ART EYE VIEW— รักแท้หายาก,รักแท้แพ้พลาสติก, รักกันรั่ว ฯลฯ…. เหล่านี้เป็นตัวอย่างคำเชิญชวนให้ผู้คนแวะไปชม นิทรรศการ “หลงรัก” ที่กำลังจัดแสดง ณ มิวเซียมสยาม
ใครที่มีโอกาสแวะไปชมแล้ว เพราะนิทรรศการเปิดแสดงมาตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม และจะแสดงไปจนถึง 28 มิถุนายน พ.ศ.2558 ก็คงจะถึงบางอ้อแล้วว่า “รักนี้” มีที่มาที่ไปอย่างไร
ส่วนใครที่ยังฉงนว่า ผ่านช่วงวาเลนไทน์มาตั้งนมนานแล้ว ทำไมประเด็นเรื่องรักๆใคร่ๆ จึงยังได้รับความสนใจ ถูกหยิบมาเป็นหัวข้อนำเสนอผ่านนิทรรศการ เพราะไม่ได้ติดตามข่าวสารใดๆ นอกจากป้ายประกาศข้างกำแพงพิพิธภัณฑ์
ART EYE VIEW ไปตามหาคำตอบมาให้ ในวันที่มิวเซียมสยาม จัดเสวนาประกอบนิทรรศการในหัวข้อ “อุษาคเนย์ – คอนเน็ก : หลากเรื่องราว หลายเรื่องรัก ในอาเซียน” เพื่อให้ความรู้ในเรื่อง “รัก” และเพิ่มอรรถรสในการชมนิทรรศการมากขึ้น
จึงได้รับคำตอบว่า… ไม่ใช่เรื่อง รักๆใคร่ๆ และไม่ใช่ “รัก” พืชล้มลุก ที่เรานิยมนำดอกของมันมาร้อยมาลัย
แต่เป็น “รัก” ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อยู่ในป่า ยางมีลักษณะ เหนียวข้น สีคล้ำ และยางที่ว่านี้ ถูกนำมาใช้ เคลือบ,ทา,อุดรูรั่ว นับตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ระดับชาวบ้านบนดอย ไปจนถึงสิ่งของสวยๆงามๆแสดงถึงสถานะทางสังคมหรือสิ่งของในราชสำนัก อาทิ หัวโขน ช่อฟ้า ใบระกา ตู้พระธรรม ฯลฯ รวมไปถึงงานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ภาพเขียนเทคนิค Lacquer painting ของศิลปินชาวเวียดนาม
พาฉัตร ทิพทัส นักจัดการอาวุโส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ผู้ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ ของนิทรรศการในครั้งนี้กล่าวว่า ที่มาของการจัดนิทรรศการส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก งานบริการทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนใจศึกษาในหัวข้อ “เรื่องรักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
นิทรรศการจึงนำมาต่อยอด เพื่อแสดงให้ผู้ชมได้เห็นว่า รักถูกนำมาใช้งานหลากหลาย ไม่เฉพาะแต่ ในงาน “เครื่องเขิน” ทางภาคเหนือ หรือในงาน “ลงรักปิดทอง” ของช่างสิบหมู่
และขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งในนาม “ประชาคมอาเซียน” แม้แต่ละประเทศจะมีวัฒนธรรมของตัวเองซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ก็มีวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง รวมถึง วัฒนธรรรมการใช้รัก
ผศ.ดร.พจนก กาญจนทร ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
เป็นเรื่องที่ยากจะระบุแน่ชัดว่า วัฒนธรรมการใช้รัก มีจุดเริ่มต้นขึ้นที่ไหน แต่จากหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดในเวลานี้ พบวัตถุที่เป็นภาชนะ เคลือบยางรัก อายุประมาณ 6,000 – 7,000 ปีมาแล้ว ที่มลฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน
และในประเทศไทย ที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีการขุดพบท่อนซุง ถูกทำเป็นโลง เคลือบน้ำยางรักไว้ภายใน เพื่อใช้บรรจุศพ มีอายุ 2,000 ปี มาแล้ว
ขณะที่ต้นรักในปัจจุบัน หาพบได้ทั้งในประเทศเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย พม่า เวียดนาม กัมพูชา
และในแต่ละประเทศจะมีสายพันธุ์ย่อยที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งาน แต่ ในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นรักถูกพบมากที่ รัฐฉาน ประเทศพม่า และเทือกเขาพนมดงเล็ก ประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นแถบที่น้ำยางรักมีคุณภาพมากที่สุดด้วย
ธีระ วานิชธีระนนท์ นักสะสม และ เจ้าของ 333 แกลเลอรี่ ผู้สนใจศึกษาผลงานศิลปะร่วมสมัยของเวียดนาม นอกจากจะให้นิทรรศการ “หลงรัก” ยืมภาพเขียนเทคนิค Lacquer painting ของศิลปินชาวเวียดนามที่เขาสะสมไว้ มาจัดแสดง อาทิ “ฤดูหนาวมาเยือน” วาดเมื่อ 2502 – 2504 ผลงานของศิลปิน “เจิ่นวันเกิ่น”
ยังให้ความรู้ด้วยว่า ที่เวียดนาม มีการขุดพบวัตถุคือ กำไลแก้ว เคลือบด้วยรักทั้งวง อายุประมาณ 2,500 ปี หรือ สมัยดองซอง
และวัฒนธรรมการรักถูกนำมาเผยแพร่ที่เวียดนามในสมัยฮั่น หรือ ช่วงฮั่นยึดเวียดนาม
“แต่ช่วงที่เวียดนามบูมในเรื่องวัฒนธรรมการใช้รักคือ ช่วงศตวรรษ 9-11 เพราะจะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปเก่าๆของเวียดนามที่เป็นไม้ ก็เคลือบด้วยรัก จนถึงปัจจุบันก็พบว่ายังทำอยู่”
จากวัฒนธรรมการใช้รักด้วยเทคนิคดั้งเดิมแบบตะวันออก ในงานต่างๆ และแล้ววัฒนธรรรมการใช้รักของเวียดนาม เริ่มขยายมาสู่ เทคนิคสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้รักเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย ประเภทงานจิตรกรรม
เมื่อเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนศิลปะให้กับคนเวียดนาม และก่อตั้ง โรงเรียนประณีตศิลป์แห่งอินโดจีน ขึ้นในปี 1925
“ช่วงนี้เวียดนามเจริญเต็มที่ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ไทย พม่า ลาว ฯลฯ ก็อยากที่จะเข้าไปเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ แต่โรงเรียนสามารถผลิตนักศึกษาได้ปีละแค่ 20 คน และจะต้องจองเรียนเป็นปี”
“เซินหม่าย” คือชื่อเรียกของเทคนิคสมัยใหม่ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างเทคนิคการใช้รักแบบดั้งเดิมของเวียดนาม กับความรู้ใหม่ที่ได้จากอาจารย์ฝรั่ง
นอกจากจะเป็นเทคนิคเดียวกันกับ ภาพเขียนเทคนิค Lacquer painting ผลงานของศิลปินชาวเวียดนาม ที่ธีระสะสมไว้ ใครที่เคยไปเยือนพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวียดนาม ที่นครโฮจิมินห์
คงได้เห็นภาพวาด ขนาด 9 เมตร ผลงานระดับมาสเตอร์พีชของศิลปินชาวเวียดนามยุคแรกๆที่ใช้ เทคนิค “เซินหม่าย” สร้างสรรค์ผลงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีวัฒนธรรมการใช้รัก ขยายขอบเขตไปกว้างไกลเพียงใด แต่ “รัก” ก็ยังเป็นสิ่งที่หายาก โดยเฉพาะ “รักแท้”
ชุตินันท์ กฤชนาวิน นักวิชาการช่างศิลป์ ปฏิบัติการ ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรกล่าวว่า ปัจจุบัน รักที่บรรดาช่างของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ใช้งานอยู่ เป็นรักที่นำเข้าจากรัฐฉาน ประเทศพม่า (เป็นรักที่คนจากรัฐฉานแบกเข้ามาทีละสองปี๊บ ราคาปี๊บละ ประมาณ 14,000-15,000 บาท 1 ปี๊บมีรัก 10 กิโลกรัม) นอกจากเพราะมีคุณภาพกว่า ยังไม่ต้องเสี่ยงใช้รักปลอมของไทย (กระป๋องละประมาณ 1,000 บาท 1 กระป๋องมีรัก 1 กิโลกรัม)
“การจะดูเบื้องต้นว่าเป็นรักแท้หรือไม่ เวลาเปิดปี๊บออกมา ถ้ามีกลิ่นน้ำมัน แสดงว่าปลอมปนแน่นอน แต่รักแท้ เวลาเปิดออกมา กลิ่นจะคล้ายยางไม้ จะไม่มีกลิ่นน้ำมันเลยแม้แต่นิดเดียว
ซึ่งรักปลอมช่างไม่ใช้ แต่ใช้ใหมู่นักศึกษาที่เรียนทางด้านหัตถ์ศิลป์ ประณีตศิลป์ ที่ไม่มีทุนทรัพย์มาก แต่ความแตกต่างระหว่างการใช้รักแท้กับรักปลอมก็ต่างกัน รักแท้เคลือบวันเดียวก็แห้ง สามารถละทำขั้นตอนอื่นได้เลย แต่รักปลอมต้องใช้เวลาอาทิตย์หนึ่งกว่าจะแห้ง เพราะว่ามีน้ำมันผสมอยู่”
เหตุผลที่ประเทศไทย หารักแท้ได้ยาก ชุตินันท์กล่าวว่า นอกจากจะแรงงานกรีดต้นรักได้ยาก เนื่องจากเป็นงานที่เหนื่อย ทำให้หลายคนต้องหันเหไปทำอาชีพอื่นที่หาเงินได้ง่ายกว่า
ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะ การปลูกรักและกรีดยางรัก ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถ้าใครคิดจะปลูกต้องทำเรื่องขออนุญาตดังเช่นการขออนุญาตปลูกไม้สัก ทว่าเวลานี้ในประเทศไทยนี้ก็ยังไม่พบว่ามีใครขออนุญาตปลูกรัก
ด้วยเหตุนี้ชุตินันท์จึงเห็นว่า น่าจะมีการส่งเสริมและอนุญาตให้ปลูก เนื่องจาก รักแท้เป็นที่ต้องการสูง ในประเทศไทย
บรรรดาข้าวของหรือสิ่งต่างๆที่จัดแสดงในนิทรรศการ “หลงรัก” น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยืนยันใน สิ่งที่ชุตินันท์กล่าว ได้เป็นอย่างดี
ไม่ใช่นั้น ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยเราอาจต้องพบกับภาวะ “รักแท้แพ้พลาสติก”
ถ้าเป็นรักแท้แพ้พลาสติก ดังเช่นงานเครื่องเขินของชาวญี่ปุ่นก็คงไม่น่าห่วงอะไร ที่ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกและเมลามีนมา มาผลิตทดแทน ทว่ายังคงเอกลักษณ์หน้าตาแบบเครื่องเขินยุคเก่าเอาไว้ ตัวอย่างเช่นภาชนะต่างๆที่เราหาพบได้ง่ายๆในร้านอาหารญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันก็ยังมีอนุรักษ์ศาสตร์การทำเครื่องเขินแบบดั้งเดิมที่ใช้รักแท้เอาไว้ได้
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.