ART EYE VIEW—เพราะชีวิตบางด้านเปลี่ยนแปลง งานบางส่วนจึงต้องปรับตาม
ดังเช่นผลงานศิลปะชุดล่าสุดที่ บุญเกษม โค้วศานติ นำมาจัดแสดงเป็นลำดับสองต่อจากผลงานภาพถ่ายของ กลุ่มสห+ภาพ ณ นิดจะศิลป์ แกลเลอรี่ พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่บนเกาะภูเก็ต
ที่ไม่ใช่ภาพเขียนแนว Expressionism (สำแดงอารมณ์)แบบที่สื่อให้เห็นสีสันตลอดจนเรื่องราวของวิถีชีวิตและท้องทะเลแถบอันดามัน อย่างที่เราเคยเห็นในผลงานหลายๆชุดที่ผ่านมาของเขา
แต่เป็นภาพเขียนแนว Abstract (นามธรรม)ที่มีเพียงสีและรูปฟอร์มให้ผู้ชมได้คาดเดาไปเองว่าอะไรคือสิ่งที่เจ้าของผลงานรู้สึกหรือคิดฝันก่อนจะเขียนมันขึ้นมา
“เมื่อก่อนผมไม่เข้าใจAbstract และไม่อยากจะเข้าใจมันด้วย เพราะผมมองว่ามันอะไรที่ง่าย แค่การ เอาสีมาสาดๆ ลงบนผ้าใบ แล้วจะทำอะไรก็ได้ อะไรอย่างนี้
มาถึงวันนี้ หลังจากที่ผมได้เคยผ่านการตระเวณเขียนภาพไปเรื่อยทั่วอันดามัน และด้วยวัย ณ ขณะนี้ ซึ่งผ่านการทำงานศิลปะมานาน จนอายุจะ 50 ปี แล้วเนี่ย และเป็นวันที่ผมมีครอบครัว ผมไม่สามารถที่จะไปเดินทางอย่างนั้นได้อีกแล้ว
แต่ด้วยความที่ยังโหยหาวันเวลาเก่าๆของตนเอง และยังอยากจะทำงานศิลปะ เพียงแต่เราไม่สามารถผลิตงานด้วยวิธีการแบบเดิมอีกแล้ว อย่างดีก็เขียนภาพจากภาพถ่าย ผมก็เลยเปลี่ยนมาทำงาน Abstract ดู”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่สะดวกที่จะออกเดินทางตามใจตัวเองได้มากมายเช่นเมื่อก่อน แต่เพราะยังคงปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในท้องที่อันดามันเช่นเคย นั่นคือกระบี่และภูเก็ต อารมณ์และสีสันที่ปรากฎอยู่ในภาพเขียนของเขา ก็ยังคงมีกลิ่นอายของท้องทะเลอันดามันให้ได้สัมผัสเช่นเคย ขณะที่รูปฟอร์มในผลงานได้หยิบยืมมาจากรูปทรงน่ารักๆของเด็ก
เพราะในด้านหนึ่งนอกจากเขาจะเป็นครูสอนศิลปะเด็ก ซึ่งเป็นมาเกือบ 20 ปีแล้ว เขายังเป็นคุณพ่อที่มีลูกชายในวัยไม่กี่ขวบให้ต้องดูแลด้วย
“ เรื่องอารมณ์ของอันดามัน เรายังคงรู้สึกอยู่ เพราะเรายังอยู่ที่นี่ และรูปฟอร์มของงานชุดนี้ คล้ายๆกับงานชุดที่ผมเคยทำนำไปแสดงที่ฝรั่งเศส ที่มีเรื่องราวของเด็กมาปนอยู่ แต่นั่นเป็นงานแนว Semi Abstract (กึ่งนามธรรม) แล้วตอนหลังก็เริ่มกลายมาเป็น Abstract มากขึ้น”
เมื่อเปลี่ยนมาทำงาน Abstract มากขึ้น บุญเกษมได้ค้นพบว่า ความคิดที่เขาเคยมต่องานในแนวนี้ ผิดไปจากความจริงเมื่อได้ลองลงมือทำมากโข
“ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเวลาทำบนพื้นที่ๆมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากมากเลยสำหรับผม ก็เลยต้องมาตั้งหลัก โดยการบอกกับตัวเองว่า อันดับแรกจะทำงานออกมายังให้มันสวยก่อน เหมือนคนสวยกับคนขี้เหร่เดินมาพร้อมกัน เราก็ต้องมองคนสวยก่อนใช่ไหม ดังนั้นผมจะทำอย่างไรให้ครั้งแรกที่ผู้ชมเห็นงานรู้สึกแบบนั้น อาจจะสวยด้วยสี ด้วยฟอร์ม และเราจะเล่าเรื่องอะไร เอาทั้งหมดมารวมกัน แล้วจัดองค์ประกอบศิลป์ให้มันลงตัว
ผมมองว่าแอบสแตรคมันยาก มันคือการ Design(ออกแบบ)ทำแรกๆรู้สึกว่า สีมัน Design ยากโว้ย ไม่ง่าย ส่วนคนที่เอาสีมาสาด มาราด มาสะบัด เป็นภาพ Abstract ก็อีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นวิธีการทำงานของแต่ละคน เราไม่ไปก้าวก่ายกัน แต่สำหรับผม เลือกสร้างงานด้วยวิธีการแบบนี้ และพอทำไปนานๆสักพัก มันกลายเป็นความสุข”
ขณะที่หลายๆคนบอกว่า ยังคงสัมผัสได้ถึงความเป็นExpressionism ในงานชุดนี้ของเขาอยู่ ทว่าเป็นงานแนวAbstract ที่มีความเป็น Expressionism ปะปนอยู่
“เพียงแต่ไม่ถึงขั้นสวยงามด้วยเรื่องราวเหมือนงานชุดก่อนๆ แต่ในความเป็นจริงผมก็ยังทำงานในแนวนั้นอยู่นะ แนว Expressionism ที่เป็นเรื่องราว”
แต่แทนที่จะนำเสนอแค่เรื่องของท้องทะเลและวิถีชีวิตแถบอันดามัน เขาได้ขยับมาสนใจประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ของ จ.กระบี่ บ้านเกิดของตนเอง นั่นคือเรื่องของการท่องเที่ยวและการคัดค้านพลังงานถ่านหิน
“ผมถูกน้องๆที่เป็น NGO ซึ่งเคยร่วมงานกันมานาน ดึงให้ไปทำกิจกรรมด้วย เพียงแต่ผมบอกน้องๆว่าตนเองไม่สามารถที่จะไปร่วมด้วยได้มากเหมือนเมื่อก่อนแล้วนะ ถ้าจะให้ร่วม ขอร่วมในส่วนที่ผมสามารถทำได้ นั่นคือนำเสนอผ่านความงาม ผ่านงานศิลปะ”
นอกจากนี้ผมยังอีกโครงการส่วนตัวที่กำลังจะเริ่มต้น นั่นคือ การเขียนภาพเพื่อบอกเล่าความสวยงามของของท้องถิ่นอันดามัน ผ่านงานแนวImpressionism (ลัทธิประทับใจ) ซึ่งส่วนนี้ก็เพื่อรณรงค์ไม่ให้มีการขุดพลังงานถ่านหินในพื้นที่อันดามันเช่นกัน
ผมเคยไปคุยเรื่องพลังกับการไฟฟ้าไงว่าพลังงานมันมีหลายทางเลือก จะเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร หรือแต่ละท้องที่ก็ได้
เรื่องของท่องเที่ยว ทะเล หาดทราย และสายลม มันเป็นเรื่องที่ต้องดูแล จะมาบอกว่า ท่องเที่ยวไม่เป็นไร ไม่สำคัญ เอาพลังงงานก่อน มันไม่ใช่ ผมก็เลยหันมาทำงานอีกส่วนหนึ่งของชีวิตในตอนนี้คือเขียนภาพสวยๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ โดยการขอสปอนเซอร์จากคนที่สนับสนุน นอกจาก เขียนมันเพื่อหา เลี้ยงครอบครัว”
แต่ระหว่างนี้ เขาอยากเชิญทุกคนแวะไปชมผลงานชุดล่าสุดของเขาไปพลางๆก่อน ซึ่งเป็นถือเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนในช่วงเวลาที่ชีวิตของเขาเลือกที่จะอยู่เพื่อให้ความสำคัญกับบางสิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ณ จุดนี้เท่านั้น
หลังจากได้โบกมือลาหน้าที่ ผู้อำนวยการหอศิลป์ร่วมสมัย จ.กระบี่ ที่ได้เป็นผู้ริเริ่มและปลุกปั้นมาหลายปี เนื่องจากเหตุผลบางประการ
และ “ เป็น อยู่ คือ” ชื่อนิทรรศการครั้งนี้ หมายความถึง เขาผู้ “เป็น” ทั้งครูสอนศิลปะเด็ก คนทำงานศิลปะ หัวหน้าครอบครัว และพ่อของลูก
“อยู่” อย่างมีสติ ไม่ว่าสังคมโลกและวงการศิลปะจะมีปัญหาหรือขับเคลื่อนไปเช่นไร
และ “คือ” คือความจำเป็นที่ต้องอยู่รอดด้วยงานศิลปะให้ได้ เพราะคือสิ่งที่เลือกแล้ว แม้จะมีหลายครั้งที่คิดจะหันเหไปทำอย่างอื่นเป็นอาชีพเสริม
“มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง ฝรั่งชื่อลุงเดนิส ซึ่งเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตไปแล้ว ทิ้งไว้ให้ อยู่ห่างทะเลไม่ถึง 40 เมตร มีภูเขาล้อมรอบ เขายกให้ผม 4 ไร่ แต่ผมไม่เอาทั้งหมด เอาแค่ 2 ไร่ ที่เหลือผมก็ให้คืนบริษัทเขาไป
เพราะตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นคนหนึ่งที่ชอบงานภาพเขียนสีน้ำของผม รักใคร่ชอบพอกัน และเห็นว่าผมมีชีวิตเร่ร่อนเขียนภาพไปเรื่อย
เคยคิดอยากจะเอาไปทำรีสอร์ส แล้วไปกู้เงินจากธนาคารมาทำ แบบว่าทำงานหาเงินก่อน แล้วค่อยเขียนภาพ
พอมานั่งคิด ไอ้ห่า อายุเราจะ 50 ปีแล้ว จะให้มาเป็นหนี้ธนาคาร ถ้าเกิดทำต่อไปไม่ได้ ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วลูกที่ยังเล็กๆอยู่ ชีวิตเขาต่อไปจะเป็นอย่างไร
ท้ายที่สุด คำตอบของเราคือ ทำงานศิลปะ ส่วนรายละเอียดอื่น ก็ต้องนำมาย่อย มาตัดออกว่าจะทำให้มันดำรงอยู่ได้อย่างไร”
เป็น อยู่ คือ โดย บุญเกษม โค้วศานติ เปิดแสดง ณ นิดจะศิลป์ แกลเลอรี่ เลขที่ 143/185 Boat Plaza. ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต โทร. 094 -258 -5599
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.