jatung_32@yahoo.com
ก่อนจะเกิดคำว่า “หย่าร้าง”
เราต้องผ่านคำว่า “ครอบครัว” และคำว่า “ความรัก” มาก่อน..
หากคำว่า “ครอบครัว” เกิดขึ้นจากคนสองคนตกลงใจจะใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกัน โดยมี “ความรัก” เป็นจุดเริ่มต้นของ “ความสุข” ที่จะต้องมีขึ้นภายในครอบครัว
เหตุผลของการหย่าร้างหรือแตกร้าวจนยากจะประสานภายในครอบครัวเกิดจากสิ่งใด?
เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น หรือไม่?
“ความรัก” หรือ “ความสุข” ไม่ได้มี ไม่ได้เป็น อย่างที่คาดหวัง อย่างนั้นหรือ?
**********
..มนุษย์ทุกคนต่างมีความเห็นแก่ตัวซ่อนอยู่ มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป
..มนุษย์ทุกคนต่างมีพื้นฐานของนิสัย การอบรมเลี้ยงดู เจตคติในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน
“การยอมรับ และให้อภัยกันได้” จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ปัญหาความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน ลดดีกรีความรุนแรงลงไป
และอย่าลืมว่า “การพึ่งพา การเรียกร้อง ไม่ได้ทำให้เรามีความสุข และก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นๆ มีความสุขเช่นกัน”
เพราะการพึ่งพาเป็นการแสดงตัวตนของการเป็นฝ่ายรับมากกว่าการเป็นฝ่ายให้ และเป็นกับดักที่มุ่งจะทำลายสัมพันธภาพระหว่างกัน
ความสุขที่แท้จริง เริ่มต้นที่ตัวเราเอง ภายในจิตใจตนเอง ที่มั่นคง เข้มแข็ง และเป็นอิสระได้โดยไม่ผูกมัดตัวเองไว้กับสิ่งที่เป็นทุกข์
เราต้องมี “สติ” ที่เห็นอารมณ์อันไม่แน่ ไม่นอน อันปวนแปร อันไม่น่ายึดถือใดๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์
ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้หญิงคือ การคิดวนเวียน ประเภทหาประตูทางออกไม่เจอบ้าง ประเภทตัดใจไม่ขาดบ้าง ให้โอกาสตัวเองเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำอีกได้เสมอ
บ่งบอกว่า เป็นคนที่ไม่รู้วิธี “รักตัวเอง” ให้เป็น
และเมื่อ “รักตัวเองไม่เป็น” ก็ย่อมส่งผลให้ “รักคนอื่นไม่เป็น” เช่นกัน
**********
เมื่อวันนี้ เกิดความคิดจะหย่า เพราะ “ความรัก”, “ความสุข” ได้บินหายออกไป ตามหาที่ไหนอย่างไรก็ไม่เจอ จากบ้านที่เคยอบอุ่นและเป็นสุข กลายสภาพเป็นทุกข์และเหน็บหนาว โดยไม่ต้องพูดถึงกรณี การด่าทอ ทะเลาะวิวาท หรือทุบตีกันนะคะ
ในแง่ของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องการความรัก ความสุข การยอมรับ การเอาใจใส่ การให้เกียรติ การเห็นคุณค่า และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเราคาดหวังว่าจะได้รับจากคนที่เรารักและรักเรา ซึ่งในชั่วเวลาหนึ่งเราเคยสัมผัส เราเคยได้รับ แต่บัดนี้ “มันไม่มีอีกแล้ว”
ถ้ามั่นใจว่า ทำใจยอมรับได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในอนาคต
คุณพร้อมจะลุกขึ้นมายืนประกาศความเข้มแข็ง เด็ดขาด ไม่แปรเปลี่ยน
ก็อย่าทำให้ตัวเองทุกข์เพราะใจที่ไม่ปล่อยวาง ถ้าคิดจะจบชีวิตคู่ ก็ให้ทุกข์เพราะชีวิตคู่นั้นจบไปด้วยจริงๆ
ปัญหาของผู้หญิงที่คิดจะหย่า คือ คุณต้องใช้สติแก้ปัญหา ไม่ใช่ใช้อารมณ์ตัดสิน ชีวิตคู่ที่คิดแต่การเอาชนะคะคานกัน มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในใจเราเอง อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะ “รักได้กลายเป็นแค้น” ไปเสียแล้ว
เมื่อตกผลึกความคิด มีสติรอบคอบ มั่นใจในอนาคตตนเองว่า ฉันอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ ไม่เก็บอดีตมาแบกให้หนักหัวใจได้
และการหย่าร้างจะทำให้เราเป็นอิสระจากความทุกข์ที่เผชิญอยู่ได้จริงๆ ก็ทำเถอะคะ ถ้าเจรจากันไม่ได้ และมีเหตุให้ฟ้องหย่าจากกันได้ ก็ลองดู
ถ้าไม่รู้ว่า เหตุแห่งการฟ้องหย่ามีอะไรบ้าง ก็ลองศึกษาดูนะคะ
1.สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
2.สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
– ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
– ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
– ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
3.สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
4.สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
– สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
– สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
5.สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาปสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
6.สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
7.สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิตกจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
8.สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
9.สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
10.สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
นอกจากนี้ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ในความผิดฐาน “ข่มขืนฯ” ไว้ว่า หากคู่สมรสข่มขืนกระทำชำเราคู่สมรสอีกฝ่าย โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ แม้เป็นการกระทำระหว่างคู่สมรสก็ผิดกฎหมาย และถ้าคู่สมรสฝ่ายที่ถูกข่มขืนไม่ประสงค์จะอยู่กินกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า กฎหมายนี้ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ เพื่อให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าได้อีกด้วยคะ
Comments are closed.