ART EYE VIEW—บรรยากาศเริ่มไม่เข้าท่า แล้วสำหรับ นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” นิทรรศการซึ่งรวบรวมงานศิลปะกว่า 300 ชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นใน สมัยรัชกาลที่ 9 ที่หยิบยืมจากศิลปินและนักสม มาจัดแสดงให้ชมในขณะนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เมื่อหลายท่านที่ได้ไปดู ทราบถึงงบประมาณในการจัดนิทรรศการที่สูงเกือบ 30 ล้าน
และผู้ที่ทำให้ข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่ออกไป พร้อมกับตั้งคำถามว่าสมควรหรือไม่ ก็คือ เอกชัย ลวดสูงเนิน ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย ที่มีผลงานดรออิ้ง ขนาดเกือบ 3 เมตร ถูกนำไปจัดแสดงด้วย 1 ชิ้น ซึ่งผู้จัดในนาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้หยิบยืมมาจากนักสะสมที่ซื้องานของเอกชัยไปครอบครอง
เอกชัยกล่าวว่า เขาไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดนิทรรศการ แต่ไปชมนิทรรศการในวันหลัง
เมื่อได้เปรียบเทียบกับสภาพการจัดงานที่ได้ไปดู กับงบประมาณจำนวนมากที่ทราบระแคะระคายมาจากบุคคลอื่น จึงโทรไปสอบถามหน่วยงานที่รับผิดชอบ ของ กทม. เพื่อสอบถามความจริง จึงได้รับคำตอบผ่านสายโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่มาว่า 27 ล้าน
“ผมดูตัวเลข ตั้งข้อสงสัยว่า มันเป็นไปได้เหรอ 27 ล้าน ก็มานั่งคำนวณดูกับบรรดาเพื่อนฝูง และครูบาอาจารย์ ว่าจ่ายค่าอะไรบ้าง รู้สึกว่ามันไม่ใช่ จากนั้นได้รู้ว่า กทม. เค้าไม่ได้จ้าง บริษัทเอกชนโดยตรง แต่เอางบไปจ้าง มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เซ็นสัญญากับมหาวิทยาลัย และแทนที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นจะทำเองกับไม่ทำเอง ทั้งที่มีศักยภาพที่พอจะทำได้ ก็ดันไปจ้างบริษัทของเอกชน แล้วผมยิ่งสงสัยใหญ่”
ด้วยความสงสัยทำให้เอกชัย ทำหนังสือยื่นถึง กทม. เพื่อให้ชี้แจ้ง จึงได้รับคำตอบผ่านสายโทรศัพท์จาก นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ กทม.
“เขียนหนังสือไปปุ๊บก็ตอบมาทันที ตอบมาปากเปล่า ว่ามันเป็นเพราะเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ ทำหนังสือตอบผมมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่รายการประมาณการค่าใช้จ่าย ที่ผมเคยนำไปขึ้นบนเฟซบุ๊ก ของ คลับหน้าพระลาน รักในหลวง ผมได้มาตั้งแต่วันแรก ไม่ได้ใส่ตัวเลข ใส่แต่รายการว่าค่าอะไรบ้าง เลยทำให้ผมสงสัยไปใหญ่ว่ามันต้องมีอะไร”
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขารู้สึกสงสัยกับงบประมาณที่แพงเกินคุณภาพของการจัดนิทรรศการ โดยเฉพาะที่จัดขึ้นในนามของ กทม. บนพื้นที่ของหอศิลป์ กทม.
“จริงๆแล้วสงสัยตั้งแต่โครงการอื่นแล้ว แต่หาข้อมูลไปสู้ไม่ไหว หาข้อมูลไม่ได้เลย และอีกอย่าง มันน่าเกลียดด้วย เพราะบางนิทรรศการไม่ได้มีงานเราแสดง เดี๋ยวเขาจะหาว่า เฮ้ย มึงอิจฉาหรือเปล่า ไม่มีงานแสดง แต่หลังจากนั้นเวลาหอศิลป์ฯ จัดงานอะไรใหญ่ๆเขาก็เชิญผมตลอด 5 ปีมานี้เกือบทุกนิทรรศการ และนิทรรศการครั้งนี้เขาก็เชิญ และก็ให้เกียรติเราดี”
แต่เขาเห็นว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อทราบถึงความไม่ชอบมาพากล ก็ไม่ควรปิดปาก
“เพราะมันเกินไป มันเรื่องงบประมาณของแผ่นดิน อีกอย่างมันเรื่องศักดิ์ศรีของศิลปินที่ผมถือมาก เห็นศิลปินเป็นอะไรวะ อยากจะทำอะไร ก็ทำ มันไม่ใช่ แล้วผลเสียจะเสียต่อวงการศิลปะ ต่อไปไม่มีให้ใครกล้าให้ยืมงานมาแสดงหรอก เพราะเขาคิดว่าเอางานเขาไปหากิน หากินแบบเอาเปรียบด้วยนะ เอาเปรียบมากๆด้วย
คุณทำธุรกิจนะ คุณลงทุน 100 คุณจะเอากำไรสัก 200 ไม่มีใครว่า แต่นี่คุณเอากำไรตั้ง 1000 มันเกินไป ต่อไป วงการศิลปะมันก็จะโดน ดูถูก แล้วคนเขาก็จะเข้ามาขุดทอง ทำธุรกิจกับศิลปะ
แล้วก็คิดไปว่าพวกศิลปินมันปิดปากได้ เชิญมันไปแสดง มันคงไม่กล้าหือ อย่างนั้นยิ่งทำให้ผมไม่ชอบมาก ผมรู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้วโว้ย”
เอกชัยยอมรับว่า ชอบไอเดียในการจัดนิทรรศการ ที่เป็นการรวบรวมผลงานศิลปะจากศิลปินมาให้ดู แต่คิดว่างบประมาณก็ไม่ควรจะสูงมากขนาดนี้
“ผมให้งบไม่เกิน 7 ล้าน และงบเท่านี้คนทำก็ได้กำไรเรียกว่าสะดือปลิ้นแล้ว
ส่วนตัวชอบไอเดียของการจัดงาน แต่เขาใช้เงิน เขาลงทุน ไม่สมกับคุณภาพงาน จะโทษ กทม. ก็ไม่ถูก โทษได้ไม่เต็มที่
กทม.อาจจะเห็นโครงการของไอ้คนนี้ๆ เขียนมา ว่าอย่างนี้ๆดี งบขนาดนี้เหมาะสมแล้ว แต่ที่นี้ที่เราตำหนิเนี่ย ไอ้คนที่รับจัดงานเนี่ย มันจัดงานไม่สมกับค่าจ้าง ดูซิค่าติดตั้ง 4 ล้านกว่า เป็นไปได้ยังไง เพราะฉะนั้น กทม.จะต้องตรวจสอบ จะต้องเอาเรื่อง ถ้าค่าใช้จ่ายมันไม่สมกับเนื้องาน“
เขาให้ข้อมูลว่า ปกติแล้ว โครงการของรัฐที่ใช้งบประมาณมากกว่า 2 ล้าน หน่วยงานของรัฐต้องนำไปว่าจ้างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเท่านั้น ดังนั้นในกรณีนี้ เอกชัยกล่าวว่า เป็นการเล่นแร่แปรธาตุ
“ใช่ กทม.จ้างมหาวิทยาลัย จากนั้นมหาวิทยาลัยก็เล่นแร่แปรธาตุไปจ้างเอกชน โกงหน้าด้านๆ เลี่ยงกฎหมายว่างั้นเถอะ คือแทนที่มหาวิทยาลัยจะทำเอง ไม่มีศักดิ์ศรีเลย พูดเลยว่าคนมหาวิทยาลัยนี้ไม่มีศักดิ์ศรีเลย รับงานเค้ามาแล้วไม่มีปัญญาทำ ถ้างั้นจะรับมาทำไม แม้แต่คิวเรเตอร์ของตัวเองในงานนี้ยังไม่ซักคนเดียว เอาหน้าไปไว้ที่ไหน ”
เมื่อข่าวของการใช้งบประมาณที่แพงเกินจริงของ นิทรรศการ ไทยเท่ฯ แพร่ไปให้คนจำนวนมากรับรู้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค และมีคนจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนให้เอกชัยเร่งตรวจสอบเรื่องนี้
เอกชัยจึงได้รับการติดต่อจาก รองผู้ว่าฯ ทยา อีกครั้ง เพื่อให้เอกชัยนัดกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ มาประชุมปรึกษาหารือ
“ ทางนั้นเขาก็บอกไม่อยากให้มีปัญหา อยากให้มานั่งคุยกันระหว่าง กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่กับทาง กทม. กับทางคนจัดงาน โดยเขาจะปิดห้องคุย หาข้อสรุปว่าราคากลางควรจะเป็นเท่าไหร่ พิมพ์หนังสือควรจะเป็นเท่าไหร่ ติดตั้งงานควรจะเป็นเท่าไหร่ประมาณนี้ ซึ่งผมก็เห็นด้วย ไอเดียนี้
แต่กว่าจะได้ประชุมก็คงหลังวันที่ 20 ตุลาคม และ สอง ที่ประชุมในกลุ่มของผม ไม่ใช่คนเดียวแต่เป็นสิบคน เขาไม่เห็นด้วยที่จะประชุม แต่ยังไงมันต้องให้มีการตรวจสอบกันไป แล้วไอ้ที่จะประชุมค่อยว่ากันใหม่”
เอกชัยเห็นว่า ปัญหาเช่นกรณีจะไม่เกิดขึ้น หากก่อนหน้านี้ กทม.เชิญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความเห็นว่างบประมาณของการจัดนิทรรศการศิลปะแต่ละครั้งควรจะเป็นเท่าใด และต่อไปนี้ควรสร้างบรรทัดฐานที่เหมาะสมสำหรับการจัดงานครั้งต่อไป
แต่ระหว่างนี้ ตนอยากเรียกร้องให้คนที่ยังไม่ได้ไปชมนิทรรศการ ได้ไปชม และร่วมกันแสดงความเห็นว่า ทุกคนพอใจกับงบประมาณจำนวนมากที่ใช้ไปเพื่อนิทรรศการนี้หรือไม่
“กทม.จะต้องทำหนังสือเชิญทั้งสองฝ่ายเลย เชิญนักวิชาการ เชิญภัณฑรารักษ์ของหอศิลป์ทั่วประเทศนี้ เอาคนเหล่านี้มานั่งคุยกันแป๊บเดียวก็รู้ว่าตัวเลขแท้จริง มันควรจะเป็นเท่าไหร่ จะเห็นว่างานนี้มันเว่อร์และทุกครั้งที่ กทม.จัดร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม และจัดที่ หอศิลป์ กทม. งบประมาณ มันเว่อร์ตลอด
ครั้งนี้เราต้องการตั้งคำถาม ให้ชาวบ้านมาดู ให้สื่อช่วยกันตรวจสอบ โฆษณาให้ชาวบ้านมาดู แล้วก็ถามตัวเองซิ พอใจไหมกับงบ เกือบ 30 ล้าน
ค่าติดตั้งงานศิลปะที่คุณเห็น แค่ติดรูปและบางอย่างเนี่ย ใช้เงินไป 4 ล้านกว่า เสร็จงานก็จะมีค่ารื้อถอนประมาณ 8 แสน เบ็ดเสร็จ 5.5 ล้าน งบเท่านี้ ได้งานแค่นี้เหรอ มันสมควรแล้วเหรอ ชาวบ้านเขาตัดสินได้ต้องให้เขามาดู แต่ในฐานะที่เราดูมาแล้ว เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันไม่น่าจะถึง น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้าน หรือ 2 ล้าน ไม่น่าจะเกินนั้น
แล้วจากตัวเลขต้องใช้ค่าข้อมูลทางวิชาการ 2 ล้านกว่า เอาไปใช้อะไร ข้อมูลก็แค่ไปลอกจากของคนอื่นมา ไปตัดต่อแค่นั้นเอง คิดตั้ง 2 ล้านกว่า มันสมราคาไหม ผมเลยออกมา เรียกให้ กทม.ไปดู เรียกให้คนไปดูแล้วช่วยกันตัดสิน คุ้มไหม สมควรไหม การตั้งงบประมาณแบบนี้มันสมควรไหม กทม.ควรจะเรียกเงินคืนไหม”
ไม่นับรวมค่าที่ปรึกษาโครงการที่สูงเป็นจำนวนหลักล้าน ผู้รับจัดงานที่เข้ามาเอี่ยวทำหน้าที่คิวเรเตอร์ แล้วนำผลงานในศิลปะที่ตนเองสะสมมาร่วมแสดงนับ 10 ชิ้น ตลอดจนค่าพิมพ์สูจิบัตร ที่แพงหูฉี่เช่นกัน
“ดูงบประมาณพิมพ์หนังสือนะ 3.6 ล้าน พิมพ์ 1500 เล่ม ตกเล่มละเท่าไหร่ล่ะ ลองคำนวณดู ราคาต่อเล่ม เท่ากับพิมพ์หนังสือดีๆ สักสองเล่ม
ค่าที่ปรึกษาโครงการหลักล้าน ตั้งขึ้นมาแล้วหาคนรับไม่ได้ เสนอให้มหาวิทยาลัยอื่นเขาก็ไม่เอา ถ้าเอาก็แสดงว่าต้องเอาเงินทั้งหมดมาให้เขาจัดการ คือต้องทำเองทั้งหมด ไม่ต้องผ่านบริษัทอื่น นิทรรศการนี้ก็เลยไปจ้างมหาวิทยาลัยแห่งนั้น
ผมเห็นความไม่ชอบมาพากลมันเป็นอย่างนี้ ผมก็เลยเริ่มสงสัย เริ่มทำงาน และที่มันน่าเกลียดกว่านั้น คนรับงาน ดันไปเป็นคิวเรเตอร์ด้วย แล้วก็เอางานของตัวเองประมาณเกือบ 10 ชิ้น มาแสดง
คิวเรเตอร์ มีหลายคน ขณะที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยนั้นมีอาจารย์ที่เก่งๆดีๆ ศิลปินแห่งชาติก็มีเยอะแยะ ทำไมไม่มาเป็นภัณฑารักษ์เลยซักคนเดียว ทั้งที่ตัวเองเป็นคนรับงาน แล้วมหาวิทยาลัยทำอะไร กินหัวคิวเหรอ”
ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ ทิ้งคำถามราวระเบิดลูกโต ให้ทุกคนช่วยหาคำตอบ ก่อนบินไปเขียนภาพที่ประเทศจีน
หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ อีกหนึ่งศิลปินที่มีผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ และร่วมลงชื่อสนับสนุนให้เอกชัยตรวจสอบการใช้งบประมาณของนิทรรศการฯ แสดงความเห็นว่า
“ผมเองก็ไม่เคยคิดนะว่า ลวด(เอกชัย) เข้าจะลุกขึ้นมาประท้วงเรื่องนี้ และผมเองที่ผ่านมาก็ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้สักเท่าไหร่ เพราะว่าในแวดวงศิลปะบ้านเรา มันก็เป็นกลุ่มๆเป็นพวกๆ พอเขาเชิญให้ไปแสดงเราก็ไปร่วม
ลวดเขาโทรหาผม แล้วเล่าว่า งานไทยเท่ มันใช้เงินเกือบ 30 ล้าน มันทำได้แค่นี้เองเหรอ ลวดเขาเปิดประเด็นว่าเขาอยากจะตรวจสอบ ถ้าตอบได้ก็แล้ว แต่ถ้าเขาตอบไม่ได้
สังคมเรามีสิทธิ์ที่จะต้องรับรู้ว่า การใช้เงินขนาดนี้ กับงานอย่างนี้มันสมควรไหม คราวหน้าการจัดงานศิลปะมันจะได้มีบรรทัดฐาน
ไม่งั้นเราก็ไม่เคยตรวจสอบกัน อยากจะจัดงานหรือว่าอุปโลกน์ว่าจะจัดนั้นเพื่อนั่นเพื่อนี่ขึ้นมา แล้วก็ใช้เงิน 30 -40 ล้าน เสร็จแล้วก็ไปคุยกับองค์กรของรัฐว่าอยากจะจัด แล้วองค์กรของรัฐเขาก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องของศิลปะ บอกตัวเลขไปเท่าไหร่เขาก็ให้มาสิ ใช่ไหม มันเหลือทอนเท่าไหร่ก็ไม่รู้กัน”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
Comments are closed.