พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเคยรอเป็นเวลานาน ก่อนที่จะได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อไปก็ถึงคราวของ เจ้าชายวิลเลียม เช่นเดียวกันกับ เจ้าชายฮาคอน มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ ว่าแต่ส่วนที่เหลือของยุโรป มีรัชทายาทจากราชวงศ์ไหนบ้างที่จะสืบบัลลังก์ในอนาคต มาดูกัน?
:: เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (เบลเยี่ยม)
หลังจากเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญช่วงต้นทศวรรษ 1990ทำให้ผู้หญิงขึ้นครองบัลลังก์ในเบลเยี่ยมได้ ในฐานะพระราชธิดาองค์โตของสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปป์แห่งเบลเยี่ยม เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงอยู่ในลำดับถัดไปของการสืบสันตติวงศ์ “ดัชเชสแห่งบราบานต์” คือตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และทรงเข้าพิธีสาบานตนเมื่อปีที่แล้ว ขณะมีพระชันษา 22 ปี
:: เจ้าหญิงคาทารินา-อมาเลีย (เนเธอร์แลนด์)
พระราชธิดาองค์โตของ สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ และสมเด็จพระราชินีแม็กซิมา ทรงเป็นอันดับแรกที่สืบราชบัลลังก์ดัตช์ เจ้าหญิงอมาเลียเพิ่งฉลองวันราชสมภพครบรอบ 20 ปี เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นับตั้งแต่พระชันษา 18 ปี พระองค์ทรงงานราชการและเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาของรัฐบาล
:: เจ้าชายคริสเตียน (เดนมาร์ก)
ช่วงต้นปีมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และน่าประหลาดใจในเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 ทรงสละราชบัลลังก์ที่ครองมานานกว่าห้าทศวรรษและผู้สืบทอดคือ “สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 แห่งเดนมาร์ก” ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โต ส่วน เจ้าชายคริสเตียน พระราชโอรสองค์โตของพระองค์ ได้ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร รวมทั้งเป็นสมาชิกถาวรของสภาแห่งรัฐ และรับหน้าที่เป็นประมุขเมื่อพระบิดาเสด็จไปต่างประเทศ
:: เจ้าหญิงวิกตอเรีย (สวีเดน)
สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ทรงครองราชย์ 50ปีแล้ว ลำดับถัดไปก็จะเป็นคิวของมกุฎราชกุมารีวิกตอเรีย พระราชธิดา แต่ไม่ได้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ต้น เพราะราชสำนักปรารถนาจะให้รัชทายาทชายเป็นผู้สืบบัลลังก์ ซึ่งก็คือ “เจ้าชายคาร์ล ฟิลิป” พระอนุชาของเจ้าหญิงวิกตอเรีย แต่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในปี 1980 กลายเป็นไม่ว่าเพศไหน ทายาทองค์โตเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ขึ้นครองบัลลังก์
:: เจ้าหญิงเลโอนอร์ (สเปน)
พระราชธิดาองค์โตของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน และสมเด็จพระราชินีเลติเซีย เพิ่งฉลองวันราชสมภพครบรอบ 18ปี และทรงเข้าพิธีสาบานตนตามรัฐธรรมนูญ หากเจ้าหญิงเลโอนอร์ขึ้นครองบัลลังก์เมื่อไหร่ จะทรงกลายเป็นประมุขหญิงแห่งรัฐคนแรกของสเปน นับตั้งแต่ปี 1868
:: เจ้าชายฌากส์ (โมนาโก)
ด้วยพระชันษา 8 ปี เจ้าชายฌากส์นับเป็นผู้สืบบัลลังก์ที่อายุน้อยที่สุดในราชวงศ์ยุโรป “เจ้าชายอัลเบิร์ตที่ 2” พระบิดาทรงหมายมั่นจะให้ทรงงานตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ “เจ้าหญิงชาร์เลน” พระมารดา ทรงปรารถนาจะให้เจ้าชายฌากส์และเจ้าหญิงกาเบรียลลา-ฝาแฝด ได้ใช้ชีวิตเฉกเช่นเด็กคนอื่นๆ และแม้ว่าเจ้าหญิงกาเบรียลลาจะมีพระชันษามากกว่าเจ้าชายฌากส์สองนาที แต่ก็ไม่สามารถขึ้นครองบัลลังก์ได้ ราชวงศ์โมนาโกยังมองว่าโอรสองค์โตควรเป็นผู้สืบทอด
:: เจ้าชายกีโยม (ลักเซมเบิร์ก)
ลักเซมเบิร์ก ยังคงมีสถาบันกษัตริย์สืบทอดทางพันธุกรรม และแกรนด์ดยุคกีโยม ซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตของ “แกรนด์ดยุคอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์ก กับแกรนด์ดัชเชสมาเรีย เตเรซาแห่งลักเซมเบิร์ก” จะได้ขึ้นครองบัลลังก์ในวันหนึ่ง พระองค์ทรงมีพระโอรสสองพระองค์กับพระชายา “สเตฟานี”
Comments are closed.