ART EYE VIEW— “การอ่านหนังสือมันช่วยในเรื่องการเดินทางภายใน ยิ่งคนทำงานศิลปะแบบที่ไม่ได้ไปนั่ง เขียน landscape ในสถานที่จริง เขียนภาพเหมือน ตามที่ตาเห็น แต่เป็นคนทำงานศิลปะแบบที่ดึงเรื่องราวภายในของตัวเองออกมา ทำงานออกมาตามสัญชาตญาณ ผมว่าการอ่านหนังสือยังสำคัญมาก แม้แต่หนังสือพระเครื่อง และหนังสืออาชญากรรมก็ตาม”
คือคำตอบของคนทำงานศิลปะชื่อ อุเทน มหามิตร สำหรับใครที่อาจมีคำถามว่า การอ่านหนังสือมีความสำคัญกับคนที่ทำงานศิลปะทางด้านทัศนศิลป์มากน้อยแค่ไหน
“ยิ่งเวลาผมวาดใบหน้าฆาตกร แบบที่ไม่ต้องดูแบบเพื่อวาด เมื่อเราอ่านหนังสืออาชญากรรม อ่านหนังสือพวกนี้อยู่แล้ว พอเวลาที่เราจะวาดภาพ มันจะดึงสิ่งที่เราบันทึกไว้ในหัวออกมาวาดได้เอง โดยไม่ต้องไปค้นหาแบบมาดูว่าในประวัติศาสตร์ มีอาชญากรคนไหนทำเรื่องเลวร้ายไว้บ้าง
ถ้าถามผมว่าการอ่านหนังสือจำเป็นไหม ผมว่าจำเป็นจริงๆนะ ในแง่การหาวัตถุดิบมาปรุงในงานศิลปะของเรา
แต่การอ่านของคนเราทุกวันนี้ก็มีหลายแบบ บางคนก็อาจจะเสิร์ช google เข้าไปอ่านและดูภาพ แล้วเอาเรื่องราวและภาพที่เสิร์ชมาประติดปะต่อในหัว
และถึงแม้ว่านักอ่านบ้านเรามันจะลดลง เพราะว่า มันมีอะไรอย่างอื่นให้เขาเล่นให้เขาสนใจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพวกโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปตำหนิหรอกนะ
อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือมันมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า ถ้าเราไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ บางฉากเราไม่ตลก แต่คนนั่งข้างๆตลก ขำกันทั้งโรงเลย การอ่านหนังสือมีข้อดีอะไรอีกเยอะแยะครับ”
ข้อดีที่ได้รับจากการอ่านหนังสือในแง่คนทำงานศิลปะทางด้านทัศนศิลป์คนหนึ่ง ว่าไปแล้วอุเทนกระจ่างชัดมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาชั้น ปี 4 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากที่รุ่นพี่ร่วมมหาวิทยาลัยคนหนึ่งแนะนำให้อ่านวรรณกรรมดีๆหลายเล่ม
“เป็นรุ่นพี่ที่ มช. ชื่อ ‘พี่เคียว’ เขาเรียนไม่จบซักที แถมยังมาคอยยืมเงิน (หัวเราะ) ไม่ได้ยืมอะไรมากมายครับ เช่นยืมไปซื้อข้าวกิน เพราะเขาเรียนไม่จบไง ตอนหลังทางบ้านคงจะลำบากเรื่องส่งเงินมาให้ เป็นพี่ที่ชวนคุยเรื่องศิลปะ วรรณกรรม และแนะนำให้อ่านหนังสือหลายเล่ม
แต่ก่อนหน้านั้นผมก็ชอบเข้าไปอ่านหนังสือและ ดูภาพศิลปะ ในห้องสมุดของคณะอยู่แล้ว พออ่านหนังสือก็เลยทำให้อยากเขียนหนังสือ”
ควบคู่ไปกับความสนใจเรื่องการอ่านหนังสือที่มีมากขึ้น อุเทนจึงเริ่มเขียนบทกวีกึ่งไดอารี่ ประโยชน์ที่เขาได้รับในเบื้องต้นพิสูจน์ให้เห็นในเวลาที่ต้องนำเสนอผลงานศิลปะของตัวเองกับอาจารย์ผู้สอน
“งานศิลปะของเราอาจเป็นงานที่ดูเข้าใจยาก แต่เวลาที่ต้อง present กับอาจารย์ รู้สึกว่าการเป็นคนอ่านและเขียนหนังสือของเรา มันช่วยให้เราเรียบเรียงความคิดก่อน present งานศิลปะ ได้ดี”
นอกจากนี้ ผลงาน Thesis หรือ ศิลปนิพนธ์ก่อนจบการศึกษา ของอุเทน ยังนำเสนอในรูปแบบนิทานภาพ และในเวลาต่อมาได้รับการตีพิมพ์เพื่อจำหน่าย โดย มูลนิธิโกมลคีมทอง ในชื่อ “นิทานอิสระ”
ปัจุบันนอกจากอุเทนจะเป็นคนทำงานศิลปะทางด้านทัศนศิลป์ จัดแสดงผลงานมาแล้วหลายครั้ง และทำงานภาพประกอบ
ในด้านหนึ่งเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานรวมเรื่องสั้นและบทกวีมากกว่า 30 ปก อาทิ ความรักขวางคอความตาย,อวัยวะพักร้อนชั่วโมงผ่าตัด,โต๊ะตีลังกาสิบตลบ ฯลฯ พิมพ์เองและทำมือ ภายใต้ เหล็กหมาดการพิมพ์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ของเขาเอง มีวางจำหน่ายตามร้านหนังสืออิสระ และยังจะมีตามอีกหลายปกเร็วๆนี้
เคยได้รับ รางวัลดีเด่น ประเภทกวีนิพนธ์ จากงานมหกรรมหนังสือทำมือ (จัดโดยเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย) และผลงานเขียน ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ (สำนักพิมพ์ สมมติ) เข้ารอบ 8 เล่มสุดท้าย รางวัลซีไรต์ ปี 2550
ดังนั้นจึงไม่ต้องตั้งคำถามเลยว่าทุกวันนี้การอ่านหนังสือยังมีความจำเป็นสำหรับเขามากน้อยแค่ไหน
“เหมือนที่เขาบอก เป็นนักเขียนก็ต้องอ่านหนังสือด้วย ไม่งั้นคุณจะเขียนหนังสือดีได้ไง ถ้าคุณไม่อ่านหนังสือ ผมว่าใช่”
และตลอดมามีหนังสือหลายเล่มที่มีอิทธิต่อการทำงานศิลปะด้านทัศนศิลป์ของเขาด้วย
“เปลี่ยนไปตามกาลเวลาครับไม่มีหนังสือเล่มไหนที่มีอิทธิพลกับผมไปตลอด แต่ระยะหลังหนังสือที่ผมชอบซื้อเก็บมาก คือหนังสือพวกนิทานภาพ”
หลังจากนำผลงานศิลปะชุด บุคคลหรือตัวละคร ไปจัดแสดงที่จังหวัดภูเก็ต ที่ bookhemian space ชั้น 2 ร้านหนัง(สือ) 2521 ( 19 ธันวาคม 2558-20 มกราคม 2559) และนิดจะศิลป์ แกลเลอรี (25 มกราคม -10 กุมภาพันธุ์ 2559)
ในวันที่เพิ่งเดินทางกลับจากจังหวัดภูเก็ต เพื่อมาร่วมงานเปิดนิทรรศการศิลปะอีกชุดของเขาเองฯพณฯ ท่านแมวดำซุกไซ้ชะตากรรม (วันนี้ – 20 มกราคม 2559) ณ Books & Belongings ถ.สุขุมวิท 91 (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบางจาก) ก่อนจะกลับไปพัทยา เพื่อเป็นศิลปินในที่พำนักที่ Thailywood Artist Residency
นอกจากเขาจะพูดให้ฟังสั้นๆถึงผลงานชุดนี้ของตัวเองว่า…“ภาพมันบอกอยู่แล้วนะ และบางทีภาพก็พูดมากกว่าผมอีก โดยที่ผมก็ยังจุกอยู่ที่คอ แต่ภาพได้พูดไปแล้ว”
เมื่อถามเขาว่า… ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน อะไรคือสิ่งที่คนทำงานศิลปะเช่น อุเทน มหามิตร สนใจนำเสนอผ่านทั้งผลงานภาพวาดและงานเขียนของตนเอง ? เจ้าตัวตอบว่า
“หลักๆเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นคนกับคนหรือคนกับสิ่งของ หรือคนกับสัตว์เลี้ยง หรือคนกับเวลาของเขา เช่น 10 ข้อที่เขาจะทำก่อนตายคืออะไร เขาได้ทำแค่ไหน เขามีจุดประสงค์ในการใช้ชีวิตของเขาอย่างไร อะไรนำไปสู่อะไร แต่ส่วนตัวผม ผมไม่มีข้อสรุปนะ อาจจะนำไปสู่ความบ้า”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.