คอลัมน์ : Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์
ผมมักจะสังเกตเห็นความสวยงามในทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติเสมอ แต่เมื่อพูดถึงความงามของบรรดาสัตว์ต่างสายพันธุ์ทั้งหมดแล้ว ผมจะรู้สึกโปรดปรานพวกสัตว์ที่มีสี มีลาย หรือมีรูปร่างที่มองดูสง่าน่าเกรงขามมากเป็นพิเศษ
หลายท่านที่เคยอ่านคอลัมน์นี้มาก่อนบ้างแล้ว คงเคยอ่านพบว่า ผมมีความรู้สึกต่อสัตว์บางชนิดอย่างลึกซึ้ง มันเป็นความจริงที่ว่า ผมจะลำเอียงมาก เวลาที่ต้องแบ่งเวลาเพื่อใกล้ชิดกับพวกสัตว์ ผมมักจะอ้อยอิ่งและจะยืดเวลาออกไปอีกเรื่อย ๆ ยามที่ผมเฝ้ามองและคอยเก็บภาพพวกสัตว์ที่ผมรักใคร่
ผมไม่ได้หลงรักสัตว์บางชนิด เพียงแค่เพราะมันมองดูสวยแปลกตาเท่านั้นนะครับ พฤติกรรม ท่วงท่า และการดำเนินชีวิตของมันต่างหากที่ได้ใจของผมไปทั้งดวง เมื่อผมเฝ้ามองสัตว์นักล่าสักตัวออกปฏิบัติการ เตรียมตัวซุ่มรอ และคอยเพื่อที่จะล้มเหยื่อสักตัว ผมอดรู้สึกทึ่งไม่ได้ รู้สึกอัศจรรย์ใจ และซาบซึ้งในอัจฉริยภาพของพระแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิต
ผมจะขอยกชีตาร์ให้เป็นตัวอย่างนะครับ ชีตาร์ (Acinonyx jubatus) มีรูปลักษณ์ที่เหมาะสมกับการเป็นนักล่าอย่างมาก ลักษณะท่าทางของมันทุกอย่างเอื้อประโยชน์ให้แก่มันด้วยครับ ไม่มีส่วนไหนในตัวชีตาร์ที่มองดูแล้วเหมือนเป็นส่วนเกินหรือไร้ประโยชน์
ผมเคยแอบคิดนะครับว่า พระผู้สร้างท่านช่างมีอารมณ์ขันเหลือเกิน ยามที่ท่านสร้างสัตว์ป่า ท่านมอบความสมบูรณ์แบบสำหรับการเอาตัวรอดให้แก่สัตว์แต่ละชนิด แต่ยามที่ท่านสร้างมนุษย์ ทำไมบางคนจึงต้องมีอะไรขาด ๆ เกิน ๆ อยู่บ้าง เช่น ผมไม่เคยเข้าใจสักทีว่า ทำไมหูของผมจึงต้องกางและใหญ่ผิดส่วนกับใบหน้าเล็ก ๆ ของผมขนาดนี้ และทำไม ขนบนหัวของผมจึงต้องค่อย ๆ หลุดร่วงหายไป แต่ดันมาขึ้นจนหนาดกเต็มไปทั้งตัว ก็ผมเลือกใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่ต้องการขนสำหรับเก็บความอบอุ่นมาตั้งยี่สิบกว่าปีแล้ว มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร
ส่วนขนของชีตาร์สีสวยมากครับ มันเหมือนสีทองอ่อน ๆ และจะมีลายแต้มสีดำ ๆ อยู่ติดกันทั่วทั้งตัว เมื่อชีตาร์ซุ่มตัวจับตาเลือกเหยื่ออยู่ตามพงหญ้าสูง ๆ คุณแทบจะสังเกตไม่เห็นตัวมันเลย สีและลายบนตัวของมันจะกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมรอบตัวเหมือนมันเป็นสุดยอดนักมายากลที่พรางตัวได้
หางยาว ๆ ของชีตาร์เสริมบุคลิกให้มันดูงามสง่า แต่ประโยชน์ที่ใช้ได้จริงของการมีหางยาว คือการรักษาสมดุลของร่างกายเวลาที่ชีตาร์ออกวิ่งครับ รูปร่างของมันเพรียวมีน้ำหนักน้อย เหมาะสมกับช่วงขายาวที่ทำให้วิ่งได้อย่างรวดเร็ว
ชีตาร์สามารถวิ่งเป็นวงกว้างด้วยความเร็วมากกว่า 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่มันวิ่งได้รอบละไม่กี่นาทีหรอกครับ เมื่อเริ่มออกจู่โจม มันจึงต้องพยายามเก็บงานให้ได้เร็วที่สุด เพราะเหยื่อของมันก็จะหนีอย่างไม่คิดชีวิตเหมือนกัน เวลาที่แอนติโลปวิ่งหนี มันจะวิ่งแบบเปลี่ยนเส้นทางไปมาอย่างสับสน มันคงหวังให้รูปแบบการวิ่งของมันช่วยให้รอดพ้นจากการถูกไล่ล่า
ทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า ต่างมีข้อเด่นและข้อด้อยไว้คอยรับมือกันเพื่อเอาตัวรอดในผืนป่า ชีตาร์วิ่งได้เร็วมากก็จริง แต่มันวิ่งแบบเต็มสปีดได้ไม่นานนัก เมื่อแอนติโลปฉลาดหนีแบบวิ่งซิกแซกไปมา ชีตาร์ก็ต้องปรับวิธีวิ่งตาม ต้องดักให้ทุกจังหวะ เมื่อชีตาร์เลี้ยวตัวแบบกะทันหัน คุณจะเห็นหางของมันพุ่งตรงไปด้านหลังเหมือนกับมันกำลังสร้างการทรงตัวอยู่ด้วยครับ
หัวของซีตาร์มีรูปร่างเพรียวลม กระดูกสันหลังยืดหยุ่นสามารถเกิดการโค้งงอเมื่อเคลื่อนไหว และเมื่อพุ่งตัวออกวิ่งกระดูกสันหลังจะเหยียดออกตรง ชีตาร์มีปอดและระบบการหายใจที่เหมาะสำหรับการเป็นนักวิ่งลมกรดด้วยครับ หัวใจของมัน เมื่อเปรียบเทียบแล้วมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์ตระกูลแมวชนิดอื่นมาก
หลายคนมักจะเรียกชื่อ และมองสับสนระหว่างชีตาร์กับเสือดาว เพราะรูปร่างลักษณะของแมวใหญ่สองพันธุ์นี้มองดูคล้ายคลึงกันมาก ความแตกต่างที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุดของพวกมันคือ ชีตาร์จะมีขนสิดำเป็นแนวยาวใต้หัวตาลงมาถึงมุมปากเหมือนคราบน้ำตาไหล ส่วนเสือดาวจะไม่มีเครื่องหมายอย่างที่ว่านี้ ลายเส้นสีดำที่ทอดผ่านใบหน้าของชีตาร์ ไม่ใช่มีไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้นนะครับ มันยังมีที่ไปที่มาที่น่าสนใจไม่น้อย
ตามปกติแล้ว สิงโตและเสือดาวจะไม่ค่อยล่าเหยื่อในตอนกลางวันกันนัก พวกมันนิยมออกล่าในตอนกลางคืน หรือยามรุ่งสาง หรือหลังจากที่พระอาทิตย์ตกดินไปแล้วเท่านั้น สิงโตและเสือดาวสามารถมองเห็นได้ดีกว่าในความมืด การซุ่มรอจู่โจมเหยื่อก็คงจะทำได้ง่ายกว่า และการล้มเหยื่อในเวลากลางคืนก็น่าจะเหนื่อยน้อยกว่าการออกแรงในยามกลางวันภายใต้แสงแดดแรงกล้าของอัฟริกาอยู่ไม่น้อย
สิงโต เสือดาว และชีตาร์ เป็นคู่แค้นข้ามสายพันธุ์ระหว่างกันครับ สวนทางกันเมื่อไหร่พวกมันจะเข้าห่ำหั่นกันเสมอ คงเป็นเพราะพวกมันกินอาหารประเภทเดียวกัน การกำจัดคู่แข่งลงไปบ้างอาจเป็นไปตามสัญชาตญาณในเรื่องสัดส่วนอาหารที่จะเหลือมากขึ้น
ชีตาร์มีขนาดตัวเล็กที่สุดในกลุ่ม มันจึงเจอสองเด้ง ต้องระวังทั้งสิงโตและเสือดาว เมื่อธรรมชาติมอบพฤติกรรมการล่าให้สิงโตและเสือดาวลงมือส่วนใหญ่ในเวลากลางคืน ชีตาร์จึงต้องเลือกหากินในตอนกลางวันไปโดยปริยาย ลายเส้นสีดำที่เริ่มจากมุมใต้หัวตาผ่านลงมาถึงมุมปากของชีตาร์ มีไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดสะท้อนเข้าดวงตาเวลาที่ต้องวิ่งตามเหยื่อไงล่ะครับ
ผมไม่รู้หรอกนะครับ ว่ามันเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า แต่ผมเคยเห็นนักกีฑาบางคนป้ายสีดำ ๆ ไว้ใต้ดวงตาเวลาที่เขาลงสนาม ผมอดคิดไม่ได้ว่า นักวิ่งคงกำลังจะเลียนแบบชีตาร์ อาจจะอยากวิ่งได้เร็วที่สุดในโลกเหมือนกัน หรือแค่อาจจะต้องการป้องกันแสงสะท้อนเข้าตาเท่านั้น
ขอบคุณทุกท่านมากครับ ที่กรุณาติดตามคอลัมน์นี้ ผมขอให้ทุกท่านมีวันและคืนที่สวยงามเสมอ พบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ
รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์
ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย
ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012
เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”
ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์ ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.