการขนย้าย ชักรอกลงเรือมายังประเทศฝรั่งเศส และความจริงที่บริเวณยอดของเสาหินนั้น มีหัวเสาครอบอยู่ด้วย แต่โดนโจรกรรมไปเมื่อราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้เสาดูไม่งาม รัฐบาลฝรั่งเศสจึงนำแผ่นทองมาปิดไว้ให้สวยงามขึ้น
นั่งเรือชมวิวมาเรื่อยๆ ด้านขวามือจะพบกับ “พิพิธภัณฑ์ออร์แซ” (Musée d'Orsay) เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์การออกแบบ/สิ่งทอ และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1986 บนฝั่งแม่น้ำเซนในสถานที่ที่เดิมเป็นสถานีรถไฟออร์แซของสถาปัตยกรรมแบบโบซาร์ที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1898 ถึง ค.ศ. 1900
งานสะสมของพิพิธภัณฑ์ออร์แซเป็นศิลปะฝรั่งเศสที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1848 ถึง ค.ศ. 1915 ที่รวมทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์ และภาพถ่าย แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคืองานชิ้นเอกจากสมัยศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ และศิลปะอิมเพรสชันนิสม์สมัยหลัง ที่รวมทั้งงานของโคลด โมเนต์, เอดวด มาเนต์, เอดการ์ เดอกาส์, ปีแยร์-ออกุสต์ เรอนัวร์, พอล เซซานน์, ชอร์ช ปิแยร์ เซอราต์, พอล โกแกง และฟินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์
ส่วนฝั่งซ้ายมือของแม่น้ำ เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ลูฟร์” (Musée de Louvre) แต่เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือพระราชวัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นป้อมปราการ โดยกษัตริย์ PhilipII Augustus ต่อมาในปี 1546 กษัตริย์ฟรองซิสที่ 1 ได้ทรงรื้อปราสาทหลังเดิมลง และโปรดให้สร้างพระราชวังหลังใหม่ขึ้น ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ลูฟร์ได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งการขยายต่อเติม ถูกปล่อยปละละเลย และผ่านการซ่อมแซมหลายต่อหลายครั้ง
ปัจจุบัน “แกรนด์ ลูฟร์” (Grand Louvre) มีพื้นที่จัดแสดงกว่า 70,000 ตารางเมตร หรือ 750,000 ตารางฟุต ลูฟร์เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมครั้งแรกในปี ค.ศ.1793 ผลงานสะสมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากความหลงใหลในศิลปของกษัตริย์ผู้ปกครองฝรั่งเศสที่สะสมมากว่าร้อยปี โดยมีกษัตริย์ฟรองซิสที่ 1 (ค.ศ.1515-1547) เป็นผู้ริเริ่มสะสมงานศิลปะชั้นเยี่ยมเหล่านี้ พระองค์โปรดให้เชิญศิลปิน เช่น ลีโอนาร์โด ดาวิงชี, รอสโว เซลลินี ให้มาพำนักและสร้างสรรค์งาน ณ พระราชวังของพระองค์ที่ FontaineBleau พร้อม ๆ กับการสร้างพระรางวังลูฟร์ ก่อนที่งานก่อสร้างจะหยุดลงชั่วคราว
จนกระทั่งในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Xlll) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเพราะพระคาร์ดินัล Richelieu เป็นผู้กระตุ้นความสนใจในเรื่องศิลปะแด่พระองค์ท่าน และภายใต้คำแนะนำของพระคาร์ดินัล ผลงานศิลปะของลีโอนาร์โด, เวอร์รองเนส (Veronese) และปุยเซียง (Poussian) จึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะสะสมะของกษัตริย์ฝรั่งเศส ในขณะเดียวกับที่พระมารดาของพระองค์ท่านคือ พระนางแมรีได้มอบหมายให้จิตรกรชื่อดังคือ “ปีเตอร์ พอล รูแบงส์” วาดภาพขนาดใหญ่เป็นภาพแห่งชัยชนะของพระองค์และกษัตริย์ฝรั่งเศส
จวบจนกระทั่งในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 (IV) ซึ่งได้รับคำแนะนำจากพระคาร์ดินัล Mazzzrino ผลงานสะสมของกษัตริย์ฝรั่งเศสได้ดำเนินต่อเนื่องมากว่าครึ่งศตวรรษ ภายหลังที่หลุยส์ที่ 6 ได้เสด็จสวรรคต จำนวนภาพสะสมของพระองค์มีเพิ่มขึ้นจาก 200 กลายเป็นกว่า 2,000 ภาพ รวมถึงงานของ Van Dyck, Raphael,Titian และ Caravaggio
ในศตวรรษที่ 18 ปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดเก็บและการอนุรักษ์งานศิลปะวัตถุจำนวนมากเหล่านี้เริ่มมีมากขึ้น ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) แนวความคิดในการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อแสดงงานศิลปะได้ริเริ่มขึ้นโดยกษัตริย์ของฝรั่งเศสในยุคนั้น การยึดผลงานศิลปะที่เป็นสมบัติของโบสถ์ต่างๆ และนโยบายของพระเจ้านโปเลียน ที่ต้องการเพิ่มจำนวนงานศิลปะในลูฟร์ แต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ทางพิพิธภัณฑ์มีการจัดการที่ดีในเรื่องการจัดเก็บผลงานศิลปะจำนวนมากเหล่านั้น ต่อมาในยุคของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ซึ่งยังคงยึดถือนโยบายการเสาะแสวงหาผลงานศิลปะจากคอลเลกชั่นสะสมส่วนตัวมาจากที่ต่าง ๆ เช่น ผลงานของเปาโล และลีโอนาร์โด ดาวิงชี ก็เข้ามาสู่พิพิธภัณฑ์ในยุคนี้
กว่า 800 ปีซึ่งพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ได้ถูกใช้งานและปรับเปลี่ยนต่อเติมมาหลายครั้งแตกต่างกันไปตามยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการสร้างปิรามิดแก้ว โดยสถาปนิกอเมริกันเชื้อสายจีนชื่อ I.M. PEI ซึ่งแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยชั้นจำนวน 4 ชั้น จัดแสดงผลงานศิลปะโดยแบ่งออกเป็น 7 คอลเลกชั่น ประกอบด้วย งานจิตรกรรม ประติมากรรม และเรขศิลป์ ซึ่งผลงานศิลปะเหล่านี้มาจากสกุลศิลปะชั้นนำในยุโรป และงานศิลปกรรมจากตะวันออก ปัจจุบันลูฟร์ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อนั่งเรือผ่านมาถึง “มหาวิหารนอตร์-ดาม” (Notre-Dame) ทุกคนก็ถึงกับตะลึงในความงดงาม เนื่องจากเป็นมหาวิหารสมัยกอธิก ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงปารีส คำว่า Notre Dame แปลว่าพระแม่เจ้าของเรา (Our Lady) ซึ่งเป็นคำที่ชาวคาทอลิกใช้เรียกพระแม่มารี ปัจจุบันมหาวิหารก็ยังใช้เป็นโบสถ์ของคริสตจักรโรมันคาทอลิกและเป็นที่ตั้งอาสนะของอาร์ชบิชอปแห่งปารีส มหาวิหารนอตร์-ดามถือกันว่าเป็นโบสถ์ที่สวยงามที่สุดในลักษณะกอธิกแบบฝรั่งเศส โบสถ์นี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเออแชน วียอเลต์-เลอ-ดุค ผู้เป็นสถาปนิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส
การก่อสร้างเป็นแบบกอธิคเป็นมหาวิหารแรกที่สร้างในลักษณะนี้ และการก่อสร้างก็ทำต่อเนื่องมาตลอดสมัยกอธิค ปฏิมากรรม และหน้าต่างประดับกระจกสี (Stained glass) มีอิทธิพลจากศิลปะแบบแนทเชอราลลิสม์ (Naturalism) ทำให้แตกต่างจาก ศิลปะโรมาเนสก์ที่สร้างก่อนหน้านั้น
นอตร์-ดามเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งก่อสร้างแรกที่ใช้ “กำแพงค้ำยันแบบปีกนก” ตามแบบเดิมไม่ได้บ่งถึงกำแพงค้ำยันรอบมหาวิหาร “บริเวณร้องเพลงสวด” หรือ รอบทางเดินกลางของตัววัด เมื่อเริ่มสร้างกำแพงโบสถ์สูงขึ้นกำแพงก็เริ่มร้าวเพราะน้ำหนักของสิ่งก่อสร้าง เพราะสถาปนิกสมัยกอธิก เน้นการสร้างสิ่งก่อสร้างที่สูง บาง และโปร่ง เมื่อสร้างสูงขึ้นไปกำแพงก็ไม่สามารถรับน้ำหนักและความกดดันของกำแพงและหลังคาได้ ทำให้กำแพงโก่งออกไปและร้าว สถาปนิกจึงใช้วิธีแก้ด้วยการเติม “กำแพงค้ำยัน” ที่กางออกไปคล้ายปีกนกด้านนอกตัววัด เพื่อให้กำแพงค้ำยันนี้หนุนหรือค้ำกำแพงตัวโบสถ์เอาไว้
เมื่อทำไปแล้วนอกจากจะมีประโยชน์ทางการใช้สอยแล้ว ยังกลายเป็นเครื่องตกแต่งที่ทำให้สิ่งก่อสร้างความสวยงามขึ้น ฉะนั้น วิธีแก้ปัญหานี้จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของโบสถ์ที่สร้างแบบกอธิคไปในตัวราวปี ค.ศ. 1790 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสโบสถ์ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประติมากรรมและศิลปะทางศาสนาถูกทำลายไปมาก มหาวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนมีสภาพเหมือนก่อนหน้าที่ถูกทำลาย
เลยมาอีกหน่อยก็จะพบกับ “จตุรัสปลาซ เดส์ โวจส์” (Place Des Vosges) ซึ่งในอดีตพระราชวังหลวงอันเก่าแก่ของพระเจ้าอองรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1605 ทำให้เป็นจตุรัสแบบยุโรปที่เก่าแก่ที่สุดของปารีส และเป็นต้นแบบของการวางผังเมืองของยุโรปต่อมาเรื่อยๆ
ปลาซ เดส์ โวจส์ ประกอบด้วยตัวตึกล้อมรอบสวนสวยสี่ด้านที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมเหมือนกันทุกประการ และชั้นล่างของตึกก็เป็นทางเดินแบบระเบียงที่มีหลังคาปิด ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นอาร์ตแกลลอรี่ ร้านอาหาร คาเฟ่ ที่สลับหมุนเวียนกันปิดและเปิดไม่เหมือนกัน ทำให้สามารถมาเดนิ เลน่ ตรงยานนี้ได้ทั้งวัน นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่สำคัญสำหรับคนที่ชอบอ่านวรรณคดีคลาสสิก ของ วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) เจ้าของวรรณกรรมที่ลือลั่น อย่าง Les Miserables หรือ The Hunchbackof Notre Dame เพราะเขาเคยได้อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 6 ในปลาซ เดส์ โวจส์ แห่งนี้ในช่วงชีวิตประมาณปี ค.ศ. 1832 – 1848
ปัจจุบันที่นี่ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในสามแห่งของนักประพันธ์ท่านนี้ ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ส่วนสวนสวยตรงกลางนั้นนอกจากมีอนุสาวรีย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส ทรงม้าตระหง่านอยู่ตรงกลาง พร้อมกับเครื่องใช้ไม้สอยโบราณ เช่น ก็อกน้ำ และน้ำพุโบราณแล้ว ยังเป็นสถานที่พักผ่อนและใช้ออกกำลังกายของชาวปารีสที่อยู่อาศัยในย่านดังกล่าวที่มาสูดอากาศบริสุทธิ์ในสวนสวยแห่งเล็กๆ ที่อยู่ใจกลางเมืองแห่งนี้นั่นเอง
เมื่อมาถึงบริเวณนี้หัวเรือก็นำเราล่องกลับไปตามแม่น้ำเซนอีกครั้ง แต่บรรยากาศของผู้คนและท้องฟ้ายังคงไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อเรือล่องผ่านมายังหอไอเฟล (Eiffel) อันเลื่องชื่อ ทำให้ทุกคนที่อยู่บนเรือต่างหันกล้องและกดชัตเตอร์ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันอย่างไม่ยั้งคิด เพราะนอกจากวันนี้อากาศจะดีแล้ว โอกาสที่จะได้มานั่งเรือชมวิวสองฝั่งแม่น้ำเซนแบบเอ็กซ์คลูซีฟเช่นนี้มีไม่มากนัก ถ้าไม่ได้มากลับซิซซ์เลอร์
และนี่คือความสุขสนุกกับการนั่งเรือชมวิวสองฟากฝั่งของแม่น้ำเซนที่ซิซซ์เลอร์เนรมิตเพื่อผู้โชคดีโดยเฉพาะ ขอย้ำว่า “ผู้โชคดี” เพราะคุณสามารถมาเที่ยว กิน ดื่ม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แถมยังได้ชมความงดงามอันยากจะลืมเลือน แล้วพบกันใหม่กับทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟเช่นนี้กับซิซซ์เลอร์ ส่วนจะเป็นเมืองไหนประเทศใดคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด :: Text by FLASH
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net