ART EYE VIEW—ปี 2558 ถือเป็นปี ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ของบุคคลเด่นและดังของไทยหลายท่านด้วยกัน (ขณะที่ปีหน้า 2559 ก็จะเป็นปีครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ของ พันตรี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ร่วมขบวนการเสรีไทย, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย,อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯลฯ ซึ่่งล่าสุดได้รับการประกาศจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก)
มีท่านใดบ้าง และในวาระ ครบรอบ ฯ ทางทายาท ครอบครัว ผู้ที่มีความชื่นชมและมีส่วนเกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมอะไรขึ้นบ้าง นำมาบอกกล่าวให้รับทราบกันอีกครั้ง
คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง
อดีตบรรณาธิการนิตยสารสตรีสาร
เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2458
คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง นักเขียน รางวัลศรีบูรพา ปี 2534,อดีตบรรณาธิการนิตยสารสตรี สตรีสาร นิตยสารสำหรับเด็ก “ดรุณสาร” นิตยสารข่าวสารรายสัปดาห์ “บุรุษสาร”, อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์, ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการประชาชน เมื่อปี พ.ศ. 2505(คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้) และ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า ใช้คำนำหน้าว่า “คุณ” (เนื่องจากยังโสด หากเป็นสตรีสมรสแล้วใช้ว่า คุณหญิง) เมื่อปี 2517
ชื่อเสียงของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เพราะเป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรี สตรีสาร ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากของไทย มาเป็นเวลา เกือบ 50 ปี กระทั่งนิตยสารได้ปิดตัวเองไปในปี 2539 ท่ามกลางความเสียดายของผู้อ่านจำนวนมาก
มีคนเล่าว่า “อาจารย์นิลวรรณเคยบอกว่า ดิฉันไม่เคยคิดว่าจะหาเงินจากการทำหนังสือ ดิฉันมาทำงานหนังสือ เพราะอยากให้คนอ่านได้อ่านได้อ่านหนังสือดีๆ เพื่อจะได้เกิดอนุสติบางอย่าง เพื่อให้คนอ่านได้รับรู้แง่มุมความคิดต่างๆของคนในสังคม”
วาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ในปี 2548 นอกจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดนิทรรศการ 100 ปี คุณนิลวรรณ ปิ่นทองและจัดกิจกรรมอภิปรายหัวข้อ “คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง:ผู้สร้างตำนานสตรีสาร” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยวิทยากร ได้แก่ กฤษณา อโศกสิน,ศ.วัฒนะ จูฑะวิภาต,ผศ.ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์,ชมัยภร แสงกระจ่าง,ผศ.ดร.สุระชัย ชูผกา ฯลฯ
สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังจัดพิมพ์หนังสือ “100 ปี คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง บนเส้นทางชีวิตบรรณาธิการของ คุณย่าบก.“,จัดรายการเสวนา “คิดถึงคุณย่า บก.” ณ ห้องประชุม อาคารพระกรุณานิวาสน์ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ถนนสุโขทัย และประกาศผลรางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปี 2558 ยกย่อง นายทองแถม นาถจำนง รับรางวัลบรรณาธิการดีเด่น
ประยูร จรรยาวงษ์
“ราชาการ์ตูนไทย” ผู้ให้กำเนิดตัวการ์ตูน “ศุขเล็ก”
เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
ประยูร จรรยาวงษ์ เป็นนักเขียนการ์ตูนที่ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้ทางสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆยาวนานกว่า 50 ปี (พ.ศ.2489 – 2535) ทั้งภาพล้อสังคมและการเมือง ผลงานการ์ตูนเรื่องยาววรรณคดีไทย นิทานพื้นบ้าน และผลงานการ์ตูนอื่นๆอีกมากมาย โดยเฉพาะการถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านที่เขาเรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิตของตน ผ่านการ์ตูนชุด “ขบวนการแก้จน” และ “ศุขเล็ก” คือตัวการ์ตูนสำคัญที่ประยูรสร้างขึ้นและถูกจดจำมาจนถึงทุกวันนี้
รางวัลระดับโลกที่นักเขียนการ์ตูนผู้นี้เคยได้รับคือ รางวัลชนะเลิศ การประกวดการ์ตูนสันติภาพโลก ณ กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2503 จากผลงานการ์ตูนชื่อภาพว่า “การทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย” และรางวัลแมกไซไซ สาขานักหนังสือพิมพ์ ปี 2514 ของ มูลนิธิรามอนแมกไซไซ
วาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ทายาทคือ ศุขเล็ก จรรยาวงษ์ และมูลนิธิประยูร จรรยาวงษ์ ได้มูลนิธิฯ ได้จัดทำหนังสือรวมเล่มเผยแพร่ผลงานการ์ตูนชุด “ขบวนการแก้จน” ขึ้นอีกครั้ง และสานต่อความฝันของประยูรซึ่งเคยไปฝึกงานทำการ์ตูนแอนนิเมชั่น ณ ดิสนีย์สตูดิโอ เมืองเบอร์แบงก์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 6 เดือน และอยากจะทำการ์ตูนแอนิเมชั่น ด้วยการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น 'นายศุขเล็ก' ที่คาดว่าจะออกอากาศทางโทรทัศน์ในราวต้นปี 2559,จัดโครงการประกวดวาดภาพการ์ตูนลายเส้น ของนักเรียนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รางวัล “ประยูร จรรยาวงษ์ เพื่อการ์ตูนไทย” ครั้งที่ 1 ,เปิดจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึกชุด 100 ปี ประยูร จรรยาวงษ์ และจัดนิทรรศการ 100 ปี ชาตกาล ประยูร จรรยาวงษ์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
มานี สุมนนัฎ
ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย
เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
“หวานตามองหาได้
แต่หวานใจนั้นไม่มี
ตาหวานเจอทุกที่
แต่ใจหวานดีไม่เจอ”
คือเนื้อร้องส่วนหนึ่งของเพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ “เพลงหวานใจ” ปี 2480 ซึ่งนำแสดงโดย จำรัส สุวคนธ์ และมานี สุมนนัฎ
ใครที่เคยเหยียบย่างเข้าไปในพื้นที่ของโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา คงสังเกตเห็น “สระประติมากรรม” ซึ่งมีรูปปั้นของนักแสดงหญิงผู้หนึ่งแช่อยู่ในน้ำ ขณะกำลังถ่ายทำภาพยนตร์
นักแสดงหญิงผู้นี้คือ “ฉวีวรรณ ดอกไม้งาม” หรือ “มานี สุมนนัฎ” ผู้ถูกนิยามว่าเป็น ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย
สระประติมากรรม จำลองมาฉากๆหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “เพลงหวานใจ” ขณะที่เรืออากาศเอกแห่งกองทัพไทย(รับบทโดย จำรัส สุวคนธ์) ผู้ขับเครื่องบินพลัดตกไปในประเทศสมมุตินามว่า “ซานคอสซาร์” แอบย่องมาข้างหลังพระราชินี(รับบทโดย มานี สุมนนัฎ)ผู้กำลังอาบน้ำอยู่ริมห้วย ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสาวชาวเกาะ
เพื่อความพิถีพิถันและระยะเวลายาวนานของการถ่ายทำฉากๆนี้ ทั้งนักแสดง ,ผู้กำกับ(ขุนวิจิตรมาตรา),ผู้ถ่ายภาพยนตร์(หลวงกลการเจนจิต) ต้องลงไปแช่อยู่ในน้ำ โดย มานี สุมนัฎ เคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอและพระเอก(จำรัส)ซึ่งถือเป็นนักแสดงคู่ขวัญ ต้องแช่น้ำอยู่ในห้วยนานถึง 8 ชั่วโมงเต็ม
วาระครบรอบ 100 ปี ของ มานี สุมนนัฎ นอกจาก จดหมายข่าว ฉบับเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม พ.ศ.2558 ของ หอภาพยนตร์ จะตีพิมพ์เรื่องราวของมานี สุมนนัฎ และนำภาพของเธอมาขึ้นเป็นภาพปก
ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ยังได้มีการจัดงาน “100 ปี มานี สุมนนัฎ ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย” เชิญทายาทและผู้เกี่ยวข้องมาบอกเล่าเรื่องราว, เปิดจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึกชุด 100 ปี มานี สุมนนัฏ นักแสดงระดับ “ดารา” คนแรกของไทย ฯลฯ
และส่วนหนึ่งของกิจกรรมคือการเชิญ อัญชลี จงคดีกิจ หลานแท้ๆของ มานี สุมนัฎ มาประทับรอยมือรอยเท้า บนลานดารา หน้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา และร่วมสนทนาในฐานะที่อัญชลีก็เคยเป็นนักแสดงผู้เคยมีผลงานปรากฏอยู่ในจอเงิน
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.