Art Eye View

แมนมาก “คุณหญิงกีรติ” ใน “ข้างหลังภาพ” ของ “จุฬญาณนนท์ ศิริผล”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ขณะที่คนจำนวนหนึ่งกำลังพูดถึง “แม่เบี้ย” ภาพยนตร์แนวอีโรติก ที่สร้างจากงานเขียนของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ซึ่งล่าสุดกลับมาโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มอีกครั้ง โดยการกำกับของ หม่อมน้อย – ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล หลังจากที่เคยสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้งหลายครา และพูดถึงว่า “งู” ในแม่เบี้ยภาคหม่อมน้อย ช่างตัวใหญ่มาก

ในเวลาเดียวกันคนจำนวนหนึ่งก็มีโอกาสชม ภาพยนตร์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” สร้างจากงานเขียนของ “ศรีบูรพา” ภาคที่กำกับและแสดงโดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล



เข้าโรงฉายที่ไหน? ตั้งแต่เมื่อไหร่? ไม่เห็นทราบข่าว หลายคนที่ยังไม่โอกาสได้ชม อาจจะมีคำถาม

เพราะ “ข้างหลังภาพ” โดย จุฬญาณนนท์ ไม่ได้เข้าโรงฉายเหมือนภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ทั่วไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของ ข้างหลังภาพ (Behind the Painting) นิทรรศการศิลปะแสดงเดี่ยวของ จุฬญาณนนท์ ซึ่งกำลังจัดแสดงให้ชม ณ บริเวณชั้น 1 หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้จุฬญาณนนท์ เคยเป็นศิลปินในที่พำนัก (artist residency) ณ Aomori Contemporary Art Centre ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 2 เดือน

และ ได้เลือกตีความวรรณกรรมคลาสสิก “ข้างหลังภาพ” ของ ศรีบูรพา เพื่อนำเสนอออกมาเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัย ที่ประกอบด้วยสื่อหลากหลายประเภท อาทิ วีดีโอ ภาพยนตร์สั้น ภาพวาด หรือแม้กระทั่งภาพจิ๊กซอว์

นพพร :ดอกอะไรครับ (นพพร ตั้งคำถาม เมื่อคุณหญิงกีรติ เด็ดดอกไม้สีเหลือง ยื่นส่งให้)
คุณหญิงกีรติ : forget me not
นพพร : ผมไม่เคยเห็น forget me not แบบนี้
คุณหญิงกีรติ :นี่เป็นพันธ์ใหม่ forget me not พันธุ์กีรติ
นพพร : ขออนุญาตครับ ( นพพรกล่าว หลังจากที่เด็ดดอกไม้สีแดง เตรียมจะทัดหูให้คุณหญิงกีรติ)
คุณหญิงกีรติ : ดอกอะไรนี่
นพพร : Nopporn no Kokoro desu
คุณหญิงกีรติ : ภาษาไทยสิ ภาษาอังกฤษก็ได้
นพพร : ดอกหัวใจนพพรครับ
คุณหญิงกีรติ : มีด้วยหรือ
นพพร : มีครับ ดอกเดียวในโลก จะเป็นดอกหัวใจนพพร ก็ต่อเมื่อนพพรเก็บและถอดหัวใจใส่ลงไปด้วย มีดอกเดียวในโลก เพราะนพพรมีหัวใจเดียว

คือบทสนทนาสั้นๆระหว่าง นพพรและคุณหญิงกีรติ ที่ผู้ชมจะได้ชม ผ่านวีดีโอ ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าสู่ส่วนแรกของห้องนิทรรศการ ขณะที่เหนือศีรษะผู้ชมขึ้นไป มีป้ายไฟสีขาว ซึ่งดัดเป็นตัวอักษร forget me not แขวนอยู่ด้วย



และเมื่อเดินเข้าสู่ส่วนที่ 2 ของนิทรรศการ เป็นการจัดแสดง ภาพวาดขนาดเล็กๆ จำนวนหลายภาพ ที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจบจบในวรรณกรรมเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นับตั้งแต่ภาพในวันที่นพพรได้มีโอกาสพบคุณหญิงกีรติครั้งแรกที่ญี่ปุ่น กระทั่งภาพรองสุดท้ายซึ่งเป็นภาพในวันที่คุณหญิงกำลังจากไป พร้อมประโยค ที่แฟนนักอ่านข้างหลังภาพต่างจดจำได้ดี

“ความรักของเธอ เกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่ง ยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”

และภาพสุดท้าย เป็นภาพขณะที่นพพรกำลังยืนอยู่ในห้องทำงาน มองไปที่ภาพวาดที่คุณหญิงกีรติวาดให้เขา ภาพความทรงจำแห่งความรัก ณ ริมลำธารที่มิตาเกะ ที่เขาและคุณหญิงเคยไปเที่ยวด้วยกัน

ภาพวาดเล็กๆแต่ละภาพ ถูกจัดแสดงอยู่ในกล่อง ซึ่งห้อยแขวนลงมาจากเพดาน ซึ่งเมื่อผู้ชมเดินไปชมอีกฝั่งฟากของกล่อง เป็นการฉายวีดีโอหรือภาพยนตร์ สั้นเป็นตอนๆ ผ่านกล่องแต่ละกล่องที่มีหูฟังแขวนไว้ด้วย และมีการลำดับเรื่องราวดังเช่นภาพวาด เพียงแต่เสียงและภาพเคลื่อนไหว จะทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังชมภาพยนตร์ “ข้างหลังภาพ” ภาคที่กำกับโดย จุฬญาณนนท์ ซึ่งมีฉากในเรื่องเป็นญี่ปุ่นและประเทศไทยในปัจจุบัน

ขณะที่ส่วนที่ 3 ของนิทรรศการ มีภาพจิ๊กซอว์ของนพพรและคุณหญิงกีรติวางให้ชมอยู่บนโต๊ะ

กระทั่งส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ มีจอโปรเจ๊กเตอร์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางห้อง ด้านหนึ่งฉายให้ชมภาพวาดสีสันสดใส ขณะที่นพพรและคุณหญิงกีรติ กำลังนั่งอยู่ ณ ริมลำธารที่มิตาเกะ

ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการฉายวีดีโอ ที่นำเสนอบทสนทนาระหว่างนพพรและคุณหญิงกีรติ โดยนพพรพยายามที่จะเค้นเอาคำตอบจากคุณหญิงกีรติว่า เหตุใดคุณหญิง ในวัย 35 ปี ที่ยังสาวและสวยอยู่มาก จึงเลือกที่จะแต่งงานกับผู้สูงวัยอย่างท่านเจ้าคุณ

จนท้ายที่สุดคุณหญิงกีรติต้องบอกเล่าที่มาที่ไปให้ฟัง รวมไปถึงเรื่องที่เธอถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร กระทั่งในวันที่บิดาของเธอเป็นผู้เลือกทางเดินชีวิตให้เอง



เพราะอะไร จุฬญาณนนท์ ศิลปินผู้ที่ผลงานภาพยนตร์สั้นภาพยนตร์ทดลอง และสารคดีเคยได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์สั้นจำนวนมากและงานหลายชิ้นของเขาได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์และงานแสดงผลงานศิลปะหลายแห่งทั้งในเอเชียและยุโรป

จึงเลือกที่จะตีความวรรณกรรมเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของ ศรีบูรพา ผ่านสื่อต่างๆในนิทรรศการศิลปะแสดงเดี่ยวครั้งนี้ของเขา

และทำไมผู้ที่รับบทเป็นคุณหญิงกีรติในภาพยนตร์สั้นและวีดีโอของเขาจึงดูแมนมาก หรือมองดูคล้ายเพศที่ 3 จนทำให้ผู้ชมอดยิ้มไม่ได้ คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ใน “สาส์นจากศิลปิน” ที่มีถึงผู้ชม

“นวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ อันมีชื่อเสียงของ ศรีบูรพา ได้ประพันธ์ขึ้นในปี 2480 เป็นเรื่องราวของนพพร นักเรียนไทยผู้ไปศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้พบรักกับ หม่อมราชวงศ์กีรติ หญิงไทยผู้ติดตามสามี เจ้าคุณอธิการบดี ที่มีอายุแก่กว่าไปดูงานที่ญี่ปุ่น ความรักระหว่างนพพรกับกีรติจึงเกิดขึ้นจากความใกล้ชิดสนิมสนม

ถ้าหากจะถอดเรื่องราวความรักระหว่างนพพรกับกีรติด้วยบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองจะกล่าวได้ว่า ในสมัยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น กีรติคือผู้หญิงสูงศักดิ์ที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นนำ มีชีวิตอยู่ในระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ได้รับการศึกษาและมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ปราศจากอิสรภาพในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการเลือกคู่ครอง

ส่วนในด้านของนพพร นั้นเป็นตัวแทนของชนชั้นกระฎุมพีที่ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ และจะกลายมาเป็นชนชั้นกลางผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต

ความรักที่เกิดขึ้นระหว่างชนชั้นทั้งสองในช่วงเวลาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นจริงได้ เพราะสถานะทางสังคม และวัยที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมของความรักตามมาในที่สุด

ผมจึงได้แรงบันดาลใจหยิบเอานวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาอ่านใหม่อีกครั้ง โดยพยายามเชื่อมโยงนวนิยายที่อิงอยู่กับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาทับซ้อนกับสถานการณ์ร่วมสมัยเพื่อเทียบเคียงให้เห็นถึงรอยต่อของเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และเพื่อค้นหาว่ามีอะไรซ่อนอยู่ข้างหลังของ ข้างหลังภาพ นี้อีกบ้าง

ภายในนิทรรศการ นวนิยายเรื่องนี้จะถูกแบ่งออกและนำเสนอผ่านผลงานวีดีโอจำนวน 13 โดยผมเลือกที่จะรับบทบาทเป็นทั้งสองตัวละครหลักซึ่งอยู่บนความคิดที่ว่า กีรติได้ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง เธอไม่ได้ตายไปภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

การกลับมาครั้งนี้ของกีรติ เป็นการกลับมาของวิญญาณที่อิงแอบอยู่ในร่างของนพพร นวนิยาย ข้างหลังภาพ ในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่การปะทะกันระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่อีกต่อไป แต่เป็นการรวมร่างกันระหว่างวิญญาณของชนชั้นนำโดยมีชนชั้นกระดุมพีเป็นร่างกายขับเคลื่อนเพื่อให้กีรติสามารถดำเนินอยู่ต่อไป และทำให้ไม่สามารถลืม หรือ ฟอร์เก็ต มี น็อต กีรติคนนี้ได้อีกเลย”

นิทรรศการศิลปะ ข้างหลังภาพ(Behind the Painting) โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล

จัดโดย หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ เดอะ เจแปน ฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ โดยมี ฮิโรยูกิ ฮัตโตริ จาก Aomori Contemporary Art Centre ประเทศญี่ปุ่น เป็นภัณฑารักษ์คัดสรรผลงาน

วันนี้ – 13 ตุลาคม พ.ศ.2558 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

หมายเหตุ : ข้างหลังภาพ(Behind the Painting) โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล เคยเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ Media/Art Kitchen AOMORI – The Politics of Humor and Play ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พ.ศ.2557 ณ Aomori Contemporary Art Centre ประเทศญี่ปุ่น นิทรรศการซึ่งสืบทอดแนวคิดของนิทรรศการ Media/Art Kitchen – Reality Distortion Field ที่จัดโดย เจแปนฟาวเดชั่น ณ กรุงจาการ์ตา,กรุงกัวลาลัมเปอร์,กรุงมะนิลาและกรุงเทพฯ ระหว่างปี พ.ศ.2556 -2557 เนื่องในโอกาสฉลองการครบรอบมิตรภาพระหว่างอาเซียนและประเทศญี่ปุ่นเป็นปีที่ 40 โดยผ่านการดำเนินการร่วมมือกันกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นภัณฑารักษ์หนุ่มสาวและศิลปินชั้นนำจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It