มื้อหน้า เป็นไปได้ว่า โต๊ะอาหารนี้ อาจไร้เงาใครบางคน
และใครบางคนอาจเลิกเสียดาย ที่ชีวิตนี้ยังไม่ได้มีโอกาสลิ้มรส “ซุปหูฉลาม” อาหารราคาแพงที่ปรุงมาจากครีบส่วนต่าง ๆ ของปลาฉลาม และมีประวัติความเป็นมาย้อนไปได้ถึงสมัยราชวงศ์หมิง
เมื่อคุณลองเปิดใจรับรู้ข้อมูลและพาตัวเองไปชม นิทรรศการ “ฉลาม 100%” ที่กำลังเปิดแสดงอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งจัดโดย Fin Free Thailand โดยการสนับสนุนของ Canon M arketing (Thailand) มูลนิธิ Freeland และ Love Wildlife
ในเเต่ละปีมีปลาฉลามมากกว่า 73 ล้านตัวที่ถูกล่าเเละฆ่าเพื่อตอบสนองความต้องการการบริโภคหูฉลาม (หรือครีบ) เป็นผลให้จำนวนประชากรฉลามได้ลดลงอย่างรวดเร็วจนเป็นอันตรายเเละหายนะอันใหญ่หลวงต่อสัตว์ชนิดนี้
เพื่อการรณรงค์ลดเลิกการซื้อขาย และบริโภคหูฉลาม นิทรรศการครั้งนี้ จึงได้ใช้ศิลปะของศิลปินและช่างภาพ จำนวน 4 ท่าน เป็นเครื่องมือเพื่อแสดงถึงความเป็นจริง เบื้องหลังการบริโภคหูฉลามและเน้นย้ำให้เห็นอันตราย,ความเสี่ยงต่อสุขภาพ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เมื่อบริโภค “ซุปหูฉลาม”
Paul Hilton ช่างภาพผู้ได้รับรางวัล World Press Award ปี 2012 จากภาพถ่ายกระบวนการทำหูฉลาม ถูกนำมาจัดแสดงพร้อมกับภาพชุดครีบฉลามตากเเห้งกว่า 300,000 ครีบ บนหลังคาอาคารในฮ่องกง
“งานของผมมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราทุกคนที่เป็นผู้บริโภคสามารถสร้างความแตกต่างกับทางเลือกที่เราตัดสินใจในทุกๆวันได้ เรามีอำนาจที่จะช่วยสงวนพันธุ์ สัตว์ที่น่ามหัศจรรย์ชนิดนี้ได้”
จิรายุ เอกกุล ช่างภาพผู้มีความชำนาญในการถ่ายภาพสัตว์ใต้น้ำ เเละนักรณรงค์เพื่อสิ่งเเวดล้อม นำเสนอภาพอันสวยงามของฉลามที่กำลังอยู่ในภาวะปกติตามธรรมชาติของมัน
“ภาพถ่ายใต้ทะเลของผมทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งในฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ความรู้สึกของผมที่ได้เห็นและถ่ายรูปปลาฉลามเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก โดยเฉพาะฉลามวาฬ ซึ่งเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความพิเศษและสวยงามมาก ชุมชนนักประดาน้ำต่างรู้กันดีว่า โอกาสที่จะได้เห็นปลาฉลามลดลงไปทุกที โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้”
ศิลปินคนที่ 3 เป็นผู้ ไม่ประสงค์ออกนาม เขาสร้างผลงานศิลปะจัดวางมาเพื่อสะท้อนให้ผู้ชมเห็นถึงวัฒนธรรมการบริโภคหูฉลามอย่างไม่คิด
“อาหารเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นที่สุดของประเทศจีน การบริโภคอาหารที่มีราคาสูง และหาทานได้ยากอย่างเช่นหูฉลาม ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง มีอายุยืนยาว โดยขาดผลกระทบที่มีต่อสัตว์สายพันธุ์ดังกล่าว หรือต่อระบบนิเวศวิทยาของโลก การบริโภคหูฉลามได้กลายเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่าต้องทำ โดยเฉพาะในภาวะสังคมทุนนิยมที่กระจายไปทั่วในประเทศจีน”
นอกจากนั้น ปี 2011 หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น ศิลปินนิรนามคนเดียวกันนี้ได้ร่วมกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นทำโครงการ Dilemma Association เกี่ยวกับความหายนะของการเฉลิมฉลองหลังภาวะวิกฤติ และการตระหนักรู้ในความละเอียดอ่อนของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
เช่นกันว่าผลงานที่นำมาร่วมแสดงในนิทรรศการ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เขาทำร่วมกับเพื่อนชาวแดนอาทิตย์อุทัย
“ข้าพเจ้าและเพื่อนชาวญี่ปุ่นตั้งใจที่ไม่ประสงค์ออกนาม เนื่องจากละอายในฐานะมนุษย์ที่ยังเห็นความไม่ยุติธรรมนี้ดำเนินต่อไป โดยที่พวกเราสามารถแสดงออกได้เพียงเล็กน้อย”
และศิลปินคนสุดท้าย สิปปกร กังสาภิชาติ ผลงานของเขาเป็น วีดีโอ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปลาฉลาม, จุดเริ่มต้นก่อนจะได้มาซึ่งเมนู “ซุปหูฉลาม” และเน้นย้ำให้ผู้ชมเห็นถึงอันตราย,ความเสี่ยงต่อสุขภาพ,ผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อม เพื่อปลุกให้ผู้บริโภคหูฉลามตื่นขึ้นจากความเย้ายวนของการบริโภคอาหารเมนูนี้
รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับการที่มีเครือโรงแรมชื่อดังในเอเชีย ให้ความร่วมมือด้วยการตัดเมนู “ซุปหูฉลาม” ออกจากรายการ
ท่ามกลางความเป็นจริงที่ยังมีภัตราคารหลายแห่งพยายามฟ้องร้องเอาความ และหลายภัตรคาร แม้แต่ร้านอาหารเล็กๆตามตรอกซอกซอย พร้อมที่จะเสิร์ฟอาหารเมนูนี้ให้กับคุณ.. และคุณ ทุกเมื่อ
“คนส่วนมากมักไม่รู้ความจริงเบื้องหลังการบริโภคหูฉลาม ผมต้องการสื่อให้เห็นถึงข้อมูล และนำเสนอความจริงใกล้ตัว ผ่านวัตถุและสื่อกราฟฟิคบนจอภาพ เมื่อผู้ชมได้ดูงานชิ้นนี้จนจบ ผมหวังเป็นอยากยิ่งว่าจะได้รับความรู้มากพอที่จะเลิกบริโภคหูฉลาม”
นิทรรศการ ฉลาม 100% วันนี้ – 22 มีนาคม พ.ศ.2556 ณ WTF Cafe’ & Gallery สุขุมวิท 51 กรุงเทพฯ โทร.0-2662-6246
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.