Art Eye View

“ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีทั้งความอดทนและสง่างาม” คำบอกเล่าของศิลปินแห่งชาติ “ถวัลย์ ดัชนี” เมื่อครั้งใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—แม้จะด่วนจากโลกนี้ไปก่อนตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557 ไม่ทันได้อยู่ร่วมบรรยากาศที่คนไทยทั้งประเทศโศกเศร้าอาลัยกับการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

แต่ล่าสุดจากบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ผ่าน YouTube เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 โดย บริษัท อะโพสโทรฟี ฟิล์มส์ (กรุงเทพ) จำกัด เพื่อเป็นการน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย ส่งดวงพระวิญญาณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรคาลัย

ทุกคนจึงได้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544 และศิลปินชื่อดังชาวเชียงราย กล่าวถึงเมื่อครั้งที่เขาได้มีโอกาสใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท พร้อมทั้งกล่าวยกย่องพระองค์ท่านด้วยว่า ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีทั้งความอดทน และสง่างาม มีหิริ (ความละอายต่อบาป) โอตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) และจากพระราชอิริยาบถที่เขาได้มีโอกาสสัมผัสอย่างใกล้ชิด บ่งบอกให้รู้ว่า ทรงมีหลักธรรมของศาสนาพุทธที่เรียกว่า สติปัฏฐาน 4 อยู่ครบถ้วน

“เมื่อผมยังเล็กๆ ผมเคยนั่งอยู่ข้างหลังในหลวงมาเป็นเวลา 5 ปี ในหลวงเนี่ยมาพระราชทานปริญญา ในหลวงเนี่ยมาแจกศิลปกรรมแห่งชาติ ผมเคยเฝ้าแหนอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

ผมเห็นว่าพระองค์เป็นคนเดียวเท่านั้นที่นั่งนิ่งอยู่สามชั่วโมง ไม่เคยกระดิกกระเดี้ยเนื้อตัวเลย เหมือนกับสุวรรณปฏิมาตั้งอยู่ในเรือทอง ท่านจะนิ่งสง่างาม ท่านจะไม่หลุกหลิก ท่านจะไม่ก้มลงไปกินน้ำ ท่านจะไม่คุยกับข้าราชบริพาร ท่านจะนิ่งสง่างามเป็นเวลาสามชั่วโมง

อันนั้นทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ขันติ คืออะไร ขันตินั้นคือความอดทน ขณะเดียวกันผมรู้ว่า ความเสงี่ยมงาม(สงบเสงี่ยม,สง่างาม) หรือ โสรัจจะ คืออะไร ไม่ใช่ขันตินั่งหน้าบึ้ง แต่นั่งอย่างอดทนและเสงี่ยมงาม คือมีทั้งขันติและมีทั้งโสรัจจะ มีทั้ง หิริ (ความละอายต่อบาป) และมีทั้ง โอตัปปะ(ความเกรงกลัวต่อบาป)

คือผมมองเห็นความสง่างามในองค์มหาราช ไม่ทรงไหวหวั่น รู้ว่ากำลังนั่ง ยืน เดิน หายใจเข้า หายใจออก นั่นคือเริ่มต้นของสิ่งที่เราเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การมีสติระลึกรู้กายเป็นฐาน ซึ่งกายในที่นี่หมายถึงประชุม หรือรวม นั่นคือธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟมาประชุมรวมกันเป็นร่างกาย ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็น รูปธรรมหนึ่งๆ เห็นความเกิดดับ กายล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา)รู้ว่านั่ง ยืน เดิน หายใจเข้า หายใจออกเป็นยังไง
 
และเมื่อรู้กายานุปัสสนาสติปัฏฐานผ่านไปแล้ว จึงรู้วทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(การมีสติระลึกรู้เวทนาเป็นฐาน ไม่มองเวทนาด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขาคือไม่มองว่าเรากำลังทุกข์ หรือเรากำลังสุข หรือเราเฉยๆ แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ เวทนาล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา) เป็นยังไง

แล้วจากเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ขึ้นไปสู่ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การมีสติระลึกรู้จิตเป็นฐาน เป็นการนำจิตมาระลึกรู้เจตสิกหรือรู้จิตก็ได้ ไม่มองจิตด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา คือไม่มองว่าเรากำลังคิด เรากำลังโกรธ หรือเรากำลังเหม่อลอย แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ จิตล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา)

แล้วจึงขึ้นไปสู่ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมเป็นฐาน ทั้งรูปธรรมและนามธรรมล้วนมีความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา) เรียกว่า สติปัฏฐาน 4 (เป็นหลักธรรมที่อยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นข้อปฏิบัติเพื่อรู้แจ้ง คือเข้าใจตามเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงโดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ สติปัฏฐานมี 4 ระดับ คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม) เรียกว่าองค์มหาราชของเรา ท่านมี สติปัฏฐาน 4 ครบถ้วนบริบูรณ์”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews