คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม
วันหนึ่งเมื่อหลายปีผ่านมาแล้ว..
ขณะที่ฉันกำลังนั่งปั้นงานอยู่ในหอศิลป์ของบ้านศิลปิน อ.หัวหิน มีคนเดินมาหยุดดู บ้างก็ผ่านไป ในจำนวนคนเหล่านั้นมีคุณป้าคนหนึ่งที่ได้มาหยุดยืนมองดูฉันที่กำลังนั่งปั้นงานอย่างเงียบๆ
ด้วยสายตาแห่งความอารีของเธอที่มองมายังฉัน ทำให้ฉันวางมือลงชั่วคราวแล้วส่งยิ้มให้คุณป้าท่านนั้น และทักทายเธอ
จากการพูดคุย คุณป้าท่านนั้นกล่าวกับฉันว่า แต่ก่อนนี้เธอก็เขียนรูปแทบทุกวัน เขียนเป็นรูปนั้นเขียนเป็นรูปนี้ แต่ตอนนี้เธอหยุดเสียแล้ว ฉันจึงเอ่ยถามคุณป้าด้วยความแปลกใจ และด้วยความอยากจะเป็นเพื่อนคุยกับเธอว่า
คุณป้ารักการเขียนรูป และเคยเขียนมันอยู่แล้วทำไมจึงได้หยุดเสียเล่าคะ..?
คุณป้าท่านนั้นตอบฉันด้วยถ้อยคำสั้นๆ พร้อมกับรอยยิ้มอย่างเอื้อเอ็นดูว่า “ป้าหมดไฟ”
ในครั้งที่ฉันได้ละจากการงานชั่วคราวเพื่อเดินทางจากบ้านไปเสียหลายต่อหลายวัน เมื่อฉันกลับมาถึงบ้านสิ่งที่ฉันต้องทำคือการสะสางภาระงานบ้านของตนเองให้จบสิ้นลงไป ในขณะนั้นจิตใจของฉันก็จะค่อยๆ นิ่งลงอย่างช้าๆ จากผลพวงแห่งการเดินทาง และพร้อมที่จะจดจ่อเอาสิ่งที่ตกผลึกอยู่ในใจออกมาทำเป็นงาน จนกระทั่งเริ่มขึ้นงานชิ้นใหม่
ในขณะนั้นนั่นเองก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ทางปลายสายได้บอกข่าวเรื่องของการไปเข้าคอร์สเกี่ยวกับองค์ความรู้ที่ฉันเคยสนใจ แต่ในขณะนั้นมีคนลงทะเบียนเต็มหมดแล้ว ทว่ามีบางคนยกเลิก จึงมีที่สำหรับฉัน เสียงจากปลายสายชักชวนด้วยความมีอัธยาศัยอันดีต่อฉัน อีกทั้งยังเกลี้ยกล่อมถึงการอาจได้รับแรงบันดาลใจบางอย่างกลับมาทำงานของฉันก็เป็นได้
แม้ฉันจะเสียดาย จนลังเลที่จะกล่าวว่าอย่างไรต่อไป แต่แล้วในที่สุดฉันก็ได้ตอบปฏิเสธไปด้วยถ้อยคำและน้ำเสียงอันน่าเอ็นดูและชวนให้เห็นใจว่า
“พี่แสนเสียดายจริงๆ แต่จำต้องตัดใจ เพราะ…ไฟของพี่กำลังติด”
ทางปลายสายหัวเราะรับด้วยความเข้าใจ เธอกล่าวว่า พี่ของเธอก็เป็นคนทำงานศิลปะเช่นกัน…
ย้อนวัยไปในวัยเด็กหกขวบของฉัน เด็กผู้หญิงที่มีผมซอยสั้นด้วยฝีมือของตนเองที่กระหน่ำดึงผมชี้ขึ้นแล้วเฉือนมันด้วยมีดอีโต้ ที่ใต้ถุนเรือนของย่า เพียงแค่หมากฝรั่งติดผม ฉันในวัยเด็กก็แก้ปัญหาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาใครๆ
นกหลายต่อหลายตัวของญาติข้างบ้านที่ถูกขังไว้ในกรงตาข่ายเหล็กขนาดใหญ่ ก็ถูกฉันปีนขึ้นไปเปิดกรง จนนกเหล่านั้นบินออกจากกรงไปจนหมดสิ้น
และเพราะเรียนอยู่โรงเรียนวัด ฉันได้ยินพิธีศพและสงสัยในการตายของคนอยู่เสมอ ในวันหนึ่งที่ยายคนขายขนม ที่หน้าโรงเรียนตายลง
ฉันจึงชิงเข้าไปมุดยืนชะโงกดูที่ในโลงศพ เมื่อยามที่เขาเปิดผาโลง ภาพของยายคนที่ฉันเคยซื้อขนม นอนตาถลน ลิ้นจุกปากอยู่ในโลง ทำให้
เด็กหญิงขี้สงสัยอย่างฉันถึงกับผงะ..!!!
ภายในห้องใต้ศาลาวัดอันอับ..และมืดทึมฉันได้พบเห็นรูปถ่ายขาวดำหลายต่อหลายใบวางเรียงรายอยู่ท่ามกลางฝุ่นและหยากไย่ ฉันตกใจกลัวและวิ่งแน่บหนีไปจากที่ตรงนั้น เพราะเสียงหล่นโครมของอะไรบางอย่าง ณ ที่แห่งนั้น
ภาพของการเผาศพคนตายกลางแจ้ง ที่เด็กหญิงช่างสงสัยเช่นฉันได้บังเอิญไปพบเห็น คนไม่กี่คนกำลังยืนมองร่างอันหงิกงอของคนที่อยู่กลางกลองไฟที่ลุกโพลง เสียงดังโพล๊ะเมื่อลุงคนเผา ได้กระทุ้งปลายไม่ไผ่ไปที่ศรีษะของร่างนั้น จนในเวลาอาหารเย็นของวันนั้นฉันถึงกับบอกกับย่าว่า “ย่า…หนูกินแกงส้มผักบุ้งไม่ลงแล้วละ”
เมื่อเข้ามาอยู่ยังกรุงเทพฯ ฉันก็ยังคงความเป็นเด็กที่ขี้สงสัยและช่างสังเกตุ ในสิ่งที่เข้ามาสะกิดใจเช่นเดิมมีเรื่องราวอีกมากมายตามวัยวันเหล่านั้น….
เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ความสนใจของฉันมักโลดแล่นไปกับเรื่องราวจากหนังสือ 'หอสมุดแห่งชาติ' คือสถานที่ที่ฉันมักจะไปที่นั่นเป็นประจำ เข้าห้องโน้น ออกห้องนี้ ค้นหาหนังสือที่จะตอบสนองความสนใจของตนเองแล้วจมจ่อมนั่งอ่าน อยู่ในความเงียบ…
หลายครั้งหลายคราที่เรื่องราวจากในหนังสือเหล่านั้น ทำให้ฉันต้องรีบออกจากบ้านไปหอสมุด เพื่ออ่านมัน นิยายบางเรื่องมีหลายเล่มที่ต้องอ่านอย่างต่อเนื่อง และฉันไม่ยอมที่จะอ่านข้ามเล่ม เพราะจะขาดอรรถรสของเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน ทำให้ฉันต้องก้มหน้าก้มตาค้นหาหนังสือบนชั้นวางครั้งแล้วครั้งเล่า และเมื่อหาไม่เจอจริงๆ ฉันก็อดใจรอจนกว่าคนที่นำไปอ่านก่อนหน้าจะนำมันมาคืน..
หนึ่งในหลายเรื่องราวจากการอ่านนั้น มีเหตุการณ์ที่ฉันยังประทับใจตัวเองอยู่จนถึงทุกวันนี้ คือการที่ได้ไปเที่ยวเดินเสาะหาเจดีย์ อันเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของหญิงสาวและชายหนุ่มคู่หนึ่ง ที่มีความรักอันผิดธรรมนองคลองธรรมและประเพณี จนกระทั่งถูกปลิดชีวิตให้ตายตกไปตามกัน
ในหนังสือเล่มนั้นได้กล่าวถึงเจดีย์แห่งความรักซึ่งเป็นที่บรรจุกระดูกของคนทั้งสอง และคำจารึกเป็นบทกลอนของความรักที่แสนโศก..
ฉันเมื่อวัยสิบหกปีโดยลำพัง ในชุดนักเรียนไปเดินดั้นด้นค้นหาเจดีย์แห่งนั้นที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อเห็นสิ่งก่อสร้างใดรูปทรงคล้ายเจดีย์ฉันก็รี่เข้าไปยืนมองและค้นหา แต่ทว่าก็ไม่พบเจดีย์ที่ว่านั้น แม้จะถามจากพระภิกษุในวัด ก็ไม่มีใครเคยพบเห็นหรือรู้จักเจดีย์นั้นเลย
ฉันไม่ละความพยายาม เดินเรื่อยไปถึงที่รกเปลี่ยวของวัด จนกระทั่งสุนัขของวัดเห่าไล่ ฉันจึงตัดใจเลิกค้นหา แต่แม้จะหาไม่พบในความเป็นจริง แต่ทว่าเจดีย์ในเรื่องราวแห่งความรักนั้น กลับตั้งตระหง่านอยู่ในจิตใจของฉัน…
โอ้วันใดมิได้พบประสบพักตร์
ราวหัวอกจะหักเสียให้ได้
หวานอุราน้ำตาก็ตกใน
กลายเป็นไฟเผาร้อนรอนชีวี
เนื้อเพลง พญาโศก ประพันธ์โดย พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
วัยวันผ่านเลยไป ฉันก็ยังไม่หายจากนิสัยของการชอบค้นหาและไปให้เห็นในสิ่งที่ตนมีความประทับใจ ดังเมื่อหลายปีก่อน เมื่อฉันได้อ่านพบหญิงสาวผู้มีอายุยืนนาน และแสนสงบงามผู้หนึ่งกับที่อยู่ของเธอคือป่าอันอุดมสมบูรณ์ ด้วยมนตราแห่งตัวหนังสือจากหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ นั้น ทำให้ฉันไม่สามารถอ่านแล้ววางลงได้ และอ่านซ้ำอย่างแสนจะประทับใจ ฉันขับรถออกจากบ้านไปยังเมืองสระบุรี ถามหาวัดอันเป็นทีอยู่ของเสาร้องไห้ต้นนั้น ด้วยใจที่รู้สึกรักและเป็นมิตร กับนางไม้ที่ฉันอ่านพบจากเรื่องราวในหนังสือ
ฉันบรรจงคล้องพวงมาลัยที่เสาสีดำทะมึนที่วางอยู่บนแท่นกลางศาลา ก้มกราบแสดงความคารวะ ต่อจากนั้นก็ค่อยๆ ลุกขึ้นเดินสำรวจไปที่ขอนไม้นั้นอย่างละเอียดละออ ไล่ไปถึงตู้เสื้อผ้าที่มีคนนำมาถวาย มีเสื้อสีและผ้าสไบงามแขวนอยู่เรียงราย ท้ายสุดฉันก็ไปหยุดนั่งลงตรงหน้ารูปปั้นของแม่นาง..
ใบหน้าของรูปปั้นนั้นทาด้วยสีขาว ตัดกับปากสีแดงสดและแก้มอมชมพู มีแป้งตลับยี่ห้อเมเยอร์และลิปสติกมากมายหลายแท่งวางเรียงรายอยู่บนหน้าตัก..ของรูปปั้นนั้น ฉันพิศดูจนอิ่มหัวใจ เคลิ้มไปด้วยเรื่องราวอันตราตรึงจากในหนังสือ แล้วฉันก็ก้มลงกราบลากลับบ้าน..
ตกกลางคืนฉันนอนหลับและฝัน..ฉันฝันไปว่าฉันกำลังเดินอยู่ในตรอกแคบๆ และกำลังจะสวนทางกับผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อต่างคนต่างเดินจวนเจียนจะสวนกัน จู่ๆ เธอก็โผเข้ามาผลักฉันนอนลงไปกับพื้น และกดทับร่างของฉันไว้
ฉันมองใบหน้าของเธอย่างเต็มตา ใบหน้าของเธอมีสีขาวโพลน ปากเป็นสีแดงสด ผมที่ยาวนั้นดำสนิท ฉันทุลักทุเลตื่นขึ้นมาด้วยความหวาดกลัว และไม่กล้าที่จะปิดไฟนอนอีกเลยนับแต่คืนวันนั้น จนเป็นเวลาเกือบสามเดือน การไม่ปิดไฟในเวลานอนในระยะเวลานานทำให้ฉันนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง ฉันจึงมีอาการป่วยด้วยโรคใจสั่น และเหนื่อยอ่อนจนกระดิกกระเดี้ยตัวไม่ได้ ทางแก้ของฉันคือการนอนเฉยๆ…แม้เมื่อไปหาหมอก็ตรวจไม่พบ
เมื่อเวลาผ่านไปอาการเริ่มหายไปและฉันค่อยๆ ดีขึ้น ฉันจึงขับรถไปที่นั่นอีกครั้ง ฉันซื้อพวงมาลัย แล้วก้มหน้าก้มตาคลานเข้าไปสักการะ โดยมองเพียงแต่พื้น และก้มหน้าคลานกลับออกมาโดยที่ฉันไม่หันกลับไปอีกเลย…
แม่ดอกรักเร่…หญิงสาวกับกล่องของขวัญ จากฝีมือของฉัน..
ฉันพบเธอจากเรื่องราวของคดีฆาตกรรมปริศนาตั้งแต่ปี 1947 จากภาพศพของหญิงสาวผู้ถูกมองว่าเป็นหญิงบ้า มากรัก ผู้มีฉายาว่า The Black Dahlia เมื่อฉันอ่านเรื่องของเธอและพิศมองที่ภาพต่างๆ ราวกับฉันได้พบดอกกุหลาบงามอันปราศจากแจกัน..มีเพียงหนามแหลมคมจากกิ่งก้านของเธอเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องปกป้องให้กับหัวใจอันไขว่คว้าและฝันใฝ่ของเธอ
ในวันที่ฉันกำลังจมจ่อมอยู่กับเรื่องราวของเธอนั้น ฉันรู้สึกหิวเมื่อถึงเวลาที่มื้ออาหาร และในครัวของฉันไม่มีอะไรที่ปรุงไว้แล้วเลย ฉันคว้าขวดน้ำพริกข่าที่ซื้อมาจากเมืองเหนือขวดหนึ่งมาคลุกกินกับข้าวเปล่าๆ จนอิ่ม และเวลาผ่านไปเพียงสักครู่ฉันก็มีอาการปวดแสบปวดร้อนในบริเวณกระเพาะ
ความปวดนั้นรุนแรงมาก จนฉันไม่สามารถจะนั่งหรือยืนอยู่ได้ ต้องทิ้งตัวลงนอนกุมท้องโอดโอยกับพื้นบ้าน..โอย..โอย..นี่ฉันจะตายไหมหนอ..
ในเสี้ยวเวลานาทีแห่งความปวดแสบปวดร้อนที่กลางลำตัวอันมากมายของตนเองนั้น ฉันรู้สึกราวกับเป็นเธอ ฉันรู้สึกถึงความเจ็บปวดของเธอ…และ “แม่ดอกรักเร่” คืองานของฉันที่ได้ปั้นขึ้น ด้วยใจที่คิดถึงเรื่องราวของเธอ
แม่สาวน้อยร้อยชั่ง “มารยาทนักรัก”
ภายหลังจากที่ ซิลเวีย คริสเทล อดีตนางเองนักแสดงซุปเปอร์สตาร์ในวงการวาบหวิวได้เสียชีวิตลง ภาพยนต์เรื่องหนึ่งของเธอที่คงความเป็นตำนานของ ภาพยนตร์แนวโรแมนติค คือ “เอ็มมานูเอ็ล”
ฉันประทับใจกับภาพถ่ายของเธอใบหนึ่ง เธอมีท่านั่งที่สวยงามมากในความรู้สึกของฉัน และฉันได้รับรู้มาว่า แท้ที่จริงแล้วผู้ประพันธฺ์หนังสือเรื่อง “เอ็มมานูเอ็ล” อันโด่งดังก้องโลกนั้นมิใช่ใครอื่น แต่เธอเป็นหญิงสาวชาวไทย ที่มีชีวิตอยู่ในฝรั่งเศษ มีชื่อว่า คุณมารยาท หญิงสาวสวยผู้ใช้ชีวิตภายหลังการแต่งงานของเธอย่างอิสระเสรี และได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นโดยน่าจะเป็นเค้าโครงมาจากเรื่องจริงในชีวิตของเธอ
ภาพถ่ายภาพนั้นสะกดใจให้ฉันต้องปั้นดินในมือจนออกมาเป็นงาน…และให้ชื่อของงานว่า “มารยาทนักรัก”
มีเรื่องราวมากมายที่จะเข้ามาอยู่ในความสนใจและความทรงจำของเรา เรื่องราวเหล่านั้นบ้างก็งดงาม บ้างก็โศกเศร้า บ้างก็รันทดหดหู่
การรับเรื่องราวเหล่านั้นเข้ามาเป็นวัตุดิบ แล้วค่อยๆ กลั่นกรองออกมา จนกระทั่งเกิดเป็นชิ้นงาน ช่างราวกับต้นของดอกไม้ ไม่ว่าจะรับอาหารและปุ๋ยชนิดใดเข้าไป ดอกของมันก็ยังเป็นดอกของมันอยู่วันยังค่ำ ไม่แปรไปเป็นดอกไม้ชนิดอื่นๆ ได้
และฉันเชื่อเหลือเกินว่า ตราบใดที่เรายังรับสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราด้วยความยินดี และยินร้าย ด้วยความรู้สึกรู้สม ด้วยความสนใจใคร่รู้และสัมผัสกับมันอย่างลึกซึ้งแล้ว
ตราบนั้น ไฟในการสร้างงานจักยังไม่มีวันหมดลง
ถ่ายภาพโดย มณีดิน
รู้จัก… องุ่น เกณิกา สุขเกษม
จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยสยาม เคยทำงานเป็นสาวแบงค์ นาน 7 ปี
ปี 2540 เป็นต้นมา หันมาจับเศษดินปั้นเป็นหญิงสาวมากจริต จนได้รับการยอมรับ และรู้จักในฐานะประติมากรหญิงผู้ไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะจากรั้วสถาบันใด
ขณะนี้องุ่นใช้ชีวิตและทำงานประติมากรรม อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นของบ้านริมแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี
เป็นชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สบายๆ แม้ไม่ได้สบายด้วยวัตถุ ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ ART EYE VIEW เมื่อหลายปีก่อนว่า
“สบายด้วยอากาศ ด้วยต้นไม้ และมีอิสระ ทุกวันนี้ทำงานปั้นดิน และเผาเองทุกชิ้น ส่วนชิ้นไหนที่เห็นเหมาะเห็นชอบ ก็จะนำไปหล่อที่โรงหล่อ
รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากเลย เวลาที่ทำงาน เพราะอะไรที่มันเป็นชีวิตเรา เป็นความรู้สึกนึกคิดของเรา พอได้ทำเป็นงานออกมาแล้วมีความสุข
ถ้าช่วงไหนไม่ได้ทำงานปั้น มันเหมือนชีวิตเราหมดคุณค่า และอัดอั้น เพราะเรามีความรู้สึกที่ต้องระบายออกมา”
ติดตาม คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.