ART EYE VIEW—ก่อนที่ทุกวันนี้จะถูกขนานนามจากคนในวงการศิลปะส่วนหนึ่งว่าเป็น ซัลวาดอร์ ดาลี เมืองไทย
ความชื่นชอบในสิ่งลึกลับและเหนือจริง (Surrealism) ของ สมพง อดุลยสารพัน ได้ค่อยๆเริ่มก่อตัวมานานมากแล้ว นับแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมของโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย
“ก่อนจะเข้าเพาะช่าง และ ศิลปากร อีก ผมชอบอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องป่า เรื่องเขา เรื่องใต้ทะเล เพราะดูแล้วมันมีความสุข
ชอบแนวนี้มาตั้งนาน ไม่ใช่ชอบแนวอื่นมาก่อนแล้วมาเปลี่ยนทีหลัง ความชอบในสิ่งลึกลับและเหนือจริง มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ก็เลยมุ่งมั่นมาทางนี้โดยตรง เป็นอะไรที่มันถูกกับรสนิยมของเราครับ”
เราไม่ได้เกิดมาแล้วเก่งเลย
แต่กว่าที่ผลงานศิลปะของเขาจะพัฒนามาสู่ขั้นที่เจ้าตัวรู้สึกว่า แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ สมพงยอมรับว่า ในช่วงแรกๆของการสร้างสรรค์ ผลงานยังมีความเป็นคนอื่นอยู่มาก
“เป็นธรรมดาที่คนเราจะต้องมีที่มาก่อน ต้องมีครูบาอาจารย์ ศิลปินที่เก่งๆ และเพื่อนที่เก่งๆที่ชอบงานในแนวเดียวกับเรา เราอาจจะไปติดเขามาบ้าง โดยอัตโนมัติ เพราะเราไม่ได้เกิดมาแล้วเก่งเลย ไม่มีทาง
ชอบเซอร์เรียลลิสม์ แต่ก็ไม่มีรู้จะทำออกมาอย่างไรดี อย่างชอบดาลี ก็เลยไปติดเขามา อย่างมากเลย ตอนหลังมา พอเราจับทางของเราได้แล้ว ก็เลยสามารถเอาเรื่องที่เราสนใจ กลั่นกรองออกมาเป็นงานศิลปะในแนวที่เราชอบได้”
อย่างดาลีเขาจะเขียนภาพที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใต้สำนึก เพราะส่วนหนึ่งเขาสนใจศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (ประสาทแพทย์ชาวออสเตรีย ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะบิดาแห่งจิตวิเคราะห์) เขาเก่งมากคนนี้ เขียนอะไรออกมาได้หมด และเป็นแนวทางของเขาเลย มองปั๊บเราก็รู้ว่าเป็นภาพเขียนของเขา
ตอนแรกผมก็ไปติดเขา สลัดไม่หลุด เพราะเรายังหาจุดของเราไม่ได้ มาตอนหลังๆเราหาของเราได้ ซึ่งมันได้เองนะครับ ไม่ได้จงใจ มันจะค่อยๆได้เอง จนเป็นเราเต็มตัวเลย จนคนดูงานศิลปะเขายอมรับ จำได้ว่านี่เป็นงานของสมพง”
ไข่และโครงกระดูก
ซึ่งเรื่องราวที่สมพงชอบที่จะนำเสนอผ่านงานศิลปะ มากที่สุดก็คือเรื่องลึกลับและธรรมชาติ นั่นเอง ขณะเดียวกันก็ไม่ยึดติดกับเทคนิคในการนำเสนอ
“ชอบเรื่องลึกลับอันดับหนึ่งเลย แต่เราจะทำอะไรออกมาเพื่อสื่อถึงความลึกลับล่ะ จะเขียนผีเดินออกมาย่องๆมันคงไม่ใช่ มันจะต้องค่อยๆคิด บวกกับเทคนิคการทำงาน ผมจะไม่ยึดถืออะไรตายตัว อยากจะทำออกมาเป็นภาพเขียนก็ทำ หรืออยากจะทำเป็น Mix Media ก็ได้ บางทีในงานก็จะมีกิ่งไม้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง จะหยิบอะไรมาใช้ก็ได้ ขอแค่ให้มันสอดคล้องกัน กับสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ
อะไรที่ทำแล้วมีความสุขก็ทำ แล้วคนดูเขาพอจะเห็นด้วยไปกับเรา ซึ่งส่วนนี้มันจะทำให้เรามีความมั่นใจว่า เราเดินถูกทางแล้ว แต่ถึงแม้ใครจะยังไม่เห็น แต่ถ้าเราพอใจกับการทำงานของเราแล้ว เราก็มีความสุข มีความมั่นใจเกิดขึ้นได้เช่นกัน”
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งในผลงานของสมพง นอกโครงสร้างของผลงานหลายชิ้นๆที่มีลักษณะคล้ายๆรูปไข่ ซึ่งมาจากแรงบันดาลใจที่ว่า ไข่คือจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตหลายอย่างบนโลกใบนี้
ยังมีสิ่งหนึ่งที่จะปรากฏอยู่ในผลงานของสมพงแทบทุกชิ้นคือ ภาพของบรรดาหัวกะโหลก หรือโครงกระดูก ที่ถูกเขียนขึ้นภายใต้บรรยากาศของผลงานที่เป็นความฝัน กึ่งๆแฟนตาซี หน่อยๆ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว เขาชอบสะสมสิ่งเหล่านี้ด้วย
“บ้านผมมีของพวกนี้เยอะมากนะ เกือบสี่สิบปีแล้วที่ผมสะสมของพวกนี้ ตั้งแต่ครั้งยังมีตลาดนัดสนามหลวง เมื่อก่อนเขายังไม่ห้ามขาย สตางค์มีบ้างไม่มีบ้าง ก็ไปหาซื้อมาจนได้ เพราะสำหรับเรามันมีความลึกลับซับซ้อน น่าดู น่าสนใจ
แต่ถ้าดูทีแปรงหรือเทคนิคอื่นๆที่ผมใช้ในการสร้างงาน ก็สามารถ มองออกได้เช่นกัน ว่าเป็นงานของผม
ผมเคยเขียนภาพต้นกล้วยโผล่ออกมาจากหน้าต่าง ได้รับรางวัล คนที่ยังไม่รู้จักผม ก็เคยบอกว่าไอ้คนนี้เขียนเหมือนคนที่เขียนต้นกล้วยต้นนั้นเลย เวลานั้นผมยืนอยู่ข้างๆ เขา ได้ฟังก็รู้สึกว่าเขาเห็นเขามองออก โดยที่เราไม่ต้องบอก เขาเห็นเอง เพราะงานมันมีการใช้ทีแปรงที่คล้ายๆกัน”
จากช่างภาพแฟชั่น สู่ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์
เกือบ 20 ปี ที่สมพงปลดระวางตัวเองจากงานประจำ ซึ่งเคยทำในฐานะช่างภาพแฟชั่น แล้วย้ายตัวเองจากเมืองหลวงไปทำงานศิลปะ ใช้ชีวิตและสร้างครอบครัว อยู่ที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ด้วยเหตุผลอยากอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากที่สุด
“เพราะความชอบธรรมชาติ เมื่อก่อนผมก็เป็นช่างภาพเหมือนกับน้องๆนี่แหล่ะ(พลางชี้มือมาที่ช่างภาพสาวของ ASTV manager) ถ่ายแฟชั่น ให้กับแมกกาซีนหลายหัว
เพราะพอเรียนจบมหาวิทยาลัยก็เข้าทำงานประจำ ยี่สิบกว่าปีที่เป็นช่างภาพถ่ายแฟชั่น แต่ในใจนั้นอยากเขียนรูปอยู่ตลอด พอเก็บเงินได้ก้อนนึง ก็ไปซื้อที่ ไปอยู่ใกล้ๆป่าซะเลย มันจะได้เห็นวิว เห็นทิวทัศน์ที่เราต้องการ เห็นธรรมชาติแท้ๆ
หลังบ้านผมมีธารน้ำ ส่วนด้านหน้ามองไปเห็นภูเขา ที่ดินเมื่อก่อนนี้เป็นไร่อ้อย พอเราเอาต้นไม้ไปลง ผ่านไปเกือบยี่สิบปี มันก็โตไง แล้วนกและสัตว์ต่างๆก็มาอยู่ และสิ่งเหล่านั้นนั่นแหล่ะที่ทำให้มีกำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานมาจนถึงตอนนี้
เมื่อก่อน ผมจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับใต้ทะเลสักเรื่อง ผมต้องไปดำน้ำที่เสม็ด ใส่แว่นดำน้ำลงไปดูปะการัง เพื่อที่จะได้เห็นของจริง เพราะ สมัยก่อนยังมีภาพตามหนังสือยังหาดูยาก ต้องไปดูเอง ดำลงไปดูความลึกลับซับซ้อน แล้วเก็บมาจินตนาการ
สำหรับผม คนที่จะเขียนงานแนวเซอเรียลลิสต์ได้ดี ต้องเห็นของจริง มันถึงจะทำได้ หมายถึงในแนวของผมนะ ต้องศึกษาจากของจริงก่อน ไม่ใช่อยู่เฉยๆมาเขียนเลย หรือนั่งเทียน ไม่ดีแน่
หรืออย่างเวลาที่ผมจะเขียนช้างสักตัว โดยไม่ต้องดูแบบ ไม่มีทาง เราต้องเห็น ต้องรู้สรีระก่อน เราถึงทำได้ดี
หรือจะเขียนป่าที่ถูกทำลาย เราต้องเข้าไปเห็นของจริง เห็นซุงที่ถูกตัด วางอยู่ริมน้ำ เห็นอะไรที่มันแอบทำลายกัน แล้วเอาความจริงตรงนั้นมาทำเป็นจินตนาการของเรา
ไม่ใช่เขียนซุงวางเรียงกันเป็นแถวอย่างของจริงที่ตาเห็นมันก็ไม่ดี เราต้องเขียน ต้องจินตนาการให้คนเขารู้สึกร่วมไปกับเรา จนทำให้รู้สึกว่า อย่าไปทำลายป่าเลย
มีอยู่รูปหนึ่งนะผมเขียนเรื่อง ฝันร้ายของนางไม้ ต้นไม้ล้มไปแล้ว นางไม้อยู่ไม่ได้ ต้องไปอยู่บนก้อนเมฆ หรือหนีไปอยู่ที่อื่น”
เรื่องเหนือจริง จากด่านมะขามเตี้ย
ชีวิตศิลปินที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย ของสมพง จึงมีทั้งด้านที่พอใจ นั่นคือ ได้ใช้เวลาไปกับการสังเกตธรรมชาติเพื่อเก็บมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน และ ด้านที่สะเทือนใจ จนอยากสะท้อนผ่านผลงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมหยุดยั้ง
“ทำให้คนได้สะเทือนใจไปกับเรา เช่น ป่าถูกทำลาย ต้นน้ำลำธารถูกทำลาย เราสามารถใช้ความสามารถของเราเขียนออกมาให้คนได้รับรู้ข้อมูลผ่านภาพได้ เพราะว่าเราไม่ได้ไปเล่นดนตรี หรือไปเดินขบวนประท้วงกับเขา แต่เราทำออกมาเป็นงานศิลปะ ซึ่งมันเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยกันรณรงค์เรื่องธรรมชาติ
คือเราไปอยู่ที่นั่น แล้วเราได้เปรียบ ตรงที่เราได้เห็นของจริง ได้ข้อมูลมาทำงาน เพราะเราต้องเป็นนักสังเกตธรรมชาติ เฝ้ามอง ต้นไม้ผุ ใบไม้ผลิใบอ่อน สัตว์ต่างๆ เดิน บิน ฯลฯ แล้วค่อยมาจินตนาการต่อ
และยังได้ไปบอกคนในหมู่บ้านให้รักป่า แต่เขาก็ไม่ค่อยฟังหรอก ก็ยังมีไปตัดกันอยู่ ลูกหลานเขา ผมก็ให้ทุนเรียน ต่อหน้าผมเขาก็เปลี่ยนใจ ไม่ทำ พอผมไม่อยู่บ้าน เขาก็มาระเบิดปลาบ้างอะไรบ้าง ในลำธาร”
แม้แต่ชาวบ้านบางรายที่มารับจ้างดายหญ้าให้เขา พอถึงเวลาหนึ่งก็เปลี่ยนบทบาทไปรับตัดต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำลายป่า ซึ่งนั่นเป็นความจริงส่วนหนึ่งที่เขาได้สัมผัส
“ผมช่วยอะไรไม่ได้มาก นอกจากเขียนรูปให้คนตระหนักเรื่องนี้ขึ้นมาหน่อย แม้ชาวบ้านเขาจะรู้ว่าผมคนเขียนรูปอยู่ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจอะไรมากหรอก เมื่อสองวันก่อนเขาเห็นผมในทีวี ถึงฮือฮากันใหญ่เลย”
คนเรามันก็แค่นั้น
ล่าสุด ผลงานศิลปะซึ่งอยากจะสะท้อนเพื่อให้คนตะหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ และลดการทำลาย ได้ถูกนำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการแสดงเดี่ยวของครั้งที่ 2 หลังจากที่ห่างหายไปจากการแสดงเดี่ยวครั้งแรกเกือบยี่สิบปี เพราะต้องใช้เวลานานสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น และทำการเกษตรไปพร้อมกันด้วย
“ผมแสดงเดี่ยวครั้งแรกเมื่อปี 2537 ที่หอศิลป์ ถ. เจ้าฟ้า ช่วงเวลาที่หายไป ไม่ใช่ไม่สนใจแสดงงาน แต่งานที่จะแสดงไม่ค่อยมีมากกว่า เพราะผมเป็นคนที่เขียนรูปช้ามากนะ คุณไปดูงานก็จะเห็นว่างานของผมค่อนข้างมีรายละเอียด และตาผมก็ไม่ค่อยดี บางรูปใช้เวลาเขียนเกือบสองปี พอคนเขาซื้อไป เราก็เอาเงินอันนั้นมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งแค่นั้นเราก็พอใจแล้ว
และผมต้องใช้เวลาไปกับการทำสวน ปลูกมะนาว ปลูกมะม่วง ทำเกษตรกรรมธรรมชาติ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราไม่ใช่มืออาชีพ มันก็เลยไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ก็พอตุ๊ไป
นิทรรศการครั้งนี้ เขาจัดให้ผม แต่จริงๆผมไม่ได้คิดจะแสดงที่ไหนอีกแล้ว มันเหนื่อย แล้วหลังๆงานของเรามันออกมาช้า เพราะการแสดงงานแต่ละครั้ง มันควรต้องมีงานใหม่ๆออกมาให้คนเขาได้ดูใช่ไหม ดูแต่งานเก่าๆเขาก็เบื่อ เพราะเขาเคยเห็นแล้ว”
ซึ่งเจ้าภาพในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ให้กับสมพงคือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA BANGKOK นั่นเอง เนื่องจากเจ้าของสถานที่ บุญชัย เบญจรงคกุล เป็นหนึ่งในนักสะสมที่มีผลงานของสมพงเก็บเอาไว้มากที่สุด หากไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในช่วงเวลาอื่น ก็จะพบว่ามีผลงานของสมพงส่วนหนึ่งถูกจัดแสดงให้ได้ชมแบบถาวร
แต่นิทรรศการครั้งนี้นอกจากจะเป็นการนำผลงานที่เจ้าสัวบุญชัยสะสมไว้ ส่วนหนึ่งยังเป็นการหยิบยืมมาจากนักสะสมรายอื่น รวมถึงรวบรวมผลงานที่สมพงสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ มาจัดแสดง
สัจจะเหนือจริง ( Transcending Thai Surrealism) ชื่อนิทรรศการ มีที่มาจากการที่สมพงพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นสัจธรรมอันแท้จริงของชีวิต รวมไปถึงเรื่องของธรรมชาติรอบๆตัวมาตีแผ่ผ่านผลงานศิลปะในแนวเหนือจริง( Surrealism) นั่นเอง
ตัวอย่างเช่นผลงานชิ้นใหญ่ราว 3 เมตร ชื่อ ‘หมู่บ้านสองมิติ’ ที่สะท้อนให้ผู้ชมเห็นสองด้านของสังขาร ทั้งด้านที่งดงาม และด้านที่เสื่อมสลาย
“แรงบันดาลใจ ส่วนหนึ่งก็เพราะไปอ่านหนังสือธรรมะมาบ้าง ซึ่งมันชี้ให้เราเห็นสัจธรรม ผมก็เลยพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้งานของเรามันสื่อกับผู้ชมว่า คนเรามันก็แค่นั้น
เช่นผมเขียนสรีระคน เขียนผู้หญิงมีเรือนร่างที่สวย และก็เขียนซี่โครง มันเป็นสัจธรรมของโลกนี้ จะร่ำรวย จะหล่อ จะสวย แต่งตัวดีอย่างไร สุดท้ายก็ต้องจบด้วยความตาย กลายเป็นโครงกระดูก”
และตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ชื่อ ‘ย้ายป่า’ ที่ต้องการสะท้อนว่า สัตว์ป่าอยู่ไม่ได้แล้ว ในเมื่อมนุษย์ไม่ใส่ใจที่จะดูแลธรรมชาติซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขา แถมขยันทำลายไม่หยุดหย่อน เหล่าสัตว์ก็ถึงคราวต้องรวมพลเพื่อหนีไปด้วยกัน
“ป่าอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะมนุษย์ทำลายมาก สิงห์สาราสัตว์ ก็เลยพากันหนี โดยการอาศัยแพที่ช่วยกันต่อขึ้น เปรียบคล้ายกับเรือโนอาห์ ย้ายไปแดนอื่น พร้อมๆกัน อยู่ไปก็อันตราย”
นิทรรศการ สัจจะเหนือจริง (Transcending Thai Surrealism) โดย สมพง อดุลยสารพัน วันที่ 2 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK) โทร.0-2953-1005-7
นอกจากจากนี้ภายในงานยังมีการจำหน่ายหนังสือ ในชื่อเดียวกับนิทรรศการ ซึ่งรวบรวมผลงานของสมพง จำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจด้วย
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วารี น้อยใหญ่
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.