Art Eye View

Use Space พื้นที่หล่อเลี้ยงความฝัน ของ “สิทธินนท์ พงศ์รักธรรม”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เพราะใช่ว่าคนทำงานศิลปะทุกคนจะสามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการทำงานศิลปะ และแม้ว่าจะทำงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่องก็ใช่ว่าจะมีพื้นที่ๆเปิดโอกาสให้ได้แสดงงาน

คนทำงานศิลปะ ผู้มีความฝันที่จะเป็นศิลปินอาชีพอยู่ตลอดเวลา นั่นคือได้มีโอกาสนำเสนองานที่ตัวเองสร้างสรรค์ตามพื้นที่ต่างๆ และ เลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยมัน จึงต้องหาทางจัดการกับความเป็นไปได้ในปัจจุบัน เพื่อหล่อเลี้ยงความฝันของตนเองต่อไป


พื้นที่หล่อเลี้ยงความฝัน

ดังเช่นที่ Getzo หรือ สิทธินนท์ พงศ์รักธรรม และเพื่อน(ชัยวัช เวียนสันเทียะ) ได้สร้าง Use Space ขึ้น ซึ่งหลายคนที่ผ่านเข้าไปใช้พื้นที่ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในตึกแถวข้างหอพักสตรี ของซอยสามเสน 18 รู้จักพื้นที่นี้ในสองสถานะด้วยกันคือ

“แกลอรี่แสดงงานศิลปะ” เพราะเป็นที่ๆมีการเปิดแสดงงานศิลปะในรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียน ให้คนที่สนใจได้เข้าไปชม และอีกสถานะคือ “สถานที่ติวศิลปะ” เพราะเจ้าของพื้นที่มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการสอนศิลปะให้กับคนทุกเพศทุกวัยที่สนใจ

แต่แท้ที่จริงแล้ว มันคือพื้นที่หล่อเลี้ยงความฝันของ Goetz และเพื่อนๆที่เรียนจบศิลปะมาด้วยกันจากคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้มากกว่า

“ผมไม่อยากเรียกที่นี่ว่าเป็นแกลเลอรี่ แต่เป็นคอมมูนิตี้ทางด้านศิลปะ เพราะว่าเราไม่ได้มีระบบที่ชัดเจนเหมือนแกลเลอรี่ ไม่ได้มีเวลาเปิดและปิดที่แน่นอน ไม่มีคนคอยดูแลตลอดเวลา ไม่มีคิวเรเตอร์ หรือคนคอยติดต่อประสานงานกับศิลปิน แต่ตัวผมเองทำหน้าที่เป็นคนคอยจัดสรรพื้นที่ๆมีอยู่แล้วให้สามารถจัดแสดงงานศิลปะได้และสามารถใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเลี้ยงชีพเราได้ด้วย เพราะไม่ใช่ว่าการจัดนิทรรศการทุกครั้ง เราจะสามารถขายงานได้

จุดมุ่งหมายในการเรียนศิลปะของผมคืออยากเป็นศิลปินอาชีพอยู่แล้ว

ในเมื่อเรายังไม่สามารถสร้างรายได้จากการเป็นศิลปินได้ เราก็ต้องมาหาว่า ณ ปัจจุบันเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นเมื่อเรามีวิชาศิลปะติดตัว เราก็เอามาสอนเพื่อจะหารายได้ เพื่อให้เราสามารถต่อยอดความฝันที่อยากจะเป็นศิลปินอาชีพ

และตั้งแต่เรียนจบมา ทำงานมาหลายชุด จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เวลาเราอยากแสดงงาน พยายามเสนองานไปแสดงหลายที่ ดังเช่นที่คนทำงานศิลปะคนอื่นๆเขาทำกัน แต่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะรับเรา แถมโดนปฏิเสธมาเยอะ

แต่เราจบมานานแล้ว เด็กรุ่นใหม่ ก็แซงเราไปเรื่อยๆ (นั่นคือ มีโอกาสได้แสดงงานทั้งในและต่างประเทศ และสามารถขายงานได้) เราไม่อยากรอ ถ้าเช่นนั้น เราก็ต้องใช้พื้นที่ๆเรามีให้เป็นประโยชน์

และได้คุยกับเพื่อนที่ทำพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งเขาเคยได้ทุนไปเรียนฝรั่งเศส เขาไปเจอสเปซที่นู่น ในแบบที่เราไม่คิดว่าจะทำเป็น Art Space ได้ ในเมื่อใจเราก็อยากจะทำอยู่แล้ว พอมีเพื่อนเป็นแนวร่วม หาพื้นที่เช่าทำได้ ก็เลยทำกัน ควักทุนกันเอง”


ชอบแบบนี้ แต่ไม่ปฏิเสธแบบอื่น

ส่วน Use Space ชื่อของสถานที่ Getzo เล่าว่า มีที่มาจากการพยายามใช้พื้นที่ตามสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งาน
“ตอนแรกคิดมาหลายชื่อมาก มีที่มาจากการที่เราเข้ามาใช้พื้นที่ๆหนึ่ง แล้วมันมีอย่างไร เราก็ใช้มันอย่างนั้น เวลามีแสดงงาน เราก็พยายามปรับเปลี่ยนพื้นที่ ในขอบเขตที่เราสามารถจัดการได้”
 

ก่อนหน้านี้ Use Space ตั้งอยู่ปากซอยสามเสน 23 แต่เมื่อสู้ค่าเช่าไม่ไหว จึงย้ายมาอยู่ในซอยสามเสน 18 แม้จะต้องแลกกับพื้นที่เล็กลง และไม่อยู่ในสายตาของคนที่สัญจรผ่านไปมาบนถนนใหญ่ แต่เพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายที่ลดลง จึงต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง

“เนื่องจากพื้นที่ปัจจุบัน ไม่ได้ติดถนนใหญ่ต้องเดินเข้าซอยนิดนึง ทำให้เราต้องพึ่งการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลให้มากขึ้น”

นิทรรศการศิลปะชุดแรก เป็นการจัดแสดงผลงานของศิลปินรุ่นใหม่หลายๆคน ซึ่งมีผลงานของเจ้าของพื้นที่ร่วมแสดงด้วย ขณะที่ปัจจุบันกำลังจัดแสดงผลงานของศิลปินหญิงชาวต่างชาติ โดย Getzo บอกว่า แม้ว่าตนจะไม่ได้ชอบงานศิลปะทุกรูปแบบ แต่ไม่อยากให้พื้นที่จำกัดอยู่ที่การแสดงงานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ

“เราอยากให้มันหลากหลาย แม้จะไม่ใช่งานศิลปะในแนวที่เราชอบ เพื่อที่ว่าเราจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่คนอื่นเขาเป็นด้วย ส่วนตัว ผมคิดว่าคนทำงานศิลปะควรจะรับได้หลายๆแบบ นั่นคือ เราชอบแบบนี้ก็จริง แต่เราก็ไม่ควรปฏิเสธแบบอื่น เราไม่ชอบเราก็ควรจะได้รู้ว่าเราไม่ชอบเพราะอะไร แต่ไม่ใช่ว่าเราจะผ่านไป ไม่มองมัน ไม่สนใจมันเลย”

ได้มีความรู้เรื่องการจัดการ และหลายอย่างที่ ไม่เคยให้ความสำคัญ คือประสบการณ์ที่ Getzo ได้รับจากการทำ Use Space

“ต้องติดต่อประสานงานกับหลายคน ส่งข่าวให้สื่อเอง คนจะมาชมงานเราก็ต้องคอยรับโทรศัพท์เอง และคนที่มาชมงานที่นี่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนที่มีพื้นฐานเรื่องศิลปะ เราก็ต้องคอยอธิบายให้ฟังในเรื่องศิลปะที่เราอยากจะเผยแพร่ และคนที่ไม่รู้เขาก็ได้เข้าใจศิลปะมากขึ้น”

 ดึงสิ่งที่ดีที่สุดของฉันออกมา

ดังเช่นนิทรรศการแสดงผลงานของ เอลิซ่า เร (Elysha Rei) ที่กำลังจัดแสดงและแสดงไปจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558

ขณะที่เจ้าของพื้นที่ยังอยู่ในช่วงเวลาดึงความฝันของตัวเองออกมาจัดการอยู่ทุกขณะ

“ดึงสิ่งที่ดีที่สุดของฉันออกมา” ของเเอลิซ่า คือผลงานภาพวาดลายเส้นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เธอต้องการบำบัดตัวเองจากปัญหาชีวิต
 
“เขาเป็นคนติดต่อมา ว่าอยากนำงานมาแสดงในพื้นที่ของเรา ตอนแรกเราก็พยายามบอกเขาว่า เราไม่ได้มีระบบการจัดการที่มีมาตฐานเหมือนแกลเลอรี่อื่นนะและเราก็เป็นพื้นที่เล็กๆ ถ้าสนใจก็มาดูสถานที่ก่อน เขาเลยมาดูพื้นที่ทั้งที่เก่าและปัจจุบัน
แล้วพอจัดแสดงเขาก็ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย ส่วนทางเราก็ช่วยส่งข่าว ติดตั้งงาน

เขาเป็นศิลปินชาวออสเตรเลีย มีคุณยายเป็นญี่ปุ่น คุณพ่อย้ายมาอยู่เมืองไทย มาแต่งงานใหม่ ระยะหลังๆเขามาเมืองไทยบ่อย และมาเรียนต่อปริญญาโทที่นี่ด้วย

เป็นงานที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาที่ผ่านมาเมื่อไม่นาน มีแฟน มีลูก แต่ท้ายที่สุดต้องเลิกลากับแฟน และปัญหาทุกอย่างมาลงที่เขาหมดเลย ต้องดูแลลูกเอง เพราะแฟนทอดทิ้ง ก็เลยทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง”

ใบหน้าของผู้หญิงซึ่งมีแววตาเศร้าในแต่ละภาพ เป็นภาพแทนตัวศิลปินเอง ทว่าในชิ้นท้ายๆ ดวงตาเริ่มสดใส เพื่อแสดงให้รู้ว่า “ความทุกข์” ที่เคยมีได้ถูกปลดปล่อยไปกับงานชิ้นแรกๆ กระทั่งชีวิตกลับคืนสู่โหมด “ความสุข”

ขณะที่เครื่องทรงบนศรีษะในแต่ละภาพ ซึ่งเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ สื่อว่าศิลปินเคยเดินทางไปหลายประเทศ
ส่วนนกบนหัว มาจากความทรงจำ เกี่ยวกับสตูดิโอทำงานศิลปะ ของศิลปิน ที่ไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหน ก็มักจะพบว่ามีนกอาศัยอยู่เยอะ



เอาอย่างเขา แต่ไม่เป็นแบบเขา

หลังละจากการแนะนำผลงานของเอลิซ่า ให้ได้รู้จักพอหอมปากหอมคอ Getzo คว้าโน้ตบุ๊ค มาเปิดให้ชมผลงานศิลปะของเขา นับตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ไล่มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากจะทำให้ทราบว่า การเกิดขึ้นของ Use Spaceเกิดขึ้นจากการไม่อยากรอให้คนอื่นมาช่วยจัดการความฝัน
ยังได้ทราบด้วยว่า เขาเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่มีระบบจัดการผลงานของตัวเองดีมาก และไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์ อีกทั้งชอบที่จะทดลองทำงานศิลปะด้วยสื่อหลากหลายประเภท
 
เขายอมรับครั้งว่า บ่อยครั้งที่รู้สึกท้อ แต่ก็ไม่เคยหยุดทำงาน และบางเวลาก็หยิบงานชิ้นเก่าๆ เช่น ตัวคาแรคเตอร์ มาพัฒนาใหม่ ส่วนหนึ่งเพื่อย้ำคิดย้ำทำเพื่อให้เกิดความอยากที่จะทำงานศิลปะอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างที่ยังคิดงานใหม่ๆไม่ออก

“เรากลัวว่าความอยากของเราจะหายไป ถ้าสมมุติเราไปทำงานประจำที่ไม่เกี่ยวกับงานทางด้านนี้ ความอยากที่จะทำงานศิลปะมันอาจจะหายไปก็ได้ เพราะรุ่นพี่บางคนที่ผมเห็น พอไปทำงานที่ไม่เกี่ยวกับด้านที่จบมา เขาก็โดนกลืนไปโดยปริยาย ไม่ได้ทำงานศิลปะ จนมีลูก มีครอบครัว ก็ล้มเลิกความคิดที่จะทำงานศิลปะ ผมก็เลยเป็นคนกลัวตรงนั้น บางทีก็เลยชอบทำอะไรเดิมๆซ้ำๆ ย้ำคิดย้ำทำ เหมือนเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร”

มีศิลปินหลายคนที่เขายึดเป็นแบบอย่างและได้รับแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่น โยชิโตโมะ นาระ มีงานมาแสดงที่เมืองไทย เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากทำงานศิลปะเป็นอย่างมาก

แต่ก็พยายามคิดเสมอว่าทำอย่างไรที่เราจะประสบความสำเร็จอย่างเขาเหล่านั้น แต่ยังคงเป็นเรา

“เอาอย่างเขา แต่ไม่เป็นแบบเขา” ศิลปินหนวดงามบอก
บางครั้ง ทางไปสู่ความสร้างสรรค์ก็ไม่ได้สวยหรู

“ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของยุคอนาลอก เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว รวมทั้งการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและติดต่อสื่อสารอันรวดเร็วนี้ โดยส่วนใหญ่ โซเชียลมีเดียมีความสำคัญในการติดต่อสื่อสาร ทำให้เกิดการรวมตัว รวมกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มเล็กๆจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ และในวงการศิลปะก็เช่นกัน

Use Space คือพื้นที่ขนาดเล็กๆแรกเริ่มสำหรับแสดงงานของกลุ่มเพื่อน ซึ่งต่างแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพเพื่อหาเงินในการดำรงชีวิต(ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ) ท่ามการการเติบโตของศิลปะในเมืองไทย Use Space เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่ทางเลือกท่ามกลางพื้นที่น้อยใหญ่ที่มีมากมายในกรุงเทพ

Use Space ไม่ใช่พื้นที่ทางศิลปะที่ตายตัวและไม่มีการสนับสนุนจากองค์กรทางศิลปะ เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างเพื่อนว่าอยากจะมีพื้นที่ขนาดย่อมซึ่งเป็นพื้นที่มีอยู่แล้ว ถูกจัดสรรสำหรับเอางานมาโชว์ในกลุ่มเล็กๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน(ประกอบอาชีพส่วนตัว)และเกี่ยวกับงานศิลปะ

หากมองในโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ของศิลปะแล้วพื้นที่และการสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่ที่องค์กรและสถาบันทางศิลปะแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป”
 
ชัยวัช เวียนสันเทียะ  ศิลปินและผู้ร่วมก่อตั้ง

Use Space ตั้งอยู่ในซอยสามเสน 18 ถนนสามเสน แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ โทร.081-458-0116

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It