เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อ้วนได้รับเชิญให้ร่วมเวทีเสวนา ณ พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งจัดในหัวเรื่อง “บทบาทผู้หญิงกับการเมือง” จึงได้นำเสนอแนวคิดจากการที่ได้ศึกษาและทำงานวิทยานิพนธ์เรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมทางการเมือง” ให้กับผู้เข้าร่วมรับฟังไปบ้าง แต่เนื่องจากเวลาค่อนข้างจำกัดจึงทำให้ไม่สามารถนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องอื่นๆ ได้ จึงนำมาฝากไว้ ณ ที่นี้
จากการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2538 ที่ประชุมได้มีการรับรองปฎิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี (Beijing Declaration and Platform for Action) โดยจัดให้มีแผนปฏิบัติการในหลายเรื่องด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “สตรีกับอำนาจและการตัดสินใจ”
ซึ่งระบุให้รัฐบาลที่ได้เข้าร่วมในการรับรองปฏิญญาฯ ต้องปฏิบัติการ ดังนี้
(1)ตั้งใจมั่นที่จะกำหนดเป้าหมายให้มีความสมดุลระหว่างชายและหญิงในหน่วยงาน และคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐ ในฝ่ายบริหารกิจการสาธารณะ และในฝ่ายตุลาการ รวมทั้งการตั้งเป้าหมายเฉพาะและการดำเนินการมาตรการที่จะเพิ่มจำนวนสตรีให้มากขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้มีตัวแทนของผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมกันในตำแหน่งบริหารของรัฐบาลและกิจการสาธารณะทั้งมวล ถ้าหากจำเป็นก็อาจต้องใช้ปฏิบัติการเชิงบวก
(2)ใช้มาตรการที่กระตุ้นให้พรรคการเมืองรวมเอาผู้หญิงไว้ในตำแหน่งทางการ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในสัดส่วนและระดับเดียวกับผู้ชาย ในกรณีที่เหมาะสมก็ควรใช้ในระบบการเลือกตั้งด้วย
(3)ปกป้องและส่งเสริมสิทธิอันเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชายที่จะประกอบกิจกรรมทางการเมือง และที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม รวมทั้งการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง และสหภาพแรงงาน
(4)ทบทวนผลกระทบที่ต่างกันของระบบเลือกตั้งต่อการมีตัวแทนทางการเมืองของสตรีในองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง และพิจารณาปรับหรือปฏิรูประบบเหล่านั้นตามแต่จะเหมาะสม
(5)ติดตามและประเมินความคืบหน้าของการมีตัวแทนสตรี ด้วยการรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเกี่ยวกับผู้หญิงและผู้ชายในทุกระดับ ในตำแหน่งตัดสินใจต่างๆ ในภาครัฐและภาคเอกชน และเผยแพร่ข้อมูลจำนวนผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานในระดับต่างๆ ของรัฐบาลเป็นประจำทุกปี ประกันว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้เข้าถึง การแต่งตั้งตำแหน่งราชการทั้งหมดที่มีอยู่โดยเสมอภาค และจัดตั้งกลไกในโครงสร้างรัฐบาลสำหรับติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้
(6)สนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนและสถาบันวิจัยที่ทำการศึกษาการมีส่วนร่วมและผลกระทบของสตรีในการตัดสินใจและสภาพแวดล้อมการตัดสินใจ
(7)สนับสนุนให้ผู้หญิงในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจทุกระดับ
(8)สนับสนุนและในกรณีที่เหมาะสมประกันว่า องค์กรที่รับทุนจากรัฐบาลมีนโยบายและการกระทำที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มจำนวนและยกระดับตำแหน่งของสตรีในองค์กรเหล่านั้นให้สูงขึ้น
(9) ตระหนักว่า การแบ่งสรรงานและความรับผิดชอบในฐานะพ่อแม่ระหว่างผู้หญิง และผู้ชายจะช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะมากขึ้น และใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รวมทั้งมาตรการที่ประสานชีวิตครอบครัวและอาชีพการงานเข้าด้วยกัน
(10) มุ่งให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในรายชื่อของผู้ที่ได้รับการเสนอเป็น ตัวแทนของชาติในการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งไปทำงานในหน่วยงานของสหประชาชาติ องค์การชำนาญพิเศษ และองค์กรอสระอื่นๆ ในเครือข่ายของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งระดับอาวุโส
นอกจากนี้ ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ได้ระบุแผนปฏิบัติการในเรื่อง “สตรีกับอำนาจและการตัดสินใจ” ที่ต้องเกิดขึ้นในพรรคการเมือง ดังนี้
(1)พิจารณาตรวจสอบโครงสร้างและระเบียบการต่างๆ ของพรรคการเมือง เพื่อขจัดอุปสรรคทั้งปวงที่มีผลเลือกปฏิบัติต่อการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทั้งทางตรงและทางอ้อม
(2)พิจารณาที่จะพัฒนาการริเริ่มที่ยอมให้สตรีมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในโครงสร้างการตัดสินใจภายใน และกระบวนการในการเสนอชื่อเข้ารับเลือกตั้งและแต่งตั้งทั้งหมด
(3)พิจารณานำประเด็นบทบาทผู้หญิงและผู้ชายเข้าไปอยู่ในระเบียบวาระทางการเมืองใช้มาตรการเพื่อประกันว่าผู้หญิงจะสามารถมีส่วนร่วมในฐานะผู้นำของพรรคการเมืองบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับผู้ชายได้
ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ในเวทีโลก สะท้อนภาพความเป็นจริงว่า โลกให้ความสำคัญและสนใจในประเด็น “ผู้หญิงกับอำนาจและการตัดสินใจ” มาอย่างยาวนานสิบกว่าปี
แม้ว่า ประเทศไทยเองมีแผนการดำเนินงานด้านสตรีอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และต่อมาได้จัดทำแผนพัฒนาสตรีฉบับแรก คือ แผนพัฒนาสตรีระยะยาว (พ.ศ. 2525-2544) และแผนงานหลักสตรีระยะยาว (พ.ศ. 2535-2554) เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาสตรีระยะ 5 ปี ให้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8, 9 และ 10 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สตรีมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองและการบริหาร รวมทั้งการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ โดยการเสริมสร้างศักยภาพสตรีให้มีความพร้อม มีความรู้ ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึก อุดมการณ์ ค่านิยม จริยธรรม วัฒนธรรม ประชาธิปไตยและธรรมมาภิบาล
รณรงค์ให้ผู้ที่มีสิทธิให้โอกาสและสนับสนุนสตรี เสริมสร้างสมรรถนะและความเข้าใจแก่หน่วยงานที่มีความชำนาญด้านการพัฒนาภาวะผู้นำเตรียมความพร้อม ให้คำแนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์ และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของสตรี ทั้งการปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย การใช้มาตรการพิเศษชั่วคราว การรณรงค์ทางการเมือง
ทั้งหมดนี้ อาจเป็นเพียงนามธรรม ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ หากไม่มีการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม และจริงใจจากผู้ที่มีอำนาจ อ้วนเองก็คงได้แต่ฝากความหวังไว้กับ “พรรคการเมืองใหม่” ที่น่าจะเห็นความสำคัญของพลังผู้หญิงที่อยู่ร่วมต่อสู้กันมาอย่างยาวนานจากเวทีพันธมิตร 193 วัน จนถึงการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่นี้ด้วย
“บทบาทผู้หญิงในการเมือง” จะเป็นรูปธรรมได้จริง จึงต้องเริ่มต้นจากในพรรคการเมืองก่อนที่จะก้าวไปสู่การผลักดันแนวนโยบายในระดับรัฐบาล เพื่อให้สตรีได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองและการบริหาร รวมทั้งการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศต่อไปคะ
Comments are closed.