ART EYE VIEW–นับแต่เชื้อเชิญ เจอโรม ซานต์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะในปักกิ่ง และผู้มีส่วนร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะในปารีส ซึ่งมีประสบการณ์ การทำงานในฐานะภัณฑารักษ์มากว่า 30 ปี มาเริ่มเป็นที่ปรึกษาให้กับทางโรงแรม เมื่อปี 2006
โรงแรม เลอ เมอริเดียน ในหลายประเทศทั่วโลก ที่ถูกวางคาแรคเตอร์เอาไว้ว่า เป็นโรงแรมที่ส่งเสริมให้แขกที่มาพักได้ซึมซับกับสถานที่ ณ ที่ซึ่งโรงแรมตั้งอยู่ผ่านงานศิลปะร่วมสมัย จึงมีกิจกรรมด้านศิลปะหมุนเวียนไปจัดอยู่เรื่อยๆ
โดยศิลปินแต่ละแขนงที่เคยมีโครงการร่วมกับทางโรงแรมฯจะถูกขึ้นทำเนียบเป็นสมาชิกของ LM100 ซึ่งขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 30 คน
หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ราฟ กิ๊บสัน ช่างภาพอเมริกัน วัย 73 ปี ผู้ได้รับรางวัล Lucie Award เมื่อปี 2008 ที่ล่าสุดเพิ่งมีเวิร์คชอป ด้านการถ่ายภาพ ภายใต้หัวข้อ A Look through Bangkok ให้แก่ ช่างภาพ 9 คนจากเอเชีย ได้แก่ ราฟ ทูเทน,วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์,อาทิตย์ ศิริ,ลีนาวตี โก,จอห์น แม็คเดอร์มอท,ลี จิงเฟย,เอสัน,คิงส์ลีย์ อัง และ อามิต เมราห์ ที่ต่างมีความชื่นชอบในผลงานของราฟอยู่เป็นทุนเดิม ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน กรุงเทพ
กว่า 50 ปี ที่ราฟทำงานในฐานะช่างภาพ โดยในแต่ละปี เขามีคิวที่ต้องเวิร์คชอปด้านการถ่ายภาพให้แก่ลูกศิษย์ของเขา ประมาณ 2-3 ครั้ง
แม้จะไม่สามารถการันตีได้ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า คนเหล่านั้นจะเติบโตไปเป็นช่างภาพมืออาชีพ แต่เขาเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่า อีก 10 ปีข้างหน้า คนเหล่านั้นจะยังคงรักการถ่ายภาพ เหมือนเช่นกันกับเขา
ราฟรักการถ่ายภาพมากถึงขนาด ยอมเลิกดื่มเหล้าตอนอายุ 54 ปี และตื่นขึ้นมาเล่นโยคะทุกเช้า เพื่อให้ร่างกายมีความฟิตมากพอที่จะสามารถแบกกล้องออกไปตะลอนถ่ายภาพ พร้อมกับลมหายใจที่ยังเชื่อว่า ตัวเองยังสามารถทำในสิ่งที่รักให้ดีมากขึ้นไปอีก
3 วันของการทำเวิร์คชอปในไทย อันดับแรก เขาทำความรู้จักกับ 9 ช่างภาพ ด้วย Portfolio ที่ทุกคนมีติดมือมา ก่อนจะโยน 3 คำถามให้ทุกคนได้ตอบ ได้แก่ 1. คุณคิดว่าความสามารถของตัวเองอยู่ตรงจุดไหนแล้วตอนนี้ 2. ในอนาคตคุณฝันจะเป็นอะไร และ 3. อะไรที่มันเป็นอุปสรรคขัดขวางให้คุณไม่สามารถพาตัวเองจาก ข้อ 1 ไปสู่ ข้อ 2
ซึ่งเหตุผลที่ราฟมีคำถามเหล่านี้กับลูกศิษย์หน้าใหม่ของเขา เพราะต้องการปรับโหมดของทุกคนไปสู่โหมดของการ “ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง” และเชื่อว่าการได้สารภาพอย่างหมดเปลือก จะทำให้ทุกคนรู้สึกอิสระและเป็นตัวของตัวเอง
ความรอบรู้ด้านการถ่ายภาพที่สะสมอยู่ในตัวราฟมานาน นอกจากแบ่งปันให้กับลูกศิษย์หน้าใหม่ในไทยผ่านพ้นไปแล้ว รวมถึงได้ลงพื้นที่ถ่ายภาพตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯร่วมกัน ราฟยังได้แบ่งปันแก่เราอีกครั้งว่า
“การถ่ายภาพ สำหรับผม คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะถ่ายภาพอย่างไรให้ออกมาดี แต่คำถามที่เราควรจะถามตัวเองเวลาที่จะถ่ายภาพก็คือ เราจะถ่ายอะไร
และเมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะถ่ายอะไร คำถามต่อไปก็คือ จะมองเห็นสิ่งที่จะถ่ายในรูปแบบไหน ในเมื่อเรายกให้สิ่งๆนั้นเป็นประธานของภาพถ่ายแล้ว
เพราะการถ่ายภาพของผม มันไม่ใช่แค่เรื่องของวัตถุที่อยู่ในภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ตัวผมมองเห็นวัตถุตัวนั้นเป็นอย่างไร”
เขาใช้มือจับพลิกช้อนที่วางอยู่บนโต๊ะอาหารตรงหน้า พลางกล่าวต่อไปว่า
“ช่างภาพที่ดีเนี่ย แค่ถ่ายภาพช้อน ก็สามารถถ่ายออกมาให้ดูดีได้ บางเวลาผมก็นั่งถ่ายภาพช้อนอยู่ในสตูดิโอของตัวเอง แค่จับมันเปลี่ยนมุมนิดเดียว ก็สามารถได้ภาพช้อนที่สวยแปลกต่างออกไปจากมุมเดิมๆ
อย่างไรก็ตาม ผมอยากบอกว่า การถ่ายภาพมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนต้องมานั่งคิดหนักชนิดเอาปืนมาจ่อหัว แต่คนถ่ายภาพอาจจะต้องรู้จักเปลี่ยนมุมมองในการมองรูป มองวัตถุที่จะถ่ายออกมา”
ครั้งนี้ที่กรุงเทพ ช้อนไม่ใช่ประธานในภาพถ่ายของราฟ แต่เป็นรอยสักบนหลังของพระสงฆ์รูปหนึ่ง
“ผมชอบในตัวอักษร แม้ไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอย่างไร แต่ผมมั่นใจว่ามันน่าจะต้องเป็นบทสวดมนต์หรือะไรสักอย่าง สำหรับผม ในเวลาที่เดินทางไปไหนแล้วไม่สามารถเข้าใจในภาษาที่พบเห็น ผมก็มองเห็นมันเป็นแค่เพียง shape ต่างๆและมองเห็นประเทศนั้นเป็น shape ตามตัวอักษรเหล่านั้น”
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ราฟเดินทางมาประเทศไทย แต่ผลงานภาพถ่ายของเขา ซึ่งเป็นภาพชายนิรนามกับสุนัขพันธุ์หนึ่ง ถูกนำมาทำเป็นปริ๊นสกรีนติดที่บานประตูทางเข้า โรงแรม เลอ เมอริเดียน กรุงเทพ มาหลายปีแล้ว
ขณะที่แขกชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มักตั้งคำถามว่า ผู้ชายในภาพเป็นใคร? แขกชาวจีนกลับมักตั้งคำถามว่า สุนัขในภาพเป็นพันธุ์อะไร?
ราฟไม่มีคำตอบให้กับทั้งสองคำถาม แต่บอกเพียงว่าเป็นภาพที่เขายกกล้องขึ้นถ่าย ในเช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งที่ซานฟรานซิสโก เมื่อครั้งที่เขายังมีอายุเพียง 21 ปี
ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน การพบกันครั้งแรกของราฟกับสถานที่นั้นๆก็ไม่ต่างอะไรกับการทดลองเอาเท้าลงไปแตะพื้นน้ำ ก่อนจะตัดสินใจลงไปแหวกว่าย
ราฟบอกว่า ระหว่างเขากับกรุงเทพฯ แค่ครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจ จนอยากจะตัดสินใจลงไปแหวกว่ายในทันที ดังนั้นจึงไม่ต้องตั้งคำถามว่าครั้งที่สองของเขานั้นจะรู้สึกอย่างไร เพราะเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ดื่มด่ำกับความเป็นกรุงเทพยาวนานกว่าครั้งแรก เป็นไหนๆ
“ผมเคยไปญี่ปุ่น ไปเกาหลี แต่ผมชอบเมืองไทยมากกว่า และรู้สึกว่าผู้คนมีความสุขมากกว่า
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ กรุงเทพเป็นเมืองที่เติบโตค่อนข้างเร็วมาก แม้ไม่สวยเท่าปารีส ไม่มีสถาปัตยกรรมที่สูงตะหง่าน และสวยงามอย่างโตเกียว แต่ว่าในตัวของเมืองมีความน่าสนใจมากกว่าปารีสบวกกับโตเกียว
ผมมีเพื่อนชาวไทยคนหนึ่ง เป็นช่างภาพและเป็นเจ้าของแกลเลอรี่ (โอ๋ – ปิยะทัต เหมทัต) เขาพาผมนั่งตุ๊กๆชมเมือง มันทำให้รู้สึกว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจ และผมมีไอเดียอยากจะกลับมาทำหนังที่กรุงเทพ ผมไม่ใช่คนสูบบุหรี่และไม่ได้ติดยานะ แต่ผมรู้สึกว่า กรุงเทพเป็นยาเสพติดของผม และอยากจะให้ทางโรงแรมเชิญผมมาอีก”
ช่างภาพผู้ไม่เพียงอยากบันทึกภาพกรุงเทพไว้ในภาพถ่าย แต่ยังอยากบันทึกเอาไว้ในใจไปนานแสนนาน หยอดคำหวานทิ้งท้าย ซึ่งอาจทำให้ คนรักกรุงเทพ หัวใจพองโต
Text by ฮักก้า Photo by ศิวกร เสนสอน
+
ชมผลงานของ ราฟ กิ๊บสัน และ 9 ช่างภาพจากเอเชีย ในนิทรรศการ A Look through Bangkok วันนี้ – 31 พฤษภาคม พ.ศ.2555 ณ บริเวณ Le Meridien Bangkok's Hub โรงแรม เลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ ถ.สุรวงศ์ โทร.0-2232-8825
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.