Advice

แพทย์แนะวิธี 4 ตั้งรับเมื่อรู้ว่าเป็น “มะเร็ง”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ปัจจุบันสถิติผู้ป่วยมะเร็งทียังมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงขึ้นในทุกๆ ปี ในแต่ละวัน และ “มะเร็ง” ยังคงเป็น 1 ใน 10 อันดับโรคร้ายที่เป็นภัยคร่าชีวิตคนไทยและผู้คนทั่วโลก โดยมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี มะเร็ง เป็นโรคร้ายที่ผู้คนทั่วโลกหวาดกลัว ด้วยอัตราการเสียชีวิตสูง และถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก อีกทั้งคนไทยยังมีความเชื่อว่าการป่วยด้วยโรคมะเร็ง ถือเป็น “โชคร้าย” และเป็นสัญญาณนับถอยหลังเวลาชีวิต เมื่อพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง หลายคนเกิดอาการช็อคทำอะไรไม่ถูก ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่พลาดโอกาสที่ดีที่สุดจากความสิ้นหวัง หมดกำลังใจ ไม่รู้จะเริ่มดูแลตนเองอย่างไรต่อไป จนบางครั้งเครียดจนปล่อยร่างกายโทรม เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่ปัจจุบันมีวิวัฒนาการด้านการรักษาที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบเร็ว และรีบตั้งหลักวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายเป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดระยะเวลารักษา


ปัจจุบันวงการแพทย์พยายามแสวงหาหนทางในการปฏิบัติตัวและการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก ผสมผสานกับแนวทางการรักษาแผนทางเลือกทั้งแผนไทย แผนจีนแผนสมุนไพร ควบคู่ไปกับหัวใจสำคัญของการรักษา คือ “กำลังใจและความร่วมมือดีที่ของผู้ป่วย” รวมทั้งของญาติผู้ดูแล

นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แนะแนวทางการตั้งรับสำหรับผู้ที่พบตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ดังนี้


1. “ตั้งสติ” และยอมรับความจริง การมีสติจะช่วยให้ผู้ป่วยมองทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา และรู้ว่าตนเองจะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้หายจากมะเร็ง แน่นอนว่าผู้ป่วยมักมีคำถามมากมายเกี่ยวกับโรคนี้ ดังนั้นผู้ป่วยควรปรึกษาคุณหมอเมื่อสงสัย ไม่คิดไปเอง ไม่วิตกเกินกว่าเหตุ ควรสอบถามและปรึกษาคุณหมอทุกอย่างเพื่อจะได้มีความรู้และความเข้าใจในการดูแลตนเอง ให้สามารถปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และรักษามะเร็งให้หายขาด


2. “รู้จักชนิดมะเร็งที่เป็น” ต้องรู้ว่าเป็นมะเร็งชนิดอะไร อยู่ในระยะไหน มีการแพร่กระจายไปที่ไหนหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยหาข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างถูกต้อง เช่น ข้อมูลอาหารสุขภาพของผู้ที่เป็นมะเร็ง อาการที่ต้องระวัง พฤติกรรมที่ต้องลด ละ เลิก เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยรู้จักมะเร็งที่เป็น ก็จะทำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี เพิ่มโอกาสให้หายขาดจากมะเร็งมากยิ่งขึ้น


3. “เตรียมความพร้อม” ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ของผู้ป่วยและคนในครอบครัว โดยเรื่องแรกที่ผู้ป่วยต้องเตรียมพร้อมคือเรื่องของอารมณ์ เพราะการเป็นมะเร็งไม่ใช่เรื่องดี ไม่มีใครอยากเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจจะมีอาการตกใจ เสียใจ กังวล สับสน ว่าทำไมต้องเป็นเราที่เจอเรื่องนี้ แต่มันคือความเป็นจริงที่ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากผู้ป่วยและญาติยอมรับความจริง แล้วเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อก้าวไปสู่การรักษา คู่กับการมีครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนและดูแล จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนตัดสินใจเข้ารับการรักษาต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ นอกจากการเตรียมความพร้อมในขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่ครอบครัวสามารถช่วยผู้ป่วยได้คือการให้กำลังใจ เพราะกำลังใจจากคนที่เรารักนั้นเปรียบเสมือนยาวิเศษที่ปลอบประโลมจิตใจ ว่าไม่ได้เผชิญเรื่องนี้เพียงลำพังตัว หากแต่ยังมีครอบครัว เพื่อน รวมทั้งคนใกล้ชิด ที่จะอยู่เคียงข้าง คอยจับมือฝ่าฟันช่วงเวลาเหล่านี้ไปด้วยกัน นอกจากกำลังใจจากคนรอบข้างแล้ว กำลังใจของผู้ป่วยเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะกำลังใจจากคนรอบข้างคงไม่มีความหมาย ถ้าใจของเจ้าตัวไม่สู้ตั้งแต่แรก ดังนั้นขอให้ผู้ป่วยอย่าท้อหรือสิ้นหวัง และเข้มแข็งเข้าไว้ เพื่อที่จะฝ่าฟันเรื่องนี้ไปให้ได้


4. “เลือกสถานที่การรักษา” ที่มีความพร้อม และอยู่ใกล้บ้าน สามารถเดินทางได้สะดวก เพราะสิ่งที่สำคัญของการรักษาคือ การรักษาอย่างต่อเนื่องระยะยาว ดังนั้นการที่เลือกสถานที่รักษาที่เดินทางได้สะดวกก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่เหนื่อยกับการรักษา ไม่เหนื่อยกับการเดินทางไปกลับที่ใช้เวลานาน การเลือกสถานที่รักษาที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับมะเร็งชนิดที่ผู้ป่วยเป็นเป็นพิเศษ ก็จะยิ่งเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย และเพิ่มโอกาสที่จะรักษามะเร็งได้หายขาดมากขึ้น การเริ่มปฏิบัติตนตามข้อเสนอแนะเบื้องต้น ถือเป็นการเพิ่มความเข้าใจของผู้ป่วยที่มีต่อโรคมะเร็ง ทำให้มีการรับมือที่ดี เตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และกำลังใจที่ดี พร้อมเข้ารับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่โอกาสที่จะหายเป็นปกติ สิ่งสำคัญควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอทุกปี

Comments are closed.

Pin It