Advice

กรน ละเมอ สะดุ้ง นอนไม่หลับ! เรามีวิธีงีบให้สงบมาบอก

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

การนอนไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะอย่างที่รู้ว่า 1 ใน 3 ของชีวิตคือ การนอน ฉะนั้นหากคุณนอนไม่สบาย งีบไม่สงบ ตื่นมามีปัญหาแน่ !

“ปัญหาการนอน ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณอ่อนเพลีย และรู้สึกหงุดหงิดกับสิ่งรอบตัวเท่านั้น แต่มันยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอีกหลายอย่าง รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้นด้วย” ข้อมูลจากนิตยสาร European Heart Journal ระบุไว้

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดกับการนอนมีหลายประการ ทั้งนอนไม่หลับ นอนกรน นอนมากเกินพอดี ฯลฯ เหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาให้กับชีวิตคุณไม่น้อย โอกาสนี้เราขอรวบรวมสารพัดปัญหาการนอนมาบอกเล่า พร้อมบอกถึงที่มา และแนวทางการแก้ไขสุดเจิดมาด้วย เพื่อให้คุณๆ ‘หลับสบาย ตื่นสดชื่น’ กันถ้วนหน้า…

ปัญหา => สลึมสลือ หลังตื่นนอน

เคยมั้ยคะ ที่ตื่นในยามเช้าแล้วรู้สึก สลึมสลือ เหนื่อยล้าอ่อนเพลียไปหมด ทั้งที่เมื่อนับชั่วโมงการนอนแล้ว ก็ไม่ได้น้อยสักหน่อย ขอเฉลยว่าสาเหตุที่ทำให้คุณสลึมสลือยามตื่นนั้น อาจมาจากการที่ร่างกายของคุณทำงานแปรปรวนเข้าให้แล้ว!

“ร่างกายต้องการที่จะนอนหลับ และตื่นขึ้นมาในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อที่ระบบภายในร่างกายจะได้มีเวลาเตรียมพร้อมก่อนคุณตื่นนอน 1 ชั่วโมง” นายแพทย์ Neil Stanley ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนให้ข้อมูล

พร้อมยกตัวอย่างว่า หากคุณตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน เช่น 7 โมงเช้าลุกจากเตียง ทำเช่นนั้นสม่ำเสมอไปสัก 1 สัปดาห์ ร่างกายของคุณจะเริ่มปรับตัว และรู้ว่าเมื่อถึงเวลา 6 โมงเช้า จะต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมที่จะตื่นอย่างสมบูรณ์ในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลพวงมาจากการที่ ร่างกายของเรา ฉลาดเหลือหลาย จึงสร้างฮอร์โมน (hormone) ตั้งเวลาปลุกตัวเองได้ เช่นเดียวกับการสร้างฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันการขับปัสสาวะในเวลากลางคืน

“แม้จำนวนปัสสาวะจะเพิ่มขึ้นในเวลากลางคืน แต่ร่างกายก็จะควบคุมการปวดปัสสาวะเอาไว้ เพื่อให้คุณไม่ต้องสะดุ้งตื่นไปเข้าห้องน้ำกลางดึก” คุณหมอ Stanley อธิบาย

ขณะที่ศาสตาราจารย์ Kevin Morgan แห่งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการนอน ก็ออกมาสำทับข้อมูลนี้ว่า “เมื่อใกล้ถึงเวลาตื่น น้ำย่อยในกระเพาะอาหารจะเริ่มถูกผลิตออกมา เพราะเข้าใจว่ามันกำลังจะต้องย่อยอาหารในอีกไม่ช้านี้”

ทว่าส่วนใหญ่แล้วมักไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลายคนเหลือเกิน ที่ตื่นเช้าในวันจันทร์-ศุกร์ เวลาเดียวกันสม่ำเสมอ ครั้นพอวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็มักต้องการผ่อนคลายชีวิตด้วยการนอนดึก และตื่นสายๆ ซึ่งต้องเตือนกันไว้เลยว่า การทำเช่นนั้นไม่ดีต่อระบบของร่างกายค่ะ เพราะจะทำให้ร่างกายแปรปรวน จนทำให้เมื่อตื่นขึ้นในเช้าวันจันทร์ แทนที่จะรู้สึกกระฉับกระเฉง เพราะได้พักเต็มที่ กลับจะรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ไม่สดชื่นไปซะได้ นั่นเพราะร่างกายคุณเริ่ม ‘งง’ ว่า เอ๊ะ… นี่ถึงเวลาตื่นแล้วเหรอเนี้ย?

วิธีแก้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน Stanley แนะนำว่า ควรปรับพฤติกรรมของตัวเองให้เข้านอน และตื่นเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อควบคุมนาฬิกาภายในร่างกายให้ทำงานปกติ เพราะการที่คุณนอนและตื่นไม่เป็นเวลา จนเกิดอาการงัวเงีย สลึมสลือ ในช่วงเช้านั้น ไม่ใช่โรค แต่คือ อาการไม่พึงประสงค์ ที่เกิดจากพฤติกรรมของตัวคุณเองค่ะ

ปัญหา => ละเมอ ในเวลานอน

มีความเป็นไปได้ที่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (alcohol), ยา, พันธุกรรม หรือความเครียดภายในจิตใจ อาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะการนอนละเมอได้

“อาการละเมอคือ การที่คุณสามารถยืน เดิน หรือพูดได้ขณะที่ยังหลับอยู่ได้ เพราะสมองส่วนหนึ่งจะหลับลึก ขณะที่ร่างกายส่วนอื่นๆ ถูกกระตุ้นให้เคลื่อนไหว ทั้งที่คุณยังหลับอยู่” ดร. Stanley กล่าวถึงภาวะการละเมอ

สำหรับอาการละเมอนี้ ในเด็กเล็กจะพบได้มาก เพราะสมองของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนในผู้ใหญ่สาเหตุที่ละเมอ อาจมาได้ทั้งจากฤทธิ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พันธุกรรม ความเครียด หรือแม้แต่ยาบางชนิดที่ใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการละเมอในยามงีบหลับได้

วิธีแก้ การละเมอ หรือตื่นขึ้นมายามนิทรา อาจไม่ได้เป็นอันตรายกับคุณมากนัก แต่เมื่อใดที่มันส่งผลกระทบต่อชีวิต เช่น ทำให้คุณเครียด เพราะกลัวจะละเมอเดินออกจากบ้านไปไหนต่อไหน โดยไม่รู้ตัวแล้วละก็ ประการแรกลอง ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสียก่อน หากยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้คุณไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องต่อไป

ปัญหา => นอนไม่หลับ จนกว่าจะดึก

แม่สาวค้างคาว มนุษย์กลางคืนต้องฟังแล้วจำให้ขึ้นใจ ว่ามันไม่ดีเอาซะเล้ย.. กับการที่คุณจะนอนดึกทุกวี่ทุกวัน เพราะนั่นเป็นการทำให้ร่างกายของคุณแปรปรวน กลายเป็นคนนอนดึก ตื่นสาย ซึ่งนั่นส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณด้วย

ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับของร่างกายที่ชื่อว่า ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) จะทำงานได้ดีในเวลากลางคืน เมื่อสมองรู้ว่าเป็นช่วงกลางคืน ฮอร์โมนเมลาโทนินนี้ ก็จะหลั่งออกมาเพื่อช่วยให้ร่างกายหลับได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างความแข็งแรง ปรับสมดุลให้ร่างกาย (ตามคุณสมบัติของ ฮอร์โมนเมลาโทนิน) แต่เมื่อสมองเห็นแสงสว่างในช่วงกลางวัน ก็จะสั่งการให้ฮอร์โมนเมลาโทนิน หยุดทำงาน ฉะนั้นหากคุณนอนรุ่งสางทุกวัน ฮอร์โมนสุดเลิศตัวนี้ คงแทบไม่มีโอกาสได้ออกมาปฎิบัติการ เสริมสร้างร่างกายเป็นแน่

วิธีแก้ ควรนอนหลับในตอนกลางคืน เพื่อให้เจ้าฮอร์โมนเมลาโทนินได้ทำงานเถอะค่ะ แม้คุณจะนอนดึกเสียชิน แต่ก็สามารถข่มใจเปลี่ยนพฤติกรรมได้ หากยังทำไม่ได้ แนะนำว่า ก่อนจะนอน ควรปิดไฟนีออน (Neon) แสงสว่างวาบ แล้วเปิดไฟสลัวที่หัวเตียงแทน เพราะแสงสลัวจะทำให้สมองรับรู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นเวลากลางคืนแล้ว จะช่วยให้คุณนอนหลับได้ง่ายขึ้นค่ะ

ปัญหา => นอนกรน / นอนกัดฟัน

หากคุณมีเวลานอนในแต่ละวัน 6-8 ชั่วโมงแล้ว แต่ตื่นเช้ามาทำงาน ก็ยังรู้สึกอ่อนเพลีย อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีความเป็นไปได้ว่า สาเหตุอาจมาจากการที่คุณมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้คุณนอนกรน และหยุดหายใจในเวลากลางคืน!

“ผู้คน 2 ใน 4 คน ประสบปัญหา นอนกรน และหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งอาการนี้มักเกิดในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีรูปร่างอ้วน” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอน Neil Stanley ระบุพร้อมอธิบายต่อว่า ผู้ที่นอนแล้วหยุดหายใจ มักหยุดหายใจเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 10-60 วินาที พอกลับมาหายใจอีกครั้งก็จะเกิดเป็นเสียงกรน ซึ่งระยะเวลาที่หยุดหายใจนั้นแม้จะไม่ยาวนาน แต่ก็ส่งผลให้ออกซิเจน (Oxygen) ในสมองค่อยๆ ลดลง กระทั่งสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นอยู่ตลอดเวลา จนเหมือนว่าคุณไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

“อาการนี้คนทั่วไปมักคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่แท้จริงแล้วมันส่งผลให้คุณรู้สึกไม่สดชื่น ตื่นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยล้า และเมื่ออาการเหนื่อยล้าในยามกลางวัน สะสมนานวันเข้า ก็อาจทำให้คุณมีอาการนอนกัดฟันร่วมด้วย”

วิธีแก้ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญการนอน แนะนำให้คุณไปพบแพทย์ เพราะคุณอาจไม่ทราบว่า ขณะนอน คุณกรน หรือกัดฟันหรือเปล่า แต่ถ้าคุณเหนื่อยล้าทุกวัน มันก็อาจเกิดจากสาเหตุที่คุณนอนกรน และ กัดฟันยามค่ำคืนนั้นก็เป็นได้

ปัญหา => สะดุ้งตื่นกลางดึก

มนุษย์สามารถนอนพักผ่อนได้เต็มที่ ในสถานที่ซึ่งตัวเองคิดว่าปลอดภัย การเปลี่ยนสถานที่นอนอาจทำให้คุณเกิดสภาวะเครียด หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ ดังนั้นคุณควรใส่ใจกับสภาวะแวดล้อมในสถานที่นอน ทำให้รู้สึกว่านอนแล้วปลอดภัย ไม่ใช่มีกระจกใสอยู่ปลายเตียง ตื่นมาเห็นเงาตัวเองแล้วสะดุ้งกันทุกคืน อย่างนั้นก็ม่ายไหว…

แต่อย่างไรก็ตาม อายุที่มากขึ้น อาจส่งผลให้คุณตื่นนอนกลางดึกได้ง่ายขึ้น เพราะผู้สูงอายุจะค่อยๆ เคลิ้มหลับอย่างช้าๆ แต่หากมีสิ่งรบกวนแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะสะดุ้งตื่นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะระบบฮอร์โมนในร่างกายได้เปลี่ยนแปลงไป

วิธีแก้ เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มทุกชนิดก่อนเวลาเข้านอน เพราะมันจะเป็นการกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะทำงาน จนทำให้คุณต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก รวมถึงจัดสรรสถานที่นอนให้เหมาะสม เพื่อที่หลับแล้วจะได้รู้สึกสงบ และปลอดภัยด้วยค่ะ
 

ปัญหา => นอนฝันร้าย

โดยปกติแล้ว คนเรามักฝันมากถึง 4-5 เรื่องต่อคืน ทว่าเราไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่ความฝันที่เราจำได้ มักเป็นความฝันช่วงก่อนตื่นนอน สำหรับสาเหตุที่ทำให้คุณฝันร้ายก็คือ การที่คุณมีความเครียด หรือวิตกกังวลในจิตใจ

วิธีแก้ เมื่อปัญหาฝันร้าย เกิดจากความวิตกกังวล การแก้ไข คงไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่า การพยายามลดความเครียด และปรับความคิด และจิตใจให้สงบหรอก ….ลองดูนะคะ

ปัญหา => สะดุ้งตื่นเร็วเกินไป

“ความเหนื่อย ความเครียด ที่สะสมอยู่ภายในจิตใจ อาจทำให้คุณนอนหลับไม่สบาย เกิดความกังวล จนคุณต้องตื่นนอนก่อนเวลา ซึ่งเรื่องนี้ผู้คนมักคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่แท้จริงแล้วมันคือ สัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังมีจิตใจที่หดหู่ หรือกังวลใจกับสิ่งใดอยู่ลึกๆ โดยที่คุณเองก็อาจไม่รู้ตัว” คุณหมอ Stanley ระบุ

วิธีแก้ พยายามฝึกตัวเองให้ อย่านอนคว่ำ เพราะนั่นเป็นการทำให้คุณหายใจไม่สะดวก จนต้องสะดุ้งตื่น ทั้งนี้ในเวลานอน จะมีระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่คนเราหลับได้ลึก แต่หลังจากนั้นหากคุณเปลี่ยนอิริยาบถโดยการนอนคว่ำ หรือมีเสียงเพียงเล็กน้อยรบกวน คุณก็อาจจะสะดุ้งตื่นได้ง่ายๆ

อีกประการสำคัญคือ เรื่องของความเครียดค่ะ สิ่งจำเป็นที่คุณควรทำคือ ปรับความคิดให้ผ่อนคลาย โดยอาจใช้วิธีออกกำลังกาย หรือฝึกสมาธิ เพื่อให้จิตใจได้คลายความวิตกกังวล

ปัญหา => นอนหลับมากเกินไป

ต้องสังเกตตัวเองให้ดีค่ะ สำหรับคุณสาวๆ ที่มีพฤติกรรมนอนยาว ลากตั้งแต่หัวค่ำยันบ่ายอีกวัน เพราะศาสตราจารย์ Francesco Cappuccio ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพการนอน แห่งมหาวิทยาลัย Warwick ยืนยันว่า “การนอนมากเกินควร ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้”

พร้อมให้ข้อมูลว่า การที่จู่ๆ คุณกลายเป็นคนที่ต้องการนอนเยอะผิดปกตินั้น อาจเป็นผลมาจากความหดหู่เรื้อรัง ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ กล่าวคือ เมื่อคุณเกิดความเครียด ระยะแรกคุณอาจนอนไม่หลับก่อน แต่เมื่อเกิดภาวะเครียด หรือหดหู่นานวันเข้า แทนที่จะนอนไม่หลับ ก็กลายเป็นนอนหลับยาวนานจนเกินพอดี

วิธีแก้ หากคุณอยู่ในภาวะหลับมากเกินควร นอนนานเกินไป แนะว่าควรหาทางระบายความเครียด โดยอาจใช้วิธีปรึกษาเพื่อน หากิจกรรมผ่อนคลาย หรือกระทั่งไปพบจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาหาทางปลดเปลื้องความเครียด หรือความกังวลใจออกไปซะ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับร่างกายคือ การนอนหลับอย่างพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป



เรียบเรียงจาก เดลิเมล์

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It