Art Eye View

ศิลปินชาวนา วรวิทย์ แก้วศรีนวม

Pinterest LinkedIn Tumblr

นวดข้าว
ART EYE VIEW—แต่ละปีที่ผันผ่านสำหรับเขา แม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการงานไม่แตกต่างจากใครต่อใคร แต่บางด้านของชีวิตก็มีความงามให้ได้สัมผัส

ยืนยันได้จากภาพเขียนเหล่านี้ที่ วรวิทย์ แก้วศรีนวม เขียนขึ้นเมื่อปี 2556

และในช่วงอากาศหนาวของฤดูเก็บเกี่ยวปลายปีนี้ เขาได้โพสต์ภาพ “นวดข้าว” พร้อมถ้อยคำ ผ่านโลกออนไลน์ เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าและอวยพรปีใหม่ ไปยังบรรดามิตรสหาย ที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีที่แตกต่างกันไป

“ใกล้สิ้นสุดปี เวลาได้พาเราเดินทางมาถึงช่วงท้ายปีอีกหน เรื่องราวต่างๆในชีวิตที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวันแต่ละเวลา ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรๆที่เข้ามาในชีวิตมากขึ้น

“ผล”ของงานนั้น คือสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า จากขวบปีที่ผ่านเลยไปข้างหลังเรานั้นเราทำอะไรอยู่ เราได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่าขนาดไหน เพราะเวลานั้นล่วงผ่านไปโดยไม่สามารถย้อนกลับเอาเวลานั้นได้แม้แต่วินาที

สิ่งที่รออยู่ข้างหน้านั้นคืออะไรไม่อาจจะรู้ได้ มันจะเกิดอะไรก็ไม่รู้ แต่รู้แค่ว่า ณ ปัจจุบัน เรากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งเหล่านั้นจะบอกในตัวของ “ผล” แห่งการกระทำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของเราเอง”
หลกกล้า (ถอนกล้าข้าว)
บ้านเกิดศิลปินเลือดภูไท วรวิทย์ แก้วศรีนวม…บ้านหนองสูง ต.หนองสูงเหนือ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร

นาดำ ดำนา
หนีค่าครองชีพสูง กลับไปทำงานศิลปะที่บ้านเกิด

แล้วชีวิต ณ ปัจุบันของวรวิทย์กำลังดำเนินอยู่บนวิถีใดและตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเขาได้เรียนรู้และชื่นชมกับผลของกระทำอย่างไรบ้าง

ศิลปินวัย 36 ปี ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ซึ่งขณะนี้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ณ บ้านหนองสูง ต.หนองสูงเหนือ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ทำงานศิลปะและทำนาไปด้วย บอกเล่าว่า

“ตอนนี้ผมรักทั้งสองสิ่งเลยนะ แม้การทำนาจะเป็นสิ่งที่เพิ่งเริ่มต้นทำแบบจริงจัง แต่พอได้เห็นผลผลิต มันรู้สึกได้เลยว่านี่คือของจริง

พอหมดฤดูทำนาก็มาทำงานศิลปะ แต่เราต้องทำทั้งสองสิ่งนี้ให้เต็มที่ ด้วยหัวใจที่รักมันจริงๆ เพราะถ้าไม่รัก มันจะรู้สึกท้อแท้ และเหนื่อยมากๆ”

แม้จะเกิดมาในครอบครัวชาวนา และวางแผนเอาไว้ว่าวันหนึ่งจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ทว่าก่อนหน้านี้วรวิทย์ไม่ได้มีความตั้งใจสักนิดเลยว่า จะกลับมาสานต่ออาชีพของบรรพบุรุษ

ที่มาของการเป็นศิลปินชาวนาของเขาเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นมากกว่า หลังจากที่เมื่อ 4 ก่อนได้ตัดสินใจกลับมาทำงานศิลปะที่บ้าน เพื่อเตรียมแสดงงานร่วมกับเพื่อนศิลปินอีกคน ณ แกลเลอรี่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

“ผมเรียนจบจากศิลปากรมาได้สิบกว่าปี เคยใช้ชีวิตในกรุงเทพฯมายาวนานมาก เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงาน ก็พยายามทำงานศิลปะเก็บเอาไว้

ในความคิดของผมนั้นพยายามที่จะหาทางกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดมาตลอด จนกระทั่งมีโอกาสที่จะได้แสดงงาน ณ จากแกลเลอรี่แห่งหนึ่ง ผมเลยตัดสินใจกลับมาทำงานศิลปะที่บ้าน เพราะต้องการมีเวลาทำงานที่มากขึ้น”

เพราะการใช้ชีวิตในเมืองหลวง ทำให้เขามีเวลาทำงานศิลปะได้ไม่มาก เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานหาเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นงานรับจ้างเพ้นท์ฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ

“อยู่ในกรุงเทพฯ ผมต้องวิ่งหาจ๊อบ และเสียเวลาไปกับการทำงานเยอะ กว่าจะได้ทำงานศิลปะแต่ละชิ้นก็ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ และส่วนหนึ่งค่าครองชีพที่กรุงเทพฯสูง

เมื่อทำจ๊อบเสร็จก็เหลือเงินไม่เท่าไหร่ พักทำงานศิลปะได้นิดเดียว ก็ต้องไปทำจ๊อบอีก

ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะจ๊อบหายาก มันคือเงิน และเงินสำคัญต่อการดำรงชีพในกรุงเทพฯ

ท้ายสุดเลยตัดสินใจกลับบ้าน เพราะต้องการเวลาและประหยัดเงิน และคิดว่าอย่างน้อยๆอยู่ต่างจังหวัดเวลาสำหรับทำงานศิลปะคงมีมากขึ้น ไม่ต้องวิ่งวุ่นวายอะไรมาก เลยตัดสินใจย้ายตัวเองกลับบ้าน เพื่อทำงานเตรียมแสดง”
ควายเหล็ก ไถนา
ทุ่งรวงทองและต้นยางนา
ศิลปินชาวนา

เมื่อพบว่าครอบครัวขาดแรงงานช่วยทำนาซึ่งนับวันยิ่งหาได้ยากขึ้นทุกวัน บางเวลาเขาซึ่งเป็นลูกจึงต้องวางมือจากการทำงานศิลปะไปช่วยอีกหนึ่งแรง

“ชีวิตที่กลับมาอยู่ที่บ้าน ตอนแรกยังไม่ได้ทำนาเต็มตัว แค่ไปช่วยนิดๆหน่อยๆ เพราะต้องทำงานศิลปะให้เสร็จทันแสดงงาน
หลังจากแสดงงานเสร็จ(นิทรรศการศิลปะชุด กินด้วย -ได้เปล่า ? หรือ Can I – have some? ) โดย พีรนันท์ จันทมาศ และ วรวิทย์ แก้วศรีนวม เมื่อปี 2554 ณ ธีโอลี ดี วอล์ค ออฟ อาร์ต สเปซ) ผมก็เริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น แต่ก็ยังเขียนรูปตลอด
พอเริ่มเข้าปีที่2 ของการกลับมาอยู่บ้าน ผมเริ่มช่วยที่บ้านทำนาในขั้นตอนต่างๆมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหาคนรับจ้างทำนายากขึ้นเพราะคนทำนาน้อยลง

ขณะที่ผมก็ยังต้องทำงานศิลปะเพื่อเตรียมแสดงงานศิลปะอีกครั้งด้วย ทำนาไปด้วย ทำงานศิลปะไปด้วย หลังการแสดงงานศิลปะครั้งต่อมาเสร็จลง คราวนี้ผมได้ลงแรงเพื่อทำนาเต็มรูปแบบ สาเหตุหลักก็มาจากที่บอกไป คือหาคนทำนาไม่ได้ เพราะคนทำนาแก่หมดแล้ว

และปัจจุบันไม่มีใครอยากจะทำนาครับ เพราะมันเป็นงานที่เหนื่อย งานที่หนัก และแข่งกับเวลา

แต่ผมต้องทำ เพราะที่บ้านหาคนช่วยทำนาไม่ได้จริงๆ ขณะที่ค่าแรงของคนที่รับจ้างเกี่ยวข้าวก็สูงถึง 400 -500 บาทต่อวัน สุดท้ายผมเลยได้ทำนาเต็มหน้าที่ พอว่างก็มาเขียนรูป ผมเลยกลายเป็นชาวนาและศิลปินไปในตัว”
ต้นข่อยกับกระท่อมกลางนา
ท้ายบ้าน(บ้านหนองสูง ต.หนองสูงเหนือ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร)
กลางวันทำนา กลางคืนก็ทำนา

วรวิทย์เล่าว่า ปัจจุบันชาวบ้านที่ทำนาเป็นส่วนใหญ่เป็นคนแก่ คนหนุ่มสาวที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และลูกหลานชาวนาที่เรียนจบแล้วกลับมารับราชการที่บ้านเกิด

“เด็กรุ่นใหม่พอจบม.6 ก็เข้าไปเรียนหนังสือในเมืองกันหมดครับ
เลยเหลือแต่คนแก่ คนหนุ่มสาวที่ไม่ได้เรียนต่อ และคนที่ทำงานราชการแถวบ้านเท่านั้น

การทำนาแถวบ้านผมยังเป็นนาดำอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำนากันเองทำทั้งกลางวันและกลางคืน

ซึ่งกลางคืนจะทำโดยใช้ไฟติดหน้าผากส่องเอา ผมก็ต้องทำตอนกลางคืนเหมือนกันครับ ถึงตอนเกี่ยวข้าวก็ต้องเกี่ยวตอนกลางคืน เพราะหาคนเกี่ยวไม่ได้ คิวรถเกี่ยวข้าวยาวมาก และทั้งอำเภอมีรถเกี่ยวข้าวแค่สองคัน

ถ้าช่วงเก็บเกี่ยว ผมต้องเกี่ยวข้าว ขนข้าว นวดข้าว จนกระทั่งนำข้าวขึ้นยุ้ง ให้เสร็จเรียบร้อยจริงๆ จึงค่อยได้ทำงานศิลปะ
ทุกขั้นตอนของการทำนาเป็นงานที่หนักมากๆและเหนื่อยเต็มพิกัดแต่ละวันกว่าจะเสร็จก็เกือบ 5 ทุ่ม”

จึงทำให้ชีวิตในช่วงนี้ของวรวิทย์ได้รู้ซึ้งถึงความเหน็ดเหนื่อยของการทำนาอย่างแท้จริง

“เพราะหลังจากที่เรียนจบ ป.6 ผมเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ เลยครับ จะได้กลับบ้านก็เฉพาะวันหยุดตามเทศกาลต่างๆและช่วงปิดเทอม

รวมแล้วกว่า 20 ปีนะที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ถ้ากลับมาบ้านช่วงไหนที่ตรงกับช่วงทำนาถึงจะได้ช่วยทำนา ส่วนใหญ่จะได้ทำในขั้นตอน ขนข้าว และนวดข้าว แต่ก็เป็นขั้นตอนที่หนักเหมือนกันครับ”


ขายหมูปิ้งหาเงินซื้อสี

ครอบครัวในชนบทจำนวนไม่น้อย เมื่อส่งลูกเข้ามาเรียนในเมือง ย่อมปรารถนาให้ลูกมีอนาคตที่ดีหรือเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ต้องทำงานหนัก วรวิทย์เล่าว่าในระยะแรกของการกลับไปอยู่บ้านเกิด เขาถูกตั้งคำถามจากครอบครัวและเพื่อนบ้านเช่นกัน ที่เขาผู้เรียนจบถึงปริญญาตรี แทนที่จะหางานทำที่ดีกว่าอาชีพเดิมของครอบครัว กลับเลือกที่กลับไปอยู่บ้านทำนา อาชีพซึ่งครอบครัวพยายามผลักเขาให้ออกห่างมาตลอด

“ตอนแรกที่กลับมาอยู่บ้าน คนแถวบ้านงงกันมาก แต่ผมก็ได้วางแผนว่า ทำอย่างไรถึงจะมีรายได้เกิดขึ้น ในระหว่างที่ต้องทำงานศิลปะเพื่อเตรียมแสดง

เริ่มแรกผมทำหมูปิ้งและส้มหมู ไปขายที่ตลาดของอำเภอ เพื่อเป็นรายได้สำหรับมาซื้อสี แคนวาส และพู่กัน และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการกินการอยู่

ครูที่เคยสอนผมสมัยเรียนประถมและชาวบ้านก็งงกันว่า เรียนจบตั้งศิลปากร ทำไมมาขายหมูปิ้ง

ส่วนแม่ผมเค้าอยากให้ผมทำงานราชการ เช่น เป็นครู แต่ผมไม่ได้อยากเป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียนเท่าไหร่ เพราะรู้ใจตัวเองว่า อยากทำงานศิลปะ

ช่วงแรกแม่ก็งอนๆเหมือนกัน แต่ผมก็พยายามทำให้เค้าเห็นว่างานศิลปะก็สามารถเลี้ยงชีพได้”
กำลังเกี่ยวข้าวครับ ในภาพเป็นแม่ผมเอง
จาก “ภาพหุ่นนิ่ง” สู่ “ภาพชีวิตชาวนา”

ก่อนจะหันหลังให้กรุงเทพฯ ภาพเขียนของวรวิทย์ ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนหุ่นนิ่ง ดังเช่นในงานชุด “กินด้วย -ได้เปล่า ?”

แต่เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านทิวทัศน์ของชนบทที่บ้านเกิดเริ่มมีอิทธิพลต่อการเขียนภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

“ก่อนกลับบ้านงานศิลปะของผมจะเป็นงานเพ้นท์เกี่ยวกับอะไรที่มันง่ายๆในชีวิตประจำวัน เช่น ผลไม้ต่างๆ

พอกลับมาอยู่บ้าน ผมเริ่มขับมอเตอร์ไซต์ออกไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อชมวิวทิวทัศน์

เริ่มแรกแม้จะช่วยที่บ้านทำนาไปด้วยทำงานศิลปะไปด้วย แต่งานยังไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำนามากมายครับ ส่วนใหญ่เป็นภาพแลนด์สเครปของทิวทัศน์แถวบ้านก่อน

เป็นวิวทิวทัศน์ที่ตัวเองคุ้นเคยเมื่อตอนเด็กๆบ้าง วิวทุ่งนาทั่วไปบ้าง

หลังจากนั้น เมื่อผมเริ่มคุ้นเคยกับการทำนาแบบมืออาชีพจริงๆ ทำเพื่อหวังให้มีข้าวในยุ้งไว้กินจริงๆ ทำให้ผมเห็นถึงความงดงามบางอย่าง

ความงดงามที่ว่าคือ ชีวิตที่ต้องทำนา เมื่อถึงช่วงทำนา และชีวิตที่ต้องพักทำงานศิลปะ ผมเลยเริ่มต้นเขียนภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำนามากยิ่งขึ้น เพราะทั้งสองสิ่งนี้มันคือชีวิตผมไปแล้ว

วิชาศิลปะที่ได้เล่าเรียนมา มันคือวิชาอาชีพที่ผมทำเพื่อเลี้ยงชีพ และการทำนาคือสิ่งที่ต้องทำ เพราะทำให้ผมมีข้าวกินตลอดปีได้
เมื่อข้าวเต็มยุ้ง มันเกิดความมั่นใจแปลกๆนะ รู้สึกได้เลยว่า โห.. ปีนี้ไม่อดตายแล้ว”
รูปนี้เป็นขั้นตอนคล้ายกันกับนวดข้าว แต่ใช้เครื่องรีดข้าวแทนแรงคนครับ เพราะคนทำนาน้อยลง เครื่องทุ่นแรงจำเป็นครับ
รูปนวดข้าว ต้องทำกันตอนกลางคืน เพราะหาคนมาช่วยนวดยาก ได้แต่วานคนใกล้ชิดเพื่อนๆกันมาช่วยกันนวดกันตอนกลางคืนครับ
ข้าวปลาคือของจริง

ดังนั้นการทำนา ณ ปัจจุบันของวรวิทย์จึงไม่ใช่การทำเพราะต้องการแบ่งเบาภาระครอบครัวอีกต่อไปแล้ว แต่ยังได้วางแผนเอาไว้แล้วว่าจะทำตลอดไปควบคู่กับการทำงานศิลปะ

“ผมกับแฟนวางแผนไว้ว่าจะใช้ชีวิตกันแบบนี้แหละครับ คือทั้งทำนา และ ทำศิลปะไปด้วย สร้างความยั่งยืนให้ได้ ในวิถีชีวิตแบบนี้ครับ แฟนผมก็เป็นลูกชาวนาแถวบ้านนี่แหละครับ ตอนนี้ทำงานโรงงานที่กรุงเทพฯ จะกลับมาใช้ชีวิตเป็นชาวนาในเร็วๆนี้ ปัจจุบันแฟนผมเป็นสาวโรงงานครับ 5555”

วรวิทย์ ศิลปินเลือดภูไทในชุดผ้าฝ้ายเย็บด้วยมือ ซึ่งเป็นชุดแบบเดียวกันกับที่เขาใส่ไปทำนา บอกเล่าด้วยอารมณ์ขัน

ขณะกำลังเก็บกวาดบ้านเรือนเพื่อเตรียมต้อนรับนักศึกษาศิลปะ ม.มหาสารคาม ที่จะเดินทางมาเรียนรู้การทำงานศิลปะของศิลปินชาวนาเช่นเขา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีนักศึกษาศิลปะจากที่นี่แวะเวียนมาดูงานบ่อยครั้ง รวมถึงนักศึกษาศิลปะจาก ม.ขอนแก่น อีกทั้งในช่วงพักจากการทำนา สตูดิโอของเขายังเป็นที่สำหรับสอนศิลปะให้กับเด็กๆระดับชั้นประถมและมัธยมละแวกบ้านอีกด้วย

และภายในปี 2557 เขากำลังจะมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวศิลปะครั้งแรกของตัวเองเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับตัวเองและผู้ที่ติดตามงานศิลปะของเขา

“ผมไม่ได้แสดงงานนานมากๆครับ งานครั้งล่าสุดที่แสดงไปก็แสดงกับเพื่อนที่จบศิลปากรมาด้วยกัน เมื่อปีที่ 55 (นิทรรศการ Day . Night . Mind . Emotion By Fishing cat Group วรวิทย์ แก้วศรีนวม , สราวุฒิ เงินพุ่ม , ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา และ สิทธิกร เทพสุวรรณ)

การแสดงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของผม ตั้งแต่ได้เรียนจบศิลปะมา”

เนื้อหาในภาพเขียนที่จะถูกนำมาจัดแสดงมีเนื้อหาดังเช่นภาพเขียนที่นำเสนอให้ชมผ่าน ART EYE VIEW ณ ขณะนี้
เขาได้ตั้งชื่อนิทรรศการไว้ล่วงหน้าแล้วว่า…. ความจริง (Truth)

“เพราะสิ่งที่ผมเขียน คือความเป็นจริงในชีวิตของผมจริงๆ”

สิ่งที่กระตุ้นเตือนให้เขาระลึกเสมอว่า “ข้าวปลาคือของจริง”
นักศึกษาศิลปะ ม.มหาสารคาม มาดูงาน
นักศึกษาศิลปะ ม.มหาสารคาม มาดูงาน
ภาพนี้เป็นชาวบ้านเดินผ่านพร้อมกับกองกฐิน เลยแวะเข้ามาขอดูงานในบ้านครับ
ภาพนี้สอนเด็กหลังเลิกเรียนจะมาเรียนศิลปะที่บ้านตอนเย็นครับ และวันหยุดเสาร์อาทิตย์ครับ
ภาพนี้สอนเด็กหลังเลิกเรียนจะมาเรียนศิลปะที่บ้านตอนเย็นครับ และวันหยุดเสาร์อาทิตย์ครับ
นวดข้าว
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It