ART EYE VIEW— “จันทบุรี” ถือได้ว่าเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่รุ่มรวยมรดกทางวัฒนธรรม ไม่แพ้จังหวัดอื่นๆของประเทศไทย เพราะมีทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตัวอาคารสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนังที่มีความงดงาม ตลอดจนมีชุมชนริมน้ำที่ความเป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม จากงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การบริหารจัดการศิลปกรรม : กรณีศึกษาโบราณสถานในจังหวัดจันทบุรี” จัดโดย ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้มีการนำบุคคลหลายกลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางด้านการอนุรักษ์ศิลปะและบริหารจัดการศิลปะ,อาจารย์ นักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา,ครู ระดับมัธยมศึกษา,ผู้สนใจทั่วไป และนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก เดินทางลงพื้นที่เพื่อสัมผัสกับมรดกทางวัฒนธรรมหลายแห่งใน จ.จันทบุรี ได้แก่ โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล,ชุมชนริมน้ำจันทบูร,อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน,ตึกแดง,ป้อมฝรั่งเศส,ศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุใต้ทะเล และค่ายเนินวง
อาจารย์กามนิต ดิเรกศิลป์ นักประวัติศาสตร์,นักโบราณคดีอิสระ หนึ่งในวิทยากรกลับสะท้อนว่าขณะนี้การบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดแสดง การให้ข้อมูล ตลอดจนการดูแลรักษา กำลังอยู่ในขั้นที่เรียกว่า “วิบัติ”
ก่อนหน้านี้ อ.กามนิต เคยรับราชการทำงานในตำแหน่ง “นักทำลายวัตถุระเบิดใต้น้ำ” ของกองทัพเรือ ,เป็น “ช่างสำรวจใต้น้ำ” ทำการเก็บกู้แหล่งโบราณวัตถุใต้น้ำของกรมศิลปากร ทำงานในหลายพื้นที่ แต่ทำงานในพื้นที่ จ.จันทบุรี เป็นส่วนใหญ่ โดยประจำการอยู่ที่หน่วยงานโบราณคดีใต้น้ำ จ.จันทบุรี
ปัจจุบัน แม้จะเกษียณอายุราชการจากกรมศิลปากรมาแล้ว 9 ปี อ.กามนิต ยังคงเป็นอาจารย์สอนด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จ.จันทบุรี และมหาวิทยาลัยบูรพา อ.บางแสน จ.ชลบุรี, ทำงานสำรวจ ขุดค้น ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรี ,เขียนหนังสือเรื่อง “สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม จ.จันทบุรี” ให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท ม.ศิลปากร เรื่อง “การตั้งถิ่นฐานของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ จ.จันทบุรี” และหลังจากที่ได้รับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ไปทำการขุดคุ้นแหล่งโบราณคดี ได้เขียนหนังสือออกมาชื่อ “การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมยุคหินใหม่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี”
ชีวิตรับราชการกองทัพเรือและกรมศิลปากรรวมแล้วกว่า 40 ปี ที่ทำให้มีความผูกพันกับ จ.จันทบุรี มาเป็นเวลานาน และปัจจุบันชีวิตของการเป็นนักประวัติศาสตร์,นักโบราณคดีอิสระ รวมถึงชีวิตอาจารย์ ในแบบที่ยังออกไปทำงานด้านการอนุรักษ์ด้านการค้นคว้าเกี่ยวกับ จ.จันทบุรี อยู่เป็นประจำ จึงไม่แปลกอะไรที่จะทำให้ อ.กามนิต เห็นถึงความเป็นไป และปัญหาด้านการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของ จ.จันทบุรี มาโดยตลอด
งบประมาณและเจ้าหน้าที่แร้นแค้น ถึงขั้นวิบัติ
อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน ที่หมู่บ้านเสม็ดงาม ต.หนองบัว จ.จันทบุรี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใช้เป็นอู่ต่อเรือ เมื่อครั้งเตรียมยกทัพไปตีพม่าเพื่อกู้เอกราชชาติไทยเมื่อ พ.ศ.2310 ถือเป็นตัวอย่างที่ อ.กามนิต สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม อันเนื่องมากจากการแคลนงบประมาณและเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
“อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน เป็นงานที่เริ่มต้นจากการขุดค้นทางวิชาการของกรมศิลปากร หลังขุดค้นแล้วก็ไม่มีงบประมาณที่จะบริหารจัดการว่าจะเอามาจัดแสดงอย่างไร พอไม่มีงบประมาณก็ต้องเก็บไว้ในลักษณะที่จะต้องกลบหรือไม่ให้มันโดนการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ต่อมามีงบประมาณส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มาสร้างอาคารคลุมซากเรือ อาคารพิพิธภัณฑ์ และมีเงินจากการสนับสนุนของชาวบ้านให้เราขุดค้นอู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน แห่งที่ 2 ที่อยู่เคียงข้างกัน ซึ่งแห่งนี้ผมเป็นคนควบคุมการขุดค้นเอง ทำให้เราได้ข้อมูลมากมาย แต่พอจะจัดแสดงจะจัดอนุรักษ์มันต้องใช้งบประมาณพอสมควร ตัวงบประมาณไม่มา ตามเวลาที่เราต้องการ เพราะโบราณวัตถุที่ได้มาจากใต้น้ำมันต้องอนุรักษ์ให้ถูกวิธี ต้องแช่น้ำไว้ เปลี่ยนสภาพไม่ได้ ทำไงล่ะครับ ก็ต้องเอากลับลงไปที่เดิม
วันนี้มีโบราณวัตถุบางส่วนที่เราอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ไว้อย่างถูกต้องแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ก็คือไม่มีงบประมาณจัดแสดงอีก ต้องจัดไปตามที่เห็น จัดเสร็จแล้ว ไม่มีเงินจ้างเจ้าหน้าที่ ก็เลยให้คนทำความสะอาดเป็นผู้ดูแลและบรรยาย ตรงนี้อันตราย เขาไม่ใช่นักวิชาการใช่ไหมครับ เอาข้อมูลส่วนตัวลงไปเมื่อไหร่ เป๋กันไปหมด หลักฐานที่เราทำไว้เดี๋ยวก็ไปกันใหญ่ อนุรักษ์ไม่ถูกวิธี เจ้าหน้าที่ไม่มีองค์ความรู้ ครูพักลักจำมาว่ากัน ทำให้การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ เป็นไปอย่างแร้นแค้น ถ้าจะให้พูดแรงหน่อยถึงขั้นวิบัติ หมายถึงตัวพิพิธภัณฑ์นะครับ ในส่วนเรือเราต้องควบคุมให้น้ำอยู่ตลอด เพราะมันเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญให้ศึกษาเรียนรู้ และในบริเวณพื้นที่ของอู่ต่อเรือ เราก็พบเห็นความขัดแย้งของชาวบ้าน ในเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่ชาวบ้านก็ต่างตักตวงผลประโยชน์ อย่างที่ผมบอกว่าถึงขั้นวิบัติจริงๆครับ”
รู้ยัง..จันทบุรีไม่มี “คุกขี้ไก่”
จันทบุรียังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม อีกหลายแห่ง ตึกแดง และป้อมฝรั่งเศส ที่ อ.แหลมสิงห์ เป็นอีกจุดที่ อ.กามนิต ได้ยกตัวอย่างและสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการขาดเจ้าหน้าที่ดูแลและไม่มีการให้ข้อมูลที่ต้อง
“เราก็รู้ว่าคุกขี้ไก่มันไม่มีในโลก แต่คุณก็ขึ้นป้าย ว่าคุกขี้ไก่ เอารูปปั้นไก่ไปตั้งเอาไว้ ถ้าเรานำเสนออะไรที่ผิดแบบนี้ มันผิดไปทั้งประเทศครับ มันไม่ใช่คุกขี้ไก่ แต่มันคือป้อมฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศสมาสร้างไว้สังเกตการณ์ข้าศึกเวลาเรือใครจะเข้าจะออก สมัยเหตุการณ์ รศ.112 (พ.ศ.2436)สมัยฝรั่งเศสยึดครองเมืองจันทบุรี ช่วงเวลาที่ทหารราว 1 กองร้อยมาอยู่ที่แหลมสิงห์ มีการสร้างตึกแดง กับป้อมฝรั่งเศส
ในส่วนบริเวณที่สร้างตึกแดงเคยเป็นป้อมพิฆาตปัจจามิตร ที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 3 ฝรั่งเศสมาสร้างตึกแดง แล้วทำลายป้อมพิฆาตปัจจามิตร ปัจจุบันทั้งตึกแดง และป้อมฝรั่งเศส ยังมีการอนุรักษ์ไว้ดีครับ ตามสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นกรมศิลปากรก็มาดูแลดี แต่พอดูแลแล้ว จะบริหารจัดการอย่างไรล่ะครับ ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล แต่เปิดอาคารไว้ตลอด และทุกวันนี้ก็เอาใครไปอยู่ไม่รู้คนนึง ส่วนป้อมฝรั่งเศส ถูกบิดเบือนข้อมูลกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ คุกขี้ไก่”
อ.กามนิตบอกด้วยว่า ข้อมูลในเรื่องนี้ถูกบิดเบือนมานาน ทั้งคนจันทบุรี และคนต่างถิ่นที่ผ่านมาเที่ยวชม ต่างเชื่อว่าป้อมฝรั่งเศส คือคุกขี้ไก่เอาไว้ขังนักโทษไทยที่ไม่เชื่อฟังคนฝรั่งเศส ขณะที่คนจันทบุรีส่วนหนึ่งแม้จะรู้ดีว่าข้อมูลถูกบิดเบือน แต่ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร เพราะหวังในแง่การท่องเที่ยว
“ผมพยายามศึกษาเรื่องนี้ ค้นคว้าเรื่องนี้ เปิดเอกสาร แม้แต่หนังสือฝรั่งเศสที่ผมอ่านไม่ออก แต่ให้คนช่วยแปล ที่แหลมสิงห์ไม่มีคุกขี้ไก่ มีแต่ป้อมสังเกตการณ์พื้นที่ แบ่งอาณาเขต เลยมีการเข้าใจผิดกันทั้งประเทศ ว่าแหลมสิงห์มีคุกขี้ไก่
คนจันทบุรีนี่แหล่ะตัวดีนัก ว่าต้องเอาคุกขี้ไก่ไว้ให้คนมาเที่ยวมาชม โอเคล่ะครับ มันเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสสร้างไว้ มันเป็นสิ่งที่เตือนให้เรารู้ว่า เมื่อไหร่ที่เราอ่อนแอ เราจะพ่ายแพ้ แต่มันควรมีการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นจริงว่ามันเป็นป้อมไม่ใช่คุกขี้ไก่ ไม่เช่นนั้นอันตราย
และปัจจุบัน ทั้งตึกแดงและป้อมฝรั่งเศส ก็เป็นโบราณสถานที่ไม่มีคนดูแลเลย จะบริหารจัดการกันยังไงล่ะที่นี้ กรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลศิลปกรรม ถ่ายโอนภาระหน้าที่ไปที่องค์การท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล พวกนั้นเค้าทำกันไหมล่ะครับ ที่จริงมันควรจะร่วมกันคิด เอามาคุยกัน ว่าต้องทำอะไรได้บ้าง ปล่อยไว้ตามยถากรรม ปล่อยให้คนเอาข้าวของไปไว้ในอาคารโบราณสถานมันไม่ถูกต้อง และมีการให้ข้อมูลผิดๆอีก แต่ถ้าไม่มีแก ใครจะเปิดจะปิด นี่คือการบริหารจัดการที่มันไม่ถูกต้องไงครับ”
ไม่อยากเห็นอนาคต “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” มีสภาพเหมือน “ปายอินเละ” และ “โบ้เบ้อัมพาวา”
นอกจากคนในพื้นที่ที่พยายามสะท้อนถึงปัญหา ในอีกด้าน จ.จันทบุรี ก็มีด้านของความเพียรพยายามที่จะบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม แม้จะเป็นการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนส่วนน้อย ตัวอย่างเช่นหลายปีที่ผ่านมา สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันศึกษาเอกชน ที่มีความสนใจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์ ได้มีส่วนช่วยบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมให้กับ จ.จันทบุรี
รองศาสตราจารย์ชูวิทย์ สุจฉายา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษา ชุมชนริมน้ำจันทบูร อีกทั้งยังมีนักศึกษาของสถาบันทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับชุมชนแห่งนี้ มาแล้ว 3 คน ในเวลาต่อมาสถาบันฯได้ร่วมฟื้นฟูชุมชน โดยการช่วยปรับปรุง บ้านขุนอนุสร-สมบัติ บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้เลขที่ 69 ให้กลายเป็น บ้านเรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบูร และปรับปรุง บ้านหลวงราชไมตรี ให้กลายเป็นที่โรงแรมในชื่อ บ้านพักประวัติศาสตร์ หลวงราชไมตรี โดยการเปิดระดมทุนจากชาวชุมชน ชาวจันทบุรี และบุคคลทั่วไป บริหารงานภายใต้ บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจตามแนวคิดธุรกิจสังคม (Social Enterprise)โดยรายได้นอกจากนำไปปันผลและบริหารจัดการสถานที่ บางส่วนยังถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาชุมชนในระยะยาว เป็นโครงการที่จะเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนในย่านประวัติศาสตร์ในพื้นที่อื่น และเมื่อไม่นานมานี้ บ้านหลวงราชไมตรี เพิ่งได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ จากยูเนสโก อีกด้วย
“การเข้าไปในชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ ไม่ได้มองแค่ด้านศิลปกรรมภายในชุมชน แต่มองกว้างในระดับมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นตัวอาคารและวิธีชีวิตทุกอย่างภายในชุมชน เราพยายามสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเห็นว่าชุมชนของตนเองมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่แค่กระตุ้นให้มีการท่องเที่ยว แต่ทำให้ชุมชนรักและภูมิใจในพื้นที่ของตัวเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จริง”
เพื่อให้ระยะยาวชุมชนไม่ถูกพัฒนาไปแบบไร้ทิศทาง จนท้ายที่สุดก็ขาดเสน่ห์ มีสภาพไม่แตกต่างจาก ปายอินเละ และ โบ้เบ้อัมพาวา ดังคำเปรียบเปรยที่มีต่อสภาพปัจจุบันของสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม รองศาสตราจารย์ชูวิทย์ ได้แสดงความเป็นห่วงว่า มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องออกกฎหมายออกมารองรับมรดกทางวัฒนธรรม ให้กับชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่เฉพาะแต่ชุมชนริมน้ำจันทบูร แต่ยังรวมถึงอีกหลายแห่งทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันนี้มีเพียงกฎหมายที่รองรับในเรื่องของโบราณสถาน ซึ่งไม่ครอบคลุมมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ
“ ขณะที่ความเข้มแข็งของชุมชนยังไม่พอ พร้อมจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณไม่มีงบประมาณลงมาช่วยฟื้นฟูชุมชน ต้องมีกฎหมายโครงสร้างมารองรับ ว่าอะไรแบบไหนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม มีคุณค่า คนในชุมชนเขาก็จะได้ดูแล ไม่ต้องไปรื้ออะไรทิ้ง หรือรู้ว่าตรงไหนสามารถทำได้ ถ้าไม่มีกฎหมายมารองรับ ชุมชนเขาก็จะคิดว่าเขาจะทำยังไงก็ได้ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นมาแล้วกับหลายที่ อย่างปาย และอัมพวา ดังนั้นการวางโครงสร้างกฎหมายมารองรับว่าตรงไหนสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่รัฐต้องทำ”
สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การบริหารจัดการศิลปกรรม : กรณีศึกษาโบราณสถานในจังหวัดจันทบุรี” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พยายามผลักดันให้การเกิดการเรียนการสอนด้าน ‘เทคโนโลยีการอนุรักษ์ซ่อมสงวน’ เพื่อสร้าง 'นักอนุรักษ์ซ่อมสงวน' ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
โดยที่ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.เจษฎาวรรณ วิจิตรเวชการ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้รับแรงบันดาลใจจาก รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ได้พบเห็นมาว่าในระดับนานาชาติ ที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติตนอย่างยั่งยืนได้ให้ความสำคัญการเรียนการสอนทางด้านนี้
เทคโนโลยีการอนุรักษ์ซ่อมสงวน หรือ การอนุรักษ์ซ่อมสงวน (Preventive Conservation) เป็นการบูรณาการศาสตร์หลายสาขาและศิลปะเข้าด้วยกัน เพื่อทำการอนุรักษ์โดยการรักษาสภาพ ณ ปัจจุบันของงานศิลปะให้คงอยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ วัสดุที่ใช้ต้องมีความใกล้เคียงกับวัสดุเดิมให้มากที่สุด ปัจจุบันในต่างประเทศการเรียนการสอนทางด้านนี้มีถึงระดับปริญญาเอก มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ผ่านการทดลองค้นคว้ามาเรียบร้อยแล้ว และแน่ใจว่า ใช้แล้วจะไม่สร้างความเสื่อมหรือความเสียหายให้กับงานศิลปะ
ผศ.ดร.เจษฎาวรรณ วิจิตรเวชการ กล่าวย้ำในงานสัมนาฯว่า การบริหารจัดการศิลปกรรม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ในภาพรวมของการอนุรักษ์ศิลปะ งานศิลปะที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกหลักวิชา ตามแนวทางของการอนุรักษ์ซ่อมสงวนแล้วนั้น จำเป็นต้องการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีควบคู่ไปด้วย จึงจะสามารถธำรงรักษาศิลปกรรมอันมีค่ามหาศาลเหล่านั้นให้คงไว้เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อไปได้
การบริหารจัดการศิลปกรรมทีได้รับการอนุรักษ์แล้วเป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระบวนการอนุรักษ์ศิลปะ
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.