ART EYE VIEW—-หลังจากที่ผลงาน 2 ชิ้น ที่สร้างสรรค์ลงบนผนังอาคารธนาคารชาร์เตอร์ ถ. ภูเก็ต ตัด ถ.พังงา ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต กลายเป็นข่าวในช่วง 2- 3 วันที่ผ่านมา
วันนี้(12 เมษายน 2559) Alex Face หรือ พัชรพล แตงรื่น ศิลปิน Street Art เจ้าของผลงานได้โพสต์ภาพผลงานให้แฟนเพจได้ชมครั้งแรกทางหน้าเพจ ALEX FACE พร้อมอธิบายถึงความหมายของภาพ
ว่าภาพซึ่งพ่นด้วยสเปรย์เป็นภาพ “เด็กสามตาหน้าบึ้ง” หรือ “มาร์ดี” ตัวคาแรคเตอร์ในผลงาน Street Art ของเขาที่หลายคนคุ้นเคย ครั้งนี้ต้องการร่วมสืบทอด ประเพณี “อิ่วปึ่งในเสี่ยหนา” ซึ่งเป็นเพณีเก่าแก่ของชาวจีนใน จ.ภูเก็ต เพื่อเฉลิมฉลองเด็กที่เกิดใหม่
ขณะที่แฟนเพจหลายคนก็เข้ามาแสดงความเห็นทำนองว่า …ชอบมาก… ขอให้ภาพมีอยู่ต่อไปอีกนานๆ พร้อมกับโพสต์ภาพถ่ายตนเองที่ไปถ่ายคู่กับผลงาน
อาคารธนาคารชาร์เตอร์ อาคารที่ Alex Face สร้างสรรค์ผลงานลงไป เป็นอาคารรูปทรงชิโนโปรตุกีสอายุนับร้อย เป็นธนาคารแห่งแรกในภูมิภาคและ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันถูกจัดให้เป็น พิพิธภัณฑ์บาบ๋า เมืองภูเก็ต เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นอาคารที่ถูกอนุรักษ์ภายใต้ทรัพย์สินราชพัสดุ โดยเทศบาลนครภูเก็ต และภาคเครือข่ายร่วมปรับปรุงดูแลตามมาตรฐานการอนุรักษ์นานาชาติ
หลังจากถูกคนส่วนหนึ่งวิพากวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ไม่อยากให้ สร้างสรรค์ผลงานลงบนอาคารอนุรักษ์ ซึ่งเป็นจุดขายที่ดีอยู่แล้ว ผลงานศิลปะ 2 ชิ้นนี้สวย อาคารสวย แต่ไม่เหมาะที่จะมาอยู่ด้วยกัน และส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เป็นการสร้างสรรค์ ไม่ได้ทำลาย อยากเจริญต้องเปิดหูเปิดตารักศิลปะ จนกลายเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา นายกวี ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า
งบประมาณ ที่ใช้ในการจัดจ้างศิลปินมาสร้างสรรค์งานศิลปะ เป็นงบสนับสนุนจากภาคเอกชน ไม่ใช่ของเทศบาลนครภูเก็ต และรูปแบบของงาน สมาคมเพอรานากัน เป็นผู้ให้หัวข้อเรื่องแก่ศิลปิน เมื่อเกิดเสียงวิพากวิจารณ์เกิดขึ้นเทศบาลฯอยู่ในช่วงพูดคุยกับสมาคมฯว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และรับปากว่าจะให้ข้อมูลอีกครั้ง วันที่ 12 เมษายน 2559
และยังให้ข้อมูลด้วยว่า ไม่ใช่เฉพาะผนังของธนาคารชาร์เตอร์เท่านั้น ที่มีศิลปินชื่อดังมาสร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังมีผนังตามบ้านเรือนในเขตเมืองเก่าภูเก็ต หรือเขตย่านการค้าเมืองเก่าอีก 10 หลัง แต่ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเช่นกรณีผลงานของ Alex Face เนื่องจากเป็นเป็นอาคารส่วนบุคคล ไม่ใช่ของสาธารณะ เจ้าของยินยอมให้ทำงานศิลปะ
และมีความเห็นว่าสิ่งที่ทำให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์เกิดขึ้น อาจเพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข่าวก่อน ที่ศิลปินจะมาลงมือสร้างสรรค์ผลงาน
ขณะที่ข้อมูล เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนอาคารต่างๆ ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ของ กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่หมู่ 3 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ. ภายใต้การดูแลและควบคุมของกรมศิลปากร ระบุว่า อาคารธนาคารชาร์เตอร์ รวมไปถึงอาคารอดีตสถานีตำรวจตลาดใหญ่ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง แม้ว่าจะเป็นอาคารอนุรักษ์ และยังคงอยู่ในความดูแลของเทศบาลนครภูเก็ต แต่ ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแต่อย่างใด
กระทั่งข้อมูลล่าสุดจากการแถลงข่าวเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับ ผลงาน Street Art ของ Alex Face ที่ถูกวิพากวิจารณ์ ณ เทศบาลนครภูเก็ต เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2559 เวลาประมาณ 09.30 น.
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรี ,นายกวี ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรี และ นพ.โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตและนายกสมาคมเพอรานากัน ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า ผลงานศิลปะของ Alex Face เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ F.A.T. Phuket (Food Art Town) 12 ผนัง 12 ภาพ 12 วิถีชาวภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ หลัง จ.ภูเก็ต ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจาก UNESCO ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ City of Gastronomy โดยมีกลุ่มคนภูเก็ต พยายามที่จะผลักดันให้ภูเก็ต เป็นเมืองแห่งศิลปะ ได้รวมตัวกันในนาม So Phuket ร่วมกัน จัดทำภาพบนผนังจำนวน 12 ภาพ บน 12 ผนังในเขตเมืองเก่า เพื่อสะท้อน 12 วิถี คนภูเก็ตที่ผูกพันกับอาหารในเทศกาลและโอกาสต่างๆ
ขณะที่ นพ.โกศล ในฐานะ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และนายกสมาคมเพอรานากัน (ซึ่งกำหนดหัวข้อเรื่องให้แก่ศิลปิน เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน) เมื่อมีการวิพากวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของผลงานศิลปะของ Alex Face บนผนังตึก อาคารธนาคารชาร์เตอร์ จำนวนมาก แม้อีกจำนวนมากจะเห็นว่าเหมาะสม ตนขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม นางสาวสมใจ นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า จะยังไม่มีการอนุมัติเรื่องการลาออกจากตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตของ นพ.โกศล และจะยังไม่มีการลบผลงานของ Alex Face ออกจากผนังตึก อาคารธนาคารชาร์เตอร์ แต่จะมีการประชุมเพื่อหารือและหาข้อสรุปว่าจะมีทางออกอย่างไรอีกครั้ง ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์
Zenith Fixed Gear
มันเป็นความเห็นของผมและผมว่ามันก็คือความจริงนะ นักท่องเที่ยวเห็น ผมว่าพวกเขาคงไม่รังเกียจหรอกที่จะถ่ายรูป หรือจะวิจารณ์ไปในทางที่เสียหาย เม็ดเงินอาจะเยอะขึ้นก็ได้ในการท่องเที่ยว เพราะจะมีอีกหลายๆภาพที่กำลังจะทำ (ถ้าคุณไม่ไปเบรกโครงการนี้ก่อน) เพราะเขาจะทำมันให้เป็นแลนด์มาร์ค คุณบอกต้องอนุรักษ์ไว้ ให้คนรุ่นหลังดู แปลกไหมย่านเมืองเก่าบ้านเรา มีสักกี่หลังที่ดั่งเดิมจริงๆ หอนาฬิกาก็ไม่ได้ดั่งเดิมนะ ต่างประเทศเขาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว เขาพ่นก็ไม่ได้พ่นทั้งหมด ไม่ได้ทำลายแต่เป็นการสร้างสรรค์ ผมถามจริงๆนะ ยกตัวอย่าง ร้านโชห่วย สมัยนี้อยู่กันได้สักกี่ร้าน แล้วรถไฟประเทศไทยบ้านเราเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูสิ ญี่ปุ่นเขาไปถึงไหนแล้ว
คำถามคือ แล้วบ้านเราละไปถึงไหนแล้ว ?
โลกที่ไม่มีศิลปะ อยู่ยากนะครับ….
#อยากเจริญต้องเปิดหูเปิดตา #ยอมรับความจริง #อยากเห็นบ้านเกิดเจริญ #รักภูเก็ต #รักประเทศไทย #รักศิลปะ #รักสถาปัตยกรรม #กรุงโรมไม่ได้สร้างวันเดียวความเข้าใจก็เช่นกัน
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.