ขณะที่ยุโรปโปรโมทผู้นำคนรุ่นใหม่วัยไม่ถึง 50 เป็นว่าเล่น แต่ในโลกนี้มีผู้นำประเทศในวัย 70 อัพ อยู่มากมาย
ตั้งแต่ “พอล บียา” ประธานาธิบดีของคาเมรูน ที่ขึ้นแท่นกลายเป็นผู้นำประเทศที่อายุมากที่สุดในโลก หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบท ที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ด้วยวัย 89 ปี
เด็กหนุ่มจากตอนใต้ของคาเมรูน เข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีอาห์มาดู อาห์อิโย เริ่มรกการเป็นเลขาธิการของประธานาธิบดี ระหว่างปี 1968 – 1975 และได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของคาเมรูน ระหว่างปี 1975 – 1982 ก่อนที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนอาห์มาดู อาห์อิโย ที่ประกาศลาออก ตั้งแต่ปี 1982
พอล บียา ใช้ระบบทหารมาปฏิรูปบ้านเมืองของคาเมรูน ให้เหลือพรรคการเมืองเดียว ในทศวรรษที่ 1980s ก่อนจะเปิดเสรีให้มีหลายพรรคได้ในอีก 10 ปีต่อมา หลังถูกกดดันจากหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม เขาชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดี ในปี 1997, 2004, 2011 และ 2018 แม้จะมีการกล่าวหาเรื่องเขาโกงผลคะแนนเลือกตั้ง แต่ก็หาหลักฐานเอาผิดไม่ได้
“นายพลมิเชล นาอิม อวน” ผู้นำเลบานอน วัย 89 ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเลบานอนตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2016 เขาเกิดในครอบครัวชาวคริสเตียนนิกายมาโรไนต์ เข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารในปี 1955 พอจบออกมาได้บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ปืนใหญ่ในกองทัพเลบานอน
ในปี 1984 มิเชล กลายเป็นผู้บัญชาการทหารที่อายุน้อยที่สุดของกองทัพ ที่ 49 ปี ระหว่างสงครามกลางเมืองของเลบานอน ประธานาธิบดีอามีเน เกมาเยล ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลทหาร โดยหลังจากที่รัฐสภาเลบานอนไม่สามารถโหวตเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ได้ มิเชล นาอิม อวน ก็ได้รับการเสนอชื่อขึ้นมาแทนผู้นำพรรคการเมืองคู่แข่งทั้ง 2 พรรคในขณะนั้น โดยเขาได้รับการสนับสนุนหลักๆ จากชาวคริสเตียนในเลบานอน นอกจากนี้ ยังได้การยอมรับจากอิรัก รวมทั้ง ซีเรีย และชาวมุสลิมก็ไม่ต่อต้าน
ผู้นำเลบานอนประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของทหารซีเรีย ในปี 1989 เขาต่อต้านข้อตกลงฏออีฟ ที่เป็นสัญญาประนีประนอมกันระหว่างประเทศอาหรับ นอกจากนี้ ยังปฏิเสธที่จะยอมรับประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง มิเชล รอดชีวิตจากการถูกลอบสังหาร ในวันที่ 12 ตุลาคม 1990 มาได้ แต่ไม่นาน เขาก็ถูกกองทหารซีเรียเข้ามาขับไล่ จนต้องลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศสถึง 15 ปี
ระหว่างลี้ภัย มิเชลได้ก่อตั้งรัฐบาลเลบานอนพลัดถิ่นขึ้น และเดินเรื่องระดับนานาชาติกดดันให้มีการถอนทหารซีเรียออกจากเลบานอน จนสามารถเดินทางกลับบ้านเกิด และคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้สำเร็จในวัย 83 ปี
ประธานาธิบดีของรัฐปาเลสไตน์ “มาห์มูด อับบาส” ก็อยู่ในวัย 87 ปี ก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นประธานองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) มาก่อน
มาห์มูด อับบาส ศึกษาจบทางด้านกฎหมายระดับปริญญาเอกในรัสเซีย เคยเป็นเคจีบี และทำงานแบบใต้ดินในปาเลสไตน์มาก่อนจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีของรัฐปาเลสไตน์ตั้งแต่มกราคม 2005
จริงๆ แล้วเขาต้องหมดวาระในปี 2009 แต่สภาของปาเลสไตน์โหวตให้เขาอยู่ต่อถึงปี 2010 แม้เขาจะเป็นที่รู้กันในระดับนานาชาติ ในฐานะประธานาธิบดีของรัฐปาเลสไตน์ ทว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสกับฟาตาห์ภายในประเทศ ทำให้มาห์มูดไม่ได้การยอมรับอย่างเป็นทางการเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เขามีบทบาทสำคัญในการเจรจาสงบศึกระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
“กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลลาซิส อัล ซาอุด” แห่งซาอุดีอาระเบีย พระชนมายุ 87 พรรษา ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี 2015 โดยทรงควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย ระหว่างปี 2015 – 2022
พระองค์ทรงเป็นโอรสพระองค์ที่ 25 ในกษัตริย์อับดุลลาซิส ผู้ทรงก่อตั้งประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าฟ้าชายของซาอุดีอาระเบีย ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงริยาด และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ก่อนจะทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระเชษฐา กษัตริย์อับดุลลาห์ ที่เสด็จสวรรคตไปเมื่อปี 2019
ภายใต้การปกครองของพระองค์ ทรงเห็นความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยออกกฎหมายใหม่ ให้สตรีชาวซาอุดีอาระเบีย สามารถขับรถไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ เป็นต้น
“กษัตริย์ฮาโรลด์ ที่ 5 แห่งนอร์เวย์” ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี 1991 ขณะนี้ทรงมีพระชนมายุ 85 พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระโอรสพระองค์ที่ 3 ในกษัตริย์โอลาฟ ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ กับเจ้าหญิงมาตาแห่งสวีเดน โดยทรงเป็นผู้สืบสันตติวงศ์พระองค์ที่ 2 ต่อจากพระราชบิดา ทว่า ในช่วงนั้นเยอรมนีได้บุกเข้ามายึดอำนาจในนอร์เวย์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สมาชิกราชวงศ์นอร์เวย์ต้องทรงลี้ภัยไปยังสวีเดนและสหรัฐอเมริกา ก่อนจะได้กลับมายังนอร์เวย์ในปี 1945 และได้ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยออสโล ตามด้วยโรงเรียนทหารนอร์เวย์ และมาต่อที่วิทยาลัยบัลลิโอล ในออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
หลังจากสมเด็จพระอัยกา กษัตริย์ฮากอน ที่ 7 เสด็จสวรรคตในปี 1957 เจ้าชายฮาโรลด์ ก็ได้เลื่อนพระยศเป็นเจ้าฟ้าชายฮาโรลด์ ขณะที่พระราชบิดาทรงขึ้นครองแผ่นดินนอร์เวย์
ระหว่างทรงเป็นเจ้าฟ้าชายแห่งนอร์เวย์ ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันกีฬาแล่นเรือในโอลิมบิก ปี 1964, 1968 และ 1972 ก่อนที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของการเล่นเรือใบนานาชาติ
เจ้าฟ้าชายแฮโรลด์ ทรงสมรสกับ ซอนยา ฮาราลด์เซน ในปี 1968 โดยความสัมพันธ์นี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เนื่องจากฝ่ายหญิงเป็นสามัญชน ทรงมีพระโอรส-ธิดา อย่างละ 1 พระองค์ คือเจ้าหญิงมาตา ลุยส์ และเจ้าชายฮากอน ที่กลายเป็นเจ้าฟ้าชายฮากอนเมื่อกษัตริย์ฮาโรลด์ ที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา ที่เสด็จสวรรคตในปี 1991
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก “มาเกรเท ที่ 2” ทรงปกครองเดนมาร์กมามากกว่า 50 ปีแล้ว หลังตากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบท ที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระองค์ทรงขึ้นแท่นเป็นผู้ปกครองประเทศที่อยู่ในบัลลังก์ยาวนานที่สุดในยุโรป
เจ้าหญิงมาเกรเท อเล็กซองดรีน ปอร์ฮีดูร์ อิงกริด ประสูติในปี 1940 ในราชวงศ์กลุกสเบิร์ก สายที่แยกไปจากราชวงศ์โอลเดนเบิร์ก ทรงเป็นพระธิดาพระองค์โตในกษัตริย์เฟรเดริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าหญิงอิงกริดแห่งสวีเดน พระองค์ทรงขึ้นเป็นผู้สืบสันตติวงศ์อันดับหนึ่งทันที เมื่อมีการเปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลให้สตรีสามารถขึ้นครองราชย์ได้ ในปี 1953 ก่อนจะทรงขึ้นครองราชย์ในปี 1972 หลังจากที่พระราชบิดาเสด็จสวรรคต โดยทรงเป็นผู้ครองบัลลังก์สตรีพระองค์แรกของเดนมาร์ก หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถมาเกรเทที่ 1 เคยปกครองอาณาจักรสแกนดิเนเวีย ในปี 1375 – 1412
สมเด็จพระราชินีนาถมาเกรเท ที่ 2 ทรงอภิเษกสมรสกับ อองรี เดอ ลาบอร์ด เดอ มงเปอซาต์ ทรงมีพระโอรส 2 พระองค์ คือเจ้าฟ้าชายเฟรเดริค และเจ้าชายโจอาคิม
Comments are closed.