Event

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงออกแบบ ตราสัญลักษณ์ “บาติกโมเดล” มุ่งสู่สากล

Pinterest LinkedIn Tumblr


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบเเละพระราชทานตราสัญลักษณ์สำหรับ โครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่มีความหมายอันลึกซึ้ง โดยทรงออกแบบเป็นภาพตัวอักษรภาษาอังกฤษคำว่า “BATIK MODEL” เพื่อใช้สื่อสารอย่างเป็นสากล ต่อยอดการพัฒนาผ้าลายพระราชทาน การพัฒนาทักษะ และองค์ความรู้ด้านผ้าบาติก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีความทันสมัย ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ภายในตัวอักษรคำว่า BATIK มีลวดลายสายน้ำและกัลปังหา แทรกอยู่ ซึ่งสื่อความหมายดังนี้


“สายน้ำ” สื่อถึงหยาดหยดสี ที่ช่างบาติกถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ผ่านผืนผ้าบาติกชิ้นเอก ส่วน “กัลปังหา” สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย หนึ่งในแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลวดลายผ้าบาติกภาคใต้

รวมทั้งสัญลักษณ์ “ภาพนกยูง” ที่ใช้แทนตัวอักษร “I” ภาพนกยูง สื่อถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และนกยูงยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และความสวยงามของธรรมชาติ

“ภาพดอกดาหลา” ตรงตัวอักษร “A” คือดอกไม้พื้นถิ่นภาคใต้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความมุ่งมั่นของช่างบาติก ในการสร้างสรรค์ผ้าผืนงามที่มีเอกลักษณ์


ทั้งนี้ ภายในตราสัญลักษณ์ยังประกอบด้วย “ดอกพุดตาน” ที่เป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ จุดกำเนิดภูมิปัญญาการรังสรรค์ผ้าบาติก เเละ “ผีเสื้อ” ที่หมายถึงการยกระดับผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกภาคใต้ ให้เป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากล

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานตราสัญลักษณ์สำหรับ โครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่มีความหมายอันลึกซึ้ง ก่อกำเนิดแรงบันดาลใจให้กับสมาชิกทั้ง 7 ชุมชนได้แก่ เก๋บาติก, SALOMA (ซาโลมา ปาเต๊ะ), วิสาหกิจชุมชนไฑบาติกเขาคราม (ไฑบาติก), กลุ่มผ้าปาเต๊ะ (นินา ปาเต๊ะ), บาติก เดอ นารา, ยาริง บาติก และรายา บาติก ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” ดำเนินงานโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

ที่มา FB : HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya, FB : ผ้าไทยใส่ให้สนุก

Comments are closed.

Pin It